แม้ว่าฤดูเกี่ยวข้าวมาถึงแล้วแต่ฝนยังคงโปรยปรายลงมาอยู่ คนทำนาได้แต่ภาวนาว่าขออย่าตกตอนตีข้าวก็แล้วกัน เพราะฝนตกตอนตีข้าวนั้นมันยิ่งกว่าค่าเงินลอยตัวเสียอีก
ผมเตรียมตัวกลับบ้านอีกครั้งเพื่อกลับไปเกี่ยวข้าว ผืนนาที่เคยวิ่งเล่นตอนเด็กๆกวักมือเรียกผมจากเมืองคืนสู่ทุ่งข้าวเหลืองอีกฤดู ซึ่งก็ได้จังหวะพอดีที่พ่อผมลงมาทำธุระที่เชียงใหม่ ทำให้ผมได้อาศัยรถของพ่อในการกลับครั้งนี้
“มีม้วนเทป ให้ฟังบ้างมั้ย พ่อจะเก็บเอาไปฟังในรถ” พ่อถามผมก่อนออกจากเชียงใหม่ ผมจึงต้องเดินกลับเข้าห้องเพื่อกลับไปค้น ม้วนเทปที่เก็บไว้แล้วคัดเลือกเอาม้วนที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกับพ่อ เพลงปกาเกอะญอบ้าง เพลงฝรั่งบ้าง จนถึงเพลงไทย ผมสายตาผมจึงมาหยุดอยู่ที่ปกเทปสีม่วง ชื่ออัลบั้ม “เพลงใต้ถุนบ้าน” โดย สุวิชานนท์ รัตนภิมล หน้าปกมีรูปน้องพอวา ลูกสาวพี่นนท์ รวมอยู่ด้วย ผมเลือกเทปม้วนนี้เพราะส่วนหนึ่งพ่อของผมกับพี่นนท์นั้นรู้จักกันมานาน แต่พ่อผมยังไม่ได้ฟังเพลงชุดใต้ถุนบ้านของพี่นนท์เลย
หลังจากเลือกม้วนเทปได้เลยผมจึงบอกให้พ่อออกเดินทาง โดยที่ผมอาสาทำตัวเป็น ดีเจ ในรถ ให้กับพ่อซึ่งเป็นพลขับ เพลงต่างๆในอัลบั้ม เพลงจากใต้ถุนบ้าน ค่อยๆถูกเปิดตั้งแต่หน้า A เพลงฝนเดือนกันยา เพลงบูโหลน เพลงจันทร์แหว่ง เพลงบ้านน้อยในป่าใหญ่ เพลงร้องเพลงใต้ถุนบ้าน จนกลับด้านหน้าม้วนเทปเป็นหน้า B ที่เริ่มต้นด้วยเพลงรำตง ต่อด้วยเพลงดาระอั้ง และก็มาถึงเพลงอีกเพลงซึ่งผมรู้สึกว่าไม่เคยได้ยินพี่นนท์ร้องที่ไหนมาก่อนเลย แต่ผมกลับรู้สึกคุ้นๆกับเนื้อเพลงของเพลงนี้
*”ตะโกนใบไม้ทุกใบอย่าเปิดทาง ให้ความมืดยาวนานแดดอย่ามา
ให้สายน้ำกลั้นใจหยุดไหลอย่าไปเลย เธออย่าไปเลย
ในวันเธอสาวเธอสวยอยู่ป่าดอย ดอกไม้งามยังคอยจ้องมองเธอ
ลายผ้าทอมือหลากสีห่มตัวเธอ เธอถักทอเอง
วันคืนล่วงเลยผ่าน ไข้ป่ามาเกาะกินเธอ ละเมอเพ้อข้างกองฟืนหยิบยาต้มรากไม้
อีกคืนที่ลมหนาวใกล้ผ่านรับเธอไป บ้านนองน้ำตา
เส่อเล.....เส่อเล...... อือ.......อือ.............
เส่อเล....อือ.......... อือ........อือ............”
“น้องนนท์ เอาเพลงจากธาบลือมาทำเป็นเพลง” พ่อผมบอกกับผมขณะที่กำลังขับรถอยู่ ธาบลือ ซึ่งเป็นธาสำหรับคนตาย พี่นนท์รู้หรือไม่รู้? และทำไมไม่เคยได้ยินพี่นนท์นำเพลงนี้ไปร้องที่ไหนเลย? ยังเป็นคำถามที่ค้างอยู่ในใจผม แม้ว่าบทเพลงอื่นที่เปิดในรถยนต์จะมาแทนที่แล้วก็ตาม
“เราเล่นดนตรีเป็นฤดูกาล” เป็นคำพูดที่พี่นนท์เคยบอกกับผม หมายความว่าในการเล่นดนตรีของพวกเราจะเปิดเทอมใหญ่ในช่วงหน้าหนาวไปจนถึงหน้าร้อน ในส่วนหน้าฝนนั้นจะเป็นฤดูกาลเพาะปลูกของชุมชนทำให้กิจกรรมงานรื่นเริงในชุมชนมีน้อย ถือเป็นฤดูกาลสำหรับการสร้างงาน
อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้เวลาในการนัดหมายพูดคุยกันกว่าจะลงใช้ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากเดือนพฤศจิกายนเป็นฤดูเริ่มต้นในการตระเวนเล่นดนตรีแล้ว หากพี่นนท์ว่างผมกลับไม่ว่าง หากผมว่างพี่นนท์กลับไม่ว่าง สลับสับเปลี่ยนอย่างนี้หลายยก จนต่างคนต่างว่าง นั่นหมายความว่าเป็นช่วงที่ไม่มีใครเชิญไปที่ไหนนั่นเอง
“พี่ได้ฟังเรื่องราว เส่อเล ครั้งแรกจากพี่ลีซะ” พี่นนท์เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของเพลงให้ผมฟัง
เส่อเล เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสาวปกาเกอะญอที่เสียชีวิตก่อนที่จะได้แต่งงาน เมื่อหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานตาย จะมีการแขวนเสื้อผ้าของเขา ณ ตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน เสื้อผ้าของผู้ตายจะถูกตากไว้เต็ม ในเวลาที่ตะวันใกล้ตกดินนั้น แสงอาทิตย์จะส่องมาที่เสื้อผ้าที่ถูกแขวนเหล่านนั้นแลดูแวววาว จนดูแล้วทำให้ใจหวิวๆ
“พี่ได้ยินเรื่องราวแล้ว พี่รู้สึกว่ามันติดอยู่ในหัวพี่ จนพี่นำมาเขียนเป็นเพลงโดยใช้ตัวละครผ่านเส่อเล แต่เขียนไปเขียนมาพี่เขียนไม่จบ พี่เลยค้างไว้”
เมื่อเพลงที่เขียนไว้ค้างอยู่ พี่นนท์จึงแสวงหาข้อมูลเพิ่มจากคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของเส่อเล โดยเฉพาะคนใกล้ตัว ฉะนั้นเมื่อเจอพาตี่ทองดี พี่นนท์จึงไม่ทิ้งโอกาส
“พี่ทองดี ผมกำลังเขียนเพลงค้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องของเส่อเล พี่พอมีบทเพลงธา ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างมั้ย?” การเก็บข้อมูลเพลงเริ่มขึ้นอีกครั้ง
“มี แต่พูดตอนนี้ไม่ได้!! เพราะเรากำลังนั่งรถอยู่ จะให้พูดก็ไม่ได้ ร้องก็ไม่ได้” พาตี่ทองดีตอบ
“เค้าห้ามพูดในบ้าน ห้ามร้องในบ้าน” พาตี่ทองดีย้ำอีกครั้ง แต่ด้วยความอยากรู้พี่นนท์ก็หว่านล้อมพาตี่ทองดีจนแกเริ่มใจอ่อน
“เอาจริงนะน้องนนท์ ขับรถดีดีนะ” พาตี่ทองดียอมทำตามความอยากรู้ของพี่นนท์