Skip to main content

นักเขียนการ์ตูนคนแรกที่คุณจำชื่อได้ คือใครคะ?

สมัยที่ฉันยังเด็ก เพิ่งอ่านหนังสือออก และเริ่มต้นอ่านการ์ตูนเป็นครั้งแรก ๆ นั้น เป็นยุคที่การ์ตูนไม่มีลิขสิทธิ์กำลังเฟื่องฟู มีสำนักพิมพ์มากมายที่นำการ์ตูนญี่ปุ่นมาแปลเป็นภาษาไทยขาย โดยไม่ใส่ใจว่าใครเป็นคนเขียนหรือคนวาดการ์ตูนเรื่องนั้น มีนักเขียนการ์ตูนหลายคนที่ฉันตามอ่านงานของเขาที่วางตลาดแทบทุกเล่ม แต่ไม่เคยได้รู้เลยว่าเขาชื่ออะไร จนกระทั่งโตและตลาดการ์ตูนบ้านเราเปลี่ยนไปเป็นตลาดลิขสิทธิ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ทั้ง ๆ ที่ตลาดการ์ตูนช่วงนั้นเป็นอย่างนั้น และทั้ง ๆ ที่ยังเด็ก แต่ฉันก็ยังอุตส่าห์รู้จักชื่อนักเขียนการ์ตูนเข้าคนหนึ่งจนได้

เขาคือ Fujiko Fujio คนเขียนโดราเอมอน การ์ตูนเรื่องโปรดโดนใจตลอดกาลของฉันนั่นเอง

คุณชอบอ่านผลงานของอาจารย์ Fujiko Fujio ไหมคะ? ฉันเชื่อว่าคงมีหลายคนเลยละที่โตมากับการ์ตูนของเขา ไม่ว่าจะในรูปแบบหนังสือหรืออนิเมชั่นที่ฉายทางโทรทัศน์ ผลงานของอาจารย์ Fujiko Fujio ที่มีชื่อเสียงในบ้านเราก็ยกตัวอย่างเช่นโดราเอมอน, ผีน้อย Q ทาโร่, นินจาฮาโตริ หรือปาร์แมน

ด้วยความที่ผลงานสร้างชื่อของอาจารย์ Fujiko Fujio ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก มีลายเส้นง่าย ๆ สบายตา กับเนื้อหาที่ส่งเสริมจินตนาการ การมองโลกอย่างสดใสในแง่ดี เน้นมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความผูกพัน ความอ่อนโยน ความคิดสร้างสรรค์ และปลอดพิษภัยอย่างเห็นได้ชัด จึงกลายเป็นภาพพจน์ติดตัวไปว่า อาจารย์ Fujiko Fujio เป็นนักเขียนการ์ตูนเด็ก ผู้ปกครองหลายท่าน (รวมทั้งแม่ของฉันในสมัยนั้นด้วย) อาศัยลายเส้นคุ้นตาของอาจารย์เป็นมาตรฐาน ซื้อมาให้ลูกอ่านได้เลยโดยไม่ต้องสกรีนอีกรอบ เพราะมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ไม่มีการสอดใส้อย่างแน่นอน

แต่จริง ๆ แล้ว ผลงานของอาจารย์ Fujiko Fujio ก็ใช่ว่าจะมีแต่ที่เป็นการ์ตูนเด็กเสียเมื่อไร

Path of Fujiko Fujio การ์ตูนหน้าปกสีทองเล่มเบ้งที่ Nation Edutainment ภาคภูมิใจจัดทำขึ้นมาเล่มนี้แหละค่ะ คือผลงานจากอีกด้านหนึ่งของนักเขียนการ์ตูนอารมณ์ดีที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ท่านนั้น

‘นิทาน 1001 ราตรีแนวนิยายวิทยาศาสตร์’ คือคำจำกัดความของ SF Collection หรือ Path of Fujiko Fujio หนังสือเล่มนี้รวบรวมการ์ตูนสั้นแนววิทยาศาสตร์และปรัชญามากมายหลายเรื่อง ที่นักอ่านการ์ตูนซึ่งเป็นแฟนผลงานของอาจารย์ Fujiko Fujio กว่าครึ่งไม่เคยได้ผ่านตามาก่อน จากบทความท้ายเล่มที่เขียนโดยคุณฟูจิโมโตะ มาซามิ บุตรสาวของอาจารย์ เธอเล่าว่าคุณพ่อของเธอเป็นคนที่ใฝ่ใจในเรื่องแปลกประหลาด โดยมีพื้นฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์และปรัชญามานานแล้ว ผลงานของเขาสะท้อนสิ่งที่เขาคิดและมองเห็น การ์ตูนเด็กที่เต็มไปด้วยความสดใสและมองโลกในแง่ดีอาจเป็นด้านหนึ่งของคุณพ่อเธอที่นักอ่านทั่วไปรู้จักกันแพร่หลาย แต่ SF Collection นี้ก็เป็นผลงานที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดจากอีกส่วนหนึ่งของคุณพ่อเธอ ซึ่งก็เป็นความจริงไม่แพ้ประเภทแรกด้วยเช่นกัน

จะทำอย่างไร หากคุณเป็นนักบินอวกาศที่บังเอิญยานเกิดประสบอุบัติเหตุ ต้องลงจอดฉุกเฉินบนดาวดวงหนึ่งซึ่งมีอารยธรรมสูงไม่แพ้มนุษย์โลก ต่างกันเพียงแต่บนดาวดวงนั้น สิ่งมีชีวิตที่ครอบครองเป็นเจ้าของอารยธรรมคือสเต๊กเนื้อสัน...เอ้อ...วัว สัตว์ที่เอาไว้บริโภคบนโลกของเรา ในขณะที่มนุษย์กลับเปลี่ยนฐานะลงไปเป็นปศุสัตว์ และในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เด็กสาวคนหนึ่งซึ่งช่วยคุณไว้จากอุบัติเหตุยานอวกาศจะต้องถูกเลือกให้ไปเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงในงานฉลองประจำปี ?

จะเป็นอย่างไร หากอยู่ดี ๆ คุณก็กลายเป็นยอดมนุษย์ที่มีพลังพิเศษเหมือนในภาพยนต์ที่เคยดู ร่างกายของคุณแข็งแรง ประสิทธิภาพของประสาทสัมผัสของคุณล้ำเลิศ คุณสามารถมองเห็นทะลุผนัง สามารถเหาะเหินเดินอากาศ มีอำนาจในการสั่งการชีวิตมนุษย์ได้ตามใจ คุณกำลังกลายเป็นพระเจ้าของโลกใหม่ คุณจะทำอย่างไรกับอำนาจที่มีอยู่ในตัวคุณ ?

ความจริงแล้ว เนื้อหาและประเด็นที่อาจารย์ Fujiko Fujio นำมานำเสนอใน SF Collection ไม่ใช่ของใหม่ มันเป็นสิ่งที่ฉัน คุณ ใครอีกหลายคน หรืออาจจะทุกคนเลยก็ได้ เคยคิดมาก่อน เพียงแต่ส่วนใหญ่พวกเราจะคิดแล้วจบไปในเวลานั้น เพราะมันเป็นเพียงความคิดที่เกิดขึ้นเพราะความอยากสะดวก เป็นต้นว่า คงจะดีนะ ถ้าเราสามารถมองเห็นอนาคตได้ คงจะดีนะ ถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปบอกตัวเองไม่ให้ทำผิดพลาด ฯลฯ เพียงแต่ความคิดของอาจารย์ Fujiko Fujio ไปไกลกว่านั้น เขาจินตนาการถึงตอนต่อที่หลายคนขี้เกียจจะคิดไปถึง จริงหรือที่ว่าถ้าเรามองเห็นอนาคตแล้วจะดี แน่ใจหรือว่าถ้าเราย้อนเวลากลับมาเล่าความผิดพลาดของตัวเองให้ตัวเองในอดีตฟังแล้ว ความผิดพลาดครั้งใหม่จะไม่เกิดขึ้น? จากความคิดเล่น ๆ ที่ไม่จริงไม่จังอะไรนัก กลายเป็นการ์ตูนสั้นจบในตอน ที่เมื่ออ่านแล้ว คุณอาจจะไม่แน่ใจก็ได้ว่า ยังอยากจะได้สิ่งที่เคยอยากได้ในตอนแรกอยู่อีกหรือเปล่า

ในเล่มหนึ่ง ตอนที่ฉันชอบมากที่สุดตอนหนึ่ง นอกจากจานมิโนทาวรอสซึ่งเป็นตอนหลักของเล่ม ก็คือตอน ‘เชือดนิ่ม ๆ’ ซึ่งเปรียบเทียบความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต และการยอมรับของสังคมไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายคนหนึ่งไปพบจิตแพทย์ แล้วเล่าว่าอยู่ ๆ โลกนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากที่เขาเคยรู้จัก ในโลกของเขา การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัวที่สมควรปกปิด แต่ในโลกนี้ การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติธรรมดาถึงขนาดมีภาพตีพิมพ์ในนิทานสำหรับเด็ก ความน่าอับอายกลับกลายเป็นการกินอาหาร ในขณะที่คนมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุยังน้อยได้ในที่สาธารณะ แต่กลับไม่มีร้านอาหารให้เห็นเลยแม้แต่แห่งเดียว เวลาจะกินข้าวที่บ้านยังต้องปิดม่าน ล็อกประตู และพูดเสียงเบาไม่ให้ข้างบ้านได้ยิน

น่าแปลกใช่ไหม หากเราจะลองมองด้วยสายตาที่กลับด้าน คิดโดยใช้เหตุผลล้วน ๆ และไม่เอาความเคยชินหรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่มนุษย์เองเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าความอยากอาหาร หรือความต้องการทางเพศ ล้วนเป็นความต้องการพื้นฐานของร่างกาย ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ช่วยค้ำจุนสิ่งมีชีวิตให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ แล้วทำไมความต้องการหนึ่งจึงเป็นที่ยอมรับให้กระทำได้โดยเปิดเผย ในขณะที่อีกความต้องการหนึ่งกลายเป็นเรื่องน่าอายไปเล่า ? ยิ่งเมื่อเทียบความสำคัญกันแล้ว ความอยากอาหารเป็นเพียงกิเลสส่วนบุคคล ในขณะที่ความต้องการทางเพศ เป็นความต้องการเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ดังนั้น ความต้องการทางเพศ จึงน่าจะเป็นความต้องการที่มีความสำคัญยิ่งเสียกว่าความอยากอาหารเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่หรือ?

(ถ้าคุณอ่านสิ่งที่ฉันสรุปมาแล้วคิดว่ามันตะแบง ฉันอยากให้คุณลองไปอ่านตัวการ์ตูนจริง ๆ ดูก่อนค่ะ เหตุผลที่ตัวละครในเรื่องยกมาประกอบ ทำเอาฉันอึ้งไปหลายหน เพราะหาข้อมาแย้งได้ไม่เต็มปาก จนในที่สุดก็เริ่มคล้อยตามไปเรียบร้อยแล้วละค่ะ)

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเมื่ออ่านจบแล้วคุณจะชอบการ์ตูนเล่มนี้ เพราะมันให้ข้อคิดและทำให้เราต้องย้อนกลับไปมองอะไรหลาย ๆ อย่างที่สังคมมนุษย์ยึดถือกันราวกับประกาศิต เพื่อที่จะพบคำถามและความไม่สมเหตุสมผลมากมาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกถ้าคุณจะไม่ชอบ เพราะมันเต็มไปด้วยแนวความคิดที่สุดโต่งไปด้านในด้านหนึ่ง และชี้ให้เห็นว่าโลกที่เราอยู่ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่เราเป็นไม่ใช่อะไรที่โสภา คนแต่ละคนมีความคิดแตกต่างกัน และในคนเดียวกันแต่ละวัยก็ใช่จะคิดเหมือนเดิมตลอดไป

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันสงสัย เมื่อปิดหน้าสุดท้ายของหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ลง คือ เนื้อหาของการ์ตูนเล่มนี้ดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้ามันไม่ได้ถูกขายภายใต้ชื่อผลงานจากอีกด้านของนักเขียนดัง แต่เป็นของนักเขียนโนเนมสักคน ในสภาพสังคมปัจจุบัน (ที่แตกต่างไปบ้างแล้ว จากเมื่อสมัยที่ SF Collection ตีพิมพ์วางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักอ่านเท่าใดนัก) จะมีใครให้ความสนใจ และมองเห็นเนื้อในของสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อหรือเปล่านะ ?

