Skip to main content
 โลงศพถูกหย่อนลงในหลุม  ลูกชายที่เป็นศาสนาจารย์และเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งศิษยาภิบาลได้จับดินก้อนหนึ่งกำไว้ในมือ  แล้วชูดินต่อหน้าผู้ร่วมงาน

"ชีวิตเราถูกสร้างมาจากดิน แล้วพระเจ้าได้เป่าลมหายใจ คือชีวิตสู่เรา การรักษาร่างกายไม่สำคัญเท่ากับการรักษาชีวิต ชีวิตที่แม้ไม่มีร่างกายก็มีชีวิตอยู่ได้ เพราะเมื่อร่างกายเราถูกสร้างมาจากดิน ถูกใช้งานมาระยะหนึ่งก็ต้องเสื่อมและต้องกลับคืนสู่ดิน แต่ชีวิตไม่ได้ถูกสร้างมาจากดิน ชีวิตถูกสร้างมาจากลมหายใจที่มาจากพระเป็นเจ้า ถ้าเรารักษาชีวิตไว้ในขณะที่อยู่บนโลกให้เป็นไปตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ชีวิตเราก็จะคืนสู่พระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าขณะที่ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกหากไม่ประพฤติตนตามหลักคำสอนที่ดีงาม  น่าเป็นห่วงว่าชีวิตเราจะเสื่อมและหมดสภาพและตายไปพร้อมกับร่างกายในที่สุด   ขอให้ดินเป็นส่วนหนึ่งของดิน"  

เขาโยนดินที่อยู่ในมือลงไปโลงศพซึ่งอยู่ในหลุม แล้วลูกหลานคนอื่นๆทยอยจับดินแล้วโยนลงตาม จากนั้นผู้ร่วมงานต่างทำตาม

เศษไม้ถูกโยนลงไปด้วย  ใบไม้ถูกโยนลงไปตาม เม็ดไม้ถูกโยนลงไปบ้าง ต่างอยากลงไปทำหน้าที่ตามวิถีธรรมชาติของมัน  มันคงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมหกรรมนี้  จนกระทั่งดินใกล้เต็มหลุม

"พอๆๆ" ลูกชายอีกคนสั่งให้หยุดนำดินปิดหลุมศพ แล้วทีมงานช่างปูนจึงเริ่มทำงานอีกครั้ง ขณะที่ช่างปูนใช้จอบตักปูนซีเมนต์จะทิ้งลงบนหลุมนั้น

"อย่า!!ๆๆ  พวกเราอยู่นี่  อย่าเททับพวกเรา" เขาได้ยินเสียงร้องของเมล็ดพันธุ์สน เมล็ดพันธุ์ก่อ เมล็ดพันธุ์ตึง เมล็ดพันธุ์ ฯลฯ แต่หามีใครสนใจไม่ ทุกคนต่างมองดูการเททับด้วยปูนซีเมนต์อย่างไม่รู้สึกถึงอีกหลายชีวิตที่ถูกฝังทั้งเป็นร่วมอีกนับสิบนับร้อยชีวิต

ไม้ล้มมันฝากตาไว้แตกกิ่ง  ไม้ตายมันทิ้งเม็ดไว้งอกใหม่  คนแก่ตายยังทิ้งลูกหลานไว้สืบเชื้อสายต่อ  แต่นี่มันตายในขณะที่เขายังไม่ได้เกิดเลย

"ทำไม ต้องต้องใช้ปูนเททับหลุมศพ? " เขาทนไม่ได้จึงหลุดปากถามทั้งที่รู้ว่ามันคงไม่ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว
"มันง่ายต่อการดูแลรักษา และมันอยู่ได้นาน หลุมมันไม่ยุบ" มีคนตอบเขามา
"ความง่าย" หรือ ความสะดวกสบายที่ถูกนำมาใช้ตลอดเมื่อทุนนิยมต้องการขยายพื้นที่ มันไม่เว้นแม้กระทั่งป่าช้า ซึ่งเป็นสมบัติของคนตาย เป็นพื้นที่ของคนตาย

เขาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน กับผู้ใหญ่ระหว่างนั้นหลายคนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของหลุมศพในป่าช้า  บางคนเห็นด้วยกับการจัดการแบบเดิมตามภูมิปัญญาของคนปกาเกอะญอ แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไรหากมีการนำปูนซีเมนต์มาจัดการหลุมศพ

"โลกมันเปลี่ยน ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยน" เป็นประโยคที่เหมือนจะเป็นข้อสรุปที่ชอบธรรมของระบบคิดแบบทันสมัยนิยมหรือ สำเร็จรูปนิยม หรือสะดวกนิยม

เขาเดินออกมาจากป่าโดยไม่หันหลังกลับมามองตามความเชื่อของคนปกาเกอะญอ  ที่ห้ามหันหลังมองมาข้างหลัง  เดี๋ยววิญญาณคนตายจะตามมาด้วย

ตกเย็นทุกคนมาร่วมงานเพื่อไว้อาลัยการจากไปของผู้บุกเบิกคริสตจักรภาคมูเจะคี  แต่เขากลับรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นแก่พันธุ์พืช พันธุ์ไม้ต่างๆ ในป่าช้า และอาลัยอาวรณ์กับการตายของป่าช้าปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมอีกแห่งหนึ่ง 

เขารู้ดีว่ามันไม่จบเพียงเท่านี้  และไม่มีเพียงเท่านี้  ป่าช้าของชุมชนปกาเกอะญอหลายแห่งตายไปนานแล้ว และป่าช้าปกาเกอะญอที่ยังมีชีวิตอยู่ก็กำลังถูกพิจารณาคดีในชั้นศาลแห่งลัทธิทันสมัยนิยม เพื่อจ่อคิวเข้าแดนประหาร!!


