สงครามตามชายแดนไทย-พม่าริมแม่น้ำเมยได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ทางการพม่าออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนกับสงครามที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยบอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากะเหรี่ยงด้วยกันเอง คือระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ผลของการสู้รบทำให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงด้วยกันเองที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบ ต้องหนีภัยจากการสู้รบ หลายชุมชนต้องฝ่าเสียงกระสุนปืน หลายชุมชนต้องฝ่าดงและเสียงระเบิด ในขณะที่เดินฝ่าความตายเพื่อหนีตายนั้น ต้องทำด้วยความเงียบ ความรวดเร็ว ต้องเก็บแม้กระทั่งเสียงร้องไห้
\\/--break--\>
โดยปกติคนกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่รักและชอบเสียงเพลง แต่ในสถานการณ์การหนีตายแบบนี้ บทเพลงและเสียงเพลงต้องหลบเพื่อรักษาชีวิตตนเองเช่นกัน ในช่วงเวลาการต่อสู้เพื่อกู้ชาติของคนกะเหรี่ยงกว่า 61 ปีที่ผ่านมา บทเพลงหลายสิบเพลงต้องจบชีวิตลงในสนามรบ
ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนกะเหรี่ยงที่หลบภัยจากการสู้รบตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าฝั่งตะวันตกคนหนึ่งเกี่ยวกับบทเพลงในชุมชนปกาเกอะญอในพื้นที่การสู้รบ
“มีบทเพลงบางเพลงที่เป็นเพลงต้องห้าม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าไม่อยากให้ร้อง” เขาบอกผม
“เหรอ มันเป็นยังไง” ผมชักสงสัย
“มันเป็นเพลงปฏิวัติ เป็นเพลงปลูกระดมคนชนเผ่าให้ฮึกเหิมในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ให้ต่อสู้เพื่อกู้ชาติ กู้แผ่นดิน และปลอดปล่อยชนเผ่าจากการจองจำทางการปกครองที่ไม่มีความเป็นธรรม” เขาอธิบาย
“มันร้องไม่ได้เลยเหรอ” ผู้ฟังซักถาม
“เมื่อก่อนร้องได้ถ้าเป็นพื้นที่ของเราเอง ร้องได้เต็มที่ ตะโกนออกไปจนเสียงเดินทางทะลุสี่ห้าดอยก็ยังได้ แต่ไปร้องในพื้นที่ที่มีทหารพม่าไม่ได้ แต่ตอนนี้ในพื้นที่ของเราเองเราก็ร้องไม่ได้เพราะพวกทหารพม่าเข้ามาใกล้และเข้ามาถึงรอบๆชุมชนเราแล้ว อาจจะร้องได้แต่ต้องสำรวจดูรอบๆตัวก่อนว่ามีใครอยู่บ้าง หรืออาจต้องร้องเบาๆ (หัวเราะ)”
รัฐบาลทหารพม่ามองว่าบทเพลงปฏิวัติเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการปลูกระดมให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล ทำให้นักเพลงปฏิวัติหลายท่านต้องถูกจองจำในคุก หลายท่านต้องฆ่า หลายคนต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากข้อหาการร้องเพลงปฏิวัติหรือเพลงปลูกใจเพื่อการสู้รบปลอดปล่อยชนเผ่า
นักเพลงปฏิวัติของคนกะเหรี่ยงที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลพม่ามากที่สุดในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น “ฉ่า เก โดะ” เคยต้องหนีจากย่างกุ้งมาถึงชายแดนไทยเพราะเหตุนี้ ทำให้เขาตัดสินใจจับปืนเป็นนักปฏิวัติเต็มตัวในเวลาต่อมา จนปัจจุบันนี้เขาต้องหนีไปไกลถึงประเทศที่สามในอเมริกา แต่บทเพลงของเขายังคงมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากลัวจนไม่อยากให้ประชาชนกะเหรี่ยงขับร้อง หรือรับฟังบทเพลงของเขา
หมู่บ้านกลาป่าลึก ในเขตรัฐกะเหรี่ยงตอนเหนือ รวงข้าวในทุ่งไร่เริ่มเหลือง หอมกลิ่นของเม็ดข้าวชักชวนฝูงนกป่ามาเชยชิมรสชาติข้าวพันธุ์พื้นบ้าน จนชาวบ้านต้องคอยไล่ มิฉะนั้นข้าวอาจเหลือเพียงรวงไร้เม็ด ในขณะเดียวกันกลิ่นรวงข้าวก็ได้ชักชวนกองกำลังทหารพม่าเข้าสู่ทุ่งไร่เกือบทุกปี บางปีมาช้าหน่อยชุมชนจึงได้เก็บเกี่ยว บางปีมาเร็วทุ่งไร่ข้าวจึงถูกยึดเอาเป็นฐานทัพชั่วคราว ช่วงหลังๆ มาอยู่ยาวจนต้องเสียพื้นที่ไร่ไปหลายแห่ง
เด็กชายผู้ไร้เดียงสา ยังไม่รู้จักทิศเหนือทิศใต้ ยังไม่รู้จักตะวันตกตะวันออก ยังไม่รู้จักเดือนมืดเดือนแจ้ง รู้แต่เพียงการลงไปเล่นน้ำจับปลา ที่ริมห้วยท้ายหมู่บ้าน เกือบทุกเช้าทุกเย็นคนในชุมชนจะได้ยินเสียงเพลงของเขา เสียงเพลงเดินทางคู่กับเขาตลอด
เย็นวันนั้นเสียงเพลงของเขาดังล่องลงไปท้ายหมู่บ้านเช่นเดิม พร้อมไซซึ่งเป็นอุปกรณ์จับปลาของเขา เขาตั้งใจจะไปวางไซเพื่อดักปลาห่างออกไปจากชุมชนห้าโค้งน้ำ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นที่มีปลาชุม เหมาะแก่การวางไซ เพราะพื้นที่รัศมีภายในสี่โค้งน้ำจากหมู่บ้านนั้น เขาวางไซจนเขารู้ทะลุปรุโปร่งและขณะเดียวกันหมู่ปลาเองก็เริ่มรู้ทางหนีทีไล่ที่จะเอาตัวรอดจากไซของเขา แต่โค้งน้ำที่ห้านั้นติดอยู่ตรงที่มันไกลจากชุมชนหน่อย แต่เขาก็พร้อมที่จะลงทุน