การรอคอยที่ไทเปสิ้นสุดลง เมื่อประตูสู่นิวยอร์กได้เปิดออกให้ผู้โดยสารเดินเข้าไปในเครื่องบิน ระยะทางกว่าสิบสี่ชั่วโมง ผมอยู่กับเพลง World Music ซึ่งเป็นเมนูที่มีให้เลือกจากสายการบิน บางเพลงมีเสียงระนาด ขลุ่ย และมีจังหวะหมอลำปะปนด้วยได้กลิ่นไอดนตรีไทยเป็นอย่างสูง ผมจึงยกหูฟังให้พี่สานุ นักดนตรีและโปรดิวเซอร์จากกรุงเทพฟัง เขาฟันธงเลยว่าเสียงทั้งหมดเป็นการ Samp มาทั้งนั้น ไม่ใช่เสียงจริงดั้งเดิมที่คนเล่นมา แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการฆ่าความน่าเบื่อของการอยู่บนเครื่องเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี
สนามเด็กเล่นโรงเรียนเก่าของผมที่บนดอย ผมวิ่งเล่นหยอกล้อกับเพื่อนผมหลายคน เพื่อนคนให้นิ้งแหย่ตูดผมไม่ยอมปล่อย ผมเซ็งมาก ผมจึงจับมือเพื่อนคนนั้นให้ปล่อยมือ เมื่อเพื่อนไม่ยอมปล่อยผมจึงจับนิ้วเพื่อนมาเพื่อหักนิ้วเขา
“ปล่อยๆ ปล่อยมือ!” เสียงผมหลุดออกมาจากฝัน จนสะดุ้งตื่นแล้วต้องขยับเปลี่ยนตำแหน่งก้นจากท่าเดิมที่นั่งนานจนรู้สึกปวดชาไปหมด
นกเหล็กยักษ์ร่อนลงสู่สนามบิน Newark ในเมือง นิวยอร์ก ได้เวลาลุ้นอีกครั้งที่จุดตรวจคนเข้าเมือง ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง the terminal ขึ้นมาทันที เราวางแผนโดยที่ให้คนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เดินตามหลังคนที่พูดได้ ซึ่งมีแถวหลายแถว บางแถวก็ได้ผลบางแถวคนที่เราเตรียมไว้ถูกจับแยกไปอยู่คนละแถวเนื่องจากแถวยาวเกิน แต่สุดท้ายทุกคนก็ผ่านไปได้ด้วยดีเนื่องจากเอกสารที่เตรียมมาค่อนข้างละเอียด
เมื่อเปิดประตูออกนอกสนามบิน Jimmy มือกลองซึ่งเป็นเพื่อนพี่ทอด์ดและ Joe น้องเขยพี่ทอด์ด มารับที่สนามบินพร้อมรถตู้สองคัน แต่เมื่อเขาเห็นสัมภาระของเราทั้งกระเป๋าเสื้อผ้าและเครื่องดนตรีต่างๆ เขาถึงกับตาค้างกับมัน
ปลายทางของเราอยู่ที่เมือง Scranton รัฐเพนโซเวเนียบ้านเกิดพี่ทอด์ด เดินทางโดยรถตู้ใช้เวลากว่า สองชั่วโมงครึ่ง เมืองเล็กเป็นชนบทแบบอเมริกาทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เป็นเมืองที่ค่อนข้างสงบ สงบกว่าอำเภอปาย แม่ฮ่องสอนอีก
พี่ทอด์ดเคยเล่าให้ผมฟังว่า ที่เพนโซเวเนียก็มีภูเขา เขาจึงเป็นลูกภูเขาเหมือนกัน วันนี้ผมมาเห็นด้วยตาของตนเองภูเขาที่นี่ ออกจะเป็นสันเขามากกว่า แม้จะเป็นสันเขาก็เพียงพอที่ทำให้ผมคิดถึง “บือโส่โจะ”หรือดอยข้าวลีบแห่งมูเจะคีที่บ้านของผม เหมือนครั้งที่ผมมองดอยสุเทพแล้วผมิดถึงมัน “เอาเราออกจากภูเขาได้ แต่เอาภูเขาที่เราเกิดออกจากใจเราไม่ได้” จริงอย่างที่พี่ทอด์ดเคยบอก
