Skip to main content

ทุกวัน ทุกเช้า ทุกคืน ทุกครั้งที่ใช้มีดหั่นลงไปบนเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิต และใช้ส้อมจิ้มมันเข้าปาก คุณเคยคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับการกินและความหมายของการสืบทอดจากชีวิตสู่ชีวิตบ้างไหมคะ?

ถ้าเคย บางทีการ์ตูนเล่มนี้อาจจะให้คำตอบแก่สิ่งที่คุณสงสัย และแนวคิดใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่งแก่คุณค่ะ

22XX เป็นผลงานเล่มเดียวจบของชิมิสึ เรโกะ (ผู้เขียน Moon Child, Kaguyahime) โดยจับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต เมื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด การพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเหมือนมนุษย์ทุกประการก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป แจ็ค ไนเจล คือหนึ่งในนั้น เขามีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ มีแม้กระทั่งความเจ็บปวด ร้อนหนาวและหิวโหย และในช่วงหนึ่งของชีวิต แม้แต่ตัวแจ็คเอง ก็ยังเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์เช่นกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหญิงแห่งครีกแลนด์ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายลักพาตัวไปกบดานอยู่ที่เมนูเอ็ท ดาวเคราะห์หมายเลข 11 ในกลุ่มดาวหงส์ขาว ครีกแลนด์ตั้งเงินรางวัลหนึ่งแสนล้านครีกแลนด์ดอลแก่บุคคลหรือคณะบุคคลที่สามารถช่วยเจ้าหญิงมาจากผู้ก่อการร้ายได้ ทันทีที่ข่าวถูกป่าวประกาศออกไป นักล่าเงินรางวัลจำนวนมากก็มุ่งหน้าสู่เมนูเอ็ท และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ แจ็ค ไนเจล

 

แจ็คมุ่งหน้าสู่ลาลองจ์ สถานที่กบดานของพวกผู้ก่อการร้าย ในอดีต ลาลองจ์เคยเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรม แต่ปัจจุบันได้เสื่อมสลายลงและหลงเหลืออยู่เพียงซากโบราณสถานท่ามกลางป่าดงดิบ ตามปกติจะไม่มีใครกล้าเหยียบย่างเข้าไป ไม่ใช่เพราะกลัวผู้ก่อการร้ายหรือสัตว์ป่า แต่เพราะกลัวชาวโฟทูริส ชนเผ่าพื้นเมืองของลาลองจ์ซึ่งกินเนื้อคน

และที่นี่เองที่แจ็คได้พบกับรูบี้ เด็กสาวชาวโฟทูริส ซึ่งจะเปลี่ยนทัศนคติต่อการกินของเขาไปตลอดกาล

ในเรื่องนี้ ทัศนคติที่มีต่อการ ‘กินเนื้อคน’ ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองมุมมอง มุมมองแรกจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่มีความคิดว่า การกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเองเป็นสิ่งที่น่ากลัวและน่าขยะแขยง และมุมมองที่สองจากชาวโฟทูริสซึ่งการกินและการถูกกินเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ต่างฝ่ายต่างมีส่วนที่ไม่เข้าใจกันและเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง แจ็คเป็นตัวแทนของมนุษย์จากโลกภายนอกที่มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้ว่า ความจริงแล้ว เบื้องหลังการกินเนื้อคนของชาวโฟทูริสไม่ใช่ความป่าเถื่อนของชนเผ่าที่มีความรู้คิดไม่ต่างจากสัตว์อย่างที่เขาเคยเข้าใจ

ในโลกแห่งความเป็นจริง สัตว์กินเนื้อส่วนใหญ่กินได้แม้แต่เนื้อของพวกเดียวกันเอง แต่มนุษย์ไม่ มนุษย์-โดยเฉพาะในสังคมศิวิไลซ์-สร้างข้อตกลงอย่างลับ ๆ ไว้โดยที่ไม่มีใครเอ่ยปากว่าจะไม่ล่าและกินกันเอง เพราะเชื่อว่าเมื่อใดที่เป็นดังนั้น มนุษย์จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ จะไม่สามารถไว้วางใจซึ่งกันและกัน การกินคนในสายตาของมนุษย์ทั่วไปจึงเป็นการกระทำที่เลวร้าย ชาวโฟทูริสซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมายให้กระทำเช่นนั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความป่าเถื่อนน่ากลัว และทำให้ลาลองจ์กลายเป็นสถานที่ต้องห้าม แต่สำหรับชาวโฟทูริสแล้ว การกินและการถูกกินไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เพื่อให้คลายความหิว แต่ยังเป็นการสืบทอดชีวิต จากผู้ถูกกินสู่ผู้กิน ไม่เพียงแค่เลือดเนื้อเท่านั้นที่ถูกถ่ายทอดมา แต่ยังรวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดและความดีงามด้วย คนที่ถูกกินไม่ได้ตายจากไป แต่จะยังมีชีวิตอยู่ต่อในร่างกายของผู้ที่กิน รูบี้เองเกิดมาโดยไม่เคยเห็นหน้าพ่อ เพราะพ่อถูกแม่กินไปตั้งแต่ก่อนเธอเกิด และเมื่อแจ็คมาพบเธอ เธอก็อยู่เพียงลำพัง เพราะได้กินแม่ไปแล้วก่อนหน้านี้ เธอในขณะนี้จึงเป็นทั้งพ่อ ทั้งแม่ รวมทั้งชีวิตอีกนับร้อยนับพันที่ทั้งสองเคยกินมา และตัวเธอเองก็มีชีวิตอยู่เพื่อจะได้มอบชีวิตของตัวเองให้กับคนที่มีความหมายที่สุดในวันข้างหน้า

(แนวความคิดคล้ายกับชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาที่จะกินสมองของผู้ที่มีปัญญาที่สุดของเผ่าเมื่อเขาตายลงเพื่อรับสืบทอดปัญญาของเขามา และเป็นสาเหตุการระบาดของโรค ‘กูรู’ โรคสมองเสื่อมอันเกิดจากเชื้อไพรออน -แบบเดียวกับเชื้อวัวบ้า- ซึ่งจะถ่ายทอดกันได้ผ่านทางการกินสมองและไขสันหลังของผู้ที่เป็นโรค)

ด้วยเหตุนี้ ในสายตาของชาวโฟทูริส การกินจึงเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะกินอาหารที่ล่ามาได้ พวกเขาต้องสวดมนต์เป็นเวลานานเสมอ และจะนานที่สุดเมื่อกินเนื้อคน การตายไปโดยไม่มีใครกินเป็นสิ่งที่น่าเศร้าและน่ากลัวที่สุด และด้วยเหตุนี้เอง ในขณะที่คนเมืองมองชาวโฟทูริสด้วยสายตาหวาดกลัวและขยะแขยงในความป่าเถื่อนที่กินเนื้อคนด้วยกัน ชาวโฟทูริสก็มองชาวเมืองด้วยความไม่เข้าใจเช่นกันว่า มนุษย์เหล่านั้นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองทำไม ในเมื่อไม่ได้กิน

ชิมิสึ เรโกะ ได้ขมวดประเด็นทางจิตวิทยาของเรื่องให้ซับซ้อนขึ้นอีกด้วยอดีตของแจ็ค ห้าปีก่อน แจ็ค ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์ ได้ถูกขังลืมไว้กับมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งสองแบ่งอาหารที่มีอยู่จำกัดกันอย่างยุติธรรม และเมื่อมีผู้มาพบ ในที่คุมขังนั้นก็เหลือเพียงแจ็คซึ่งเป็นหุ่นยนต์เท่านั้นที่รอดชีวิต การได้พบกับรูบี้และได้รับรู้ปรัชญาในการกินของชาวโฟทูริส ทำให้แจ็ครู้สึกผิดบาปกับเหตุการณ์นั้นยิ่งขึ้น เขาโทษตัวเองว่า ถ้าไม่ใช่เพราะเขาซึ่งเป็นหุ่นยนต์ตะกละตะกลามกินอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นไปด้วย ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้สืบทอดกลายเป็นเลือดเนื้อ เพื่อนของเขาอาจไม่ต้องตายก็ได้ และนี่เป็นสาเหตุให้เขาใช้เงินรางวัลที่ได้จากการช่วยเจ้าหญิงเปลี่ยนโปรแกรมของตัวเองในภายหลัง เพื่อจะได้ไม่ต้องมีความรู้สึกหิวอีกต่อไป

