เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2559) ผมได้เดินทางไปปารีส จึงได้เยี่ยมชมและเก็บภาพสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสมาไว้เป็นที่ระลึก ภาพและสถานที่ที่ผมนำมาลงนี้บางแห่งอาจเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางแห่งอาจไม่มีใครรู้จักมาก่อน นอกจากนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมสถานที่สำคัญทั้งหมด เนื่องจากบางแห่งอยู่นอกปารีสและกอปรกับผมมีเวลาจำกัด ก็เลยขอนำมาแบ่งปันเท่าที่เอื้ออำนวย ต้องออกตัวก่อนว่าภาพเหล่านี้อาจไม่มีเชิงศิลป์นัก แต่คงจะใช้ประกอบการพาชมสถานที่เหล่านี้ได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน
ก่อนจะพาชมสถานที่สำคัญต่างๆ จะขอสรุป "การปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789" เป็นข้อๆ เพื่อปูพื้นเพื่อให้ท่านเข้าใจว่าบางที่มีความสำคัญอย่างไร
1.) การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้ "เกิดขึ้น" ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 เพียงแต่วันที่ 14 กรกฎาคมกลายเป็นวันสำคัญขึ้นมาเนื่องจากการจลาจลที่ก่อความวุ่ยวายในปารีส (เช่น การเผาหรือการปล้นปืนจากป้อมยามของทหาร การบุกรุกร้านค้าและบ้านเรือนเพื่อขโมยอาหาร รวมถึงการก่อม็อบต่างๆ) ได้ยกระดับขึ้นมาเป็นภัยต่อรัฐบาลอย่างจริงจัง เนื่องจากฝูงชนได้เข้ายึดคุกบาสตีย์ (Bastille) ซึ่งเป็นสถานที่เก็บสะสมดินปืนที่ใหญ่ที่สุดในปารีสในขณะนั้น เมื่อผสมกับที่ก่อนหน้านี้ฝูงชนได้ปืนมาครอบครองถึง 30,000 กระบอกจากการบุกเข้าไปในโอแตล เดส์ แซงวาลิด (Hôtel des Invalides) ซึ่งเป็นคลังอาวุธใหญ่ของปารีส ก็ทำให้ฝูงชนธรรมดากลายเป็นฝูงติดอาวุธที่อาจนำไปสู่อะไรที่คาดไม่ถึงก็ได้ จุดนี้ทำให้ฝ่ายฐานันดรที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของ 'ประชาชนธรรมดา' (ไพร่ - commoners) ที่กำลังต่อสู้กับกษัตริย์ในสภาฐานันดร (Estates-General) ได้เปรียบไปด้วย เนื่องจากฝูงชนที่โกรธแค้นและสนับสนุนฐานันดรที่ 3 ได้เข้าคุมฐานกำลังทางทหารสำคัญในปารีสไว้แล้ว จากจุดนี้ไปสมาชิกฐานันดรที่ 3 ซึ่งอ้างสิทธิ์เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชนฝรั่งเศสจะออกมาตรการสำคัญหลายอย่างที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมฝรั่งเศสอย่างรากฐาน ได้แก่ การยกเลิกระบบศักดินา (ซึ่งทำให้ประชาชนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย เสียภาษีโดยเสมอภาค และสามารถเข้าสมัครรับราชการได้เท่าเทียมกัน) การประกาศหลักสิทธิมนุษยชนและพลเมือง การประกาศรัฐธรรมนูญฉบับแรก การประกาศให้ศาสนจักรอยู่ใต้อำนาจรัฐ และท้ายที่สุดการสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญของ "การปฏิวัติฝรั่งเศส"
2.) การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดจากหลายปัจจัย เราอาจเคยทราบมาว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มจากการที่รัฐบาลของกษัตริย์ประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากในก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสได้เอางบประมาณจำนวนมากไปสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกันจนขาดทุนสำรอง ภายหลังรัฐบาลจึงขูดรีดภาษีประชาชนอย่างหนัก และมากเสียจนต้องเรียกประชุมสภาฐานันดรซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของชนชั้นสำคัญในสังคมมาร่วมตัดสินเรื่องการขึ้นภาษีในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไรก็ตามการประชุมสภาฐานันดรเดิมนั้นประกอบด้วย 2 ฐานันดรคือพวกอภิชนและพระ แต่เนื่องจากสมาชิกฐานันดรทั้งสองต้องการหาคนช่วยต่อรองกับกษัตริย์จึงเสนอให้สร้างฐานันดรใหม่ขึ้นโดยให้เป็นตัวแทนของประชาชนธรรมดา แต่ในทางปฏิบัติก็คือชนชั้นที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่จากการสะสมทุนทรัพย์ (ไม่ได้มาจากชาติกำเนิดอย่างอภิชน หรือสถานะทางสังคมอย่างพระ) หรือที่เรียกว่า พวกกระฏุมพี (bourgeoisie) ฐานันดรกลุ่มนี้เรียกว่า "ฐานันดรที่ 3" สรรหาโดยวิธีการเลือกตั้ง (ไม่ใช่การเลือกตั้งในความหมายแบบปัจจุบัน รายละเอียดค่อนข้างยาวจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ - ผู้เขียน) การประชุมสภาฐานันดรทั้ง 3 ซึ่งเรียกว่าสภาฐานันดรสามัญ (Estates-General) ใช้วิธีการโหวตรายฐานันดร ด้วยเหตุนี้แม้สมาชิกฐานันดรที่ 3 จะโหวตอย่างไรก็จะแพ้สองฐานันดรแรกที่มักร่วมมือกันอยู่เสมอ ภายหลังจึงเกิดความขัดแย้งอย่างหนักจนมีความพยายามก่อยุบฐานันดรที่ 3 เสีย แต่เมื่อสมาชิกฐานันดรที่ 3 มีแรงสนับสนุนจากฝูงชนที่ยึดคุกบาสตีย์ได้ จึงทำให้กลายเป็นฝ่ายที่มีชัยชนะและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส
ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเท่านั้น เราควรรู้ด้วยว่าในช่วงปี 1780s ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติสำคัญคือมีอากาศหนาวที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ผลิตพืชผลได้น้อยลงอย่างมาก จนมีการก่อจราจลทั่วฝรั่งเศส ความรู้สึกหวาดกลัวชนชั้นสูงทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดในหมู่ประชาชนว่าชนชั้นสูงวางแผนกักตุนพืชผลล่วงหน้าเพื่อให้ขายได้ราคาแพง ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงมาก ขนมปังหนึ่งแถวอาจมีราคาพอๆ กับ 80% ของรายได้ในหนึ่งวันของคนที่ทำงานในเมือง พวกพระมีความขัดแย้งเรื่องภาษีกับกษัตริย์จึงพยายามสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นก่อจราจล ประชาชนในเมืองไม่มีความเชื่อใจในเจ้าหน้าที่รัฐ มีข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่รัฐมักลักพาตัวลูกๆ ของคนงานอพยพไปสังหารหรือขาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นได้
3. การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่แค่การ "ตัดคอกษัตริย์" คนมักเข้าใจผิดว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789 เป็นการปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์เพื่อสถาปนาสาธารณรัฐ แต่ในความจริงแล้วการปฏิวัติฝรั่งเศสนำไปสู่ "ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" (Constitutional Monarchy) ซึ่งดำรงอยู่อย่างสั้นๆ ในระบอบนี้ลุยส์ที่ 16 มีอำนาจตั้งรัฐมนตรีและวีโต้กฎหมายที่เสนอโดยสภา และแน่นอนว่าเขาก็ใช้มันอย่างเข้มข้นเสียจนได้รับฉายาจากฝูงชนว่าเป็น "เมอร์ซิเออร์วีโต้" ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างความพยายามประนีประนอมระหว่างอำนาจในระบอบเก่าอย่างกษัตริย์กับอำนาจในระบอบใหม่อย่างรัฐสภา แต่จากประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่าระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสล้มเหลวลงเพราะกษัตริย์ขัดแย้งกับรัฐสภา ความขัดแย้งจะนำไปสู่เหตุที่ฝูงชนบุกเข้าไปในพระราชวังตุยเลอรีส์ จนลุยส์ที่ 16 และครอบครัวกลายเป็นนักโทษในอารักขาของรัฐสภาซึ่งลงมติพักระบอบกษัตริย์ไว้ชั่วคราว ภายหลังจึงมีการยกเลิกระบอบกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐ จากนั้นจึงไต่สวนความผิดให้ประหารลุยส์ที่ 16 (ซึ่งบัดนี้เป็นเพียง "ลุยส์ กาเปต์" ) ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 นับจากจุดนี้ไปฝรั่งเศสจะเผชิญภัยคุกคามจากการรุกรานของรัฐต่างชาติด้วยความพยายามจะรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ การจราจลยังกระจายอยู่ทั่วฝรั่งเศส การฆ่าล้างกันเองจนรัฐสูญเสียการควบคุมความสงบจะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งสาธารณภัย (The Committee of Public Safety) ที่นำโดยมักซิมิงลง โรปสเปียร์ (Maximilien Robespiere) และคณะ เพื่อควบคุมความสงบ แต่นี่จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความสะพรึงกลัว (The Reign of Terror) ซึ่งคนจำนวนมากราว 2 หมื่นคน ถูกตัดสินให้ประหารด้วยกิโยติน
4. ใครเป็นใครในการปฏิวัติฝรั่งเศส ผมจะขอจำกัดเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะถูกพูดถึงในการพาชมสถานที่ เพราะบุคคลที่มีส่วนในการปฏิวัตินั้นมีมากหมายเหลือเกิน อย่างไรก็อาจแบ่งกลุ่มสำคัญในฝ่ายปฏิวัติได้เป็น 2 กลุ่มหลัก โดยคนเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวกันเป็นสมาคมทางการเมือง คือ 1.) สมาคมกอร์เดลิเย่ (Cordeliers) และ 2.) สมาคมจาโกแบง (Jacobin)
- สมาคมกอร์เดลิเย่ ตั้งอยู่ในเขตกอร์เดลิเย่ของปารีส อุดมการณ์แบบมวลชนนิยม (populism) สมาชิกสำคัญคือนักหนังสือพิมพ์และทนายความ เช่น ดองตง (Georges Danton) นักกฎหมาย กามีย์ เดส์มูแลงส์ (Camille Desmoulins) นักกฎหมาย และนักหนังสือพิมพ์ และ ฌอง ปอล มาราต์ (Jean-Paul Marat) นักหนังสือพิมพ์และนักวิทยาศาสตร์
- สมาคมจาโกแบง ตั้งอยู่ในย่าน Saint-Honoré ของปารีส มีเป้าหมายอยู่ที่การสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ ประกอบด้วย 2 กลุ่มย่อย คือกลุ่มที่เรดิคัล (radical) เรียกว่า มองตาญาร์ด์ (Montagnards) มีโรปสเปียร์และแซง ฌูสท์ (Saint-Just) เป็นแกนนำ และกลุ่มที่ค่อนข้างกลาง (moderate) เรียกว่า ฌิรงแดง (Jirondin) เนื่องจากแนวทางที่ขัดแย้งกัน และพวกณิรงแดงเริ่มมีลักษณะประนีประนอมกับอำนาจในระบอบเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อฝ่ายมงตาญาร์ด์มีอำนาจในยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวจึงกวาดล้างและกิโยตินพวกญิรงแดง
- กลุ่มอื่นๆ บางคนมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติมาตั้งแต่แรก แต่เกิดความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์กับฝ่ายเรดิคัลในภายหลังเช่น นายพล Lafayette ซึ่งเป็นนายทหารฝรั่งเศสที่เข้าร่วมรบสงครามปฏิวัติอเมริกัน เป็นเพื่อนสนิทกับบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างจอร์จ วอร์ชิงตัน และโธมัส เจฟเฟอสัน นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ร่วมร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองด้วย
---------------------------
เกริ่นมาก็ยาว ถึงจุดนี้ก็คงเหมาะแก่การพาชมสถานที่สำคัญเหล่านี้แล้ว สถานที่แรกที่ควรพูดถึง เพราะเป็นสิ่งที่คนมักนึกออกเป็นอันดับแรกๆ เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็คือ
(1) สถานที่ประหารกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 และมารีอ็องตัวเน็ตด้วยกิโยติน
บริเวณที่ใช้ประหารกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 และมารี อ็องตัวเน็ต คือบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า 'Place de la Concorde' หรือจัตุรัสแห่งความสมานฉันท์ อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซน อยู่ใกล้กับสถานีเมโทร La Concorde สามารถเดินมาได้ โดยมันถือเป็นจุดสิ้นสุดฝั่งตะวันออกของถนนชอง เซลิเซ่ (Champs-Élysées) เดิมจตุรัสนี้สมัยปฏิวัติมีชื่อว่า 'Place de la Révolution' (จัตุรัสแห่งการปฏิวัติ) และในสมัยนั้นก็ยังไม่มีโอเบลิกส์ (เสาสูงจากอียิปต์)
โอเบลิสก์บริเวณ Place de la Concorde |
ผมสังเกตว่าบริเวณนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ มีบริการขับรถชมวิวในปารีสตั้งแต่รถตุ๊กๆ จนถึงรถหรูเปิดประทุนกันเลยทีเดียว ซึ่งผมไม่รู้ว่าราคาเท่าไร เพราะผมกำลังมองหาสิ่งอื่นที่อยู่ตรงฐานโอเบลิสก์ เรียกว่าถ้ามา 'Place de la Concorde' แต่ไม่ได้เห็นป้ายนี้ก็เหมือนไม่ได้มา
รถตุ๊กๆ ชมวิวปารีสบริเวณใกล้ๆ กับ Place de la Concorde |
ป้ายที่ผมตามหานี้ถูกติดตั้งบนพื้นแบบดียวกันกับหมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า
"ณ ที่แห่งนี้ แรกสร้างมีชื่อเรียกว่า จัตุรัสลุยส์ที่ 15 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 1792 จนถึงพฤษภาคม 1795 มีชื่อว่า จัตุรัสแห่งการปฏิวัติ ถือเป็นจุดสำคัญที่ใช้การประหารในที่สาธารณะด้วยกิโยติน (บุคคลที่ถูกประหารที่นี่) รวมถึงลุยส์ที่ 16 ซึ่งถูกประหารในวันที่ 21 มกราคม 1793 และมารี อ็องตัวเน็ต ในวันที่ 16 ตุลาคม 1793"
ย่านนี้ถือเป็นย่าน "ไฮโซ" และถนนราชดำเนินบ้านเราก็ได้ไอเดียมาจากช็อง เซลิเซ่นี่เอง แต่ดูถนนเขาจะกว้างกว่าเราหลายเท่าทีเดียว ไม่ไกลจากจุดนี้ก็มีสถานที่สำคัญอีกเช่นกัน อยู่ในย่านถนน Saint-Honoré ถ้าดูจากในภาพแรก จะเห็นอาคารหน้าตาคล้ายๆ วิหารกรีกอยู่ตรงกันกับโอเบลิสก์ นั่นคือโบสถ์ la Madeleine จากจุดนี้ให้เดินตรงไปหาโบสถ์ la Madeleine จากนั้นก่อนจะถึงโบสถ์จะเจอ 4 แยก ให้เลี้ยวขวา เดินฝ่าย่านขายสินค้าแบรนด์เนมมาเล็กน้อยก็จะเจอร้าน Longchamp อยู่หัวมุมถนน ให้เดินต่อมาอีกนิด หาบ้านเลขที่ 398 อยู่ตรงด้านซ้ายมือ หน้าตาธรรมดาเหมือนเป็นอพาร์ทเมนต์ทั่วๆ ไป แต่ตรงนี้แหละคือบ้านพักของมักซิมิลง โรปสเปียร์
2. บ้านพักของ Maximilien Robespierre, บ้านเลขที่ 398 Rue Saint-Honoré
อันที่จริง Robespierre ไม่ใช่คนปารีส เขาเกิดที่ Arras และบ้านตอนเด็กของเขาก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วเช่นกัน ต่อมาเขาได้มาศึกษาต่อในวิทยาลัยชั้นนำของฝรั่งเศสในสมัยนั้น คือ Lycée Louis-le-Grand (ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ Seine ในย่านการศึกษาที่เรียกว่า Quatier Latin) และมีเพื่อนร่วมคลาสคือ Camille Desmoulins ภายหลังเมื่อเขาเป็นผู้แทนเข้าร่วมสภาฐานันดรและมีกิจกรรมทางการเมืองในปารีส จึงเช่าบ้านหลังนี้จากครอบครัว Duply ที่ข้างประตูมีป้ายเขียนว่า
" ที่นี่คือที่พักของ Maximilien Robespierre ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 1791 จนถึงมรณกรรม ในวันที่ 28 กรกฎาคม 1794 (11 เดือนแตร์มิดอ ปีที่ 2 แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส) "
บ้านพัก Robespierre เลขที่ 398 Rue Saint-Honoré |
Robespierre มักถูกวาดภาพว่าเป็นจอมกระหายเลือดในยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว อย่างไรก็ตามเขาเป็นคนที่เสนอความคิดก้าวหน้าหลายอย่าง เช่น การยกเลิกโทษประหาร การกำหนดราคาสินค้าจำเป็น และการเลิกทาส ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นคำขวัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในปัจจุบันอย่าง "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ("Liberté, égalité, fraternité") อีกด้วย
Robespierre ยังมีฉายาว่า "ผู้ไม่ฉ้อฉล" (The Incorruptible) เนื่องจากแม้เขาจะมีอำนาจมากแต่ก็ไม่ได้ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและทำงานทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
เชื่อกันว่า Elenore Duply ลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าชอบพอกันกับ Robespierre แต่ตัว Robespierre ตั้งใจอุทิศชีวิตให้กับการปฏิวัติเลยไม่มีความคิดจะแต่งงานกัน ภายหลังที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว Elenore Duply ยังใส่ชุดดำจนวันสุดท้ายของชีวิต คนเรียกเธอว่า "ม่ายของโรปสเปียร์"
ชื่อของเขากลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมฝรั่งเศสทุกครั้งที่มีความพยายามจะนำมาตั้งเป็นชื่อสถานที่สาธารณะ ในฐานะที่เขาเป็นเสาหลักของยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวนั่นเอง
อันที่จริงแล้ว บริเวณนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือที่ตั้งของสมาคมจาโกแบง (Club des Jacobin) ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "สมาคมของเหล่าจาโกแบง, มิตรแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค" (Société des Jacobins, amis de la liberté et de l'égalité) แต่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็ตาม อาคารหลังนั้นถูกแปรรูปให้กลายเป็นทางเดินเล็กๆ น่ารัก มีร้านกาแฟชิลๆ มาแทนที่เนิ่นนานแล้ว เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
จากจุดนี้ถ้าท่านรักการเดิน ก็สามารถเดินข้ามสะพานไปฝั่งซ้ายแม่น้ำ Seine ได้ เพื่อไปสู่ย่านการศึกษาที่เรียกว่า "กาติเย่ ลาแต็ง" (Quatier Latin) การเดินแบบนี้เพื่อท่านจะได้ชมสถานที่อย่างอื่นด้วย แต่ถ้าคิดจะไปแต่อะไรที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสก็นั่งเมโทรไปโผล่สถานีที่อยู่ใกล้วิหารป็องเตอง (Panthéon) มากที่สุด เช่น Cardinal Lemoine แล้วก็เดินดุ่ยๆ ไปทางวิหารป็องเตองเลย
3. วิทยาลัย Lycée Louis-le-Grand, วิหาร Panthéon และสุสานของมาราต์
บริเวณวิหาร Panthéon จะมีลานกว้าง โดยรอบมีสถานศึกษาสำคัญหลายแห่ง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) และกอลแลจ เดอ ฟร็องซ์ (Collège de France) ยังมีวิทยาลัย Lycée Louis-le-Grand ซึ่งเป็นที่ศึกษาของ Robespierre และ Desmoulins อีกด้วย อันที่จริงวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน อย่างเช่นวอลแตร์ วิกเตอร์ อูโก ฯลฯ เพราะที่นี่ถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของฝรั่งเศส
Lycée Louis-le-Grand วิทยาลัยชั้นนำของฝรั่งเศส มีศิษย์เก่าเป็นคนมีชื่อเสียงหลายคน |
สำหรับตัววิหาร Panthéon เองเดิมเป็นวิหารศาสนาคริสต์ แต่ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสมันถูกเปลี่ยนให้มีสถานะเป็นสุสานสำหรับบุคคลสำคัญของชาติ บุคคลแรกที่ถูกนำศพเข้าไปบรรจุใน Panthéon ก็คือ มิราโบ (comte de Mirabeau) อภิชนที่เดิมต้องการเข้าร่วมกับฐานันดรที่ 2 (ของอภิชน) แต่ถูกปฏิเสธ จึงสมัครเข้าร่วมฐานันดรที่ 3 และได้กลายเป็นสมาชิกสภาฐานันดร เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักพูดที่มีวาทศิลป์ แม้ก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาจะมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเขากลายเป็นวีรบุรุษของชาติ มิราโบเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากเหตุการในสภาฐานันดร โดยตามระเบียบแล้วฐานันดรต่างๆ จะต้องแยกกันประชุม แต่ฐานันดรที่ 3 ไม่เห็นด้วย และต้องการให้มีการโหวตในที่ประชุมรวมของทั้งสามฐานันดร คนของราชสำนึกจึงแจ้งให้บายยี (ฺBailly) ผู้เป็นประธานสภาทราบ แต่มิราโบลุกขึ้นยืนและพูดด้วยเสียงอันดังว่า
"Nous sommes assemblés par la volonté nationale, nous ne sortirons que par le force"
(พวกเรารวมตัวกันด้วยประสงค์ของชาติ, เราจะไม่ออกไปเว้นเสียแต่จะถูกขับไล่ด้วยกำลัง)
นี่ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สร้างชื่อให้มิราโบ ภายหลังเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมจาโกแบง และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อเขาเสียชีวิตลง สมัชชาแห่งชาติจึงมีมติให้เปลี่ยนวิหาร Panthéon เป็นสุสานเพื่อบรรจุศพของเขา การกระทำเช่นนี้ควบคู่ไปกับการรื้อถอนอิทธิพลของศาสนจักรต่อรัฐ (Dechristianization) ภายหลังสมัชชาแห่งชาติยังได้อนุมัติให้นำบุคคลอย่างเช่นวอลแตร์ และมาราต์ เข้ามาบรรจุใน Panthéon ด้วย ปัจจุบัน Panthéon ยังมีฐานะเดียวกันกับเมื่อสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นคือบรรจุศพบุคคลสำคัญของชาติ เช่น มารีและปิแอร์ คูรีย์, วิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo), ปอล แลงกาวีน (Paul Langevin) , โยแซฟ ลุยส์ เลอกร็องจ์ (Joseph-Louis Lagrange) และฌอง ฌูเรส์ (Jean Jaurès) เป็นต้น ท่านสามารเข้าไปชมได้ แต่ว่าเสียค่าเข้าชม คนละ 7 ยูโร (อายุน้อยกว่า 25 เหลือ 4.5 ยูโร)
|
วิหาร Panthéon ที่บรรจุร่างบุคคลสำคัญของชาติ ด้านบนหน้าจั่วมีข้อความ |
แต่เดี๋ยวก่อน ปัญหาของ Panthéon ก็คือว่า "เมื่อเข้าได้ ก็ออกได้" และมิราโบก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกนำศพออกจาก Panthéon เป็นคนแรก (โชคดีจริงๆ ได้ทั้งเข้าคนแรก และถูกนำออกคนแรก) เหตุเพราะว่าหลังจากเขาตายไม่นาน ฝ่ายปฏิวัติได้ค้นพบเอกสารแสดงให้เห็นว่ามิราโบรับเงินค่าจ้างจากกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 รวมทั้งจากออสเตรีย (บ้านของมารี อ็องตัวเน็ต) รวมทั้งมารี อ็องตัวเน็ตยังเคยพยายามติดสินบนด้วยเงิน แต่มิราโบขอตำแหน่งรัฐมนตรีแทน (ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 กษัตริย์มีอำนาจตั้งรัฐมนตรี) หลักฐานเหล่านี้เปลี่ยนให้วีรบุรุษของชาติกลายเป็นทุรบุรุษของชาติ ศพของเขาจึงถูกนำออกมาจาก Panthéon และไปฝังในสุสานแบบนิรนาม ในปี ค.ศ. 1794 จากนั้นจึงถูกแทนที่ด้วยศพของมาราต์ (Marat) ผู้ซึ่งภายหลังจะถูกนำออกจาก Panthéon อีกเช่นกัน
นอกจากนี้ Panthéon ยังถือเป็นแบบอย่างให้กับคณะราษฎรในการสร้าง "วัดประชาธิปไตย" หรือที่รู้จักกันว่า "วัดมหาธาตุ หลักสี่" ภายในเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุอัฐิของสมาชิกคณะราษฎร และเดิมทีคณะราษฎรมีประสงค์จะใช้บรรจุบุคคลสำคัญของชาติ ดังที่แจ้งในสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลต้องการจะสร้างวัดขึ้นมาเพื่อใช้บรรจุอัฐของ "ผู้ที่ทำประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ซึ่งเช่นเดียวกับที่ Panthéon ของฝรั่งเศส"
ก่อนจะออกจากย่าน Panthéon ต้องไม่ลืมพูดถึงมาราต์ นักหนังสือพิมพ์และนักวิทยาศาสตร์หัวรุนแรงสังกัดกลุ่ม Cordeliers มาราต์นั้นเป็นบุคคลที่น่าสนใจ เขาเริ่มจากการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร แต่เป็นคนแปลหนังสือเรื่อง Optiks ของนิวตัวเป็นภาษาฝรั่งเศสและยังถูกใช้อ้างอิงอยู่ในปัจจุบัน เขามีความสนใจทางการเมืองเช่นกัน เคยเสนอในหนังสือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบยุติธรรมว่ารัฐมีหน้าที่สนับสนุนสวัสดิการด้านปัจจัยพื้นฐานเช่นอาหารและที่อยู่ให้กับประชาชน ภายหลังเขาริเริมเขียนหนังสือพิมพ์ "มิตรของประชาชน" (L'Ami du peuple) ซึ่งมีลักษณะเรดิคัล สนับสนุนฝูงชนและยุยงให้ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด ก่อนหน้านี้เขาเคยต้องหนีการสลายการชุมนุมมุดลงไปในท่อระบายน้ำ ทำให้ติดเชื้อโรคผิวหนังจนเมื่ออาการรุนแรงขึ้นเขาต้องแช่ตัวในน้ำสมุนไพรอยู่แทบตลอดเวลา ภายหลังเขาร่วมมือกับพวกมองตาญาร์ด์เพื่อกำจัดพวกฌิรงแดงเนื่องจากมีเป้าประสงค์ที่เรดิคัลเช่นกัน แต่เมื่อปราบฌิรงแดงสำเร็จแล้ว เขาเองก็ถูกฆาตรกรรมในอ่างน้ำโดยผู้หญิงชื่อ Charlotte Corday ซึ่งแสร้งว่าจะมาแจ้งข่าวสมาชิกฌิรงแดงที่หลบหนี แต่ที่จริงแล้วเธอเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเรดิคัลของมาราต์ เมื่อมาราต์ตายเขากลายเป็นวีรบุรุษของฝูงชน รูปปั้นของเขาถูกตั้งไว้ในโบสถ์เพื่อให้คนเคารพบูชา ศพของเขาถูกฝังไว้ในสวนของสำนักชีกอร์เดลิเย่ ต่อมาจึงถูกย้ายเข้าไปไว้ใน Panthéon และเมื่อมีการรัฐประหารแตร์มิดอร์โค่นล้มกลุ่มของ Robespierre รัฐบาลหลังการรัฐประหารซึ่งต้องการลดกระแสเรดิคัลจึงนำศพของมาราต์ออกจาก Panthéon มาฝังไว้ในสุสานของโบสถ์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน คือ Saint-Étienne-du-Mont ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของ Panthéon
โบสถ์ Saint-Étienne-du-Mont สถานที่ฝังศพมาราต์ในปัจจุบัน |
4. สำนักชีกอร์เดลิเย่, ย่าน Odéon, บ้านของด็องตง, ร้าน Café Procope, สำนักพิมพ์ของมาราต์, และสถานที่ทดสอบกิโยตินกับสัตว์ครั้งแรก
จากวิหาร Panthéon เราสามารถเดินออกมาหาถนน Rue des Écoles ได้ โดยเดินตรงมาเรื่อยๆ เมื่อถึงทางแยกให้เดินเข้าถนน Rue de l'École de Médecine ซึ่งเป็นถนนแคบๆ ถนนเส้นนี้จะเชื่อมกับย่าน Cordeliers หรือ Odéon เป้าหมายของเราอันแรกก็คือ สำนักชีกอร์เดลิเย่ เพียงเดินตรงมาสักเล็กน้อย ให้มองหาด้านขวามือ จะมีทางลงสำหรับจอดรถชั้นใต้ดิน ให้มองด้านซ้ายมือทันทีเยื้องๆ กันจะมีรั้วอยู่ ซึ่งจากที่ฟังนักศึกษาแถวนั้นคุยกัน (ที่ยืนอยู่หน้ารั้วนั่นแหละครับ) เขาว่าปกติจะเปิด แต่เนื่องจากช่วงนี้เขากำลังปรับปรุงอาคารภายในอยู่ ก็เลยปิดประตู น่าเสียดายยิ่งนัก มองเข้าไปในรั้วจะเห็นอาคารหลังคาสีสดเด่น และอาคารนี้แหละคือสำนักชีกอร์เดลิเย่ ที่ประชุมของสมาคมปฏิวัติกอร์เดลิเย่ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า สมาคมมิตรของสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Société des Amis des droits de l’homme et du citoyen) สมาคมนี้มีค่าเข้าถูกกว่าสมาคมปฏิวัติอื่น (อย่างเช่น Jacobin) จึงทำให้มีคนมากหน้าหลายตากว่า แต่แกนนำของกลุ่มก็ยังคงเป็นชนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์และทนายความที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ด็องตง หรือ เดส์มูแลงส์ ซึ่งมีบ้านและสำนักงานอยู่ไม่ไกลจากสำนักชีกอร์เดลิเย่นัก ณ บริเวณสวนของสำนักชีแห่งนี้ คือที่ฝังศพมาราต์แห่งแรกหลังจากเขาเสียชีวิต (ก่อนถูกนำเข้าไปบรรจุใน Panthéon) และหัวใจของเขายังถูกดองและตั้งไว้ในแท่นบูชาของโบสถ์ในสำนักชีเก่าแห่งนี้หลังเขาเสียชีวิตไม่นาน และไม่ไกลจากนี้ก็คือบ้านของมาราต์ บ้านเลขที่ 18 Rue de l'École de Médecine ซึ่งเขาถูกสังหารโดย Charlotte Corday แต่ในปัจจุบัน บ้านหลังนี้น่าจะถูกทุบไปแล้ว เนื่องจากผมหาไม่เจอจริงๆ (ภายหลังกลับมาค้นคว้าเพิ่ม ก็ยังไม่มีการระบุตำแหน่งเอาไว้)
|
สำนักชีกอร์เดลิเย่ (Refectoire Des Cordeliers) |
สมาชิกสมาคมกอร์เดลิเย่ไม่ได้ประชุมอยู่เพียงแต่ที่สำนักชีกอร์เดลิเย่ แต่พวกเขายังใช้ร้านอาหารที่อยู่ในย่านบ้านของด็องตงเป็นที่ประชุมอีกด้วย จากจุดนี้เราจะเดินตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงแยกที่มีสถานีเมโทร Odéon (ดังนั้นใครมาจากทางอื่นก็นั่งเมโทรมาลงแล้วเดินย้อนกลับขึ้นมาได้) บริเวณสถานีเมโทรด้านบนจะมีอนุสาวรีย์ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ ซึ่งก็คืออนุสาวรีย์ของจอร์จ ด็องตง หัวหน้ากลุ่ม Cordeliers นั่นเอง โดยอนุสาวรีย์ของเขาจะหันหน้าเข้าสู่ย่านการค้าแซงต์-อังเดร Cour du Commerce Saint-André อนุสาวรีย์บรอนซ์นี้สร้างขึ้นโดยเมืองปารีสในปี ค.ศ. 1891 ณ จุดที่เป็นบ้านเขาในอดีต
ด็องตงเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างศาลปฏิวัติ (Revolutionary Tribunal) เพื่อหวังควบคุมการก่อจราจลของฝูงชนในปารีสพูดง่ายๆ คือ เขาต้องการเปลี่ยนความรุนแรงนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ ให้มีการไต่สวนแทนที่จะบุกเข้าไปฆ่ากันเฉยๆ เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งสาธารณภัยอีกด้วย ในช่วงแรกของการปฏิวัติ ด็องตงและเดส์มูแล็งส์ มีความคิดไปในทางเดียวกันกับกลุ่มจาโกแบง และเมื่อกลุ่มจาโกแบงขัดแย้งภายในกันรุนแรง เขายังร่วมมือกันกับพวกมองตาญาร์ดเพื่อปราบพวกณิรงแดงลงอีกด้วย แต่ในภายหลังเมื่อพวกเขารู้สึกว่ายุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวเริ่มไปไกลกว่าที่คิด ท่าทีที่พยายามประนีประนอมในช่วงนี้เองทำให้เขาเกิดความขัดแย้งกับโรปสเปียร์และมงตาญาร์ด์ สุดท้ายสมาชิกกลุ่มกอร์เดลิเยส์สายประนีประนอมทั้งหมดก็ถูกประหารด้วยกิโยติน กามีล เดส์มูแลงส์ อดีตเพื่อนร่วมชั้นของโรปสเปียร์ก็เป็นหนึ่งในเหยื่อกิโยตินครั้งนี้ด้วย กลุ่มกอร์เดลิเย่ถูกประหารด้วยกิโยติน ณ บริเวณจัตุรัสแห่งการปฏิวัติ
อนุสาวรีย์ของจอร์จส์ ด็องตง (Georges Danton) หันหน้าเข้าหาตรอก Cour du Commerce Saint-André |
ย่าน Odéon เป็นสถานที่สำคัญหลายอย่าง เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในใจกลางของการปฏิวัติฝรั่งเศส นอกจากบ้านของด็องตงแล้ว ยังมีมีสำนักงานทนายความของเขากับเดส์มูแลงส์ บ้านของเดส์มูแลงส์ เลขที่ 2 ถนน Rue Rotrou บ้านของโธมัส เพน (Thomas Paine) ผู้เขียน The Common Sense และ The Age of Reason บุคคลสำคัญในการปฏิวัติอเมริกา และสมาชิกกลุ่มณิรงแดงกิตติมศักดิ์ (แน่นอนว่าเขาถูกสั่งให้ประหารด้วย แต่สามารถเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้) เลขที่ 10 ถนน Rue de l'Odéon ร้านอาหาร Café Procope ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของคนสำคัญอย่างวอลแตร์ สมาชิกกอร์เดลิเย่ และโรปสเปียร์ สำนักพิมพ์ของมาราต์ และสถานที่ทดสอบกิโยตินกับแกะก่อนใช้ประหารคนจริง ผมไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านของเดส์มูแลงส์และของโธมัส เพน แต่ได้เดินผ่านตรอกการค้า Cour du Commerce Saint-André ซึ่งด้านซ้ายและขวาจะมีสถานที่สำคัญเหล่านี้อยู่ ในปัจจุบันกลายเป็นร้านค้าหมดแล้ว เหลือเพียง Café Procope ที่ยังคงเอกลักษณ์เก่าแก่เอาไว้