 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
สิบกว่าปีผ่านไป ภายในบ้านของครูดอยผู้ช้ำใจจากการนำดนตรีปกาเกอะญอไปเล่นในโบสถ์ เขารู้สึกดีใจมากที่ลูกชายของเขามาขอเรียนดนตรีพื้นบ้านของคนปกาเกอะญอ ทั้งๆที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันต่างมุ่งหน้าเดินตามดนตรีตามกระแสนิยมกันหมดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เขาเฝ้าคอยและหวังมาโดยตลอดที่จะมีคนมาสืบทอดลายเพลงของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ ของเขาหรือคนอื่นที่เป็นคนชนเผ่าเดียวกันก็ตาม ทำให้ฝันของเขาเริ่มเป็นจริงว่าทางเพลงแห่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอจะไม่สิ้นสุดในยุคของเขา แต่เขารู้สึกตกใจ เมื่อลูกชายบอกเขาว่า จะนำเตหน่ากู ไปเล่นในคืนคริสตมาสปีนี้ที่โบสถ์ในชุมชน “ลูกแน่ใจนะ ว่าจะเล่นในโบสถ์”…
ชิ สุวิชาน
ในขณะที่อีกฝากหนึ่งของชุมชนปกาเกอะญอที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว บทเพลง ธา ทุกหมวด กลายเป็นบทเพลงที่ถูกลืมเลือน ถูกทิ้งร้างจนเหมือนกลายเป็นบทเพลงแห่งอดีตที่ไม่มีค่าแก่คนยุคปัจจุบัน โมะโชะหมดความหมาย เมื่อคนปกาเกอะญอเริ่มเรียนรู้การคอนดัก (Conduct) เพลงแบบในโบสถ์แบบฝรั่ง เพลงธา ไร้คุณค่า เมื่อมีเพลงนมัสการที่เอาทำนองจากโบสถ์ฝรั่งมา เครื่องดนตรีปกาเกอะญอถูกมองข้ามเมื่อมีคนดนตรีจากตะวันตก เช่น กีตาร์ กลองชุด แอคคอร์เดียน เมาท์ออร์แกน ฯลฯ เข้ามา “โด โซ โซ มี โด มี โซ ready… sing ซะหวิ” ประโยคนี้มักจะเป็นประโยคเริ่มต้นของคนที่เป็นผู้นำวงร้องประสานเสียงพูดนำก่อนร้องเพลง…
ชิ สุวิชาน
หลัง ธาหมวด แป่โป่ แปซวย แล้ว ก็จะต่อด้วย ธาหมวดโข่เส่ คะมอ ตามด้วย หมวดโดยมีเด็กชายนำการเดินวนอยู่เหมือนวันแรก  และหมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขานต่อจาก หมวดโข่ เส่ คะมอ ต่อด้วย หมวด เชอเกปลือ  หมวดฉ่อลอ หมวดแกวะเก  หมวดธาชอเต่อแล จากนั้น หมวดธาเดาะธ่อ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการกลับมาอย่างแน่นขนัดของหนุ่มสาวเช่นเดิม เมื่อธาเดาะธ่อหรือเริ่มต้นมาแล้ว ก็จะมีหมวดธา เดาะแฮ, หมวด ธาเดาะเหน่,หมวด ธาลอบะ ,หมวด ธา ลอกล่อ ซึ่งล้วนแต่เป็น ธา หน่อ เดอ จ๊อหรือธา หนุ่มสาว ซึ่งตั้งแต่ ธา หมวด เดาะธ่อ เป็นต้นไป ถือว่าเป็น เพลงธา ที่สามารถขับขานเป็นปกติได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่…
ชิ สุวิชาน
เมื่อได้ยินหมวด ธา ธาชอเต่อแล หนุ่มสาวต่างขยับเข้ามาในวงเพลงธามากขึ้น เพื่อเริ่มงานของหนุ่มสาว ธาชอเต่อแลจึงเปรียบเสมือน หมวดที่เชื้อเชิญหนุ่มสาวเข้าสู่การขับขานเพื่อต่อเพลงธากัน โดยมีโมะโชะฝ่ายหญิงแลโมะโชะฝ่ายชายเป็นหัวหน้าทีมของแต่ละฝ่าย เวทีการดวลภูมิรู้เรื่องธาที่ขุนเพลงธาโปรดปรานได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนงานศพ หมวดแห่งการดวลเพลงธา เริ่มที่หมวดธาเดาะธ่อ ซึ่งแปลว่า ธาเริ่มต้น ส่วนใหญ่เป็นธาที่ว่าด้วยความรัก ความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือ เพื่อให้คนที่มาร่วมงานตระหนักและสำนึกเสมอว่า เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ชนเผ่าเดียวกัน สังคมเดียวกัน และโลกใบเดียวกัน ดังตัวอย่างธาที่ว่า   เก่อ…
