บรรยากาศงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คำรบที่สาม เป็นไปอย่างเรียบง่ายเล็กๆ กะทัดรัด ตามประเด็นหัวข้อที่นำเอาเรื่องของ "การจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูงในรูปแบบโฉนดชุมชน" ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้อาวุโสชนเผ่าทางภาคเหนือต่างมากันอย่างครบครันเช่นเดิม
\\/--break--\>
ช่วงหนึ่งของงานได้มีวาระการสัมมนาเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบาย การขายคาร์บอนเครดิต หรือ REDD ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูง เป็นประเด็นเป็นปัญหาใหม่ที่คนชนเผ่าต้องหาวิธีการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง
ท้ายห้อง ผู้อาวุโสปกาเกอะญอนั่งฟังพร้อมกับกัดฟันเป็นจังหวะๆ ส่งสัญญาณการขบคิดแนวทางแก้ไขปัญหาให้ลูกหลานอย่างเข้มขรึม
"โพโดะควา (หลานชาย) มานี่" เขาควักมือเรียกผมมานั่งใกล้เขา
"นี่ ลุงจะบอกให้นะ สมัยลุงได้มีการต่อสู้มา สิบปี ยี่สิบปีผ่านมาได้ในระดับหนึ่งถ้าลูกหลานไม่มารับช่วงต่อก็ถือว่าสูญเปล่า ม้าเดินทางไกลได้ด้วยกีบเล็บที่แข็งแรง คนจะขับเคลื่อนชุมชนต่อได้ด้วยลูกหลาน ผู้เฒ่าผู้แก่บอกไว้อย่างนั้น ครั้งนี้เขาจะพูดถึงเรด ระหรืออะไรก็แล้วแต่ ลูกหลานต้องตามทันไม่อย่างงั้นชุมชนของเราจะไม่เหลือ
พาตี่เองไม่รู้จะอยู่อีกนานเท่าไหร่ จะมีกำลังเหลืออีกแค่ไหน คนรุ่นหนึ่งไป คนอีกรุ่นหนึ่งต้องมา อย่าทิ้งช่องว่างการต่อสู้ให้มันเกิดขึ้น เราต้องปกป้องป่า ปกป้องชุมชน ปกป้องชนเผ่า ปกป้องวัฒนธรรมของเรา มีหลายคนเคยต่อสู้มาแต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เช่น พ้อเหล่ป่า หรืออีกหลายๆคน" พาตี่ จอนิ ได้พูดถึงพ้อเหล่ป่าผู้จากไป พร้อมถามถึงบรรยากาศงานลาโลกของพ้อเหล่ป่า ผมจึงเล่าบรรยากาศรวมทั้งเรื่องเพลงต้องห้าม
"พาตี่คิดอย่างไร หากลูกหลานคนปกาเกอะญอไม่รู้จักเพลงธาปลือ หรือเพลงสวดศพแบฉบับของคนปกาเกอะญอ?" ผมใคร่รู้มุมมองของผู้ที่ได้การยอมรับจากทั้งสังคมภายนอกและสังคมปกาเกอะญอเองว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
"มันจะไปกันใหญ่ หากคนปกาเกอะญอไม่รู้จากธาปลือหรือ เพลงสวดศพของคนปกาเกอะญอ มันจะทำให้เขาไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหน ไม่รู้จักความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิต ไม่รู้จักสาเหตุของความทุกข์ ไม่เข้าใจที่มาของความตาย เขาจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างล่องลอยไร้รากของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง" พาตี่เปิดมุมมองเกี่ยวกับเพลงสวดศพแบบคนปกาเกอะญอ
"การห้าม มันมีที่มาจากสองลักษณะ อย่างแรกมาจากความรักและความเป็นห่วง ไม่อยากให้คนที่ตนเองรัก คนที่ตนเองเป็นห่วงต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดี หากทำในสิ่งใดลงไป ลักษณะที่สอง ความกลัว และความไม่เข้าใจ ความกลัวนี้ก็มีหลายอย่าง กลัวคนอื่นจะเจ็บเป็นการห้ามเพื่อคนอื่น กลัวตนเองจะเจ็บเป็นการห้ามเพื่อตนเอง ส่วนความไม่เข้าใจนี้ยิ่งไปใหญ่ หากสิ่งที่ห้ามนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ห้ามเองไม่เข้าใจถ่องแท้ อาจทำให้เป็นการปิดโอกาสในการเรียนรู้ การค้นพบบางอย่างที่มีค่าและสำคัญก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือเจตนาของการห้าม ห้ามเพื่อตนเอง หรือห้ามเพื่อคนอื่น?" ศาสนาจารย์ที่คริสตจักรบรรยายเกี่ยวกับการห้ามให้ฟัง
ในขณะที่ดนตรีตามวัฒนธรรมชนเผ่าถูกสืบทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกันดูเหมือนแนวคิดในการกีดกันบทเพลงตามวัฒนธรรมชนเผ่าให้กลายเป็นบทเพลงต้องห้ามก็ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเช่นกันจนชุมชนปกาเกอะญอหลายแห่งไม่มีใครกล้าร้องเพลงเหล่านี้อีกแล้ว การเดินตามแนววัฒนธรรมในชุมชนถูกมองเป็นการทำลาย
ในขณะที่ยุคแห่งการล่าอาณานิคมทางดินแดนสิ้นสุดลง ประเทศที่ตกอยู่ในอาณานิคมต่างประกาศอิสรภาพในการปกครองตนเองแล้ว ระบบการปกครองแบบเผด็จการจากหลายประเทศได้ถูกล้มเลิก การประกาศของคณะปฏิวัติต่างๆ หลายชุดบนโลกได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่บทเพลง ธาปลือ ซึ่งเป็นบทเพลงสวดศพในวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ยังคงเป็นบทเพลงต้องห้ามในสังคมคริสเตียนปกาเกอะญออยู่อย่างต่อไป
กลับมานึกถึงเพลงปุนุ เนื่องจากบางครั้งยังไม่เข้าใจว่า งานศพแท้ๆ ไม่ให้ร้องเพลงสวดศพ แต่ไม่มีงานศพแท้ๆ ยังอนุญาตให้ร้องเพลงสวดศพได้ เพลงสวดศพถูกเข้าใจว่าอย่างไรกันแน่? สิ่งที่ห้ามนั้นมีความเข้าใจมันดีหรือยัง? บทเพลงสวดศพเคยทำร้ายสังคมอย่างไร???
เมื่อบทเพลงที่สร้างมาจากภูมิปัญญาของคนชนเผ่าเอง ถูกห้ามร้อง แล้วมันจะเดินต่ออย่างไร?
"ชุมชนใด มีบทเพลง แต่ไม่มีคนร้องขับขาน มีเครื่องดนตรีแต่ไม่มีคนเล่น มีภาษาแต่ไม่มีคนพูด มีชุมชนแต่ไม่มีคนอาศัยอยู่ มีวัฒนธรรมแต่ไม่มีคนสืบต่อ จะเรียกว่าชุมชนได้อย่างไร?" นึกถึงคำพูดผู้เฒ่า
หากสิ่งที่ยืนหยัดได้แน่ๆ คือความจริง สิ่งไหนที่เป็นความจริงย่อมไม่มีวันตาย โดยเฉพาะความจริงที่เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม หวังว่าคงหยัดยืนต่อไป