"Androgynous" มองโลกอย่างเท่าเทียม ผ่าน แฟชั่นที่ไม่ระบุเพศ

ตอนช่วงเวลา ตีสองสามสิบสี่นาที

ค่ำคืนหนึ่งเวลาดีที่ไม่มีสุ่มเสียงใดๆมารบกวนสมาธิผม

ให้หลุดรอดระเริงไปกับ โลกภายนอก

นอกจากเสียงเพลงโฟลคเพลงหนึ่ง

ที่ได้ถูกเปิดขึ้นมาในร้านกาแฟ ยี่สิบสี่ ชั่วโมงแห่งหนึ่ง 

ร้านที่8ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ยังคงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน

ที่มากด้วยเพศผิวรูปพรรณ อาภรณ์ที่หลากสี

มากเกินกว่าจะมานั่งระบุจำแนกได้ 

 

เพลงที่ว่านี้ อินโทรขึ้นมาก็ดูละม้ายคล้ายคลึง

เหมือนเพลงโฟลคคลาสสิคทั่วไป ของ John lennon, The Beatles 

หรือของ วง The carpenter  อะไรประเภทนั้น

ฟังไปเริ่มรื่นรมย์ดี แต่ก็ดูมีอะไรที่มากกว่าสุ่มเสียงของดนตรี

ก็คือเนื้อเพลงที่ค่อนข้างพาสะดุดใจกับท่อนที่ร้องว่า

“Now, something meets Boy

And Something meets Girl

They both look the same

They’re overjoyed in this world

Same hair, revolution

Unisex, evolution

Tomorrow who’s  gonna fuss”

ในขณะที่โสตประสาทรับฟัง

มือนั้นก็รีบคลิกเสิร์ทดูเนื้อเพลงนี้ในกูเกิ้ลทันที เป็นเพลงอารมณ์ดี

เพลงนี้ชื่อว่า Androgynous ของวง The Replacments

อยู่ในอัลบั้ม let it be ออกมาในปี1984 

โดยรวมของเพลงนี้น่าสนใจตรงที่

คนแต่งเพลงเขียนว่า ผู้ชายที่มีลุคดูเป็นผู้หญิง

และผู้หญิงก็มีลุคที่ดูเป็นผู้ชาย อัตลักษณ์ของเพศสภาพที่บอกว่า

นี่คือชาย โน่นคือหญิง นั้นได้ปะทะเข้าหาผสาน พัฒนาขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว 

คุณพระ  นี่มันไม่ใช่เรื่องที่ดูประหลาดพิลึกพิลั่นของคนที่มีจริตฟั่นเฟือน

เลอะเลือนด้วยสติแต่อย่างใด แต่มันเป็นไปด้วย

ความคิดของคนหนุ่มสาว

ที่มันควรมีความเป็นเสรีประชาธิปไตยแทรกซึมไว้

อยู่ในรูปแบบของการแต่งตัว 

และแฟชั่นแบบ แอนโดนจีนัส Androgynous

ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นสไตล์เสื้อผ้าเชิงสัญลักษณ์

ของการแสดงออกถึงการมีเสรีภาพ ทางสังคมได้

 

 

และเราก็อาจเรียกได้ว่า สไตล์การแต่งตัวแบบ แอนโดรจีนัส

มันคือการหลอมรวม สัญญะทางเพศระหว่างชายกับหญิงเข้าด้วยกัน

กลายเป็นสิ่งเดียวกันที่เมื่อมันมาอยู่ด้วยกันมันคือ “ความเท่าเทียม”

 

 

 

 

--สไตล์แฟชั่นแบบ แอนโดรจีนัส Androgynous นั้น

ไม่ได้เป็นสไตล์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่ความหลากหลายทางเพศ

จะเป็นที่คนเริ่มยอมรับและเปิดกว้างอย่างเสรีแล้ว

แต่มันถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1960 ยุคสมัยที่การยอมรับ