ประตูทางเข้าตรอก Cour du Commerce Saint-André ถ่ายจากหน้าอนุสาวรีย์ Danton |
ประตูทางเข้าตรอก Cour du Commerce Saint-André ถ่ายจากด้านหน้า |
บ้านเลขที่ 8 อดีตเป็นสำนักพิมพ์ของมาราต์ ปัจจุบันเป็นร้านขายของชำ แผ่นกลมๆ นั่นน่าจะเป็นชีส |
บ้านเลขที่ 9 ในอดีตมีลานที่ใช้ทดสอบกิโยตินกับแกะก่อนใช้จริงกับมนุษย์ |
บ้านเลขที่ 1 เดิมเป็นสำนักงานของกฎหมายของ Danton |
ร้าน Café Procope เป็นร้านสไตล์คาเฟ่ ตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1686 มีทางเข้าร้านอยู่สองฝั่ง ฝั่งนึงอยู่ติดกับตรอกการค้า Cour du Commerce Saint-André และอีกฝั่งอยู่ติดกับถนน Rue de l'Ancienne Comédie ทางเข้าใหญ่จะอยู่ทางฝั่งนี้ เมื่อเดินผ่านร้านจะเห็นป้ายโฆษณาให้เสพบรรยากาศสมัยปฏิวัติ เป็นร้านที่อาหารค่อนข้างแพงทีเดียว ซึ่งผมไม่ได้เข้าไป (ฮ่าๆ) เลยถ่ายแต่เฉพาะด้านหน้าร้านเท่านั้น ร้าน Café Procope มีคนดังมาแวะเวียนหลายคน เช่น วอลแตร์, มิราโบ, มาราต์, ด็องตง, โรปสเปียร์, เบนจามิน แฟลงคิน, นโปเลียน วิกเตอร์ อูโก แถมภายในร้านจะมีโต๊ะนั่งประจำของวอลแตร์ หมวกของนโปเลียน โปสการ์ดจากมารี อ็องตัวเน็ต และสิ่งของจากสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ที่หน้าประตูห้องน้ำแทนที่จะบ่งบอกเพศเป็นชาย/หญิง ทางร้านมีข้อความ Citoyen และ Citoyenne ซึ่งแปลว่าพลเมือง (สำหรับชายและหญิง) เป็นคำนำหน้าบุคคลในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อความเท่าเทียมกัน เช่น กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ก่อนถูกกิโยตินก็มีสถานะเป็นพลเมืองลุยส์ กาเปต์ (Citoyen Louis Capet)
ร้าน Café Procope เลขที่ 13 Rue de l'Ancienne Comédie ถ่ายจากด้านหน้าร้าน |
ภาพภายในร้าน Café Procope ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต |
อันที่จริงแล้วบริเวณแถวๆ นี้ รวมทั้งย่านริมแม่น้ำแซนยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น คลับเพลงแจ๊ส Caveau des Oubliettes ที่ในอดีตเป็นคุกขังลืม หรือคลับเพลงแจ๊ส Caveau de la Huchette เลขที่ 5 rue de La Huchette อาคารเก่าสมัยยุคกลางซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักปฏิวัติและยังถูกใช้เป็นคุกและศาลปฏิวัติ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาทำให้ผมไม่ได้แวะเวียนไปยังสถานที่เหล่านี้ และนอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วซึ่งแม้ว่าผมจะได้ไปชมแต่ก็ไม่ได้เก็บมาเล่า เพราะตั้งใจจะไปชมอย่างละเอียดอีกครั้งและนำมาเสนอใหม่ในโอกาสหน้า สถานที่เหล่านี้ก็เช่น กงซิแยเฌอรี (Conciergerie) ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังนักโทษสมัยปฏิวัติรวมทั้งมารี อ็องตัวเน็ต, ศาลาว่าการเมือง (Hôtel de Ville) ซึ่งโรปสเปียร์หนีมาตั้งหลักหลังเกิดรัฐประหารเดือนแตร์มิดอร์ เขาพยายามฆ่าตัวตายที่นี่ แต่ไม่สำเร็จ แม้จะมีลมหายใจรวยรินแต่ก็ถูกนำไปกิโยตินในท้ายที่สุด นอกจากนี้แล้ว จุดนี้ยังเป็นบริเวณที่แม่ค้าตลาดสดหลายพันคนมาชุมนุมกันก่อนการเดินทางไปแวร์ซายเพื่อบังคับให้ลุยส์ที่ 16 และครอบครัวเดินทางกลับปารีส ในเหตุการณ์นั้น เหตุการณ์นี้รู้จักกันในชื่อว่า "การเดินขบวนไปแวร์ซาย", จัตุรัสบาสตีย์ (Place de la Bastille) ซึ่งในอดีตคือบริเวณที่ตั้งของคุกบาสตีย์ ปัจจุบันไม่มีแม้แต่เศษซากเพราะหลังวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา ฝูงชนก็ถอดทำลายคุกทิ้งทั้งหมด นายพลลาฟายาต (Lafayatte) เคยมอบกุญแจประตูคุกบาสตีย์ให้กับประธานาธิบดีจอร์จ วอร์ชิงตันของอเมริกาอีกด้วย ปัจจุบันกุญแจดอกนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณธ์ Mount Vernon ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่มหาวิหารนอเตรอะดามแห่งปารีส (Notre Dame de Paris) ก็ยังมีความสัมพันธ์กับการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเดิมที่บริเวณด้านหน้าของประตูวิหารจะมีรูปปั้นของกษัตริย์ฝรั่งเศสโบราณอยู่ รัฐบาลปฏิวัติมีคำสั่งให้ศิลปินทุบทำลายรูปปั้นเหล่านั้นเสีย ระหว่างทุบทำลาย คณะทำงานนำเอารูปปั้นกษัตริย์มากองไว้ที่ด้านหน้าของมหาวิหาร ต่อมาประชาชนชาวปารีสใช้บริเวณนั้นเป็นที่ขับถ่ายหนักเบาเพื่อจะหมิ่นเกียรติกษัตริย์ฝรั่งเศส มีคนบันทึกเอาไว้ว่า บริเวณนั้น "กลิ่นเหม็นรุนแรงมาก" แต่เขายังเสริมด้วยว่า "แต่(กลิ่นเหม็นนี้)ยังรุนแรงน้อยกว่าความเน่าเหม็นของระบอบเก่าเสียอีก" ภายหลังรูปปั้นกษัตริย์เหล่านั้นถูกนำไปซ่อนและค้นพบโดยบังเอิญ ยังจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กลูนี หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติยุคกลาง (Musée national du Moyen Âge) ผู้เขียนตั้งใจว่าในโอกาสหน้าจะไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านี้โดยละเอียดอีกครั้ง
5. สุสานปิกปุส (Cimetière de Picpus) หลุมศพรวมของเหยื่อจากลานกิโยตินที่มีการประหารคนมากที่สุดในยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวและหลุมฝังศพนายพล Lafayatte