ผมไม่แน่ใจว่าคนที่นี่รู้จักแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือเปล่า แต่ผู้คนที่นี่มีการทำสวนหน้าบ้าน มีการปลูกผัก ปลูกแครอท มะเขือเทศ ถั่ว เขาปลูกแล้วเขาก็กินจริงๆ มือที่ปลูกคือมือที่ดูแลรักษาคือมือที่เด็ดคือมือที่กิน ประเทศพัฒนาก็ยังมีวิถีแบบนี้อยู่ น่าให้เมืองในประเทศไทยหลายเมืองมาดูเป็นตัวอย่างได้เลย
เย็นวันที่4 ตุลาฯตามเวลาอเมริกา ได้มีโอกาสไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารของคนไทย ชื่อร้าน “ไทยรักไทย” ซึ่งเปิดมาเป็นเวลาเกือบหกปีแล้ว เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า อาหารไทยที่นี่มันต้องปรับสูตรเพื่อให้ฝรั่งทานได้ ไม่เผ็ดมากเกินไป เพิ่มหวานเข้าไปหน่อย แต่หน้าตายังคงเป็นต้นตำรับอยู่ แต่ประเด็นคำถามที่หนีไม่พ้นอันเนื่องมาจากชื่อร้านก็คือ
“คิดอย่างไรกับที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบครับ?” คนในกลุ่มคนหนึ่งถาม
“ผมไม่คิดอะไรครับ พรรคไหนเป็นรัฐบาล ใครเป็นนายก ผมก็ยังต้องผัดข้าว ผัดผัก ต้มแกงอยู่ แต่ขออย่างเดียวคือเป็นแล้วให้ประเทศชาติเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด เรื่องโกงกินมันมีอยู่ทุกคนทุกพรรคแหละ แต่โกงแล้วอย่าให้ประเทศชาติเสียหาย ไม่เอาละ ไม่พูดเรื่องการเมือง กินข้าวกันดีกว่า (หัวเราะ)”เจ้าของร้านพูดพร้อมเชิญชวนทานข้าว
ออกจากร้านอาหารกลับมาคุยกับ Tish เจ้าของบ้านทีเราพักซึ่งเป็นน้องสาวพี่ทอด์ด
“สแครตัน เป็นเมืองที่มีสี่ฤดู ฉันชอบที่นี่มาก น่าฝนฉันจะเห็นดอกไม้บานหลากสี หน้าหนาวหิมะตกหนักมากสูงเกือบเมตร เมื่อหิมะตกทุกอย่างดูขาวสะอาดมาก เมื่อแดดส่องลงมาแสงสะท้อนมันจ้ามากจนไม่สามารถมองมันด้วยตาเปล่าได้ สวยมาก
หน้าหิมะทุกปีโรงเรียนจะหยุดเป็นอาทิตย์เลย เด็กๆ(ลูกๆ)ชอบมากเราอยู่แต่ในบ้านทำอาหารกินด้วยกัน ร้องเพลงด้วยกัน เที่ยงออกไปปาหิมะหน้าบ้านเล่นกัน ฉันชอบมาก ส่วนใหญ่รถที่เป็นเกียร์ออโตเมติก ไม่สามารถขับได้เวลาหิมะหนาๆ แต่รถฉันขับได้เพราะเป็นเกียร์ธรรมดา ฉันใช้คลัชช่วย ต้องใช้เท้าเลียคลัชรถมันจะขยับไปได้ สุกมาก” Tish เล่าอย่างสนุกสนานได้อารมณ์ ทำให้ผมนึกถึงการที่ต้องใช้เท้าเลียคลัชเวลาขึ้นดอยสูงหรือบรรทุกของหนักจนรถเริ่มอ่อนกำลังที่บ้าน
“เวลาฤดูใบไม้ผลิ จะมีใบไม้หลายสี สีเหลือง สีแดง สีม่วง สีชมพู สีน้ำตาล โอ๊ย! สวย หน้าร้อน ร้อนมาก เราทำไอศกรีมกินกันทุกวัน ฉันชอบสแครตัน” Tish ได้ย้ำถึงความรู้สึกที่ผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอย่างจริงจัง
หน้าสนามบิน Newark
สวนหน้าบ้าน
มะเขือเทศในสวนหน้าบ้าน
หน้าร้านอาหาร “ไทยรักไทย” ใน Scranton