บล็อกของ Carousal

Carousal
คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่า ในโลกอันกว้างใหญ่ที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไปด้วยแรงขับดันจากพละกำลังของมนุษย์เช่นทุกวันนี้ แท้ที่จริงแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่ร่วมเป็นเจ้าของด้วยเหมือนกัน?เมื่อสามสัปดาห์ก่อน รายการ ‘คนค้นฅน’ ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หมอล็อต’ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งรับหน้าที่รักษาช้าง ผู้ป่วยของคุณหมอมีทั้งช้างบ้าน (มีบ้างที่ผู้ป่วยมาหาหมอ แต่ส่วนใหญ่แล้วหมอจะเป็นฝ่ายขับรถไปหาผู้ป่วย) และช้างป่า (อันนี้หมอต้องหาพรานนำทางบุกเข้าป่าไปหาผู้ป่วยด้วยตัวเองสถานเดียว) ดูแล้วคิดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาทันทีWildlife…
Carousal
‘Wild horses run unbridled or their spirit dies’ทุกครั้งที่ได้ยินประโยคนี้จากเพลง ฉันจะคิดถึงการ์ตูนอนิเมชั่นของ Dreamwork เรื่อง Spirit : Stallion of the Cimarron หรือในชื่อไทย สปิริต ม้าแสนรู้ มหัศจรรย์ผจญภัยคุณเคยดูการ์ตูนเรื่องนี้ไหมคะ? มันเป็นเรื่องของม้าป่าในทวีปอเมริกา ในยุคที่คนขาวจากยุโรปอพยพย้ายเข้าไปอยู่ได้ระยะหนึ่งแล้ว กำลังทำสงครามต่อสู้ติดพันกับอินเดียนแดง และกำลังสร้างทางรถไฟพาดผ่านแผ่นดินจากตะวันออกสู่ตะวันตก Spirit เป็นม้าป่าไร้ชื่อที่กำเนิดในฝูงม้าที่มีเพียงทุ่งหญ้าและสายลมเป็นเจ้าของ มันเติบโตขึ้นเป็นม้าหนุ่มฉกรรจ์ รับหน้าที่เป็นผู้นำฝูง…
Carousal
ทุกวัน ทุกเช้า ทุกคืน ทุกครั้งที่ใช้มีดหั่นลงไปบนเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิต และใช้ส้อมจิ้มมันเข้าปาก คุณเคยคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับการกินและความหมายของการสืบทอดจากชีวิตสู่ชีวิตบ้างไหมคะ?ถ้าเคย บางทีการ์ตูนเล่มนี้อาจจะให้คำตอบแก่สิ่งที่คุณสงสัย และแนวคิดใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่งแก่คุณค่ะ22XX เป็นผลงานเล่มเดียวจบของชิมิสึ เรโกะ (ผู้เขียน Moon Child, Kaguyahime) โดยจับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต เมื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด การพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเหมือนมนุษย์ทุกประการก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป แจ็ค ไนเจล คือหนึ่งในนั้น เขามีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์…
Carousal
คุณคิดอย่างไรกับการใช้เครื่องสำอางเสริมความงาม และการแต่งหน้าบ้างคะ?อันที่จริง ฉันเป็นคนไม่แต่งหน้าเลยค่ะ นอกจากผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด เช่น ยาสีฟัน สบู่ แชมพูที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ฉันไม่แตะต้องเครื่องสำอางประเภทอื่นอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสีสันที่เอามาป้ายหน้า ไม่มีทาง! ในชีวิตนี้ฉันแต่งหน้านับครั้งได้ (นอกจากงานโรงเรียนสมัยประถมที่ให้เด็ก ๆ ออกไปร้องรำทำเพลงแล้ว ก็มีแค่รับปริญญาอีกงานเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ถูกอาจารย์บังคับจับแต่ง) มาสคาร่าใช้ทำอะไร แตกต่างอย่างไรกับอายแชโดว์ฉันก็ไม่รู้ ถ้าเอาเครื่องสำอางมาวางเรียงตรงหน้า ฉันก็เรียกชื่อมันไม่ถูก ในความรู้สึกของฉัน หน้าที่แต่งแล้วมันหนัก…
Carousal
เมื่อรัฐสภาญี่ปุ่นมีมติให้ปรับเปลี่ยนบทลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์จากโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิต มาเป็นการส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ที่ต้องใช้แรงงานอุทิศตนเพื่อประชาชนไปจนวันตาย ทางรัฐบาลจึงต้องทำการทดลองนำร่องเพื่อเก็บข้อมูล และนั่นเป็นเหตุผลที่นักโทษประหารคนหนึ่งถูกนำตัวออกมาจากห้องมืดของเรือนจำ เพื่อรับข้อเสนอให้อุทิศตนเป็นตัวอย่างทดลองสำหรับโครงการนี้ แลกกับการได้กลับไปสู่โลกแห่งแสงสว่างและเสรีภาพผู้ที่ได้รับเลือกคือ ทาจิมะ เรียวเฮย์ นักโทษประหารหมายเลข 042ก่อนหน้าที่จะได้อ่านเรื่อง ‘นักโทษประการ 042’ ฉันก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น…
Carousal
ฉันได้ยินชื่อ Elfen Lied เป็นครั้งแรกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างของบรรดาสมาชิกห้องการ์ตูน เฉลิมไทย พันทิปดอทคอม ในฐานะการ์ตูนและอนิเมชั่นที่ดีที่สุดในรอบปีถัดจากนั้นมาไม่นานนัก ฉันกลับได้ยินชื่อของ Elfen Lied อีกครั้งจากรายงานข่าวการตรวจค้นร้านการ์ตูนและเมดคาเฟ่ชื่อดังย่านสยามสแควร์ ในฐานะสื่อลามกที่สมควรจะถูกกวาดล้างให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยความขัดแย้งของข่าวสองกระแส ทำให้ฉันสงสัยว่า เป็นไปได้หรือที่การ์ตูนเรื่องหนึ่ง จะเป็นทั้งการ์ตูนที่ดีที่สุด และสื่อลามกได้ในเวลาเดียวกัน ฉันจึงไปหามาอ่านดูบ้าง หลังจากพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้ว ฉันก็ได้ข้อสรุปว่า สำหรับฉัน Elfen Lied…