อย่างไรก็ตามก่อนจบทริปชมสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสในปารีส ผู้เขียนจะพานั่งรถไฟใต้ดิน บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกของปารีส ณ บริเวณที่เรียกว่า จัตุรัสแห่งชาติ (Place de la Nation) หรือที่เดิมมีชื่อว่าจัตุรัสแห่งราชบัลลังก์ (Place du Trône) ใกล้ๆ กับบริเวณจัตุรัสแห่งชาติมีอนุสาวรีย์สำคัญคือ อนุสาวรีย์ชัยชนะแห่งสาธารณรัฐ (Triomphe de la République) และเสาคอลัมน์ขนาดใหญ่ 2 เสา (Barrière du Trône) เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงโบราณสมัยยุคกลาง
อนุสาวรีย์ชัยชนะแห่งสาธารณรัฐ (Triomphe de la République) มองเห็นเสาคอลัมน์อยู่ใกลๆ |
บริเวณนี้เองที่เป็นหนึ่งในจุดติดตั้งกิโยตินในปารีสในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นจุดที่มีการประหารมากที่สุด โดยในวันที่มากที่สุด ประหารไปมากถึง 55 คน
จากจุดนี้เราสามารถเดินไปทางใต้ โดยผ่านถนน Rue Fabre d'Eglantine เมื่อเจอแยกให้เลี้ยวเข้าแยกซ้ายในสุดผ่านถนน Rue de Picpus ให้เดินชิดบาทวิถีฝั่งซ้าย มองหาอาคารเลขที่ 35 Rue de Picpus จะค่อนข้างสังเกตยากเล็กน้อย แต่ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าจะมีป้ายติดอยู่ที่ด้านขวามือ มีข้อความว่า
"ณ ที่แห่งนี้มีหลุมศพรวมสองแห่ง ซึ่งมีร่างของมนุษย์มากกว่า 1,300 คนที่ถูกกิโยติน ณ จัตุรัส Place du Trône ในช่วงวันที่ 13 มิถุนายน ถึง 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794"
ตอนที่ผมไปนั้นไม่รู้ว่าเขาเปิดให้เข้าแค่บางเวลา ประตูก็เลยปิดอยู่ จากนั้นเดินวนรอบบล็อคใหญ่ๆ เพื่อหาทางเข้าอยู่หนึ่งรอบครึ่ง เมื่อวนมาครั้งที่สองเห็นประตูแง้มเลยโผล่หน้าเข้าไปถามดู ได้ความว่าสุสานแห่งนี้จะเปิดตั้งแต่จันทร์ถึงเสาร์ 14.00-17.00 หยุดวันอาทิตย์และนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าเยี่ยมชม 2 ยูโรต่อคน ดังนั้นเข้าใจว่าถ้ามาถูกเวลาตามที่ระบุไว้นี้ ประตูจะเปิดอยู่เหมือนในรูปด้านล่าง เมื่อผมกลับมาตอนบ่ายสองก็เข้าได้ตามปกติ
ทางเข้าสุสานปิกปุส จากประตูจะเห็นโบสถ์เล็กๆนอเตรอะดามเดอลาเป (Notre-Dame-de-la-Paix) * |
|
ทางเข้าสุสานปิกปุส มีป้ายระบุว่าที่นี่มีหลุมศพรวมเหยื่อกิโยตินที่ถูกประหารบริเวณจัตุรัส Place du Trône |
สุสานปิกปุสเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โบสถ์ นอเตรอะดามเดอลาเป (Notre-Dame-de-la-Paix) โดยจะตั้งอยู่ด้านหลัง แรกเปิดประตูเข้าไป (อย่าลืมจ่ายเงินค่าเข้าชมกับเจ้าหน้าที่ในห้องทางขวามือ) จะมองเห็นพื้นกรวดและบ่อน้ำเก่าตั้งอยู่ตรงกลางลาน เลยไปคือโบสถ์ที่แม้จะเล็กแต่มีชื่อเสียง เพราะมีความเชื่อว่ารูปพระแม่มารีอุ้มพระบุตรที่ประดิษฐานในโบสถ์นี้สามารถช่วยให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 14 หายจากประชวรหนักได้ ผมแนะนำให้เดินเข้าประตูที่อยู่ด้านซ้ายมือของโบสถ์ก่อน เพื่อเดินเข้าไปที่สุสานและก่อนจะกลับมาทางเดิมเพื่อเข้าไปภายในโบสถ์ เมื่อเข้าประตูไปแล้วจะเป็นสนามหญ้า มีทางเดินซึ่งมีต้นไม้เป็นแนวอยู่ทางขวาให้เดินตามทางนี้ไป
สนามหญ้าหลังเข้ามาในประตู ด้านขวาจะมีแนวต้นไม้อยู่ สุดทางคือทางเข้าสุสาน |
ทางเดินเข้าสุสาน |
เมื่อเดินจนสุดแนวต้นไม้จะเจอทางเลี้ยวขวา ก็จะถึงบริเวณสุสาน |
เมื่อเข้ามาถึงบริเวณสุสานจะเห็นหลุมศพเรียงราย สภาพเหมือนกันกับสุสานๆ ทั่วๆ ไป ท่านอาจจะเห็นว่ามีบางหลุมศพที่ค่อนข้างใหม่อยู่ด้วย ณ ตรงจุดนี้ยังไม่ใช่บริเวณหลุมศพของเหยื่อกิโยติน แต่เป็นร่างของบุคคลที่เป็นเครือญาติของเหยื่อกิโยติน
จากจุดนี้เมื่อเราเดินไปตามทางเดินตรงกลาง สุดทางด้านขวามือจะเห็นหลุมศพขนาดใหญ่ มีรั้ว และมีธงชาติอเมริกันประดับอยู่ ณ ตรงนี้แหละ คือหลุมศพของนายพลลาฟายาต (Marquis de Lafayette) วีรบุรุษแห่งการปฏิวัติอเมริกัน และผู้ร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
บริเวณหลุมศพของนายพลลาฟายาต (Marquis de Lafayette) |
การที่นายพลลาฟายาตเป็นวีรบุรุษของการปฏิวัติอเมริกัน ก็ทำให้เขาได้รับความนิยมจากคนทั่วไปในฝรั่งเศสด้วย แต่จุดพลิกผันจนทำให้เขาต้องลี้ภัยก็คือเมื่อเขาพยายามวางตัวเป็นกลางและพยายามรักษาระเบียบในสภาวะที่ฝ่ายเรดิคัลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1791 สมาคมกอร์เดลิเย่ปลุกระดมมวลชนเพื่อเรียกร้องให้สภาต้องเลือกระหว่างยกเลิกระบอบกษัตริย์หรือทำประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของระบอบกษัตริย์ ฝูงชนเริ่มเปลี่ยนเป็นจราจลและทำให้นายพลลาฟายาตต้องคุมกำลังเข้าปราบ เหตุการณ์นี้เรียกว่า "การสังหารหมู่ที่ชองป์ส์ เดอ มาร์ส์" (Champs de Mars massacre) (ซึ่งตรงจุดนี้เองที่มาราต์ต้องหนีลงท่อระบายน้ำจนกลายเป็นโรคผิวหนัง) กลุ่มเรดิคัลของฝ่ายปฏิวัติโจมตีเขาอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกนิยมกษัตริย์ หลังจากนั้นไม่นานเมื่อกองทัพออสเตรียและปรัสเซียประกาศว่าจะทำสงครามกับฝรั่งเศสหากฝ่ายปฏิวัติทำร้ายกษัตริย์ ฝูงชนในปารีสมีความโกรธแค้น บุกเข้าไปในพระราชวังตุยเลอรีส์ ด็องตงอาศัยจังหวะนี้ออกหมายจับลาฟายาต ผู้พยายามหนีจากฝรั่งเศสผ่านทางเนเธอแลนด์แต่ถูกกองทัพออสเตรียจับตัวได้เสียก่อน รัฐบาลอเมริกันในขณะนั้นพยายามช่วยเหลือลาฟายาตอย่างเต็มที่ เช่น จ่ายเงินบำเน็จให้ในฐานะอดีตทหารของกองทัพปฏิวัติอเมริกัน จ้างสายลับช่วยพาหนีแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายลาฟายาตพ้นโทษเมื่อปลายสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส โดยการเจรจาของนโปเลียน โปนาบาร์ตหนึ่งในกงสุลของระบอบดิเร็กตัวร์ (Directioire) ซึ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติเดือนแตร์มิดอร์ ชีวิตของลาฟายาตหลังจากนี้จะรกหกระเหินอีกนาน เนื่องจากความเชื่อมั่นในอุดมคติเกี่ยวกับเสรีภาพและประชาธิปไตยของเขา ตั้งแต่นโปเลียน โปนาบาร์ตรัฐประหารและขึ้นเป็นกงสุลเพียงคนเดียวของระบอบดิเร็กตัวร์ ยกเลิกระบอบสาธารณรัฐและขึ้นเป็นจักรรพรรดิ พ่ายแพ้ต้องลงจากอำนาจ และกลับมาเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง นโปเลียนพยายามชักจูงให้ลาฟายาตมาร่วมงานด้วย แต่เขาปฏิเสธว่ายินดีทำงานให้เฉพาะกับรัฐบาลประชาธิปไตยและยอมเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังเมื่อนโปเลียนหมดอำนาจและมีการรื้อฟื้นราชวงศ์บูรบองขึ้นใหม่ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 พยายามจะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์แต่เกิดแรงต่อต้าน โดยลาฟายาตก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อเกิดการลุกฮือใหญ่ขึ้น กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 สละราชบัลลังก์ ลาฟายาตกลายเป็นผู้นำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เขาซึ่งมีประสบการณ์จากการปฏิวัติฝรั่งเศสหวาดกลัวว่าการตั้งสาธารณรัฐอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง จึงเสนอยกราชบัลลังก์ให้กับกษัตริย์ลุยส์ฟิลิป (Louis-Philippe) ผู้อาศัยอยู่ในอเมริกามาเป็นเวลานาน ด้วยเชื่อว่าลุยส์ฟิลิปจะเป็นกษัตริย์ที่ดีในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าสภาจะโน้มน้าวให้เขาขึ้นเป็นกษัตริย์/ประธานาธิบดีแทนก็ตาม ภายหลังลุยส์ฟิลิปหาใช่กษัตริย์ที่ดีไม่ ลาฟายาตอภิปรายในสภาต่อต้านกษัตริย์ลุยส์ฟิลิปอย่างรุนแรง แต่ด้วยวัยชรา เมื่อเขาเป็นป่วยด้วยอาการปอดบวมจึงเสียชีวิตลงไม่นานหลังจากนั้น ร่างของเขาถูกนำมาฝังร่วมกับภรรยา (ผู้เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้วหลายสิบปี) ที่สุสานปิกปุส ภรรยาของเขาต้องการให้ฝังร่างตนเองที่นี่เนื่องจากญาติของเธอจำนวนมากเป็นเหยื่อกิโยตินที่ถูกฝังอยู่ในหลุมศพรวมภายในสุสานปิกปุส การเสียชีวิตของลาฟายาตได้รับการรำลึกอย่างยิ่งใหญ่ในอเมริกา สภาคองเกรสถูกประดับด้วยสีดำ สมาชิกทั้งสองสภาติดแผ่นผ้าไว้อาลัยเป็นเวลาหนึ่งเดือน ภายหลังจะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1848 โค่นล้มกษัตริย์ลุยส์ฟิลิปและนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2
หลังจากเล่าชีวิตของลาฟายาตมาเสียยืดยาว ก็จะพาไปจุดอื่นต่อ บริเวณหลุมศพลาฟายาตจะมีป้ายของอื่นอยู่มากมาย ส่วนใหญ่ก็เป็นเหยื่อกิโยตินที่มีชื่อเสียง หลุมศพของลาฟายาตอยู่ติดกับรั้วด้านซ้ายมือที่มองเข้าไปจะเห็นลานหญ้าที่บริเวณตรงกลางมีลานกรวด มีป้ายวางติดที่พื้นอยู่ 2 แห่ง ระบุความกว้าง ความยาวและความลึกของหลุม เช่นหลุมที่อยู่ใกล้ที่สุดในภาพคือหลุมหมายเลข 2 มีความกว้าง 6.5 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 8 เมตร และสิ่งที่ท่านเห็นอยู่นี้ก็คือหลุมศพรวมที่ฝังเหยื่อกิโยติน โดยวิธีการก็คือเมื่อประหารเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำร่างเหยื่อใส่รถเข็นมาเทลงไปในหลุมลึก เมื่อศพกองพูนกันจนเต็มหลุมก็ย้ายไปเทใส่อีกหลุม เหยื่อทั้งหมด 1,306 คน ถูกฝังรวมกันอยู่ในหลุมทั้ง 2 แห่งนี้
บริเวณหลุมฝังศพรวมเหยื่อกิโยติน 1,306 คน ทั้ง 2 หลุม |
เหยื่อกิโยตินทั้ง 1,306 คน ประกอบไปด้วย ผู้ชาย 1,109 คน และผู้หญิง 197 คน รายชื่อของเหยื่อกิโยตินทั้งหมดยังถูกเขียนไว้ที่ฝาผนังของโบสถ์ Notre-Dame-de-la-Paix ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย
ป้ายระบุจำนวนของเหยื่อกิโยตินแบ่งตามเพศและชนชั้นทางสังคม - ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต Source: http://levieuxcordelier.fr/Wordpress/wp-content/uploads/2016/01/Plaque_2.jpg |
หนึ่งในเหยื่อกิโยติน 1,306 คน ยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อองตวน ลาวัวซิเย (Antoine Lavoisier) รวมอยู่ด้วย เขาเป็นผู้ทำการทดลองพิสูจน์ว่าสสารไม่สูญหาย มีเพียงการเปลี่ยนรูปร่างหรือสภาวะ และสสารนั้นจะมีมวลเท่าเดิม ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "กฎอนุรักษ์มวล" (Conservation of Mass) และสตรีชื่อเซซิล เรโนต์ (Cécile Renault) ผู้พยายามลอบสังหารโรปสเปียร์ในช่วงยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว
หากต้องการเข้าไปในโบสถ์จะต้องเดินย้อนกลับไปทางเดิม แล้วเข้าประตูหน้า เมื่อเข้าไปจะพบว่าโบสถ์ค่อนข้างมืดทีเดียว รายชื่อของเหยื่อกิโยตินจะถูกบันทึกไว้ที่ผนังด้านในทุกด้านจนเต็ม ระบุชื่อ อายุ อาชีพและวันที่ถูกกิโยติน เสียดายที่ด้วยสถานที่ค่อนข้างมืดและเราไม่ต้องการใช้แฟลช จึงทำให้ไม่มีตัวอย่างชื่ออย่างชัดๆ และมีแต่ภาพมุมกว้างของรายชื่อเต็มผนัง
ภายในเป็นโถงเล็กๆ รายชื่อของเหยื่อกิโยตินจะอยู่ที่โถงด้านในสุด |
รายชื่อเหยื่อกิโยตินเต็มฝาผนัง ระบุชื่อ อายุ อาชีพและวันที่ถูกกิโยติน* |
รายชื่อเหยื่อกิโยตินเต็มฝาผนัง ระบุชื่อ อายุ อาชีพและวันที่ถูกกิโยตินอีกมุมหนึ่ง* |
จบแล้วสำหรับการพาชมสถานที่สำคัญ(บางส่วน)ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ขอขอบคุณที่อ่านจนถึงตรงนี้ครับ
*หมายเหตุ: ขอขอบคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่เอื้อเฟื้อภาพบางส่วน