ก่อนเดินทางมีการแถลงข่าวที่กรุงเทพ มีผู้สนับสนุนทั้งกระทรวงการต่างประเทศและบริษัทบุญรอดฯมาร่วม หลังงานแถลงข่าวมีการสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนที่มาในงาน
\\/--break--\>
“การไปท้วร์ครั้งนี้ทำไมเลือกที่อเมริกาก่อน ทำไมไม่ทัวร์ที่เมืองไทยคะ?” สื่อมวลชนสุภาพสตรีท่านหนึ่งถาม
“เราคิดว่าตลาดเพลงแนวนี้ในเมืองไทย แนว World music ไม่ค่อยมีพื้นที่เท่าที่ควร จึงยังไม่น่าสนใจเท่าที่ต่างประเทศ คนไทยยังไม่ค่อยอยากฟังเพลงที่มีสำเนียงไทยๆ วัฒนธรรมไทยที่ประกอบด้วยภูมิภาคต่างๆ ทั้งใต้ อีสาน กลาง เหนือ รวมไปถึงความเป็นชนเผ่าในเมืองไทย จริงๆมีศิลปินไทยที่พยายามสร้างสรรค์เพลงแนวนี้พอสมควร แต่กลุ่มคนฟังมันมีน้อยไนประเทศไทย คนไทยอยากฟังเพลงเกาหลีมากกว่า เราจึงเริ่มที่ต่างประเทศก่อน "พี่ทอด์ด" ตอบนักข่าว
“แล้วไม่คิดจะปลูกฝังคนไทยให้หันมาฟังเพลงแนวนี้มากขึ้นเหรอคะ?” นักข่าวหญิงต่างสำนักถามต่อ
“ผมว่าเป็นคำแนะนำที่ดี เราพยายามจัดเทศกาลดนตรีแนวนี้ เป็นเทศกาลจังหวะแผ่นดิน มาเป็นเวลา 4 ปี จัดมาทั้งทางใต้ ตะวันตก กลาง อีสานและทางเหนือด้วย ผู้คนมาฟังในงานเยอะ มัน สนุก แต่ไม่มีใครซื้อซีดีศิลปินเลย (ฮา) คนไทยยังมีเพลงของพี่เบิร์ดให้ฟังอยู่ครับ (ฮา) แต่ถ้ากระแสที่เมืองไทยดีขึ้นเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกทีครับ” พี่ทอด์ด อธิบายให้นักข่าวฟังอีกครั้ง
รุ่งเช้าตีสามกว่าของวันที่ 3 ผมถูกปลูกให้ตื่นเพราะต้องไปเช็คอินที่สุวรรณภูมิเครื่องจะออกประมาณ 6 โมง ผมขึ้นนั่งรถตู้ข้าง ๆ พี่ทอด์ด
“ชิ อีก 20 นาทีเราจะถึงสนามบิน เราต้องโหลดของเยอะมาก ซึ่งเกินน้ำหนักที่เขากำหนดไว้ เพราะฉะนั้นอย่าถือสาพฤติกรรมผมอีก 20 นาทีข้างหน้านะ เพราะมันจะมีทั้งโหด เศร้า ร้องไห้ ขอความเห็นใจ เพื่อจะสามารถเอาของที่เป็นเครื่องดนตรีไปให้ได้ อเมริกาเขาจะกลัวไม้ที่มาจากต่างประเทศ เพราะเขากลัวปลวกจากต่างประเทศซึ่งเขาไม่สามารถกำจัดได้ บางทีมันกินบ้านพังไปทั้งหลัง อันนี้ก็เข้าใจเขา” พี่ทอด์ด คุยให้ฟัง ก่อนเราจะมุ่งหน้าเข้าสู่ประตูทางเข้า
การโหลดของเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากน้ำหนักเกินจะต้องใช้การเจรจาอย่างที่ว่า กว่าเราจะขึ้นเครื่องได้ เราก็กลายเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ขึ้นเครื่อง ปลายทางอยู่ที่ไทเป เราต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่นั่น โดยต้องใช้เวลารอเพื่อเปลี่ยนเครื่องประมาณ 8 ชั่วโมง ได้มีโอกาสชมบรรยากาศรอบ ๆ ในสนามบินไทเป นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสแวะชิม อาหารพื้นบ้านไต้หวัน
ร้านอาหารพื้นบ้านไต้หวัน ในสนามบิน
