ปี 2540 สถานการณ์การต่อสู้ของชุมชนที่อยู่กับป่าร้อนระอุขึ้นมาอีกระลอก เมื่อรัฐบาลของนายหัว ชวน หลีกภัย ได้มีนโยบายอพยพคนออกจากป่า นั่นหมายถึงชะตากรรมวิถีของคนอยู่กับป่าจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวง ชุมชนเดิม ที่อยู่ ที่ทำกินเดิมนั้นจะกลายเป็นเพียงที่ที่เคยอยู่เคยกินเท่านั้น
ตัวแทนขบวนคนอยู่กับป่าจึงมีการขยับเคลื่อนสู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีเครือข่ายกลุ่มสมัชชาคนจนจากภาคต่างๆมาสมทบอย่างครบครัน กลายเป็นชุมชนคนจนหน้าทำเนียบโดยปริยาย
“ลูกหลานไปเรียกร้องสิทธิหลายครั้งแล้ว ไม่ได้สักที คราวนี้ฉันต้องไปเอง ถ้าเรียกร้องไม่สำเร็จฉันจะไม่กลับมาเด็ดขาด” เขาซึ่งเป็นผู้นำอาวุโสคนหนึ่งในชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่หอย อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ พูดก่อนที่จะร่วมเดินทางไปเรียกร้องสิทธิ์ของคนอยู่กับป่า ซึ่งเป้าหมายของทุกที่ไปก็คล้ายกันคือครั้งนี้หาก เรียกร้องไม่สำเร็จก็จะไม่ยุติการชุมนุม
“ต่าอี้ เออ นะแหล่ ลาลา”
“โอ้ชะตา ชีวิต ช่างรันทดนัก ลาลา” ก่อนออกจากบ้าน เขาร้องขับขานบทเพลงอึธา ทำนองเศร้าสร้อยอย่างไม่ยอมหยุดทำให้ภรรยาต้องต่อว่า เพื่อให้หยุดร้องบทเพลงดังกล่าว
เช้าวันนั้น รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ ได้ยอมเจรจากับกลุ่มผู้ชุมชุม เขาจึงเข้าไปร่วมฟังการเจรจาด้วย
“อย่างไรก็แล้วแต่ คนที่อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำของประเทศต้องย้ายออกสถานเดียว เพื่อเป็นการรักษาพื้นทีป่าของประเทศเอาไว้ มันไม่สามารถละเว้นได้ มันเป็นข้อกฎหมาย” รัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยันอย่างนั้น
เขาเดินออกมาจากห้องเจราจา พร้อมกับสีหน้าที่เปลี่ยนไป ขวัญและวิญาณของเขาหลุดลอยจากตัวของเขาไปเสียแล้ว แต่เขาก็พยายามรวบรวมสติกลับคืนมา
“บอกผมมา!! จะให้ผมทำอะไร ทำอย่างไร เพื่อที่มัน(รมต.)จะยอมเข้าใจและคืนสิทธิในการอยู่กับป่าให้พวกเรา จะให้ผมไปแทงมันให้ตายไหม?? รีบบอกผมมา ผมไม่อยากรอให้เปลืองเวลากับคนพวกนี้อีกแล้ว” เขาเดินไปพูดกับ พาตี่จอนิ โอโดเชา แกนนำคนปกาเกอะญอคนหนึ่งในการมาชุมนุมครั้งนี้
“ควา(สหาย)ใจเย็นๆ เรามีวิธี เราต้องสู้ด้วยสันติวิธี ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ความรุนแรงไม่ใช่ทางไปสู่สิ่งที่เราต้องการ” พาตี่จอนิ บอกเขา ทำให้เขารู้สึกผิดหวังในคำตอบจากพาตี่จอนิ และผิดหวังกับการมาเรียกร้องต่อสู้ครั้งนี้อย่างแรง
“สันติวิธี สันติวิธี สันติวิธี แล้วเมื่อไหร่มันจะยุติ??” เขาพร่ำบ่นและเดินไปเดินมาเหมือนคนเสียสติ คลองเปรมประชาข้างทำเนียบ คือจุดที่เขาคิดว่าเขาจะทำให้ทุกอย่างเป็นจุดจบของเรื่องราวทั้งหมด
“มีคนโดดน้ำ ฆ่าตัวตายๆๆ” เสียงตะโกนจากหญิงชาวอีสานที่กลับมาจากการอาบน้ำ ผู้คนต่างไปดูเหตุการณ์ รวมทั้งคนปกาเกอะญอที่มาร่วมชุมนุม
“พาตี่ปุนุ!!!” เสียงหนุ่มปกาเกอะญอคนหนึ่งอุทานออกมา พร้อมกับวิ่งโดดลงไปช่วยร่วมกับชายฉกรรจ์อีกหลายคน จนสามารถช่วยชีวิตออกมาได้ ทุกคนตะลึงเพราะนึกไม่ถึงว่าพาตี่ปุนุจะตัดสินใจเช่นนี้
“ก่อนมาฉันบอกแล้ว หากเรียกร้องสิทธิกลับคืนไม่ได้ ฉันจะไม่กลับบ้าน” เขาไม่พูดประโยคอื่นนอกจากประโยคนี้ ทุกคนจึงลงความเห็นว่าควรนำเขากลับบ้านเกิด มิฉะนั้นเขาอาจทำในสิ่งที่ไม่คาดฝันมากกว่านี้อีก
“เวลาส่งเขากลับบ้านไป ให้ไปช่วยดูแลเขาสามคน จะได้ช่วยผลัดกันดู ดูคนเดียวมันไม่ทั่วถึง” แกนนำในการชุมนุมวางแผนกันอย่างนั้น แล้วจึงส่งพาตี่ปุนุกลับบ้าน
คนหนึ่งหลับ อีกคนหนึ่งเฝ้า คนหนึ่งเฝ้า อีกคนหนึ่งดู สลับสับเปลี่ยนกันไปจนถึงแจ้งของเช้าวันที่ 5 เดือนมีนาคม ขบวนรถไฟได้กลับมาถึงดินแดนแห่งแผ่นดินล้านนา ย่างเข้าสู่เมืองรถม้า ผู้อารักขาเริ่มโล่งอกเพราะพาตี่ปุนุ ได้หลับลงอย่างสงบ และอีกเพียงไม่กี่อึดใจก็จะถึงจุดสิ้นสุดปลายทางรถไฟแล้ว พร้อมๆ กับความล้าเพลียเข้ามาเยือนผู้อารักขาทั้งสามคนเช่นกัน จึงเผลอหลับอย่างตายใจ
ในห้วงขณะที่คนอื่นหลับอยู่ เขาเริ่มลืมตา แลซ้ายแลขวาแล้วค่อยๆ ลุกขึ้นอย่างเงียบอย่างระแวดระวัง
เขาค่อยๆ ปีนหน้าต่างรถไฟ ก่อนผู้อารักขาจะทันคว้าไว้ทัน ร่างเขาได้ตกลงไปกระแทกกับรางรถไฟแล้ว เขาทำตามคำพูดก่อนที่เขาจะออกเดินทางจากบ้าน
“ถ้าเรียกร้องไม่สำเร็จ ฉันจะไม่กลับมาเด็ดขาด” และเขาก็ไม่ยอมกลับจริงๆ
บทเพลงอึธา ลาลา ที่เขาขับขานออกจากบ้าน เป็นบทเพลงลาจากของเขาจริงๆ แต่จากการกระทำของเขาได้กลายเป็นกระแสการต่อสู้ของคนจนและคนที่อยู่กับป่า จนทำให้คณะรัฐมนตรีได้ทบทวนนโยบายอพยพคนออกจากป่าอีกครั้ง แต่กว่าที่จะทบทวนมติดังกล่าว เล่นเอาชาวบ้านต้องปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบนานถึง 99 วัน