มีใครเคยบอกว่าคุณเป็นคนแปลกบ้างไหมคะ?
การเป็นคนแปลกในสายตาคนทั่วไปนี่ จะว่าดีก็คงดี แต่จะว่าไม่ดีก็คงได้ ในบางมุม ความแปลกแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ แสดงถึงอิสระเสรี แสดงถึงการไม่ตามกระแสและไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของใคร แต่ในอีกบางมุม ความแปลกก็อาจหมายถึงความอุตริไม่เข้าเรื่อง หมายถึงช่องว่างอันใหญ่โตโอฬาร ระหว่างสิ่งที่สังคมยอมรับนับถือกับสิ่งที่คนแปลก ๆ คนนั้นยอมรับนับถือ หมายถึงความไม่เข้าใจ และในบางครั้งก็ลากยาวไปถึงความอยากดัง หรือความเกรียนไปโน่น ๆ
ถ้างั้นจริง ๆ แล้ว ความแปลกมันหมายถึงอะไรกันแน่นะ?
ฉันมีสาวน้อยอันเป็นตัวอย่างของความแปลกคนหนึ่งมาแนะนำให้คุณรู้จักค่ะ เธอคือนาคาฮาร่า ซูนาโกะ หรือที่บรรดาคุณลุงคุณป้าในย่านร้านค้าพากันพร้อมใจตั้งชื่อเล่นอย่างไม่เป็นทางการให้ว่า ‘สาวน้อยสุดสยอง’ เธอเป็นตัวละครเอกจากการ์ตูนเรื่อง ‘หนุ่มหล่อเฟี้ยว แปลงโฉมสาว’ หรือ Yamato Nadeshiko Shichi Henge ผลงานของ Tomoko Hayakawa จัดจำหน่ายในรูปแบบภาษาไทยโดยบงกชคอมิคส์ค่ะ
หากเอ่ยถึงเด็กสาวมัธยมปลาย คนทั่วไปอาจคิดถึงเด็กผู้หญิงวัยกำลังเริ่มสาว ที่ใช้ชีวิตอย่างสดใสส่องประกายของวัยดรุณ แต่ซูนาโกะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพนั้นอย่างที่เรียกได้ว่าจากขาวเป็นดำ ซูนาโกะไม่ชอบการรวมพลเพื่อนสาวไปกินบุฟเฟต์เค้ก ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าคาราโอเกะ เกลียดการถ่ายปุริคุระ (รูปสติ๊กเกอร์) แบบเอาเป็นเอาตาย เธอไม่ชอบสีชมพู เกลียดอะไรที่หวานแหวว และสิ่งที่สามารถฆ่าเธอตายได้คือเครื่องสำอางและการไปร้านเสริมสวย
ซูนาโกะรักชีวิต indoor เธอชอบซุกตัวอยู่เงียบ ๆ ในห้องมืด ๆ กินขนมแล้วดูหนังผีต้องห้ามแบบเรทเกินระงับ เธอมีโครงกระดูก (ของจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) ชื่อโจเซฟิน หุ่นกล้ามเนื้อ (แบบที่อยู่ในห้องเรียนชีววิทยา) ชื่อจอห์น และหุ่นโชว์อวัยวะภายในชื่อฮิโรชิเป็นเพื่อนรักร่วมใจ เทศกาลเดียวที่เธอรอคอยอย่างใจจดใจจ่อคือฮัลโลวีน (ไม่นับวาเลนไทน์ที่รอเพราะอยากขโมยกินช็อกโกแลตของคนอื่น) บรรยากาศสยองขวัญที่เธอเปิดเยื่อหุ้มเซลล์ซึมซับมาเต็มที่ ทำให้เธอกลายเป็นสาวมืดหม่นชนิดแม้แต่แสงไฟนีออนยังหรี่สลัวลงเองโดยไม่มีใครไปปรับยามเธอกรายผ่าน
(จะว่าไปอันที่จริง ซูนาโกะก็ออกจะไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่สำหรับประเทศไทยที่โอตาคุหญิงเกลื่อนเมือง แต่สำหรับญี่ปุ่นที่สาวทุกคนแข่งกันสวยเกือบทั่วทุกหัวระแหง การมีตัวตนอยู่ของซูนาโกะ ก็คงจะนับว่าเป็นเรื่องแปลกอยู่)
ความมืดหม่นของซูนาโกะ สร้างความกลัดกลุ้มให้แก่คุณน้า (ม่ายสาวแสนเซ็กซี่ที่เนื้อหอมสุด ๆ ในวงสังคมชั้นสูง) ของซูนาโกะยิ่งนัก ในที่สุดเมื่อเธอเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลานสาวให้กลับมาเป็นผู้เป็นคน (ตามมาตรฐานของเธอ) ได้ เธอจึงส่งสิ่งมีชีวิตที่เจิดจ้า (ตามสำนวนซูนาโกะ) สี่คน อันได้แก่ทาคาโน่ เคียวเฮ, โอดะ ทาเคนางะ, โมริอิ รันมารุ และโทยาม่า ยูคิโนะโจ เด็กหนุ่มสุดหล่อแต่ถังแตกมาอยู่ร่วมบ้านกับซูนาโกะ และช่วยทำให้ซูนาโกะกลายเป็นเลดี้ โดยแลกกับค่าเช่าบ้านฟรี (คิดอะไรอยู่น่ะคุณน้า?)
แล้วความทรมานทรกรรมก็เริ่มต้นขึ้น ทั้งทางฝ่ายซูนาโกะ และฝ่ายสี่หนุ่มที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงสาวมืดหม่นให้กลายเป็นสาวป๊อปปูลาร์ให้ได้เพื่อแลกกับที่นอนนุ่ม ๆ ในบ้านอันอบอุ่น
ยีนยันว่าคนเดียวกันกับข้างบน
อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว แอบเกิดคำถาม
ในเมื่อคนเราแต่ละคนต่างก็มีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่จะต้องมีทั้งส่วนที่มีความคิดเห็นตรงกันและส่วนที่แตกต่าง ไม่จำเป็นเลยที่ความสุขตามมมาตรฐานของคน ๆ หนึ่ง จะต้องเป็นความสุขของคนอีกคนหนึ่งด้วย ไม่จำเป็นกระทั่งว่าความสุขของคนส่วนใหญ่ จะต้องเป็นความสุขของคนทั้งหมด ในการ์ตูนเรื่องนั้น คนทั่วไปอาจคิดว่าความสุขของเด็กสาว ๆ น่าจะอยู่ที่การได้เป็นคนสวย แต่งตัวสวย ๆ ช็อปปิ้ง และทำอะไรกุ๊กกิ๊กน่ารัก ๆ กับเพื่อนวัยเดียวกัน แต่สำหรับซูนาโกะ ความสุขของเธออยู่ที่การได้แต่งตัวโทรม ๆ (ก็เสื้อเก่า ๆ ย้วย ๆ น่ะมันใส่สบายจะตายไป) ไม่แต่งหน้า (ก็มันเสียเวลา แล้วก็ไม่สบายหน้าด้วย) อยู่ในบ้าน (ก็นอกบ้านมันร้อน ถ้าไม่มีธุระจะออกไปทำไมล่ะ?) นอนดูหนังและกินขนมทั้งวัน (สุขที่สุด!) และเธอก็แค่ยืนยันความชอบของเธอ โดยการปฏิเสธที่จะทำตัวเหมือนกับที่เด็กสาว ๆ คนอื่นทำ มันเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องมาชี้หน้าบอกว่าเธอเป็นคนแปลก แล้วก็พยายามหาทางเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวของตัวเองของเธอ เพื่อให้เข้าไปกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชนิดโขกกันออกมาจากพิมพ์เดียวกันเป๊ะ ๆ ด้วยหรือ?
ทำไมบรรดาสาว ๆ ในเรื่อง คุณน้า รวมทั้งสี่หนุ่มเทรนเนอร์ ถึงได้คิดว่า ถ้าซูนาโกะเลิกดูหนังผี เลิกขลุกอยู่ในห้องมืด ๆ กับคุณโครงกระดูกและคุณหุ่นกล้ามเนื้อที่รัก เปิดม่าน ไปเอสเต้ แต่งหน้า ทำตัวเป็นเลดี้ และมีแฟน ซูนาโกะจะมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีใครลองไปใช้ชีวิตอย่างซูนาโกะดูเลยสักคน?
ความแตกต่างที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความแปลก มักเริ่มต้นด้วยความไม่เข้าใจ อาจตามมาด้วยคำถาม แต่ถ้าได้รับคำตอบแล้วยังไม่เข้าใจ ก็มักจะจบลงด้วยการหาทฤษฏีซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้างมาพยายามอธิบายในเชิงจิตวิทยา และสรุปว่านั่นคือการมีแนวทางเป็นของตนเอง และตามมาด้วยความชื่นชม หรือไม่ก็ความผิดปกติ ที่ตามมาด้วยการเย้ยหยันและดูถูกถากถาง ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของคนที่มอง และฝ่ายที่มีความแตกต่างนั้นเป็นใคร มีเครดิตดีแค่ไหน
ถ้าเป็นอย่างหลัง มากกว่าครึ่ง มักจะจบลงด้วยความพยายามของคนรอบข้างที่จะตะล่อมหรือบีบบังคับให้ความแตกต่างนั้นกลับเข้ารูปเข้ารอยที่คนส่วนใหญ่สามารถรับรู้ เข้าใจ และเป็นส่วนหนึ่งของมันได้ เพราะเชื่อว่าความแตกต่างไม่มีทางเป็นความสุข
เขาเอาอะไรมาวัดกันนะ?
แน่นอน ในหมู่คนที่แปลกแยกแตกต่าง อาจมีบ้างที่เป็นองุ่นเปรี้ยว หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกระแสของสังคมเพราะกลัวว่าจะพ่ายแพ้ แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป หนุ่ม ๆ โอตาคุไม่จำเป็นต้องจีบหญิง 3D ไม่ติดเลยหันมาชอบหญิง 2D, เด็กที่ไม่อยากเข้าคณะยอดนิยม ไม่ได้หมายความว่าคะแนนสอบของเขาไม่ถึง, สาววายไม่จำเป็นต้องหาแฟนไม่ได้เลยมาจับหนุ่ม ๆ คู่กันเอง ฯลฯ ปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนเลือกที่จะแตกต่างมีมากมาย และตราบเท่าที่เราไม่ใช่ตัวเขา เราคงไม่สามารถที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ บางทีเขาอาจจะเลือกแบบนั้น เพราะเขาชอบจริง ๆ ก็ได้ ฉันคิดว่าตราบเท่าที่ความแตกต่างนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อน เขาก็น่าจะมีสิทธิ์แสดงออกถึงความชอบของตัวเองได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องตกเป็นจำเลยของใคร
เนื่องจาก ‘หนุ่มหล่อเฟี้ยว แปลงโฉมสาว’ ยังไม่จบ เลยยังไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้ว ซูนาโกะจะเป็นเจ้าหญิงในหีบศพ ที่เมื่อเจ้าชายถอนคำสาปให้แล้ว ก็จะกลายร่างเป็นสาวงาม และได้พบกับความสุขแบบผู้หญิงทั่วไปหรือเปล่า (ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ในเล่มหลัง ๆ คนเขียนเริ่มดึงบทบาทของทาคาโน่ เคียวเฮ ขึ้นมาในตำแหน่งที่เกือบ ๆ จะเป็นพระเอกแล้ว ฉันก็คิดว่ามีทางเป็นไปได้สูงทีเดียว) ซึ่งเราก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป