จีระ บุญมาก : วีรชนเพื่อประชาธิปไตย

Chira Boonmak - Revolution Sentimental

เมื่อ ๓๙ ปีที่แล้ว ผมเขียนถึงเขาไว้ใน “ประชาชาติ” (13 ตุลา 2517)
กลับไปอ่านใหม่ ด้วยความรู้สึกใหม่ และ ข้อมูลใหม่
เชื่อได้ว่า ฝันเดิม กับ ฝันใหม่ ต่างกันไปตาม กาลสมัย
อะไร หลายอย่าง ใช่ อะไร หลายอย่าง ไม่ใช่
อะไร หลายอย่าง ที่เคยเชื่อ ก็ไม่เชื่อ
อะไร หลายอย่าง ที่ได้เคยเห็น มาชั่วชีวิต คงจะไม่ได้เห็น ได้ยิน อีกต่อไป ครับ
ลองอ่านดู

จีระ บุญมาก : วีรชนเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อเดือนตุลา (2516) หลายคนออกจากบ้าน
ไปร่วมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
และหลายคนก็คงจะไม่ได้กลับบ้านอีกเลย

บางคนกลับไปด้วยร่างกายที่พิการ บางคนกลับไปด้วยความรู้สึกใหม่

ในบรรดาวีรชนที่ตายเมื่อ 14-15 ตุลาคมที่แล้ว
จีระ บุญมาก คงเป็นชื่อที่จารึกกับประวัติศาสตร์ของไทยไป
ภาพการตายของเขาติดตาผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้น

ภาพนั้นเป็นภาพที่ให้อารมณ์มากที่สุด
เป็นภาพที่บรรดาผู้คนห้อมล้อมศพอยู่
บางคนแสดงอาการโกรธแค้น บางคนเศร้าสลดร่ำไห้
บางคนกราบกรานศพเขา และมีคนหนึ่งถือธงที่เปื้อนเลือดชูอยู่

จีระ บุญมาก ตายไปแล้ว และศพของเขาก็ได้ทำพิธีเผาไปเรียบร้อยแล้ว
โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นเจ้าภาพ
ซึ่งเจ้าภาพก็ได้พิมพ์หนังสืองานศพที่มีชื่อว่า
จีระ บุญมาก วีรชนเพื่อประชาธิปไตย หนังสือเล่มนี้น่าอ่านยิ่งนัก

นอกจากนี้ในวันครบรอบหนึ่งปีของการตายของเขา
สถาบันบัณฑิตฯ ก็ยังให้เกียรติแก่เขาด้วยการตั้งชื่อหอประชุมของสถาบันว่า
“ห้องประชุม จีระ บุญมาก” พร้อมทั้งสดุดีเขาไว้อีกว่า

จี รกาลตราบชั่วฟ้า สดุดี เทิดเฮย
ระ ย่อฤาสละชีพ ชีพสู้
บุญ สยามจึงยังวี รชนเช่น นี้นา
มาก ค่าประชาธิปไตยกู้ แหล่งหล้าไทยเกษม

(แต่งโดย พันธุ์พิงค์ ศิริมงคล)

ในหนังสืองานศพของ จีระ กล่าวว่าศพของเขา
“มีธงชาติคลุม มีพวงมาลัยเต็มคอ ถูกแห่ไปสี่แยกบ้านแขก
เพื่อที่จะให้ประชาชนได้เห็น” (หน้า 37-38)
แม่ของจีระเขียนไว้อีกว่า “แต่เจ้าตายอย่างมีเกียรติ ศพของเจ้าเป็นของประชาชน เพราะเจ้าตายเพื่อประชาชน การตายของเจ้ามีค่าสูง เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ แม่ก็พลอยยินดีปลาบปลื้มในคุณความดีของเจ้า”

บังเอิญเหลือเกินที่ตรงกับบทกวีของสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ว่า

“วัดเอ๋ยวัดโบสถ์
ตาลโตนดเจ็ดต้น
เจ้าขุนทองไปปล้น
ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา

คดข้าวใส่ห่อ
ถ่อเรือไปตามหา
เขาก็ร่ำลือมา
ว่าเจ้าขุนทองตายแล้ว...

ไปเพื่อสิทธิเสรี
เพื่อศักดิ์ศรีบางระจัน
โอ้นกเขาขัน
แล้วเจ้าขุนทองก็ลงเรือน...

ลูกเอ๋ยหนอลูกเอ๋ย
หนอเจ้าอย่าเฉยเชือนชา
แม่มาร้องเรียกหา
นี่พ่อมาตั้งตาคอย

เจ้าไม่ใช่นักรบ
ที่เคยประสบริ้วรอย
รูปร่างก็น้อยน้อย
เพราะเรียนหนังสือหลายปี...

ดอกโสนบานเช้า
โอ้ดอกคัดเค้าบานเย็น
ออกพรรษามาตระเวน
ที่อนุสาวรีย์ทูน

ไม่มีร่างเจ้าขุนทอง
มีแต่รัฐธรรมนูญ
แม่กะพ่อก็อาดูร
แต่ภูมิใจลูกชายเอย”

บังเอิญอีกนั่นแหละ ที่จีระ บุญมาก ออกจากบ้านวันนั้น
“ไปเพื่อสิทธิเสรี เพื่อศักดิ์ศรีบางระจัน” และเขาก็เป็นคนจังหวัดสิงห์บุรี
ดินแดนแห่งวีรชนในประวัติศาสตร์ของค่ายบางระจัน

เขาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 เรียนหนังสือส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด
มาจบวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อ พ.ศ. 2511
แล้วก็เข้าทำงานเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนสตรีสิงห์บุรี

สามปีก่อนเหตุการณ์ตุลาคม 2516
จีระเข้ามาเรียนปริญญาโทต่อที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์
เขาแต่งงานและมีลูกอีกหนึ่งคน เขาและครอบครัวคงจะแร้นแค้นมาก
ถ้าจะลองดูจากสมุดไดอารี่ของเขาที่เขียนไว้เมื่อ 15 มกราคม 2516
(ไดอารี่นี้พิมพ์เป็นบางส่วนของหนังสืองานศพ)
และก็บอกวันนั้นไว้ว่า ตรงกับวันเกิดท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร)

“วันนี้ ทั้งพ่อทั้งแม่มีเงินไปทำงานกันคนละบาทสองบาทเท่านั้นเอง
ดูเหมือนแม่จะหยิบยืมของป้าไปได้ 10 บาท
ซึ่งเป็นอันหมดปัญหาเรื่องค่าอาหารกลางวันไปได้

ส่วนพ่อเชื่อว่าค่าอาหารกลางวันเขาได้ก็เพียงให้มีค่ารถไปทำงานก็พอแล้ว...
(หรือ) วันอังคารเราพยายามหาลู่ทางจะหาเงินมาใช้ให้พอประทังไปก่อนถึงสิ้นเดือน...
(หรือ) วันพุธพ่อมีเงินติดตัวไป 1.50 บาท แม่มีไปประมาณ 4.50...”

ฐานะของจีระ บุญมาก ก็คงเหมือนกับคนส่วนใหญ่ทั่วไปในเมืองไทย
คือแตกต่างราวฟ้ากับดินในด้านความเป็นอยู่และการครองชีพ
แต่ครอบครัวของจีระที่เหลืออยู่อาจจะโชคดี
เพราะภายหลังได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระองค์ตรัสว่า “จีระ บุญมาก นี่เขาเป็นลูกหลานวีรชนชาวบ้านบางระจัน
เขากล้าตายแทนฉันได้ ฉันจะไม่ลืมบุญคุณของเขาเลย
เขามีบุญคุณกับฉันอย่างเหลือล้น
ไม่ต้องเสียใจ ฉันจะช่วยอุปการะพ่อแม่ ลูกเมีย และน้องๆของเขา
เฉพาะน้องและลูกเขา ฉันจะช่วยอุปการะส่งเสียให้เรียนศึกษาอย่างดี
เท่าที่เขาจะสามารถเรียนได้” (หน้า 32-33)

 

 

และ “อีกไม่นานก็มีหนังสือจากทางวังมาที่บ้านและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรีด้วย...
หลังจากนั้น... ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชินีนาถอีก...
รับสั่งด้วยว่าถ้ามีปัญหาเรื่องลูกก็ให้บอก...
ให้เลี้ยงลูกให้ดี ให้เรียนให้เก่ง
เมื่อโตถึงป. 5 ให้เข้าเรียนที่สวนจิตรลดาได้” (หน้า 41)

จากปากคำของนางละเมียด บุญมาก ภรรยาของเขา
“วันที่ 14 ตุลาคม 2516 พี่จีระพาลูกออกไปซื้อของเล่น เสื้อผ้าและอาหาร...
กลับมาแล้วอาบน้ำให้ลูก...ฟังวิทยุกับลูก...
ฟังวิทยุไปพลางก็บ่นพร่ำว่าไม่จริง กรมประชาสัมพันธ์กระจายข่าวบิดเบือนความจริง

หาว่าเด็กจะก่อจลาจลและกำลังบุกเข้ายึดวังสวนจิตร
เพราะทุกคนต่างเทิดทูนในหลวงมากมาย
เรื่องอะไรจะยึดสวนจิตร ยังนี้ต้องยึดกรมประชาสัมพันธ์...

พี่จีระพูดแล้วก็ลุกขึ้นไปหยิบกางเกงมานุ่ง
เอาเสื้อมาพาดบ่า คว้ารองเท้ามาใส่ ลูกชายก็ร้องไห้กอดพ่อ ร้องตามพ่อ...

เมื่อพี่จีระไปถึง ได้แจกส้มให้แก่พวกนักเรียนช่างกล
แล้วร้องบอกนักเรียนทั้งหลายว่า อย่าเข้าไป อย่าเพิ่งทำอะไรทหารเขา
ทำใจเย็น กินส้มกันเสียก่อน เอาธงชาติมาให้พี่ถือ เดี๋ยวพี่จะไปพูดกับทหารเอง...
คว้าธงได้ก็ถือธงเดินเข้าไปหาทหารรถถัง และทหารราบรถถัง
พอเดินเข้าไปใกล้ก็ร้องบอกว่า ทหารอย่ายิงเด็กนักเรียน เด็กไม่มีอาวุธ
เราเป็นคนไทยด้วยกัน ทหารไทยต้องใจเย็น เชื่อผมเถิด

ระหว่างนั้น ทหารกำลังตั้งท่าเตรียมยิงอยู่อย่างเคร่งครัด
พี่จีระก็เดินตรงเข้าไป ทหารก็บอกว่าอย่าเดินเข้ามา
ถ้าไม่ฟังจะยิง พี่จีระก็เดินเข้าไป พลางบอกว่าใจเย็นๆ
อย่าทำนักศึกษาและผมเลย ผมมาดี มาเพื่อสันติวิธี
ว่าแล้วก็หยิบส้มในกระเป๋าออกมาถือ แล้วทำท่าจะโยนให้พร้อมกับบอกว่า
ใจเย็นๆ เราพอพูดกันรู้เรื่อง กินส้มเสียก่อนจะได้ใจเย็นๆ

ว่าแล้วก็โยนส้มไปให้ทหาร และพร้อมกันนั้นเองเสียงปืนกลเอ็ม16
ก็ดังรัวมาถูกพี่จีระล้มลง ปรากฏว่าขากระตุกสามครั้งก็เงียบ
เลือดออกมาแดงฉาน ทันทีนั้นก็มีนักศึกษาเข้ามาเอาธงทาเลือด...(หน้า 41-42)

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น
จีระ บุญมาก ก็เดินออกจากบ้าน
และเดินเข้าสู่ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์และตำนาน
ที่จะต้องจดจำกันไว้ในประเทศไทย

ประชาชาติ 13 ตุลาคม 2517

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: Civil War in Thailand ?

บทความของนักวิชาการฝรั่ง
สงครามกลางเมือง ในสยามประเทศไทย
ควรอ่าน ครับ (ข้างล่าง)

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: Rice Pledging from cK to Prab


(ผมได้อ่าน ข้อคิด (ยาวๆ ข้างล่าง) ของปราบ อย่างละเอียด
ประทับใจ และดีใจ ที่มีเยาวชน คนหนุ่มสาว รุ่นใหม่
คิดอะไร ที่เป็นบวก สร้างสรรค์ มากกว่าเป็นลบ และทำลาย)

ผมขอเสนอความเห็นเพิ่มเติม cK@MyThoughtRicePledging ดังนี้: