“พี่น้องครับ พี่ชายคนนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อ ณ ตรงนี้ครับ ขอมอบเวทีต่อให้พี่ครับ” ผมพูดจบผมกลับไปที่นั่งของผมเพื่อเป็นคนดูต่อ
แม่น้ำสายนี้ยังคงไหลไปตามกาลเวลา
ฯ....................................................
ฉันผ่านมา ผ่านมาทางนี้ ผ่านมาดูสายน้ำ...
..........ได้รู้ได้ยิน..............ฯ
บทเพลงแรกผ่านไปต่อด้วย
สาละวิน สายน้ำตา
เสียงปืนดังที่กิ่วดอย
ลูกชายไปสงคราม
เด็กน้อยผวาตื่น(ทุกคืนๆ)
“หนังสือของผม เป็นบทกวี” เขาหยิบหนังสือชื่อ เพลงในถ้ำ ซึ่งเป็นหนังสือที่เขาเป็นผู้ประพันธ์เองขึ้นมาอ่านบทกวีบทหนึ่ง
บนพรหมแดนตะวันตก
กะเรนนี, ฉันผ่านไปรื้อความเศร้าของเธอเมื่อเช้านี้
โปรดอย่าเรียกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นความยุติธรรม
และอย่าลูบหลังเธอด้วยคำแสดงความเสียใจ
ปลอบประโลมว่าเป็นเรื่องสูญเสียธรรมดาสามัญ
บนแผ่นดินช้างม้าวัวควายหมูไก่ไม่มีที่อยู่
อย่างน้อยหนึ่งคนในครอบครัวต้องล้มตายด้วยสงคราม
ลูกเห็นพ่อโดนมัดมือหายไปอย่างไม่มีวันกลับ
ลูกถามแม่ว่า “พ่อจะกลับมาอีกไหม?”
แม่ตอบว่า “สักวันหนึ่ง ลูกจะได้กลับแผ่นดินที่พ่ออยู่”
กระทั่งโตเป็นหนุ่มจึงรู้ความจริงว่าพ่อไปตายในสงคราม
ร่างของพ่อโดนโยนทิ้งเอาไว้กลางป่าสักที่หนึ่ง
ฉันผ่านไปรื้อความเศร้าของเธอ, กะเรนนี
เผ่าพันธุ์ที่โลกไม่เคยมีโอกาสสัมผัสชีวิตวิญญาณ
เขานิ่งเงียบสักพัก แล้วเขาวางหนังสือลงอย่างระมัดระวัง มือเขาเริ่มขยับดีดกีตาร์อีกครั้ง บทเพลงสุดท้ายในวันนั้น คือเรื่องราวของ “อู บี ตู รี” วีรบุรุษผู้นำของคนกะเรนนี ผู้เกิดร่วมยุคสมัยเดียวกับประธานโฮ จี มีนแห่งเวียดนาม ยุคเดียวกับ ซอ บา อู ยี วีรบุรุษผู้นำของคนปกาเกอะญอ
“อู บี ตู รี” ตายไปหลายปีแล้วแต่เขาก็ยังเป็นวีรบุรุษของชาวกะเรนนี เพราะเขาเป็นผู้นำในการเรียกร้องการปลดปล่อยรัฐกะเรนนีให้เป็นอิสระ
นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพหลายๆท่านมักได้รับกรงขังและความตายเป็นรางวัลตอบแทน หรือความตายจะเป็นอิสรภาพที่แท้จริง?
หนึ่งวันถัดมา หลังจากเสร็จงานผมได้มีโอกาสเปิดจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในคอมพิวเตอร์
“พูดถึงพี่น้องกะเหรี่ยงฝั่งโน้นมันไกลเกินไปไหม? พี่น้องกะเหรี่ยงฝั่งนี้เองสงครามวัฒนธรรมกำลังเกิดขึ้นแล้ว...” เพื่อนร่วมชนเผ่าคนหนึ่ง ส่งข้อความมาถึงผม
“ก้อต้องพูดกันทั้งหมดแหละคับ เราล้วนเป็นเพื่อนมนุษยชาติเดียวกัน No border! No race! No country!……. We are the world etc.” พี่ชายกบฏแห่งล้านนาอิสระแวะผ่านเข้ามาแสดงความเห็น
“ใช่!! สงครามวัฒนธรรมกำลังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ผลกระทบของมันรุนแรงถึงขนาดทำให้คนชนเผ่าเดียวกันรู้สึกต่อกันและมองเห็นกันเป็นคนอื่นคนไกลไปแล้ว” เพื่อนที่อยู่ในใจของผมขอมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นขณะอ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของผมในจอคอมพิวเตอร์
เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่แท้จริงของสงครามคือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดน สงครามอาวุธ สงครามทางเชื้อชาติและศาสนา สงครามการค้า สงครามการเงินหรือสงครามวัฒนธรรมก็ตาม เราต่างอยู่ท่ามกลางภาวะสงคราม ว่าแต่กำลังตกเป็นเหยื่อของสงครามอะไรอยู่?? หรือต้องการให้ประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่หัวใจหรือไม่??