คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่า ในโลกอันกว้างใหญ่ที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไปด้วยแรงขับดันจากพละกำลังของมนุษย์เช่นทุกวันนี้ แท้ที่จริงแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่ร่วมเป็นเจ้าของด้วยเหมือนกัน?
เมื่อสามสัปดาห์ก่อน รายการ ‘คนค้นฅน’ ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หมอล็อต’ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งรับหน้าที่รักษาช้าง ผู้ป่วยของคุณหมอมีทั้งช้างบ้าน (มีบ้างที่ผู้ป่วยมาหาหมอ แต่ส่วนใหญ่แล้วหมอจะเป็นฝ่ายขับรถไปหาผู้ป่วย) และช้างป่า (อันนี้หมอต้องหาพรานนำทางบุกเข้าป่าไปหาผู้ป่วยด้วยตัวเองสถานเดียว)
ดูแล้วคิดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาทันที
Wildlife สัตวแพทย์มือใหม่ หัวใจเมโลดี้
Wildlife เป็นเรื่องราวของอิวาชิโร เท็ตโช เด็กนักเรียนมัธยมปลายธรรมดา ๆ คนหนึ่ง เรียนไม่เก่ง กิจกรรมไม่เอาไหน ไม่มีอะไรโดดเด่น เป็นนักเลงนิดหน่อย ความสามารถพิเศษเพียงอย่างเดียวที่มีคือหูเมโลดี้ ซึ่งสามารถแยกแยะท่วงทำนองของเสียงทุกเสียงที่ผ่านหูออกมาเป็นตัวโน้ตได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวันไม่ได้
จนกระทั่งวันหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง เมื่อเท็ตโชได้ค้นพบประโยชน์มหาศาลจากหูเมโลดี้ของตัวเอง เขาพบว่าเสียงหัวใจของลูกสุนัขจรจัดที่เขาแอบเอาอาหารไปให้บ่อย ๆ นั้นมีจังหวะผิดปกติ และเมื่อเขาพามันไปหาสัตวแพทย์ ก็พบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด ต้องทำการผ่าตัดด่วนจริง ๆ
จากความสามารถที่ไม่เคยคิดว่ามีประโยชน์ กลับกลายเป็นพรสวรรค์ที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล จากเด็กผู้ชายธรรมดา ๆ ที่ไม่เคยมองเห็นข้อดีของตัวเอง กลายเป็นคนหนุ่มที่มีความมุ่งมั่นและค้นพบเป้าหมายของชีวิตในที่สุด
ด้วยเหตุผลที่ว่า สัตว์ไม่สามารถที่จะบอกเล่าอาการและสิ่งผิดปกติของตัวเองได้อย่างมนุษย์ สัตวแพทย์ต้องตรวจหาเอาเองจากประสาทสัมผัสทั้งหมดที่สามารถใช้ได้ และหูเมโลดี้ที่มีประสิทธิภาพในการฟังสูง ก็เปรียบเสมือนของขวัญที่พระเจ้าประทานมา เท็ตโชจึงเลือกที่จะเป็นสัตวแพทย์ และอุทิศความสามารถพิเศษของเขาเพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย เหมือนที่เคยช่วยเหลือ ‘เจ้าหมา’ ผู้ซึ่งกลายมาเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงคู่ใจและเพื่อนรักของเขาในที่สุด
แม้เรื่องจะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ ‘หูเมโลดี้’ แต่ตั้งแต่เล่ม 2 เป็นต้นไป Wildlife กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับจุดนั้นเท่าไร เรื่องราวส่วนใหญ่กลับไปเกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานของเท็ตโช ที่สมัครเข้าเป็นสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ของ R.E.D. ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และงานส่วนใหญ่ของเท็ตโช เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสัตว์ป่าค่ะ
คุณทราบไหมคะว่า สัตว์ป่าแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงตรงไหนบ้าง? ไม่ใช่เพียงแค่ถิ่นที่อยู่ แต่ลักษณะนิสัย ความคุ้นเคย และสัญชาตญาณก็แตกต่างกัน ในขณะที่คุณสามารถจะอุ้มสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ วัดอุณหภูมิ ฉีดยา ผ่าตัด และป้อนยาใส่ปากมันได้ สัตว์ป่ากลับสามารถที่จะเครียดจนตายได้ง่าย ๆ เพียงแค่ถูกแตะต้องด้วยมือมนุษย์ พวกมันเป็นสัตว์ป่า เป็นอิสรชน อยู่ภายใต้การปกครองของตัวเอง ยึดถือเพียงคำสั่งของสัญชาตญาณ ดังนั้นสัตว์ป่าจึงไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในป่า เวลาจะรักษาสัตว์ป่า ในบางครั้งสัตวแพทย์ก็ต้องเดินทางเข้าไปรักษาในถิ่นที่อยู่ของมัน ต้องรักษาให้รวดเร็วที่สุด แตะต้องหรือทำให้พวกมันเจ็บน้อยที่สุดเพื่อลดความเครียด เมื่อผนวกเข้ากับความรู้ด้านสัตว์ป่าที่ยังมีน้อยนักเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยง และอันตรายที่ทีมสัตวแพทย์อาจได้รับจากตัวสัตว์ที่บาดเจ็บนั้นเอง จากเพื่อนร่วมฝูง จากการเดินทาง จากสัตว์ชนิดอื่น หรือแม้กระทั่งบางครั้ง จากมนุษย์ด้วยกันเองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับการอนุรักษ์ ทำให้งานของสัตวแพทย์สัตว์ป่าเป็นงานที่ยาก และต้องอาศัยความรักและความเสียสละทุ่มเทสูงมาก