ในความหลากหลายทางเพศนั้นยังไม่มากล้นประดามีเหมือนทุกวันนี้ 

อย่างที่บอกไว้มันเป็นการสไตล์การแต่งตัวที่มีความกำกวม

คงความเป็นผู้หญิง (เฟมินีน) และความเป็นชาย (แมสคิวลีน) ไว้ทั้งสองอย่าง

 

 

แนวคิดนี้มันก็คงจะเป็นอิทธิพลที่สืบเนื่องมาจาก มาดมัวแซล โคโค่ ชาแนล

สตรีที่มีหัวคิดริเริ่มสวมกางเกง สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในยุค 1920

ด้วยการผลิตเสื้อผ้าผู้ชายให้กับผู้หญิงนั่นแหละ เมื่อแนวคิดนี้เกิดขึ้นมา

มันก็ถูกแพร่ระบาดออกไปกลายเป็นที่นิยมของมวลชนในสมัยนั้น

พร้อมกับเป็นที่กล่าวขานโจษจัน เลื่องลือระบือไปในวงกว้างอย่างเป็นนัยว่า

“ผู้หญิงได้ปลดปล่อยจากพันทนาการ ที่ถูกรัดตึงขึงไว้ในความคิดแบบอนุรักษ์นิยมซะที” 

 

 

 

 

--ต่อมาจนกระทั่งปี1966 ยุคทองของการปฏิวัติอุตสหกรรม

ดีไซน์เนอร์คนดังอย่าง อีฟ แซง โลรองค์ Yves Saint Laurent’s

ก็ได้มีการออกแบบชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงขึ้น โดยมีชื่อชุดที่สุดเก๋

และเท่ในคราวเดียวกัน ชื่อชุดว่า Le Smoking เป็นสูทรูปแบบของผู้ชาย

แต่ถูกตัดขึ้นในซิลูเอทของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความสง่าอ่าองค์ 

ให้สุภาพสตรีใช้สำหรับสวมใส่เข้าสังคม  แทนที่จะใส่แต่ชุดราตรียาว

สวยพราวเจิดแจ่มด้วยการโชว์สัดส่วนเว้าแหวกแหกเนินนม

บ่งบอกถึงวิถีทางเพศ และความเป็นเฟมินิสต์อย่างสุดพลัง

นำมาผสมความเป็นแมสคิวลีนเข้าไปให้ดูสตรองค์  และ อีฟแซงโลรองค์

ก็ยังบอกไว้ในบทสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Woman’s Wear Daily อีกด้วยว่า

“ชุดเลอสโมคกิ้งLe Smoking นั้นเป็นอะไรที่มีความโมเดิร์นล้ำสมัยมากกว่าชุด

ราตรีที่โชว์สัดส่วนและหนักเครื่องด้วยแอสเซสเซอรี่ มันคือการเล่นสนุกระหว่าง

ความคลุมเคลือบางอย่าง และ ผมก็มีความต้องการที่จะสร้างสรรค์บางสิ่งขึ้นมา

ระหว่าง เพศชาย กับ เพศหญิง ที่มันควรจะมีความChic –ความเท่ที่เท่าเทียมกัน”

 

เอาเป็นว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า The best with New Thing

สำหรับผู้หญิงในสมัยนั้น  จนมาถึงปี 1970 ยุคบุพผาชน

แอนโดรจีนัสแฟชั่น ก็ยังคงซึมซาบยืนยงอยู่ ในสไตล์การแต่งตัว

ไม่ว่าจะเป็น Anny Hall,Patti smith,Marc Bolan หรือแม้แต่ David Bowie

เซเลปคนดังในอดีตเหล่านี้ต่างก็มีส่วนส่งเสริมให้สไตล์แฟชั่น

แบบแอนโดรจินัสได้รับการยอมรับ และเป็นที่นิยมมากขึ้น

 

 

ถ้าในสมัยนี้วงการแฟชั่นก็จะมี ไอคอนความเป็นยูนิเซ็กซ์

อย่าง Tida    นางแบบที่ลุคดูเป็นboyish อย่างRuby Rose

นางแบบผมสั้นอย่าง Erika Liner

ตัวอย่าง ฝากฝั่งของผู้ชายก็มีการนำเอาความเป็นเฟมินีน

เข้าไปผสมอยู่อย่างไม่สูญเสียความเป็นแมน

(หรือถ้าไม่แมนก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องที่หนักกระบาลใคร)

นึกภาพของ David Bowie กับชุดสีจัดรัดรูปที่ห่อคลุมร่างอรชรของเขา

อันนั้นก็แอนโดรจีนัส ถ้าให้เขยิบมาฝั่งเอเชีย

ก็ต้องเป็นศิลปินหนุ่ม Miyavi

และ G- dragon ผู้ที่หลายหลากมากเครื่ององค์

 

เรื่องทั้งหมดของคนที่ยกตัวอย่างมานี้

ไม่ได้เป็นเรื่องของคนนอกรีต  สัปดล สับสนทางจิต

ไม่ใช่เป็นกลุ่มคนวิปริต ที่ต้องมานั่งทนทุกข์ระคนสังเวช

เพียงเพราะเขากล้าที่จะแต่งตัวผสมเอาสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเพศสภาพ

เข้าไปก็เท่านั้นเอง  ใช่ก็เท่านั้นเอง 

ทำไมต้องมองว่าเป็นผิดแปลก

ยากต่อการเข้าอก เข้าใจ

ในเมื่อเส้นขอบของการแบ่งระหว่างเพศได้หลอมละลายเข้าด้วยกัน

และสังคมโลกเราก็มีการพัฒนาEvolution ก้าวไปข้างหน้า

ได้เรื่อยๆตราบใดที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้นจำกัดไว้ให้หยุดอยู่กับที่

 

 

 

 

 

เฉกเช่นเดียวกันกับสไตล์ของแฟชั่นแบบ Androgynous

ที่โดยส่วนตัวผมมองว่ามันคือสัญญะของความเป็นโลกเสรีประชาธิปไตย

ผ่านรูปแบบการแสดงออกด้วยสไตล์การแต่งตัว

แล้วถ้าขึ้นชื่อว่า เป็นโลกสมัยใหม่ มันก็ควรจะเปิดโอกาส

ให้คนมีอิสระทางความคิด  มีสิทธิที่จะเลือกมากกว่าหนึ่ง

“ความชอบ” ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล รวมทั้งทัศนคติที่มีต่อแฟชั่น

เชื้อ ผิว ชาติ พรรณ ต้นกำเนิด รวมถึง ความหลากหลายทางเพศ

มันก็คือเรื่องเดียวกัน ที่มันคู่ควรจะมีสิทธิ มีเสรีภาพทางสังคม

และไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อันใดที่ต้องมาแบ่งแยกจำแนกออกจากกัน

ว่าสิ่งไหนถูกผิดดีเลว หรือต้องมาสั่งการว่าควรเป็นแบบไหน 

ต้องอยู่ในกรอบของอะไร ตราบใดที่เราไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เรานั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ไม่ใช่หรือ????

 

 

--ในความเป็นมนุษย์ที่หายใจอยู่ในอากาศ

เหยียบย่ำอยู่บนเปลือกโลกเดียวกัน

เพศหญิง ก็ไม่ได้มีแค่อย่างละ1แบบ   เพศชายก็ไม่มีมีแค่อย่างละ1แบบ

ไม่ว่าเพศไหนๆก็ไม่ได้มีแค่อย่างละ1แบบเช่นกัน

เพราะในความเป็นมนุษย์นั้นมันปะปนหลากหลายมากกว่า

การมี รสนิยม เพียงแบบเดียว  แฟชั่นตามกระแสเดียว

และ แฟชั่น แบบ แอนโดรจีนัส Androgynous ก็เป็นสิ่งที่ล้ำลึกเกินกว่า

ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงเพศสภาพวิถีได้

 

 

 

 

เป็นต้นว่า—มีหนึ่งสตรี นาม รุจีสวาท ลูกสาวของนายสงบ

หลานสาวของยาย เสงี่ยม นามสมมุติ  

เธอก็เป็นมนุษย์ที่มีจิ๋มเฉกเช่นเดียวกับสตรีเพศคนอื่นๆ 

แต่เธอชอบตัดผมสั้น   เรื่องของเสื้อผ้าก็ไม่ชอบที่จะใส่อะไรที่อึดอัดรัดรูป 

ชอบใส่กางเกงมากกว่ากระโปรง  ชอบใส่รองเท้าผ้าใบมากกว่าส้นสูง

อาจจะด้วยความเท่ ความคล่องตัว หรืออะไรก็แล้วแต่

เธอก็แต่งงานมีสามี มีลูกสาม มีหลานอีกสี่ ในขณะที่เธอนั้นไม่ใช่ทอม

หรือแม้แต่มีความเบี่ยงเบนทางเพศแต่อย่างใด  

 

 

 

และเป็นความจริงที่ว่าทุกวันนี้คนเราไม่ได้ต้องการที่จะแต่งตัว

เพียงเพื่อใช้บ่งบอกถึงอัตลัษณ์ของตนว่า

นี่คือหญิง-นั่นคือชาย-นู่นคือทอม-โน่นคือตุ๊ด อีกต่อไปแล้ว

ในวันที่แฟชั่นแบบ แอนโครจีนัสต้องการจะปลดแอกออกจากโครงสร้าง

ของกรอบเก่า ที่บอกว่า การแต่งตัวของคนเราควรขึ้นอยู่กับ เพศกำเนิด

ที่ถูกกำหนดขึ้นจากโครงสร้างของวัฒนธรรมเช่นบอกว่า

เป็นผู้ชาย ก็ต้องแต่งตัวให้มันดูทะมัดทะแมงสิ   ต้องมีกล้ามสิ 

ต้องมีซิกแพคซิ   ต้องมีรูปร่างล่ำสันดูกำยำแข็งแรงสิ

ห้ามผอม ห้ามเยอะ ห้ามบอบบางอ่อนโยน เดี๋ยวจะดูไม่แมน 

เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นตุ๊ด  

เช่นเดียวกันกับการที่บอกว่า ผู้หญิงต้องผมยาวเท่านั้น 

ต้องผิวขาว ต้องมีนม ต้องรูปร่างสัดส่วนโค้งเว้าเช้งกระเดะเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้ส่วนตัวแล้วผมมองว่ามันล้วนเป็นมายาคติที่ค่อนข้างจะเก่าเก็บ

ห่างไกลจากการพัฒนาเชิงความคิด ทั้งๆที่ยุคสมัยนี้มันควรจะเปิดกว้างมากขึ้น หยุดสร้างกรอบมาเพื่อเป็นข้อจำกัดได้แล้ว ตราบใดที่มนุษย์เรานั้น

ยังมีความถวิลหาใคร่ครวญ ถึงความเสรีภาพทางความคิด 

ต้องการสิ่งใหม่ให้ชีวิต รวมทั้งการตระหนักรับรู้ถึงการเท่าเทียม 

 

 

 

ตอนนี้เราอยู่ในยุคศตวรรตที่ยี่สิบเอ็ด

ยุคที่แฟชั่นได้ก้าวไกลจากแพลตฟอร์มเดิมๆ

ดังนั้นควรเลิกพูดเถอะครับ ว่าสิ่งใด เหมาะสมแก่เพศอะไร

แล้วเฝ้าคอยบอกใครต่อใครว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นมันไม่เข้าเทรนด์

ไม่เหมาะสมควรแก่เพศสภาพ  บางทีลายดอกไม้ อาจดูใช่สำหรับผู้ชาย

เสื้อยืดที่สกรีนลายคำว่า “DICK” อาจจะใช่สำหรับผู้หญิงก็เป็นได้

 

 

 

 

เทรนด์หนะ ไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อบอกว่าต้องตาม หรือบอกว่าอะไรว่า ถูก หรือ ผิด

ตราบใดถ้าเราอยู่นอกเหนือความคิด ความเชื่อที่ ดัดจริต

ในฐานะผู้บริโภค เราก็มีสิทธิเลือกได้ว่าจะนำมาใช้

ให้เหมาะสมกับตัวเองอย่างไร แค่นั้น

 

 

สรุปแล้ว ในบริบททางสังคม Androgynousแฟชั่น

คือสิ่งที่ต้องการทลายอัตลักษณ์ทางเพศสภาพนี่มีจู๋ นู่นมีจิ๋ม ออกทิ้งไป

ทำลายความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมายาคติที่คอยตัดสินผู้อื่นแค่สิ่งไม่กี่สิ่ง

ออกทิ้งไป โดยที่ไม่ยอมจำนนสยบยอมต่ออำนาจจารีตเดิมอีกด้วย

 

เมื่อทุกคนนั้นมีสิทธิที่จะชอบ  มีสิทธิที่จะเลือกใช้ เลือกสวมใส่

โดยไม่เห็นจำเป็นต้องแคร์บรรทัดฐานทางสังคมว่า อะไรถูกอะไรผิด

เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ลบล้างวัฒนธรรมดั้งเดิม

มันเป็นเพียงแค่ “สร้างทางเลือก” ให้เราในฐานะผู้บริโภค

ที่มีความหลากหลาย เลือกได้ในทางที่ต่างออกไปก็เท่านั้นเอง 

เฉกเช่นเดียวกันกับความเป็นเสรีประชาธิปไตย

โลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และตัดสินใจเลือกพรรค

รวมทั้งนโยบายทางการเมืองที่เหมาะสมกับตัวเองได้

โลกที่อยู่ห่างไกลจากโลกอนุรักษ์นิยม จำกัดอยู่แค่สิ่งใด เพียงสิ่งเดียว

 

 

ท้ายที่สุดแล้ว จะแฟชั่นสไตล์ แอนโดรจีนัส หรือ แฟชั่นสไตล์ไหน

แฟชั่นก็ไม่ได้จบอยู่แค่เรื่องของแฟชั่น  ความงาม ความล้ำสมัยเท่านั้น

มันคือผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าของสังคม

และคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มันไม่ควรเพิกเฉยต่อความหลากหลาย

ของปัจเจกชน  มันควรที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลอย่างเสมอภาค

ไม่ว่าคุณจะเป็นชายจริงหญิงแท้ เลสเบี้ยน เกย์ โบท ไบ

ทุกคนก็มี 1สิทธิ์ 1เสียง เท่าเทียมกัน

 

 

เอาเป็นว่า เมื่อเรื่องเพศ กับแฟชั่น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวเราฉันใด

เรื่องราวของการรู้เท่าทันเหตุบ้านการเมือง

รวมทั้งมีสิทธิ์เข้าถึงความก้าวหน้า ของชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวฉันนั้น

 

 

 

--ผมเขียนบทความนี้จบลง ในเวลา ตีสี่ห้าสิบหกนาที

อเมริกาโน่เย็นแก้วใหญ่นั้นหมดไป

คงไว้ต่างหน้าแต่ซากการละลายของก้อนน้ำแข็ง

ซุ่มเสียงเพลง Androgynous ที่เปิดในร้านกาแฟยี่สิบสีชั่วโมง

ก็จบลงไปตั้งนานแล้ว  เวลานั้นเดินไปข้างหน้า

เหมือนเป็นสิ่งที่กำลังบอก คนที่หลับใหล อยู่ว่า

ใกล้เช้าแล้วเตรียมตื่นจากห้วงลึกของความฝัน

แล้วตื่นขึ้นมาพบกับความจริงซะทีเถิด

Chaya-Killer Silent

 

 

 

 

 

Uniform "เครื่องแบบเรื่องอำนาจ" หรือ เป็น "เปลือก" มีไว้เพื่อกดทับ?

 

เครื่องแบบ- ฮิตเลอร์ ในแบบน้อง

 

จากที่มีข่าวดราม่าในบ้านเมืองเราหลายต่อหลายครั้ง เรื่องการนำชุดที่มีสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซี