บรรยากาศในบ้านเริ่มคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเสียงเตหน่าบรรเลงในบ้านไม่เว้นแต่ละคืน บางคืนเป็นเสียงเตหน่า ลายเดิมที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนถ่ายทอด แต่บางคืนมีเสียงเตหน่าลายแปลกออกมาจนผู้เป็นพ่ออดไม่ได้จนต้องเงี่ยหูฟัง
นานแล้วที่เจ้าของเสียงเตหน่ากูห่างหายไปจากการร่ำเรียนวิชาจากพ่อ แต่วันนี้เขากลับมาหาครูผู้สอนเตหน่ากูของเขาอีกครั้ง แน่นอนมันต้องมีอะไรบางอย่างสงสัยจึงต้องมา
"พ่อผมจะไปล้มไม้มาทำเตหน่ากู ควรจะหาไม้อย่างไรดี" ประโยคแรกที่เขามาถามพ่อ
"จริงๆ แล้วไม้อะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นไม้ที่โค้งงอ แต่คนสมัยก่อนเขานิยมใช้ไม้เก่อมา หรือภาษาไทยเรียกว่าไม้ซ้อ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นไม้ที่เหนียวแต่เบา เหมาะสำหรับการมาทำเป็นเตหน่ากูที่สุด" พ่อตอบ
"เก่อมาใช่มั้ย? พ่อ ดีล่ะ ที่ขุนห้วยโกะแชแยคีมีเก่อมาหลายต้นพรุ่งนี้ผมจะไปหาต้นดีๆ มาทำเตหน่ากูซักสี่ห้าต้น" เขาบอกกับพ่อ
"เฮ้ย!! ล้มมั่วไม่ได้นะ การทำเตหน่านั้นเขามีข้อห้ามอยู่นะ" พ่อทัดทาน
"ข้อห้ามอะไรอีกละครับ แค่ล้มไม้มาทำเครื่องดนตรี" เขาไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อบอกเขา
"คนปกาเกอะญอที่เล่นเตหน่ากูสมัยก่อนบอกต่อกันในการทำเตหน่ากูนั้น ห้ามล้มต้นไม้เพื่อมาทำเตหน่ากูเกินสามต้น และไม่ใช่ว่าจะไปตัดไม้เมื่อไหร่ก็ได้ วันที่ผู้เฒ่าผู้แก่ปกาเกอะญอนิยมทำมากที่สุดคือ วันที่พระจันทร์เต็มดวง ถือว่าเป็นวันดีไปล้มไม้มาทำเตหน่ากู เชื่อว่าจะทำให้เตหน่ากูตัวนั้นเสียงไพเราะและดึงดูดคนฟังได้มากกว่าไปล้มไม้ในวันอื่นๆ" พ่อบอกเขา
"แล้วล้มเกินสามต้นแล้วมันจะเป็นมันอย่างไร?" ลูกชายถามต่อ
"คนเฒ่าคนแก่เขาบอกเอาไว้ คนที่ฉลาดจะกินได้นานและยั่งยืนกว่า หากเรากินไม่เป็นใช้ไม่เป็นมันก็จะหมดเร็ว เมื่อก่อนคนที่เล่นเตหน่ามีความเชื่อว่า ภายในปีหนึ่งหากตัดต้นไม้มาทำเตหน่ากูเกินกว่าสามต้นแล้วมือจะเป็นหมัน จะทำให้ผลิตเตหน่ากูออกมาเสียงไม่ดีไม่เพราะ และเวลาเล่นอาจทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในชุมชนได้
โดยในการล้มไม้นั้นต้องตัดไม้อย่างน้อยสูงระดับหัวเข่า เพื่อให้ตาไม้สามารถแตกขึ้นมาใหม่ไม่ได้ อย่างที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยบอกไว้ว่า หน่อซีปะต่ออะคลี เส่ทู่ซีดอเป่อเดอท่อซอ ปกาเกอะญอซี ปะต่ออะเจอ หมายความว่า หญ้าตายได้ฝากเม็ดพันธุ์เอาไว้ ไม้ล้มตายแล้วได้แตกหน่อขึ้นมาใหม่ คนเมื่อตายย่อมฝากชื้อไขเอาไว้
หากตัดไม้ต่ำกว่าหัวเข่าอาจทำให้ไม้ตายอย่างถาวรจนไม่สามาารถแตกหน่อใหม่ได้ หากไม้ต้นที่เราตัดใช้งานนั้นตายแสดงว่าเราได้ใช้งานมันเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วจบ เราจึงกลายเป็นคนกลุ่มที่ไม่ฉลาดที่กินได้นานและไม่ยั่งยืน เราต้องคำนึงถึงการใช้ในระยะยาวด้วยเช่นกัน" พ่ออธิบายให้ลูกชายฟัง
"ถ้างั้นพรุ่งนี้เวลาผมไปตัดไม้ผมต้องไปขอแรงชาวบ้านไปช่วยแบกเพราะผมจะตัดต้นที่ใหญ่ที่สุด จะได้มาทำเตหน่าได้หลายตัว พ่อเห็นด้วยมั้ย?" ลูกชายถามพ่อ
"ต้นไม้ที่ใหญ่บางทีใช่ว่าจะทำเตหน่าได้ดี เพราะบางทีต้นใหญ่เกินไปทำให้การทำใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นควรดูต้นที่ไม่ใหญ่เกินไปและไม่เล็กเกินไป ขนาดประมาณครึ่งคนโอบกำลังดี และพ่อจะบอกให้ถ้าจะให้ง่ายรอให้ไม้แห้งก่อนแล้วค่อยเอากลับมาที่บ้าน มันจะทำให้น้ำหนักของไม้เบาลง หากต้องการ เคลื่อนย้ายกลับมาที่ชุมชนจะสะดวกกว่า
วิธีการที่คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนนิยมทำคือ การไปกันต้นไม้ที่หมายตาไว้ให้แห้งตายก่อน แล้วค่อยไปล้มทีหลัง แต่ต้องระวังในการกันต้นไม้นั้น ต้องกันให้สูงกว่าหัวเข่ามิเช่นนั้นต้นไม้จะตายเช่นกัน คนเฒ่าคนแก่บอกว่า หากต้นไม้ตายหรือแห้งโดยธรรมชาตินั้นจะทำให้ทำเตหน่ากูเสียงดีกว่าปกติ" พ่อแนะนำลูกชาย
"ถ้างั้นก็ต้องใช้เวลาพอสมควรซิก่อนที่จะสามารถลงมือมาแกะเป็นเตหน่ากูได้ ผมนึกว่าล้มไม้เสร็จแล้วทำได้ทันทีเลย" ลูกชายบอกพ่อ
"ไม่ได้เพราะหากแกะหรือเจาะในขณะที่ไม้ยังไม่แห้งจะทำให้เนื้อไม้แตก เมื่อทำเตหน่ากูแล้วทำให้เตหน่ากูแตกหรือบิดเบี้ยวได้ง่าย บางทีคนเมื่อก่อนก็ใช้รากไม้ที่ตายแล้วมาทำเตหน่ากูด้วยก็มี เพราะรากไม้ที่ตายแล้วจะแข็งแรงกว่ากิ่งไม้เสียอีก แต่มันหาได้ยากกว่า"
พ่อกล่าวทิ้งท้ายก่อนบอกให้ลูกชายไปหาต้นไม้ที่ถูกใจมาทำเตหน่ากูได้แล้ว เพราะอีกนานหลายเดือนกว่าต้นไม้นั้นจะแห้งดีสำหรับมาแกะเตหน่ากู