หลังข่าวการเปิดโปงว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ(NSA)สอดแนมข้อมูลของประชาชนและความลับของประเทศอื่นโดยนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน(Edward Snowden) ผู้คนต่างก็จับตามองความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการไล่ล่าอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกลาง(CIA)รายนี้ ผู้ยังคงพำนักอยู่ในสนามบินนานาชาติเชเรเมเตียโว(Sheremetyevo)กรุงมอสโคว และยื่นคำร้องลี้ภัยผ่านตัวแทนกฎหมายไปยังกว่า 20 ประเทศ กรณีอื้อฉาวนี้ทำให้ประเทศที่ตกเป็นเป้าการสอดแนมของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ยังคงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการไม่อนุมัติคำขอลี้ภัยของนายสโนว์เดน
เหตุการณ์ดังกล่าวกลบกระแสที่สมควรจับตามองอย่างยิ่งในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และยังส่งผลถึงการประชุมยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจครั้งที่ 5(5th S&ED) นี้อีกด้วย สิ่งนั้นคือการกล่าวหาอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลจีน อยู่เบื้องหลังการโจมตีและจารกรรมความลับด้านการศึกษา การทหาร และเศรษฐกิจจากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน
การประชุมยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจครั้งที่ 5 ประกอบด้วยตัวแทนจีนคือประธานาธิบดีสีจิ้นผิง(习进平), รองนายกรัฐมนตรีวังหยาง(汪洋) และรัฐมนตรีหยางเจี๋ยฉือ(杨洁篪) และตัวแทนสหรัฐฯ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา(Barack Obama), จาค็อบ ลิว(Jacob Lew)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจอห์น เคอร์รี่(John Kerry)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าประเด็นสำคัญที่จะมีการพูดคุยคือ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินหยวน, การเพิ่มโอกาสของบริษัทสหรัฐฯในจีน, การลดบทบาทผู้ส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐ เช่นเดียวกันกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการเจรจาเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ(1)
ความบาดหมางระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อมีการกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง ในปลายปี ค.ศ. 2012 คณะกรรมการถาวรว่าด้วยการข่าวกรอง(the Permanent Select Committee on Intelligence)นำโดยไมค์ โรเจอร์ส์(Mike Rogers) และดัชท์ รัพเพอร์เบอร์เกอร์(Dutch Ruppersberger) ได้เสนอรายงานการสอบสวนภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ กรณีที่บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์(Huawei tech.) และ ซีทีอี คอร์ปอเรชั่น(ZTE corp.) ไม่สามารถตอบคำถามถึงความเชื่อมโยงกับรัฐบาลและกองทัพจีนได้ วุฒิสมาชิกทั้งสองยังเสนอให้เอกชนสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับสองบริษัทข้างต้นเพื่อความปลอดภัยของชาติ(2)
ไมค์ โรเจอร์ส์เป็นสมาชิกพรรคริพับลิกัน(Republican) ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการถาวรว่าด้วยการข่าวกรอง เขาแสดงทัศนะโจมตีพฤติกรรมของจีนหลายครั้ง ในปี ค.ศ. 2011 เขาเคยกล่าวว่า "การจารกรรมทางเศรษฐกิจของจีนมาถึงจุดที่ไม่สามารถทนทานได้อีกต่อไป ข้าพเจ้าเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในยุโรปและเอเชียมีภารกิจในการเผชิญหน้ากับรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อเรียกร้องให้พวกเขายุติการโจรกรรมเสีย"(3)
