Skip to main content

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๒ แล้วที่ชาวจีนได้เข้ามาครอบครองเหนือดินแดนที่เป็นมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ณ ที่นั้น ชาวจีนได้พบกับความหลากหลายของบรรดาผู้คนที่จีนเรียกว่า “คนป่าคนเถื่อน” (หม่าน Man) ที่บางพวกก็ยอมรับอารยธรรมจีน ตระกูลผู้ปกครองท้องถิ่นหนึ่งนามว่า จ้วน (Zuan) มีศูนย์กลางอยู่ในอาณาบริเวณทางทิศใต้ของเมืองคุนหมิง ต่อไปจนจรดชายแดนเวียดนามปัจจุบัน ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่น ในต้นศตวรรษที่ ๓ ตระกูลนี้ได้กลายเป็นเจ้าปกครองมณฑล 

นี่คือดินแดนที่มีชนเผ่าไทและแม้ว/เย้าอาศัยอยู่ ส่วนด้านทางตะวันตกกับตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลนี้ ก็มีผู้คนที่ครอบครองอยู่แล้ว และจีนเรียกว่า หวู-หม่าน (Wu-man) หรือ “คนป่า-คนเถื่อนดำ” พวกนี้พูดภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า คล้ายกับพวก “โลโล่” หรือ “ละหุ” ที่ก็ยังอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ พวกหวู-หม่านแห่งยูนนานตะวันตกนี่แหละที่ในศตวรรษที่ ๗ ได้กลายเป็นศูนย์กลางของรัฐน่านเจ้า 

ภายในศตวรรษที่ ๗ ชาวจีนก็ได้เข้ามาครอบครองยูนนานได้ถึงครึ่งหนึ่ง การปกครองของจีนขยายไปทางตะวันตกจนจรดแม่น้ำโขง แต่ในไม่ช้าจีนก็ต้องตั้งรับการขยายตัวของทิเบต ซึ่งคุกคามต่อจีนตามชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ในยูนนานและในเสฉวน จีนพยายามรักษาความมั่นคงทางชายแดน ด้วยการเป็นพันธมิตรกับแว่นแคว้นในท้องถิ่น พันธมิตรหนึ่งดังกล่าวก็คือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ หนึ่งในหกของเจ้าแว่นแคว้นเล็กๆ รอบทะเลสาบต้าลี่ในยูนนานตะวันตก พระเจ้าพีล่อโก๊ะถือว่ารัฐเล็กรัฐน้อย ๖ รัฐนี้ อยู่ภายใต้การปกครองของตนตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. ๗๓๐

 และเมื่อปี ๗๓๘ ก็ได้รับการรับรองจากราชสำนักจีนให้เป็น “เจ้าแห่งยูนนาน” ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับ “เจ้าทางใต้ (น่านเจ้า)” ดำเนินไปฉันมิตรจนกระทั่งประมาณปี ๗๔๐ แต่ก็กลับเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษต่อมา ภายใต้ลูกชายของพีล่อโก๊ะเอง คือ โก๊ะล่อฝง ระหว่างปี ๗๕๒ ถึงปี ๗๕๔ จีนส่งทัพไปโจมตีน่านเจ้าถึง ๔ ทัพ แต่ทุกครั้งก็ถูกกองกำลังของโก๊ะล่อฝงตีแตกกลับมา และน่านเจ้าก็ขยายการปกครองของตนเหนือยูนนานตะวันออกกับกุ้ยโจวตะวันตก และเมื่อจีนยุ่งอยู่กับการกบฏ แรงกดดันต่อน่านเจ้าก็ลดถอยลง และการสถาปนาจักรวรรดิใหม่นี้ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ก็สร้างขึ้นด้วยการตั้งเมืองหลวงที่สองที่เมืองคุนหมิงในปี ๗๖๔

 จดหมายเหตุร่วมสมัยที่ครอบคลุมเรื่องน่านเจ้าได้ดีที่สุดคือ “หม่านชู” (Man Shu) ที่เขียนขึ้นโดยข้าสำนักจีนเมื่อประมาณปี ๘๖๐ เอกสารนี้ชี้ให้เห็นถึงรัฐกึ่งทหารที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอย่างดี ปกครองอยู่เหนือหลายชนเผ่าชาติพันธุ์ ในแง่การบริหารนั้น แบ่งเป็น ๖ “คณะกรรมการ” หรือกรม ต่างรับผิดชอบการสงคราม การประชากรและรายได้ การรับรองแขกต่างประเทศ การลงโทษทัณฑ์ การแรงงาน และการระดมพล เหนืออำนาจและสถานะของคณะกรรมการชุดนี้ก็จะมี “อัครเสนา ๑๒” ซึ่ง แต่ละวันๆ ...ต้องเข้าเฝ้า “น่านเจ้า” เพื่อพิจารณาข้อราชการ

และยังมี “ข้าราชการบริสุทธิยุติธรรม” ทั้งหกที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นองคมนตรีของเจ้าอีกด้วย การปกครองนี้ รวมถึงลำดับขั้นของเจ้าหน้าที่ จากระดับหัวหน้า ที่ดูแลหนึ่งร้อยครัวเรือน ไปจนถึงเจ้าเมืองที่ควบคุมครัวเรือนถึงหนึ่งหมื่น หัวหน้าครอบครัวที่เป็นชายจะต้องชำระภาษีเป็นปริมาณข้าว ๑๘ ลิตร รวมทั้งยังอาจต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่พลทหาร กองทัพดึงดูดเด็กหนุ่มให้มาร่วมฝึกฝนเมื่อว่างจากงานการเกษตร กองทัพน่านเจ้ามีประสิทธิภาพ มีพลัง มีวินัยดี และมีผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการสู้รบ

น่านเจ้าเป็นมหาอำนาจใหญ่ในกิจการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางตอนเหนือและทางเอเชียตะวันออกทางตอนใต้เป็นเวลาหลายศตวรรษ กองทัพน่านเจ้าสร้างแรงกดดันต่ออาณาจักรพยูในพม่าภาคกลาง จู่โจมตีดินแดนที่ในปัจจุบันคือพม่าตอนใต้กับไทยตอนเหนือ น่านเจ้ายังส่งกองทัพไปโจมตีเขมรเจนละ และมีบันทึกกล่าวไว้ว่า “ไปไกลถึงชายฝั่งทะเล” ทั้งยังส่งกองทัพไปตีอันนัม (เวียดนามเหนือ) ดินแดนในอารักขาของจีน ต่อจากนั้นอำนาจของน่านเจ้าก็ค่อยลดลง จีนกลับฟื้นตัวขึ้นใหม่ เวียดนามเป็นอิสระ (ปี ๙๓๙) และพัฒนาการใหม่ก็เริ่มก่อรูปขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือ

ความสำคัญของน่านเจ้าต่อประวัติศาสตร์ของคนเผ่าไท ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครคือเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นคนเผ่าไท เจ้าของน่านเจ้าสืบสายกันทางบิดา มีระบบของการตั้งชื่อ พยางค์แรกของชื่อเจ้าแต่ละคน คือพยางค์เดียวกันกับพยางค์สุดท้ายของนามบิดา ดังนั้น ก็จะเป็นเช่นนี้ คือ พี-ล่อ-โก๊ะ, โก๊ะ-ล่อ-ฝง, ฝง-เจี่ย-อี้, อี้-มู่-ซุ่น (Pi-lo-ko, Ko-lo-feng, Feng-chia-i, I-mou-hsun) ฯลฯ นี่เป็นแบบแผนที่พบทั่วไปในหมู่ของชนเผ่าโลโล่กับกลุ่มทิเบต-พม่า แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันในชนเผ่าไท 

นอกจากนี้บันทึกรายการของคำศัพท์น่านเจ้าที่กล่าวถึงไว้ในหนังสือหม่านชู ก็เทียบได้กับภาษาโลโล่ ไม่ใช่กับภาษาไท และตำนานชนเผ่าไท หรือพงศาวดาร ก็ไม่มีการเอ่ยถึงอาณาจักรน่านเจ้าหรือเจ้าตนใดเลย ในขณะที่ในศตวรรษที่ ๑๙ นี้ บรรดาหัวหน้าเผ่าโลโล่ในยูนนานกลางกลับสืบบรรพชนของตนกลับไปยังราชสำนักน่านเจ้า ในทางกลับกันความสำคัญของน่านเจ้าน่าจะต้องพิจารณาต่อผลกระทบที่มีต่อชนเผ่าไทที่อาศัยอยู่ในดินแดนทางตอนใต้และทางตอนตะวันออกตามชายขอบของจักรวรรดินั้น

น่านเจ้าได้เปิดเส้นทางคมนาคมข้ามแดนระหว่างอินเดียกับจีน ผลลัพธ์ทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมครั้งนี้สำคัญยิ่ง น่านเจ้ากลายเป็นรัฐนับถือพุทธ และคงได้ช่วยในการเผยแผ่พุทธศาสนาไปในดินแดนที่ตนครอบครองอยู่ รวมทั้งการเผยแพร่ศิลปะและวิทยาการของอินเดียด้วย การที่น่านเจ้าเรืองอำนาจขึ้นมาได้ ก็ปิดกั้นมิให้ดินแดนตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนในติดต่อกับจีนได้โดยตรง ในเวลาเดียวกันอำนาจของน่านเจ้าก็ช่วยทำให้การค้าขายข้ามแดนระหว่างอินเดียกับจีนกระตุ้นต่อการค้าในท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือ เจ้าในท้องถิ่นก็คงจับโอกาสทางการเมืองใหม่นี้ได้ สามารถได้ผลประโยชน์ หรือไม่ก็ได้รับอารักขาในความสัมพันธ์ต่อสู้กับเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งยังได้ลอกเลียนรูปแบบของการปกครองกับการทหารของน่านเจ้าด้วย

