หมู่นี้เดินผ่านร้านหนังสือแล้วเจอหนังสือแนวเจาะเวลาหาอดีตบ่อย ๆ
คุณชอบอ่านหนังสือ หรือดูหนังที่ตัวละครในเรื่องต้องพลัดมิติเวลาไปสู่โลกในอดีตหรืออนาคตบ้างไหมคะ? ฉันชอบมากเลยละค่ะ เพราะถึงแม้ว่า พลอตนี้จะเป็นพลอตเก่าที่นักจินตนาการทั้งหลายใช้สร้างสรรค์ผลงานกันมากลายสิบปีแล้ว แต่มันก็ยังคงความน่าสนใจอยู่เสมอ เพราะแม้จะเป็นพลอตเรื่องแนวเดียวกัน แต่ความแตกต่างของสถานที่ ยุคสมัย และลักษณะความคิด รวมถึงความสามารถเฉพาะตัวของตัวละคร ก็ทำให้พลอตเรื่องที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันนี้ สามารถดำเนินไปตามทิศทางของมันเองได้เป็นร้อยเป็นพันแบบ
ด้วยแนวความคิดที่ว่า มนุษย์ควรเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำมาปรับใช้แก้ไขปัจจุบัน ทำให้มีหลายคนสนใจที่จะทำการศึกษาค้นคว้าอดีต ยิ่งค้น ยิ่งคิด ก็ยิ่งพบว่า เหตุการณ์เล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญในอดีตนั่นแหละ ที่เป็นฟันเฟืองก่อร่างสร้างเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นตามมาในอนาคต
ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ปฏิเสธการขอเข้าศึกษาของเด็กชาย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และสงครามโลกครั้งที่สองก็อาจจะไม่เกิด, ถ้าเจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟ ไม่สิ้นพระชนม์ด้วยไข้ทรพิษ ผู้ที่ถูกส่งตัวมาเป็นเจ้าสาวแห่งฝรั่งเศสอาจไม่ใช่เจ้าหญิงมาเรีย อันโทเนีย และประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอาจเปลี่ยนโฉมหน้า, ถ้าในวันนั้น ทาสผิวดำไม่ได้บังเอิญหลบหนีเจ้านายเข้ามาในบ้านของนางแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ ก็คงไม่มีหนังสือเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม กว่าประชาชนชาวอเมริกันจะเริ่มตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและใคร่ครวญเรื่องการเลิกทาส ก็คงช้ากว่านี้อีกหลายสิบปี
แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีความสำคัญกับคนอื่น อย่างการที่พ่อกับแม่ของเรามาพบกัน ก็เป็นฟันเฟืองที่จะประกอบขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ (อาจจะสำหรับเราคนเดียว) อย่างการถือกำเนิดขึ้นของตัวเรา ซึ่งก็จะกลายเป็นฟันเฟืองสำหรับขับดันเหตุการณ์อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการจินตนาการและประมวลผล ดังนั้น เมื่อเรามองย้อนกลับไปในอดีต เราจึงไม่ได้ศึกษาความเป็นไปของมัน เพียงเพื่อให้รู้ไว้ หรือเพื่อแก้ไขสถานการณ์รูปแบบคล้ายกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (แม้ว่าส่วนใหญ่ คนเรามักจะเลือกเดินย่ำซ้ำรอยเดิมเรื่อยไป แม้ว่าจะมีประสบการณ์เป็นเครื่องเตือนใจครั้งแล้วครั้งเล่าก็เถอะ) แต่นำมาจินตนาการ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากกระแสเหตุการณ์ที่เคยไหลผ่านแนวลำธารแห่งกาลเวลาถูกบิดเบือน ถ้าเหตุการณ์ที่เคยเกิด ถูกขัดขวางไม่ให้เกิด หรือเกิดขึ้นแต่ผลลัพธ์ของมันถูกเปลี่ยนแปลงไปอีกอย่าง จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และโลกที่ถูกเปลี่ยนแปลงนั้นจะกลายไปเป็นโลกแบบไหนในกาลข้างหน้า
นั่นคือที่มาของผลงานสร้างสรรค์แนวเจาะเวลาหาอดีตค่ะ
การส่งตัวละครเข้าไปสู่อดีต เป็นกลวิธีในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด เพราะนอกจากเราจะได้มองเห็นอดีตจากมุมมองของผู้ที่มีพื้นฐานสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับเรา ซึ่งจะทำให้บอกเล่าสิ่งที่ตัวเองเห็นและมีทัศนคติที่ใกล้เคียงกับความคิดและความเชื่อมาตรฐานของสังคมปัจจุบัน ให้เราเข้าใจสถานการณ์และความแตกต่างได้ง่ายขึ้นแล้ว สภาพความเป็นสิ่งมีชีวิต ยังบังคับให้ตัวละครจำเป็นต้องมีส่วนร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งกับอดีต จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ขึ้นจนได้
ทีนี้ลองนึกภาพตัวคุณเองดูสิคะ ถ้าให้คุณเลือกได้ คุณจะอยากย้อนเวลากลับไปสู่ยุคไหน และอยากเปลี่ยนแปลงอะไรกันบ้าง?
ถ้าเอ่ยถึงการ์ตูนแนวเจาะเวลาหาอดีต คงไม่มีการ์ตูนเรื่องไหนเป็นตัวอย่างได้ดีเท่าคำสาปฟาโรห์ เพราะนอกจากแครอล นางเอกของเรื่องจะย้อนเวลากลับไปสู่อียิปต์สมัย 3000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว ความที่การ์ตูนเรื่องนี้เขียนต่อเนื่องกันมายาวนาน ส่งผ่านกันจากย่าสู่หลานไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้เวลาเด็ก ๆ รุ่นใหม่เปิดอ่านเล่มแรก ๆ ก็จะรู้สึกเหมือนกำลังถูกส่งตัวเจาะเวลาหาอดีตไปกับแครอลด้วย เพราะแฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผมยุคนั้นเอาท์ไปแล้วกลับมาอินอีกหลายรอบแล้ว และถึงจะเป็นการ์ตูนผู้หญิง แต่ก็มีผู้ชายหลายคนที่อ่านด้วยเหมือนกัน
คำสาปฟาโรห์ (Ouke no Monshou) เป็นผลงานสร้างชื่อของอาจารย์โฮโซคาวะ ชิเอโกะ ที่นำความประทับใจจากการไปทัวร์อียิปต์กับน้องสาวมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวรักข้ามศตวรรษ ฝ่ายหนึ่งคือสาวน้อยแครอล ลินตัน ลูกสาวเจ้าของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งสนใจวิชาโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง กับอีกฝ่าย ฟาโรห์เมมฟิสผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราวสามพันปีก่อนคริสตกาล ทั้งสองฝ่ายโคจรมาพบกันได้ เพราะพ่อของแครอลเป็นผู้ออกทุนให้ขุดหาสุสานฟาโรห์ยุคโบราณ และฟาโรห์ดวงดับที่เคราะห์ร้ายถูกขุดเจอก็คือเมมฟิสนี่เอง
หลังขุดพบ แครอลได้เข้าไปในสุสาน และหยิบแผ่นป้ายดินเหนียวแผ่นหนึ่งติดมือกลับออกมาด้วย เธอทำมันแตก โดยไม่รู้เลยว่านั่นคือแผ่นป้ายสำหรับสะกดวิญญาณของไอซิส พี่สาวและราชินีของเมมฟิส เมื่อแผ่นป้ายแตก ดวงวิญญาณที่ถูกผนึกไว้ได้รับการปลดปล่อย ไอซิสฟื้นคืนชีพ เธอสาปแครอล และเมื่อเธอต้องกลับไปสู่อดีต เธอก็ได้พาตัวแครอลไปด้วย
และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นการพบกันของแครอลกับเมมฟิส (และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการรอคอยอันยาวนานของนักอ่านทั้งหลายด้วย)
แครอลเป็นตัวอย่างของตัวละครที่ ‘เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์’ ที่ดีมาก เพราะเธอแทบมิพักต้องไตร่ตรองเลยว่าการกระทำของเธอจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์หรือไม่ และประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะสร้างอนาคตอย่างไร เธอเป็นชนวนการต่อสู้แย่งชิงระหว่างฮิตไทต์กับอียิปต์ ความสนใจในตัวเธอทำให้อัสซีเรียตัดสินใจกระโจนเข้าร่วมศึกอีกด้าน ไอซิสที่ควรจะเป็นราชินีแห่งอียิปต์ตามประวัติศาสตร์ก็ต้องแต่งไปเป็นราชินีแห่งบาบิโลเนีย ซึ่งตอนหลังก็กลับกลายมาเป็นศัตรูกับประเทศบ้านเกิดเมืองนอน แครอลขึ้นเป็นราชินีของอียิปต์ เธอสอนคนอียิปต์ตีเหล็ก สอนกรองน้ำ เธอกลายเป็นหมอที่มีชื่อเสียงเลื่องลือเพราะรู้จักอาการและสามารถวินิจฉัยโรคที่คนสมัยนั้นยังไม่รู้จัก ความรู้จากวิชาโบราณคดีที่ชื่นชอบทำให้เธอรู้จักความลับของประเทศเพื่อนบ้านและยังสามารถอธิบายอนาคต (ของยุคนั้น) ได้เป็นฉาก ๆ ความสามารถเหล่านี้ทำให้มีแต่คนที่ต้องการตัวเธอ และผลจากการยื้อแย่งกันไปมาของประเทศนั้นประเทศนี้ ทำให้เรื่องราวของแครอลซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1976 (คุณคะ ฉันยังไม่เกิด...คุณล่ะ เกิดหรือยัง?) ยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
คำสาปฟาโรห์เป็นการ์ตูนสุดคลาสสิคที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผลงานหลายชิ้นและคนหลายคน การ์ตูนเรื่องนี้ทำให้หลายคนสนใจอียิปต์ถึงขนาดไปทัวร์ตามรอยคำสาปฟาโรห์ (และกลับมาพร้อมคำบอกเล่าว่า มันไม่ได้สวยหรูเหมือนในจินตนาการ) นิยาย เฉพาะแค่ของไทยก็มีหลายเล่มที่ได้รับอิทธิพลมาจากคำสาปฟาโรห์ และถ้าคุณเคยอ่าน การ์ตูนเรื่องตะวันรักที่ปลายฟ้าของอาจารย์จิเอะ ชิโนฮาระ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากคำสาปฟาโรห์เช่นกัน นัยว่าเธอรออ่านผลงานของนักเขียนรุ่นพี่ไม่ไหว เธอเลยเขียนแนวเดียวกันเป็นของตัวเองบ้าง โดยกำหนดฉากให้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอริกันกับอียิปต์ ซึ่งก็คือฮิตไทต์นั่นเอง
การที่เรื่องราวของคำสาปฟาโรห์ดำเนินไปในแนวทางที่เป็นอยู่ มีเหตุผลหลักมาจากสองปัจจัย หนึ่งคือตัวของเธอเอง และสองคือยุคสมัยที่เธอเข้าไปอยู่ หากแครอลไม่ใช่คนกระตือรือร้น หากเธอไม่ได้ชอบวิชาโบราณคดีมากจนนำมันไปใช้ประโยชน์ได้เมื่อเข้าไปอยู่ในอดีต หรือประเทศที่เธอหลงยุคไปอยู่ ไม่ใช่ประเทศที่เธอรู้จักดีอย่างอียิปต์ เรื่องราวก็คงแตกต่างไปจากที่เห็
ยังมีการ์ตูนอีกหลายเรื่องที่มีพลอตหลักเป็นเรื่องราวของตัวละครที่ย้อนกลับไปสู่ยุคอดีต ตัวละครแต่ละตัว ยุคสมัยแต่ละยุค สร้างเรื่องราวที่เข้มข้นและมีข้อคิดต่าง ๆ กัน แล้วสัปดาห์หน้า เรามาเจาะเวลาหาอดีตกับการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ กันนะคะ