ปฏิมากรรมรูปปฏิทินกำลังเปิดอยู่ตรงหน้าที่เป็นวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931
ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ "18 กันยายน" ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซิ่นหยาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีปฏิมากรรมขนาดใหญ่ลักษณะเป็นปฏิทินกำลังเปิดหน้าที่มีอักษรสลักว่า "ปี 1931, เดือนกันยายน, วันที่ 18" และที่ไม่ห่างจากกันนักก็มีระฆังขนาดใหญ่สลักอักษรว่า "勿忘国耻" (อย่าลืมความอัปยศของชาติ) อนุสรณ์สถานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 18 กันยายน(九一八) ค.ศ. 1931 หรือ "กรณีแมนจูเรีย" ที่กองทัพญี่ปุ่น(ซึ่งยึดครองดินแดนบางส่วนของแมนจูเรียมาตั้งแต่สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1) อาศัยการก่อวินาศกรรมรางรถไฟที่พวกตนสร้างขึ้นเป็นข้ออ้างในการโจมตีเซิ่นหยางและรุกรานจีนอย่างเต็มรูปแบบ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลให้ดินแดนแมนจูเรียทั้งหมดตกเป็นของญี่ปุ่น และจะนำไปสู่การตั้ง "แมนจูรัฐ" (满洲国)ในเวลาต่อมา
ชาวจีนถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของ "ศตวรรษแห่งความอัปยศของชาติ"(百年国耻) ช่วงเวลาแห่งการยึดครองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1931 ถึง 1945 ถือเป็นช่วงเวลาที่ดำมืดที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เจียงไคเช็ค หรือเจียงเจี้ยสือ(蔣介石) ผู้นำจีนในขณะนั้นถึงกับเขียนในบันทึกส่วนตัวว่า "นับตั้งแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะตื่นในเวลาหกโมงเช้าและเตือนตัวเองถึงความอัปยศ ข้าพเจ้าจะย้ำเตือนตนเองเช่นนี้ต่อไปจนกว่าความอัปยศของชาติจะถูกขจัดสิ้นโดยสมบูรณ์" นอกจากข้อยกเว้นเป็นบางครั้งแล้ว เขาบันทึกหัวข้อ "ขจัดความอัปยศของชาติ" ต่อเนื่องกันไปทุกวันจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2(1)
ระฆัง "อย่าลืมความอัปยศของชาติ"
แม้ว่าการรุกรานของญี่ปุ่นจะเป็นแผลฝังลึกในจิตใจคนจีนเพียงใด แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจีนของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกลับคล้ายเป็น "ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม" หากลองนึกถึง "สงครามโลกครั้งที่ 2" ภาพวาบแรกที่จะมองเห็นกันก็คือการสัประยุทธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจตะวันตก, การเถลิงอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในฝ่ายอักษะและเป็นมิตรประเทศกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในขณะนั้น ความรู้ของคนไทยเกี่ยวกับสงครามโลกในฟากตะวันออกกลับด้อยกว่าในฟากตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย ระบบการศึกษาที่มีอยู่คล้ายกำหนดให้ชาติตะวันตกเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ผสานกับการกร่อนทำลายความผิดพลาดของตนเองในอดีต ถ้าแนวทางของเยอรมันหลังสงครามคือการจดจำและญี่ปุ่นเลือกที่จะเมินเฉยแล้ว ของไทยคงจะเป็นการลืม เพราะนั่นดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่สังคมไทยถนัดที่สุด
ถ้าหากว่า "ความอัปยศของชาติ" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามความหมายของคนจีน คือการถูกญี่ปุ่นรุกรานและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ - "ความอัปยศของชาติ" สำหรับคนไทย ควรจะหมายถึงการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและลืมเลือนอดีตของตนเอง
ในความเป็นจริง จะโทษคนไทยและสังคมไทยแต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมนี้ ก็เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกก็มีส่วนสร้างขึ้น แม้ว่าความโหดเหี้ยมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ได้ด้อยไปกว่ากองทัพนาซีเยอรมันในด้านใดเลย นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว กองทัพญี่ปุ่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจีน นาซีทำการทดลองกับมนุษย์ กองทัพญี่ปุ่นมีหน่วยทดลอง Unit 731 - แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็คือการเอาอาชญากรสงครามมาลงโทษ แม้ว่าศาลอาชญากรสงครามนั้น จะไม่มีความยุติธรรมตามนิยามปกติในด้านใดเลย แต่ชาติตะวันตกก็ยังคงเลือกปฏิบัติ การไม่นำจักรพรรดิฮิโรฮิโตะผู้มีสถานะเช่นเดียวกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มาลงโทษ การเลือกละเว้นอาชญากรผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่นานกิงเพียงเพราะเป็นเชื้อพระวงศ์หรือการไม่ดำเนินคดีกับนักวิทยาศาสตร์ในหน่วยทดลอง 731 เพียงเพื่อให้ได้เงื่อนไขการเข้าถึงความลับด้านอาวุธชีวภาพและการทดลองในมนุษย์ก่อนสหภาพโซเวียต สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนได้ดีว่าชาติตะวันตกเองก็ไม่ได้ใส่ใจคุณค่าชีวิตของชาวจีนสักเท่าใด
กระแสตอบรับกรณีภาพวาดอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในงานรับปริญญาของนิสิตจุฬาฯ(2) ยิ่งช่วยย้ำเติมประเด็นที่ว่าคนไทย "อิน" กับประวัติศาสตร์ตะวันตกมากกว่าเรื่องใกล้ตัว คนจำนวนมากก่นด่าถึงความ "ไม่รู้" ของนิสิตจุฬาฯ เหล่านั้น แต่พวกเขากลับลืมก้มลงมองดูตนเอง ว่าตนก็เต็มไปด้วยความ "ไม่รู้" อยู่มากมายไม่น้อยกว่ากัน ถ้าเราคาดหวังว่าความตื่นตระหนกต่อสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความชั่วร้ายอย่างฮิตเลอร์ และสัญลักษณ์นาซีเป็นเรื่อง "โดยสามัญ" แล้ว เราควรเห็นปฏิกิริยาเช่นนี้ในกรณีการแสดงสัญลักษณ์ธงอาทิตย์อุทัยหรือไม่?