 แม้ว่าบรรดาเจ้าเผ่าไทที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของน่านเจ้าโดยตรง แต่ก็อาจถูกกดดันให้รวบรวมกำลังพลเพื่อป้องกันตนเอง และน่านเจ้าหาใช่รัฐแรกที่รุกเข้ามาในโลกของเผ่าไทไม่ และก็ไม่ใช่รัฐสุดท้ายอย่างแน่นอน แต่น่านเจ้าก็เป็นระบอบสำคัญแรกที่เข้ามาพัวพันกับที่สูงตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

กล่าวคือ ในดินแดนที่ปัจจุบันคือ รัฐฉานของพม่า ไทยภาคเหนือ และลาว ตลอดจนเวียดนามตะวันตกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษต่อจากยุครุ่งเรืองของน่านเจ้า ในศตวรรษที่ ๘ และ ๙ แรงกดดันกลับจะมาจากทางทิศใต้ จากจักรวรรดิใหญ่โตที่ต่างออกไป 

หลักฐานเกี่ยวกับน่านเจ้าที่หลงเหลือตกทอดมา ไม่ได้กล่าวถึงอะไรที่จะทำให้คิดว่า นี่คือรัฐของชนเผ่าไทในดินแดนที่สูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในศตวรรษที่ ๙ และที่ ๑๐ แต่หลักฐานก็กล่าวถึงบรรดารัฐเกือบทั้งหมดที่อยู่ข้างเคียงทางใต้ และเป็นปฏิปักษ์กับเผ่าไทในศตวรรษต่อๆ มา ทั้งยังมีความสำคัญยิ่งยวดในการสร้างอารยธรรมของชนเผ่าไท จากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก จะรวมถึงหน่วยของเวียดนามในหุบเขาลุ่มแม่น้ำแดง และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนามเหนือ รวมทั้งอาณาจักรจามปาทางฝั่งทะเลตอนกลางของเวียดนาม จักรวรรดิเขมรที่อังกอร์ (พระนครหลวง-ยโศธรปุระ) รวมทั้งบรรดาอาณาจักรในไทยภาคกลางกับภาคเหนือ อาณาจักรมอญกับพยูในพม่า โดยรวมแล้วบรรดาอาณาจักรเหล่านี้หันหน้าออกทะเล สร้างเป็นวงแหวนล้อมรอบชนเผ่าไทไว้ในดินแดนที่สูง

 

หมายเหตุ: แปลจากบางส่วนของหนังสือ Thailand : A short History ของ Prof. David K. Wyatt

 เผยแพร่ครั้งแรกที่: http://www.matichon.co.th

 

บล็อกของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
บทความของนักวิชาการฝรั่งสงครามกลางเมือง ในสยามประเทศไทยควรอ่าน ครับ (ข้างล่าง)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
(ผมได้อ่าน ข้อคิด (ยาวๆ ข้างล่าง) ของปราบ อย่างละเอียดประทับใจ และดีใจ ที่มีเยาวชน คนหนุ่มสาว รุ่นใหม่คิดอะไร ที่เป็นบวก สร้างสรรค์ มากกว่าเป็นลบ และทำลาย)ผมขอเสนอความเห็นเพิ่มเติม cK@MyThoughtRicePledging ดังนี้:
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
 2/2 Election or No Electionตลก.รธน และ กกต. ร่วมกับ ม็อบ ปกกส. และ ปชปให้เลื่อนเลือกตั้งแต่ พลเมืองดี (มธก.) เสนอว่า"ไปเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลัง 2 กุมภา"Go to the Poll before and on 2 Feb 2014ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
หนึ่ง)“ศรีสิขเรศวร” หรือ ปราสาทเขาพระวิหารปวศ บาดแผล เป็นหลุมดำปราสาท และ ดินเขา ศักดิ์สิทธิ ต้องมนตร์สาปผู้ไม่ใช่ ลูก หลาน เหลน โหลน ของสุริยวรมัน ชัยวรมันไปแตะ ไปต้อง ไปข้อง ไปเกี่ยวโดยขาดความเคารพ ในอดีต ในบรรพชนก็จะมี อันเป็นไป ครับสอง)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปครบ 40 ปี "ไวเหมือนโกหก" และไม่ว่าเราจะเรียกเหตุการณ์นั้นว่าอะไรก็ตาม ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของการที่ "ผู้กุมอำนาจรัฐ" กระทำกับประชาชนของตน และก็เกิดขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร ที่มาจนถึง ณ วันนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก รวม 4 ครั้งด้วยกัน (นี่ยังไม่นับรวมถึง เหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด หรือในดินแดนชายขอบ)