รายงานดังกล่าวกล่าวหาว่าหัวเว่ยและซีทีอี "ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลหรือหน้าที่ของการมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในโครงสร้างของบริษัทได้" แต่รายงานนี้กลับลืมอธิบายว่า ยังมีบริษัทจีนที่ธุรกิจในต่างประเทศอีกมาก ที่มีคณะกรรมการของพรรคฯ อยู่ในบริษัท สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจใน "วัฒนธรรมองค์กร" ของบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ ที่สมาชิกพรรคในองค์กรต่างๆ(แม้แต่องค์กรธุรกิจ)มักมีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมา ข้อกล่าวหาที่ว่าหัวเว่ยมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับรัฐและกองทัพไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะนายเยริ่นเจิ้งเฟย(任正非)ประธานบริษัทฯ เคยเป็นวิศวกรของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน(PLA) ก่อนที่จะออกมาทำธุรกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตามเขากลับไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคฯ เนื่องจากพื้นหลังของบิดาที่เชื่อมโยงกับพรรคกว๋อหมินต่าง(GMD) นอกจากนี้ เป็นที่เข้าใจกันดีว่าการทำธุรกิจในจีน สิ่งสำคัญคือ "เส้นสาย" หรือกวนซี(关系) กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่สิ่งนั้นไม่ได้หมายความว่ากองทัพหรือรัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการตัดสินของบริษัทได้ วิลเลี่ยม พลัมเมอร์ โฆษกของหัวเว่ย กล่าวว่า "รายงานฉบับดังกล่าว เป็นตัวอย่างหนึ่งของการโจมตีผู้ประกอบการจีน โดยอ้างใช้การปกป้องประเทศฯ และถ้าหากจะขัดขวางการทำธุรกรรม, การควบรวมกิจการและการเข้าถือสิทธิ์ลงทุนของบริษัททั้งสองจริง ก็จะกลายเป็นการแทรกแซงตลาดอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับกิจการของสหรัฐฯ เองทั้งนั้น"(4)
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2013 แมนเดียนท์(Mandiant) บริษัทด้านความปลอดภัยทางสารสนเทศยังตีพิมพ์รายงานการติดตามการจารกรรมข้อมูลที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในเซี่ยงไฮ้อีกด้วย(5) และในเดือนพฤษภาคม กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้นำเสนอรายงานประจำปีต่อสภาคองเครส กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนและกองทัพอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์มายังองค์กรความมั่นคงรวมทั้งธุรกิจทางการทหารของสหรัฐฯ(6)
แม้ว่าจีนจะตกเป็นเป้าการโจมตีของสหรัฐฯมาตลอด รัฐบาลจีนเองกลับให้คำชี้แจงทางการในลักษณะตั้งรับและกล่าวถึงผลประโยชน์ของความร่วมมือระหว่างสองชาติในการแก้ปัญหามากกว่าโจมตีสหรัฐฯกลับ(7) แม้ว่าโดยทางการแล้วรัฐบาลจีนจะมีจุดยืนตั้งรับ แต่เป็นที่ทราบกันดีกว่าหนังสือพิมพ์ซินหัว(Xinhua News Agency)คือกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน และหนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน(People's Daily)คือกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยที่หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวันมักจะมีบทความที่มีเนื้อหาแข็งกร้าวมากกว่าซินหัวในการตอบโต้ประเด็นต่างๆ รวมทั้งกรณีสงครามไซเบอร์นี้ด้วย ดังนั้น การจับตาบทความสำคัญที่ตีพิมพ์ในซินหัวและประชาชนรายวันช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจทำให้เราเข้าใจความคิดเบื้องหลังของรัฐบาลจีนได้ อย่างไรก็ตาม ควรต้องทราบว่ารัฐบาลและพรรคฯ ไม่ได้มีบทบาทเหนือสื่อทั้งสองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลายครั้งที่เราอาจพบเห็นบทความหรือข่าวที่สวนทางกับกระแสทางการของพรรคและรัฐบาลจีน
ในวันที่ 9 พฤษภาคม หลังจากการนำเสนอรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หนังสือพิม์ประชาชนรายวันตีพิมพ์บทความชื่อ "การบ่อนทำลายชื่อเสียงจีน ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ปกปิดพฤติกรรมชั่วร้ายไปได้"(8) โดยมีเนื้อหาโจมตีความพยายามของสหรัฐฯ ว่าเป็นเพียงยุทธวิธีพลิกกลับภาพลักษณ์ด้านลบในโลกไซเบอร์ของตนเองและโยนความผิดมาให้จีน บทความรายงานว่าสหรัฐฯเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งกองกำลังด้านไซเบอร์ บทวิจารณ์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2010 กำหนดให้โลกไซเบอร์เป็นแนวรบที่ห้า นอกเหนือจากบก ทะเล อากาศ และอวกาศ ในขณะที่สหรัฐฯโจมตีจีน ตนเองก็มีเป้าหมายเพิ่มงบประมาณด้านสงครามไซเบอร์ของตัวเองถึง 5 เท่าเป็น 1.77 แสนล้านดอลล่าห์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2014 และในตอนท้ายของบทความรายงานการกระทำของสหรัฐนั้น "เสมือนการยิงปืนเข้าที่เท้าของตนเอง"