ด้วยความที่ 22XX เป็นการ์ตูน เนื้อหาที่ค่อนข้างสุดขอบจึงมีไว้เพื่อให้สารที่ผู้เขียนต้องการสื่อส่งไปถึงผู้อ่านได้อย่างชัดเจนมากกว่าที่จะโน้มน้าวให้เห็นดีเห็นงามทำตาม (คงไม่มีใครที่อ่านจบแล้วคิดจะลุกขึ้นไปหาเนื้อคนมากิน?) ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อเราตัดเนื้อชิ้นหนึ่งซึ่งมาจากชีวิตของผู้อื่นส่งเข้าปาก เราได้ระลึกถึงสิ่งที่เนื้อชิ้นนั้นมอบให้แก่เราบ้างหรือไม่ ความหมายในการกินของมนุษย์ในทุกวันนี้อยู่ที่ไหน การบรรเทาความหิว ความอร่อยลิ้น ความเลิศหรู หรือเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของตัวเองต่อไป เมื่อกินแล้ว เราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า สมกับที่มันเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากการเสียสละจากชีวิตของผู้อื่นหรือไม่ และในเมื่อเราได้รับความเมตตาจากชีวิตอื่นมาต่อชีวิตของตัวเองแล้ว เราได้ให้อะไรคืนกลับไปสู่ชีวิตอื่นที่อยู่บนโลกบ้าง

นี่กระมัง เหตุผลที่บางศาสนาบอกให้เราสวดมนต์เพื่อขอบคุณก่อนที่จะเริ่มมื้ออาหาร เพราะอาหารเหล่านั้นได้มาด้วยความเสียสละอย่างใหญ่หลวงจากผู้ที่เป็นอาหารนั้น แม้มันจะเป็นเพียงแค่สัตว์หรือพืชก็ตาม

ใน Author’s note ชิมิสึ เรโกะกล่าวถึงการฝังศพ เธอบอกว่ามันไม่ค่อยยุติธรรม ทั้ง ๆ ที่มนุษย์กินสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกไปมากมาย แต่เมื่อถึงคราวที่ตัวเองต้องตาย กลับเผาให้สูญสลายไปโดยไม่คืนอะไรให้กับโลกเลย (ตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น) แทนที่จะฝังเพื่อเป็นประโยชน์แก่พืช สัตว์ หรือแมลงที่อยู่ใต้ดิน และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็น 22XX เล่มนี้ ถึงจะฟังเหตุผลแล้วยังไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยกับเธอหรือเปล่า แต่ฉันก็ชอบแนวความคิดนั้น รวมทั้งอีกหลากหลายแนวความคิดที่แฝงไว้ในการ์ตูนเล่มอื่น ๆ ของเธอ และถ้าคุณได้อ่านแล้วเกิดหลงรักแจ็ค ไนเจล เขาก็ยังมีวีรกรรมอีกหลายตอนให้คุณติดตาม ไม่ว่าจะเป็น Milky Way (เข้าใจว่าจะเป็น rare item เพราะมันเป็นการ์ตูนไพเรทของสยามสปอร์ตพรินติ้งสมัยฉันอยู่ชั้นประถม) เหตุผลของเทวดา (เล่มเดียวจบ, Vibulkij comic) และดวงดาวแห่งนิทรา (5 เล่มจบ, Vibulkij comic)

ก่อนอาหารมื้อต่อไป อย่าลืมลองเปลี่ยนทัศนคติของอาหารที่อยู่ตรงหน้าคุณ จากสิ่งที่ใช้เพื่อบำบัดความหิว เป็นความเมตตาที่ได้จากการเสียสละของชีวิตอื่น บางทีคุณอาจจะรู้สึกว่าคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของตัวเองมีมากขึ้นก็ได้

 

20080113 22xx cover

 

20080113 22xx preview

 

บล็อกของ Carousal

Carousal
  สองหนุ่มเพื่อนซี้ชาวออสเตรเลียน John Rendall กับ Anthony Boruke เกิดได้ข่าวมาว่าที่ห้างสรรพสินค้า Harrods แผนก Exotic Pet มีลูกสิงโตที่เกิดในสวนสัตว์มาขาย ด้วยความอยากรู้อยากเห็น สองหนุ่มจึงชวนกันไปดู และเมื่อพบว่าเจ้าลูกสิงโตตัวนั้นนั่งจ๋องทำท่าซึม ๆ เหงา ๆ อยู่ในกรง เขาทั้งสองก็ตัดสินใจซื้อมันกลับมาในราคา 250 Guineasเจ้าสิงโตน้อยผู้ได้รับการขนานนามว่า Christian ได้พักอาศัยอยู่กับสองหนุ่มผู้เป็นเจ้าของที่แฟลตชั้นใต้ดินของร้านเฟอร์นิเจอร์ที่เชลซี มันกลายเป็นขวัญใจของคนแถบนั้น ใคร ๆ ก็รอคอยที่จะได้เห็น ได้บันทึกภาพของมันตอนที่เจ้าของพาออกมาวิ่งเล่นที่หน้าโบสถ์ St. John'…
Carousal
ไปดูสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือกันมาหรือยังคะ? ในความรู้สึกของฉัน สามก๊กเป็นพี่น้องกับหวัด กล่าวคือ ในขณะที่บ้านเมืองปกติสุข ทั้งสามก๊กและหวัด ต่างก็มีฐานลูกค้าสนับสนุนของตนเองเรื่อย ๆ ไม่มีว่างเว้น คนเราติดหวัดกันได้โดยไม่เลือกเวล่ำเวลาหากอดหลับอดนอนหรือทำงานหนักตากแดดตากฝนฉันใด สามก๊กก็เป็นวรรณกรรมที่ไม่ว่าใครก็ใคร ต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบหนังขึ้นมาดู เพื่อดื่มด่ำกำซาบทั้งรสของภาษาและเนื้อหาที่ใครต่อใครเขาก็ว่าเป็นหนึ่งในแผ่นดินโดยไม่เลือกเวล่ำเวลาฉันนั้น หากนาน ๆ ครั้ง โรคที่เป็นในระดับนอนพักสามวันหายอย่างหวัดจะระบาดใหญ่ ทำให้คนล้มเจ็บล้มตายกันหลายพันหลายหมื่น…
Carousal
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ( 6 กรกฏาคม 2551) ฉันไปงาน Comic Party ครั้งที่ 11 ที่ Central World มาค่ะ บรรยากาศบนเวที ที่มี Yamaha เป็น Sponsor ใหญ่   คุณเคยไปงานการ์ตูนบ้างไหมคะ? ต่อให้ไม่เคยตั้งอกตั้งใจไป ฉันก็คิดว่าคุณต้องเคยผ่าน หรือเคยสะดุดตาสะดุดใจกับพลพรรคคนรักการ์ตูนที่รวมกลุ่มกันเดินทางไปร่วมงานมาบ้างแน่ ๆ เพราะงานการ์ตูนเป็นงานที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานเข้มข้นจนแผ่ออร่าออกมาให้สัมผัสได้ ขอแค่มีการ์ตูนเรื่องที่ชอบเป็นศูนย์กลาง เหล่าชมรมคนรักการ์ตูนก็สังสรรค์ สรวลเสเฮฮากันได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อนแล้วละค่ะ
Carousal
เมื่อสัปดาห์ก่อน เราไปทัวร์เอโดะ ยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประตูบ้านต้อนรับนานาอารยประเทศ กับจินหมอทะลุศตวรรษกันไปแล้ว สัปดาห์นี้ เรามาย้อนไปไกลยิ่งกว่านั้น สู่ญี่ปุ่นยุคที่ทั้งรุ่งเรืองด้วยศิลปะ และวรรณกรรม รวมทั้งยังเข้มข้นด้วยเรื่องราวการแก่งแย่งชิงดีทางการเมืองกับการ์ตูนเรื่องนี้กันเถอะค่ะ Ryo – the Miracle girl’s adventure
Carousal
พร้อมที่จะเจาะเวลาหาอดีตไปกับการ์ตูนเรื่องต่อไปกันหรือยังคะ? ในจำนวนการ์ตูนแนวเจาะเวลาหาอดีตที่ยังคงวางแผงต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ เรื่องที่ฉันสนใจและชอบมากที่สุดก็คือเรื่องนี้ละค่ะ Jin หมอทะลุศตวรรษ ผลงานของ Motoka Myrakami ซึ่งจัดจำหน่ายในรูปแบบภาษาไทยโดย Nation Edutainment Jin หมอทะลุศตวรรษ เป็นเรื่องราวของหัวหน้าศัลยแพทย์ แผนกศัลยกรรมสมองของโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยโทโตะ มินาคาตะ จิน ในคืนที่เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้น จินกำลังทำหน้าที่แพทย์เวรดึกอยู่ในโรงพยาบาล เขาได้รับคนไข้นิรนามรายหนึ่งซึ่งตำรวจไปพบขณะนอนหมดสติอยู่ในสวนสาธารณะเข้าแผนกฉุกเฉิน จากบาดแผลที่หน้าผาก คณะแพทย์ได้ทำ CT…
Carousal
หมู่นี้เดินผ่านร้านหนังสือแล้วเจอหนังสือแนวเจาะเวลาหาอดีตบ่อย ๆคุณชอบอ่านหนังสือ หรือดูหนังที่ตัวละครในเรื่องต้องพลัดมิติเวลาไปสู่โลกในอดีตหรืออนาคตบ้างไหมคะ? ฉันชอบมากเลยละค่ะ เพราะถึงแม้ว่า พลอตนี้จะเป็นพลอตเก่าที่นักจินตนาการทั้งหลายใช้สร้างสรรค์ผลงานกันมากลายสิบปีแล้ว แต่มันก็ยังคงความน่าสนใจอยู่เสมอ เพราะแม้จะเป็นพลอตเรื่องแนวเดียวกัน แต่ความแตกต่างของสถานที่ ยุคสมัย และลักษณะความคิด รวมถึงความสามารถเฉพาะตัวของตัวละคร ก็ทำให้พลอตเรื่องที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันนี้ สามารถดำเนินไปตามทิศทางของมันเองได้เป็นร้อยเป็นพันแบบด้วยแนวความคิดที่ว่า มนุษย์ควรเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต…
Carousal
คุณเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกเรียกว่าชีวิต มนุษย์ และความเป็นนิรันดร์บ้างไหมคะ? เป็นเวลากว่าพันปีมาแล้ว ที่มนุษย์เฝ้าขบคิดค้นหาตัวตน คำนิยาม ความหมาย และขอบเขตของสิ่งที่ตนเองมีและเป็น แต่ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณามากขึ้นเท่าไร คำถามก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และซับซ้อนขึ้นเป็นเงาตามตัว...แม้จะเฝ้าค้นหากันมาเนิ่นนาน ส่งผ่านกระบวนการคิดคนแล้วคนเล่า ยุคสมัยแล้วยุคสมัยเล่า แต่ก็ดูเหมือนว่า เราจะยังไม่เคยเข้าใกล้ผลลัพธ์มากพอที่จะทำให้รู้สึกพอใจได้เลย  
Carousal
เวลาที่คุณนั่งลงตรงหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตแล้ว คุณทำอะไรกันบ้างคะ?เมื่อปี 2004 ตำนานแห่งโลกอินเตอร์เน็ตบทหนึ่งได้เริ่มต้นขึ้นบนกระดานหนุ่มโสดแห่ง 2 channel (กระดานข่าวที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คงทำนองเดียวกันกับ pantip.com ของบ้านเรา) เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งได้โพสต์กระทู้เล่าเรื่องราวที่เขาเพิ่งประสบมาบนรถไฟระหว่างทางกลับจากอาคิฮาบาระ เรื่องราวน่าตื่นเต้น ที่เขาคิดว่ามันคงจะมีชีวิตอยู่เพียงชั่ววัน และมีอายุอยู่ในใจเขานานกว่านั้นอีกเพียงนิดหน่อย กลับกลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นจุดเล็ก ๆ ของตำนานที่น่าประทับใจซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือ หนังสือการ์ตูน…
Carousal
คุณชอบฟังดนตรีคลาสสิคหรือเปล่าคะ?ถ้าพูดถึงการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค คงมีหลายคนนึกถึงการ์ตูนที่กลายมาเป็นซีรีส์เรื่องดัง อย่าง Nodame Cantabile (วุ่นรักนักดนตรี) แต่วันนี้ ฉันจะมาชวนคุณคุยถึงการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ดังเท่า แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวในดวงใจของนักอ่านหลายคนเลยละค่ะ Piano-no Mori (ป่าแห่งเปียโน)
Carousal
คุณคะ คุณเคยมีประสบการณ์แปลก ๆ ที่อธิบายไม่ได้ เช่นเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ได้ยินสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน หรือได้กลิ่นที่คนอื่นไม่ได้กลิ่นบ้างไหมคะ?เปล่าค่ะ ฉันไม่ได้กำลังจะมาชวนคุณเล่าเรื่องผี (ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วฉันจะชอบฟังมากก็ตาม) แต่กำลังจะชวนคุณคุยเรื่องสมองและการทำงานของมันค่ะเกริ่นอย่างคร่าว ๆ สำหรับท่านที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์ สมองเป็นอวัยวะศูนย์กลางของระบบประสาท ทำหน้าที่รับกระแสประสาทที่ส่งมาจากเซลล์รับสัมผัสที่ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย นำมาแปลผลเป็นความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าเจ็บ ร้อน รสชาติ เสียง หรือภาพที่มองเห็นยกตัวอย่างการมองเห็น เมื่อเราลืมตาขึ้น…
Carousal
ท่ามกลางทะเลดาวที่พร่างพราวอยู่บนฟากฟ้าสีนิล ดวงจันทร์ทอแสงอยู่เหนือยอดโดมบนทะเลทรายที่กว้างไกลสุดสายตา เสียงขับลำนำระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนอันอยู่ไกลแสนไกล คุณเคยได้ยินเรื่องราวของกษัตริย์ผู้สูญสิ้นความเชื่อมั่นในรัก และหญิงสาวผู้ต่อกรกับความเกรี้ยวกราดด้วยปัญญาตลอดเวลาหนึ่งพันกับอีกหนึ่งราตรีบ้างหรือเปล่าคะ?พันหนึ่งราตรี หรืออาหรับราตรี (One Thousand and One Nights, Arabian Night) เป็นนิทานโบราณที่เล่าขานกันในหลายประเทศมาตั้งแต่ราวคริสศตวรรษที่สี่ กล่าวกันว่ามีผู้แต่งหลายคน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นตำนานหรือนิทานของแต่ละท้องถิ่น…
Carousal
นักเขียนการ์ตูนคนแรกที่คุณจำชื่อได้ คือใครคะ?สมัยที่ฉันยังเด็ก เพิ่งอ่านหนังสือออก และเริ่มต้นอ่านการ์ตูนเป็นครั้งแรก ๆ นั้น เป็นยุคที่การ์ตูนไม่มีลิขสิทธิ์กำลังเฟื่องฟู มีสำนักพิมพ์มากมายที่นำการ์ตูนญี่ปุ่นมาแปลเป็นภาษาไทยขาย โดยไม่ใส่ใจว่าใครเป็นคนเขียนหรือคนวาดการ์ตูนเรื่องนั้น มีนักเขียนการ์ตูนหลายคนที่ฉันตามอ่านงานของเขาที่วางตลาดแทบทุกเล่ม แต่ไม่เคยได้รู้เลยว่าเขาชื่ออะไร จนกระทั่งโตและตลาดการ์ตูนบ้านเราเปลี่ยนไปเป็นตลาดลิขสิทธิ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแต่ทั้ง ๆ ที่ตลาดการ์ตูนช่วงนั้นเป็นอย่างนั้น และทั้ง ๆ ที่ยังเด็ก แต่ฉันก็ยังอุตส่าห์รู้จักชื่อนักเขียนการ์ตูนเข้าคนหนึ่งจนได้เขาคือ…