ชิ สุวิชาน
หมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขาน ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วย การจากไปสู่ปรโลก ซึ่งปกติแล้วก่อนที่คนจะตายมักมีลางสังหรณ์ปรากฎแก่คนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างเสมอ นั่นหมายความว่าถึงเวลาของผู้ตายแล้ว เวลาแห่งความตายนั้นย่อมมาถึงทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนตายควรทำความดีหรือทำคุณประโยชน์ให้เกิดแก่แผ่นดินถิ่นเกิดที่เราอาศัยอยู่ตอนมีชีวิตให้มากที่สุด เมื่อลางสังหรณ์มาถึงเราจะได้จากอย่างหมดทุกข์หมดห่วง ตัวอย่าง ธา หมวดนี้เริ่มต้นดังนี้ มี หม่อ เคลอ ฮะ เหน่ อะ เด                 มีหม่อ คอ ฮะ เหน่ อะ เด เต่อ เหม่ เคลอ ฮะ เหน่ อะเด      …
ชิ สุวิชาน
“โมะโชะมาแล้ว” ชายหนุ่มคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น เมื่อเห็นร่างชายวัยปลายกลางคนเดินเข้ามา สายตาทุกดวงจึงมองไปที่ โมะโชะ เขาคือผู้นำในการขับขานเพลงธา เขาต้องเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเองมาหลายปีกว่าเขาจะได้รับตำแหน่งนี้ หน้าที่รับผิดชอบสำหรับตำแหน่งนี้คือการเป็นผู้นำในการขับขานธาในพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเช่น งานแต่ง หรืองานตาย บางชุมชนทั้งหมู่บ้านไม่มีโมะโชะเลย เวลามีงานต้องไปยืมหรือเชื้อเชิญโมะโชะจากชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้ ว่ากันว่าชุมชนที่สมบูรณ์นอกจากต้องมีผู้นำชุมชนตามประเพณีที่เรียกว่า ฮี่โข่ ต้องมีจำนวนหลังคาในชุมชนมากกว่า 30 หลังคาเรือนแล้ว…
ชิ สุวิชาน
ช่วงเย็นหลังจากที่ทำงานในไร่ และกำลังจะนั่งกินข้าวร่วมครอบครัว “ลุงเร็ว ปู่ วาโข่ หายใจขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้หายใจลงแล้ว” หลานชายมาวงข่าวเกี่ยวกับพือวาโข่ซึ่งเป็นพ่อของเขา เขาละจากวงทานข้าวของครอบครัว แล้ววิ่งไปหาพ่อทันที พือวาโข่ เป็นฉายาที่เด็กๆ ในหมู่บ้านและหลานๆเ รียกชื่อผู้เฒ่าผู้ชายที่อาวุโส จนผมหงอกทั้งหัว พือหมายถึงพ่อเฒ่า วาโข่หมายถึง ผมขาว หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า พีวาโข่ พีแปลว่าแม่เฒ่า นั่นเอง คนรุ่นนี้จะเป็นที่รักใคร่ของลูกหลานทั้งในครอบครัวและในชุมชน เพราะถือเป็นทรัพยากรบุคคลของชุมชนทีมีค่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชนที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาทางออกได้…
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศในบ้านเริ่มคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเสียงเตหน่าบรรเลงในบ้านไม่เว้นแต่ละคืน  บางคืนเป็นเสียงเตหน่า ลายเดิมที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนถ่ายทอด  แต่บางคืนมีเสียงเตหน่าลายแปลกออกมาจนผู้เป็นพ่ออดไม่ได้จนต้องเงี่ยหูฟัง  นานแล้วที่เจ้าของเสียงเตหน่ากูห่างหายไปจากการร่ำเรียนวิชาจากพ่อ  แต่วันนี้เขากลับมาหาครูผู้สอนเตหน่ากูของเขาอีกครั้ง แน่นอนมันต้องมีอะไรบางอย่างสงสัยจึงต้องมา"พ่อผมจะไปล้มไม้มาทำเตหน่ากู ควรจะหาไม้อย่างไรดี" ประโยคแรกที่เขามาถามพ่อ"จริงๆ แล้วไม้อะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นไม้ที่โค้งงอ แต่คนสมัยก่อนเขานิยมใช้ไม้เก่อมา หรือภาษาไทยเรียกว่าไม้ซ้อ…
ชิ สุวิชาน
มีบทธา ซึ่งเป็นบทกวีหรือสุภาษิตสองลูกสอนหลานของคนปกาเกอะญอมากมาย ที่กล่าวถึงเตหน่ากูเครื่องดนตรีดั้งเดิมของคนปกาเกอะญอ แต่ในตรงนี้จะยกมาเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของ ธา ที่กล่าวถึงเตหน่ากู 1. เตหน่า อะ ปลี เลอ จอ ชึ             เด เต่อ มึ เด ซึ เด ซึ2.เตหน่า เลอ จอ แว พอ ฮือ            เต่อ บะ จอ จึ แซ เต่อ มึ3.เตหน่า ปวา แกวะ ออ เลอ เฌอ      เด บะ เก อะ หล่อ เลอ เปลอ4.เตหน่า ปวา เจาะ เลอ เก่อ มา     …
ชิ สุวิชาน
ลูกชายหายหน้าไปจากการเรียนรู้การเล่นเตหน่ากูกับพ่อเป็นหลายสิบ จนผู้เป็นแม่ที่คอยหุงอาหารให้หมูในตอนหัวค่ำเกิดคำถามต่อผู้เป็นพ่อ “ไอ้ตัวเล็กมันเล่นเป็นแล้วเหรอ? มันถึงไม่มาฝึกเพิ่ม” แม่ถามพ่อซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามกะบะไฟดินในบ้าน “มันบอก มันจะฝึกเอง มันคงไปฝึกที่บ้านผู้สาวมั้ง?” พ่อตอบแม่พร้อมกับสันนิษฐานพฤติกรรมของลูกชาย “มันก็ธรรมดาแหละ วัวตัวผู้พอมันเริ่มเป็นหนุ่ม มันก็เริ่มแตกฝูงไปหาตัวเมียในฝูงอื่น ก็เหมือนพ่อตอนเป็นหนุ่มนั่นแหละ อยู่บ้านอยู่ช่องซะที่ไหน กลางค่ำกลางคืนดึกแล้วไล่กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ ค่ำไหนค่ำนั้น มาหาทุกคืน” แม่เปรียบเทียบให้พ่อฟัง
ชิ สุวิชาน
“วิธีการเล่นล่ะ? แตกต่างกันมั้ย?” ลูกชายถามพ่อ “ถ้าเล่นอย่างไดอย่างหนึ่งได้นะ ก็เล่นอีกอย่างได้เองแหละ ขอให้เข้าใจวิธีการตั้งสายเถอะ อย่าตั้งสายเพี้ยนละกัน” พ่อบอกและย้ำกับลูกชาย “งั้นพ่อสอนเพลงอีกซักเพลงที่เล่นแบบเมเจอร์สเกลนะ” ลูกขอวิชาจากพ่อ “เอาซิ! เดี๋ยวพ่อจะสอนเพลงพื้นบ้านง่ายๆที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชอบร้อง ชอบเล่นกับเตหน่ากูบ่อยๆ อีกเพลง ร้องตามนะ” พ่อเริ่มร้องนำ ลูกจึงเริ่มร้องตาม
ชิ สุวิชาน
สองสามคืนผ่านไป ลูกชายไม่ได้มายุ่งกับพ่อ แต่คืนนี้ภายในบ้านไม้ไผ่ หลังคาตองตึงทรงปวาเก่อญอหลังเดิม ลูกชายถือเตหน่ากูมาอยู่ข้างพ่ออีกครั้ง “ลองฟังดูนะ ใช้ได้หรือยัง?” ลูกชายพูดจบเริ่มดีดเตหน่าและเปล่งเสียงร้องเพลงแบบไมเนอร์สเกลให้พ่อฟัง แต่ด้วยความตั้งใจมากไปหน่อยทำให้การเล่นบางครั้งมีสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ลูกชายไม่ยอมแพ้และไม่ยอมหยุด เล่นและร้องให้พ่อซึ่งเป็นครูสอนเตหน่ากูให้เขาจนจบเพลง “ฮึ ฮึ ก็ดี เริ่มต้นได้ขนาดนี้ก็ไช้ได้” พ่อตอบเขาแบบยิ้มๆ “แล้วพ่อจะสอนอีกแบบหนึ่งได้หรือยัง?” เขามองหน้าพ่อ “อ๋อ ที่มาเล่นให้ฟังนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเล่นไมเนอร์ได้แล้ว จะขอเรียนแบบเมเจอร์ต่อว่างั้นเถอะ”…