ในวันที่ 5 มิถุนายนเว็บไซต์ประชาชนรายวันเลือกนำบทความชื่อ "จีนเป็นเหยื่อของการแฮก"(9) ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จีนรายวัน(China's Daily) มาเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาเป็นการอ้างรายงานของศูนย์ประสานงานทีมเทคนิคฉุกเฉินครือข่ายคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(CNCERT) ว่าคอมพิวเตอร์เมนเฟรมกว่า 3 ล้านเครื่องของจีน ถูกโจมตีด้วยเครือข่ายที่มาจากสหรัฐฯ ถึงราว 4,000 แห่ง, เว็บไซต์จีน 7,600 แห่ง ถูกแฮกโดยเครือข่ายที่มาจากสหรัฐฯ ถึง 3,500 แห่ง และเฉพาะในเดือนมิถุนายนอย่างเดียวเว็บไซต์หน่วยงานรัฐของจีนถึง 249 แห่ง ถูกจารกรรมโดยเครือข่ายที่มาจากสหรัฐฯ 54 แห่ง แม้บทความดังกล่าวจะชี้ให้เห็นว่ามีการโจมตีทางไซเบอร์จากสหรัฐฯมากเพียงใด แต่กลับสรุปว่า "มันไร้ประโยชน์ที่จะกล่าวหาสหรัฐฯ ปัญหาความปลอดภัยในอินเตอร์เน็ตกำลังทวีคูณ แต่การแก้ปัญหานี้ ทำได้ผ่านการสื่อสารไม่ใช่การเผชิญหน้า"
สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนทิศทางมาสู่การอภิปรายเรื่องความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหาความปลอดภัยในอินเตอร์เน็ต ความตรึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายลง แม้ว่าที่ผ่านมาสื่อสำคัญของจีนจะมีเนื้อหาตอบโต้สหรัฐฯ ก็ตาม แต่รัฐบาลจีนเองกลับวางบทบาทตั้งรับ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมทางการทูตของจีนที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้นำไปสู่การเสนอให้มีการเจรจาเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในงานประชุม 5th S&ED ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากพบกันระหว่างโอบาม่าและสีจิ้นผิงที่ซันนี่แลนด์ส์ เอสเตต(Sunnylands estate) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สีจิ้นผิงขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ล่าสุดในวันที่ 9 กรกฎาคม ก่อนการประชุม 5th S&ED เพียง 1 วัน สำนักข่าวซินหัวตีพิมพ์บทวิจารณ์ชื่อ "อย่าให้ความมั่นคงด้านไซเบอร์มีอิทธิพลเหนือการประชุมจีน-สหรัฐ"(10) โดยส่วนหนึ่งของบทวิจารณ์รายงานว่า "เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความตรึงเครียดระหว่างสองประเทศ ปัจจัยหลักนั้นเกิดมาจากความสงสัยของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลจีนเกี่ยวข้องกับการจารกรรมทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ควรจะมีอิทธิพลหรือเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาประเด็นอื่นที่สำคัญกว่าระหว่างสองประเทศ"
สิ่งที่น่าจับตามองคือความเคลื่อนไหวที่จะสะท้อนให้เห็นข้อสรุปของการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกไม่ได้มีมหาอำนาจเพียงขั้วเดียวอีกแล้ว สหรัฐฯและจีน คือสองมหาอำนาจ หนึ่งจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และหนึ่งจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กำลังห้ำหั่นบนสนามรบที่เรียกว่า "สงครามไซเบอร์" สงครามนี้ไม่ได้ส่งผลต่อสมดุลทางการเมืองโลกเท่านั้น จีนจะก้าวอย่างไรต่อไป? เมื่อการกีดกันหัวเว่ยของสหรัฐฯ สร้างความยากลำบากให้กับการตีตลาด ของจีนมากขึ้น และสหรัฐฯจะตอบโต้อย่างไร เมื่อการหลั่งไหลเข้ามาของบริษัทจีนฯ กลายเป็นปัจจัยคุกคามความมั่นคงของชาติ?
อ้างอิง :
1.) http://english.peopledaily.com.cn/90883/8320766.html
2.) http://intelligence.house.gov/sites/intelligence.house.gov/files/documents/Huawei-ZTE%20Investigative%20Report%20%28FINAL%29.pdf
3.) http://intelreport.mandiant.com/Mandiant_APT1_Report.pdf
4.) http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000123567
5.) อ้างแล้วใน 3.)
6.) http://www.cbsnews.com/8301-201_162-57583066/pentagon-chinese-government-waging-cyberattacks/
7.) อ้างแล้วใน 4.)
8.) http://english.peopledaily.com.cn/90883/8237304.html
9.) http://english.people.com.cn/90883/8271052.html
10.) http://english.peopledaily.com.cn/90883/8318054.html