สิ่งที่ทำให้ Wildlife ได้รับเลือกให้เป็นการ์ตูนยอดเยี่ยมแห่งปีครั้งที่ 51 ของ Shokakukan ไม่ใช่เพียงเพราะบทบาทการทำงานที่ทุ่มเทจนเกือบเอาชีวิตไปเสี่ยงอันตรายหลาย ๆ ครั้งของเท็ตโชและพรรคพวกเท่านั้น แต่เนื้อหาของมันยังแฝงแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ และมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไว้อีกมากมาย ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะดูเหมือนว่า โลกเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้เงื้อมมือมนุษย์ และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามแต่มนุษย์จะใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นได้ดลบันดาล แต่แท้ที่จริงแล้ว โลกไม่ได้เป็นของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่ร่วมในโลกเดียวกันนี้ด้วย ในระบบของธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน พืชเป็นผู้สร้าง นำสารอาหารที่อยู่ในอากาศ น้ำ และดินมาใช้เพื่อกำเนิดเป็นราก ใบ ลำต้น และผล สัตว์เป็นผู้กิน ถ่ายทอดพลังงานและมวลไปตามห่วงโซ่อาหาร เมื่อตายลง จุลินทรีย์ย่อยสลายซาก เพื่อคืนสิ่งที่เคยได้รับมาให้กับธรรมชาติ วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุด
ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์ใช้อำนาจในฐานะสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่า ยื่นมือเข้าแทรกแซงกลไกของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การล่าสัตว์เพื่อเกมกีฬาหรือกำจัดศัตรูของผลผลิต ทำให้สัตว์หลาย ๆ ชนิดสูญพันธุ์ ระบบนิเวศน์เสียหายเกินกว่าที่โลกจะเยียวยาตัวเองได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์รุ่นหลังอย่างเรา ที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อชดใช้และชดเชยสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต ด้วยการร่วมมือกันเยียวยารักษาโลกใบนี้ และในฐานะสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งและมีสติปัญญามากที่สุด เราควรใช้พลังของเราเพื่อปกป้องดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ใช่เพื่อทำลาย
ตอนที่ฉันชอบที่สุดในเรื่อง Wildlife เป็นตอนที่มีการเล่าย้อนอดีตเรื่องของช้างในสวนสัตว์ญี่ปุ่นช่วงสงครามค่ะ เนื่องจากช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังทำสงครามกับอเมริกา อาจมีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน ทางรัฐบาลเกรงว่าถ้าระเบิดลงมาทำลายกรงสัตว์ในสวนสัตว์ จะทำให้สัตว์หลุดออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คน จึงต้องกำจัดสัตว์ที่มีอันตรายและสัตว์ขนาดใหญ่ไปให้หมด บางชนิดใช้วิธีการฉีดยา บางชนิดยิง และบางชนิดวางยา แต่สำหรับช้างซึ่งเป็นสัตว์แสนรู้ ไม่ยอมกินอาหารที่ใส่ยาเอาไว้ มันจึงต้องตายด้วยวิธีการอดอาหาร เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เล่าให้ฟังว่า ตอนแรก ๆ มันก็พยายามขออาหารด้วยการแสดงต่าง ๆ นานา แต่ก็ไม่มีใครยอมให้อะไรมันกิน จนในที่สุดมันก็สิ้นเรี่ยวแรง ล้มลง และไม่ได้ลุกขึ้นมาอีกเลย (เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่นยุคนั้นค่ะ)
ฉันอยากให้คุณลองอ่าน Wildlife ดูค่ะ นอกจากเรื่องราวที่สนุกสนาน และเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีประโยชน์แล้ว คุณยังอาจได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดและทัศนคติเกี่ยวกับตัวคุณเอง การยื่นมือเข้าช่วยเหลือโลกและเพื่อนร่วมโลกที่อ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรใหญ่ที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์โดยตรงหรือสัตวแพทย์ แต่เพียงแค่สองมือและความตั้งใจของคุณ เท่านั้นก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้แล้วค่ะ