1.) ธงกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น
2.) ธงกองกำลังนาวีป้องกันตนเอง
ไม่ขอนับการที่ผู้เขียนพบเห็นได้ตามป้ายโฆษณาหรือโลโก้ของบริษัทแล้ว การแสดงสัญลักษณ์ธงอาทิตย์อุทัยก็เคยเกิดปัญหามาแล้ว เมื่อนิชคุน นักร้องชาวไทยที่มีผลงานในประเทศเกาหลีมาถ่ายโฆษณาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง และในตอนหนึ่งของสื่อโฆษณาก็มีฉากหลังเป็นธงอาทิตย์อุทัย เมื่อแฟนเพลงชาวเกาหลีได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้ จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย(3) ไม่เพียงเท่านี้ ผู้เขียนยังพบอีกว่า ระหว่างการรับน้องของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ก็มีการแสดงธงอาทิตย์อุทัย ทั้งแบบที่เป็นธงกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และธงกองกำลังนาวีป้องกันตนเอง(ที่มีการดัดแปลงให้ดวงตะวันเคลื่อนไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย)(4) จากกรณีตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าไม่มีกระแสตอบรับจากสังคมไทยเลย สิ่งนี้แตกต่างจากกรณีของสัญลักษณ์นาซีเป็นอย่างยิ่ง
ภาพฉากหลังเป็นธงอาทิตย์อุทัยของโฆษณาเครื่องดื่มบำรงกำลังยี่ห้อหนึ่ง
งานรับน้องที่มีการแสดงธงอาทิตย์อุทัยของกลุ่มวิชาศิลป์ญี่ปุ่น
บางคนอาจกล่าวว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์คืออาชญากรสงครามที่เลวทรามที่สุด รู้จักฮิตเลอร์อย่างเดียวในเบื้องต้นก็ดีแล้ว คำถามก็คือว่า เราจะเอาอะไรมาเป็นมาตรวัดระดับความเลวทรามหรือ? ถ้าหากเป็นจำนวนคนที่ตายด้วยฝีมือของอาชญากรเหล่านี้ แล้วเราควรจะนับทางตรง หรือทางอ้อมดี? บางทีความเลวทรามมันก็ขึ้นกับความใกล้ชิด เหยื่อการสังหารหมู่นานกิงอาจจะคิดว่าทหารญี่ปุ่นเลวทรามที่สุดแล้วก็ได้ ในเมื่อความใกล้ชิดมีส่วนสำคัญ แล้วระหว่างญี่ปุ่นกับนาซี คนไทยควรจะใกล้ชิดและรับรู้ความเลวทรามของใครได้มากกว่ากัน?
คำตอบคงจะเป็นนาซี เพราะในประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยอนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งค่ายกักกัน และสถานีบำเรอกาม แต่กลับสามารถชื่นชมและเชิดชูวรรณกรรมที่มีพระเอกเป็นทหารญี่ปุ่นได้อย่างหน้าตาเฉย - "คู่กรรม" ถูกผลิตใหม่ในรูปแบบละคร หรือภาพยนต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังก่นด่าการเยือนศาลเจ้ายาสิกุนิของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
ผู้เขียนได้ข้อสรุปที่ต่างจากคนอื่น คือสังคมไทยไม่ได้ย่ำแย่ที่ขาดความตระหนักรู้ในเรื่องความเลวทรามของนาซี เพราะเราจะเห็นคนจำนวนมากลุกขึ้นมาวิจารณ์การกระทำเหล่านั้นว่าโง่เขลาทันที แต่สังคมไทยขาดการเรียนรู้เรื่องของตนเองมากกว่า มีใครรู้บ้างว่ากองทัพญี่ปุ่นทำกิจกรรมประเภทใดในประเทศไทย? มีใครรู้บ้างว่าแถวบางกอกน้อยในอดีตมีสถานีบำเรอกามของกองทัพญี่ปุ่นที่นำเอาชาวจีนโพ้นทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นทาสกาม?
ท้ายนี้ผู้เขียนจึงได้แต่ย้ำคำจารึกบนระฆังที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 18 กันยายนว่า "อย่าลืมความอัปยศของชาติ" การไม่ลืมนี่ไม่ใช่เพื่อจงเกลียดจงชังญี่ปุ่น แบบที่คนไทยถูกสอนให้เกลียดพม่า แต่เพื่อให้ได้บทเรียนว่า เราควรจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
#อ้างอิง#
1.) http://citation.allacademic.com//meta/p_mla_apa_research_citation/2/8/0/2/6/pages280260/p280260-10.php
2.) http://www.manager.co.th/around/viewnews.aspx?NewsID=9560000086814
3.) https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=Z0TN8FtxAls#at=35
4.) http://www.youtube.com/watch?v=IrVOji-HB10