ไทเปหรือไต้หวัน ดูแล้วก็คล้าย ๆ จีน ทั้งภาษาเขียน ภาษาพูด รวมทั้งบุคลิกหน้าตาของผู้คน แต่เมื่อเราไปถามคนไต้หวันเขาจะบอกเพียงแต่ว่าเขาคล้ายจีนแต่เขาไม่เหมือนจีน และเขาไม่ใช่จีน เขาคือไต้หวัน เขาพยายามนำเสนอความเป็น อัตลักษณ์ของไต้หวัน ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเฉพาะที่ต่างจากจีน และในความเป็นอัตลักษณ์ของไต้หวันนั้น ยังได้รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 14 ชาติพันธุ์ อยู่ในนั้น
รูปแบบการต่อสู้ของไต้หวันเป็นการชูอัตลักษณ์ที่เด่นเพื่อประกาศความเป็นอิสระในอยู่เหนือการครอบครองออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนที่อยู่ในประเทศไต้หวันทั้งประเทศทุกคน ทุกชาติพันธุ์ และในการต่อสู้นั้น ส่วนหนึ่งใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อประกาศความเป็นเอกเทศ แม้จีนแผ่นดินใหญ่จะพยายามกดดันทุกวิถีทาง แต่วันนี้ไต้หวันยังคงยืนหยัดในความเป็นเอกเทศของตนเอง ยังคงเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนชาติพันธุ์ได้มีโอกาสประกาศตัวตน เกียรติ ศักดิ์ศรีในดินแดนแห่งนั้น
ทำให้นึกย้อนกลับมาดูการต่อสู้หลายๆ ที่ หลายๆ แห่ง หลายๆ กลุ่ม ที่มุ่งเน้นแต่การเมืองการทหารจนละเลยมิติอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจนลูกหลานคนรุ่นใหม่ขาดจิตสำนึกในความเป็นชาติพันธุ์ และขาดความเข้าใจถึงรากเหง้าแก่นแท้ของเกียรติและศักดิ์ศรี วัฒนธรรมชนเผ่าของตนเอง ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดพลังที่เป็นชาติพันธุ์นิยมทำให้พื้นที่การขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมลดน้อยลงไป เมื่อวัฒนธรรมที่เป็นจุดร่วมของคนชาติพันธุ์เดียวกันลดน้อยลง พลังสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นปึกแผ่น ย่อมถูกกัดเซาะได้ง่ายขึ้น
ยิ่งทำให้นึกถึงการต่อสู้ของคนกะเหรี่ยงทางฝั่งพม่าที่หลงลืมความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เดียวกันแต่ถูกกัดเซาะ ยุแยง โดยการนำศาสนามาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยก แล้วปกครองอย่างง่ายดาย น่าเป็นห่วงว่าหลังจากความขัดแย้งด้านศาสนาซาลงไป ถ้าคนกะเหรี่ยงไม่มอง ไม่วิเคราะห์ ความเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเดียวกันให้ชัดเจน ฝ่ายตรงข้ามจะใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งเพื่อแบ่งแยกซ้ำคนกะเหรี่ยงอีกทีหนึ่ง นั่นคือ การจะพยายามแยกคนกะเหรี่ยงโผล่ว์กับกะเหรี่ยงจอห์ออกจากกัน ครั้งนี้จะทำให้กะเหรี่ยงแตกแยก กระจัดกระจาย ไร้พลังไปกันใหญ่ ได้แต่หวังว่า ความเจ็บปวดของสงครามริมฝั่งเมยรอบล่าสุดจะเป็นบทเรียนที่จะทำชาติพันธุ์ตนเองที่อยู่คนละฝั่งน้ำกันได้เป็นอย่างดี