คุณไปยืนอยู่ใต้ต้นพลัมตอนย่ำค่ำ มันขึ้นปะปนอยู่กับป่าผลไม้อื่นๆ อย่างพลับ ท้อ บ้วย สาลี่ อโวคาโด ขนุน กล้วย นับรวมหลายสิบชนิด เพียงต่อพลัมกำลังให้ลูกสุกเต็มต้น เช้าวันต่อมา คุณกลายร่างเป็นนกป่าเข้าสวนตั้งแต่เช้า ดวงอาทิตย์สว่างมาจากแนวป่าสนลอดผ่านพุ่มใบไม้เป็นลำแสงสีเงินสีทอง งามสงบจนคุณไม่อยากจะเดินย่างไปไหน
แต่นกหิวลืมตัว ปลิดเข้าปากกินสดๆ อย่างไม่รู้จักอิ่ม
“ลูกนี้สุกแล้ว ลองดูๆพันธุ์ลูกแดง พันธุ์ลูกเหลืองก็มี เดินไปดูต้นโน้น” เจ้าของสวนชวนชิม “กินเลยๆ ปล่อยให้มันร่วงไปอย่างนั้น นกมานกก็กินกัน”
“กี่ปีกว่าจะถึงวันนี้”
เขาเงียบนิ่งคิด
“สิบห้าสิบหกปีมาแล้ว แต่มันเพิ่งให้ลูกมากเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา”..
“ทำไมไม่เอาไปขายในเมือง” นกหิวกินแล้วยังออกความเห็น
“ไม่มีราคา ใส่รถกระบะไปขายก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ปล่อยให้เด็กกินดีกว่า เรียกให้มาเก็บเอาไป นอกนั้นปล่อยให้นกกินบ้าง แมงกินบ้าง หล่นไปบ้าง ทำน้ำหมักบ้าง” น้ำเสียงเขาไม่รู้สึกเสียดาย
เขารู้ราคาในตลาดดี ว่าพลัมเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนบางคนเท่านั้น เป็นผลไม้ที่คนทั่วไปซื้อรับประทาน วางเรียงเคียงกับลองกองลางสาด เงาะ มะม่วง ทุเรียน รับรองว่าพลัมจะถูกสนใจเลือกเป็นลำดับสุดท้าย
“พลัมของพี่ปลอดสารเคมี ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยาทุกชนิด” ราวกับความคิดนกบุกสวนจะใหม่เอี่ยมถอดด้าม
อันที่จริงเขาไม่สนใจเรื่องการขายเลยก็ไม่ใช่ เขาลงแรงขุดหลุมปลูกไม้ผลด้วยตัวเองบนพื้นที่ราวสี่ห้าไร่ล้อมรอบบ้าน นับเป็นร้อยๆหลุม ด้วยความหวังว่าไม้ผลร้อยๆต้นจะให้ผลผลิตกลับมาเป็นกอบกำสักวันหนึ่ง
เส้นทางการปลูกของเขาก็ไม่ธรรมดา ใครๆก็รู้ว่าดินบริเวณนี้มีความเป็นกรดเป็นด่างสูงมาก ดินเปรี้ยวเป็นดินเหนียว ปลูกพืชชนิดไหนก็ไม่ขึ้น เขาเอาชนะดินได้อย่างไร ช่างเป็นการงานที่เสี่ยงจะได้รับผลตอบเป็นความสูญเปล่า
แต่เขาคงมีความเชื่อมั่นบางชนิด ผลักดันให้เกิดความเชื่อว่ามันจะเกิดผลสักวันหนึ่ง เขาขุดบ่อน้ำริมลำห้วยแล้วดึงน้ำขึ้นมาใช้ ขุดหลุมกว้างเพื่อใส่ขี้วัว ใบไม้ แกลบ ปูนขาว และไม่แตะปุ๋ยเคมียาเคมีทุกชนิด เพราะเขาเชื่อว่าสารพวกนี้จะทำลายสิ่งมีชีวิตในสวน
“ลองขุดไปดู เห็นมั้ย ขี้วัวแกลบทั้งนั้น” เขาเอาจอบขุดลงตรงโคนต้นพลัมต้นหนึ่ง พร้อมกับบอกว่า ที่มันโตอย่างนี้ได้เพราะเราเตรียมอาหารให้มันเพียงพอ ไม่ดูแลอย่างนี้ ไม่ทำติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง มันก็คงไม่ออกดอกผลอย่างที่เห็น
คุณผ่านไปเห็นไม้ผลขึ้นแกร็นๆอยู่หลายครั้งหลายปี มันงอกขึ้นอย่างเชื่องช้า อืดอาดยืดยาดไม่ทันใจ ไปกี่ครั้งๆก็เห็นไม้งอกแคระแกร็นอยู่อย่างนั้น ยากจะหวังผลเก็บกินในเร็ววัน ใครผ่านไปมาก็ให้คะแนนลบทุกครั้ง
แต่เขากลับไม่หวั่นไหว ค้นหากุญแจดอกสำคัญที่จะสร้างสวนให้งอกงามขึ้นมาให้ได้ นอกเหนือจากใส่ขี้วัวขี้ค้างคาวที่หามาได้ในหมู่บ้าน เขายังไปรู้จักน้ำหมักชีวภาพ เอาผลไม้ที่เหลือกิน ฟักแฟงแตงกวามะละกอเปื่อยเน่านำมาหมักปุ๋ยชีวภาพ
ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ ไม้ผลรอบบ้านเขาจะท่วมมิดหลังคา บ้านหายไปในดงพุ่มไม้ผล กลายเป็นที่เก็บอาหารมีชีวิต หมุนเวียนเปลี่ยนผลไม้ให้กินได้ทั้งปี ไม่เว้นแม้แต่พืชผัก พริก ข่าตะไคร้ เครื่องยาสมุนไพรอีกหลายชนิดมีให้เก็บกิน
ใครผ่านไปมาต้องมองชะเง้อดูด้วยความประหลาดใจ คาดไม่ถึงว่าดินเปรี้ยวจะให้ผลมากมายถึงเพียงนั้น
แน่นอนว่า ในปีแรกๆ ที่ได้รับผล เขาเคยเอาลงไปขายยังกลางเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่กลับเป็นไม้ผลเกินเลยของคนทั่วไป ทั้งขายยากขายไม่ได้ราคา ไม่มีที่วางขาย หรือบางครั้งเน่าเสียต้องทิ้งไป
ระยะทางป่าภูเขาจากสวนถึงเมืองเชียงใหม่เกือบ 200 กิโลเมตร จากความสูงของป่าสนกว่า 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สู่เมืองที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำปิง ดูเป็นเรื่องยากสำหรับไม้ผลที่ออกลูกดกเหลือกินเหลือใช้ แต่มองไม่เห็นที่วางให้อยู่ใกล้มือผู้ต้องการบริโภค
“เก็บลูกหล่นดิน เอาไปทำน้ำหมัก ทิ้งให้เปื่อยไปบ้าง นกค้างคาวมากิน เด็กๆมากินบ้าง”
“ปล่อยเป็นโต๊ะเป็นเลี้ยงนกดีๆนี่เอง” พูดจบนกจรก็สวมวิญญาณนกป่าเก็บผลพลัมลูกเหลือง เลือกเอาลูกอวบอิ่มใส่ปากอีกที
ใครมีโอกาสแวะไปบ้านวัดจันทร์ (มูเส่คี ปากทางเข้าก่อนถึงอำเภอปายราว 10 กิโลเมตร ไปต่ออีกราว 1 ชั่วโมง) ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฏาคม ลองหยุดแวะสวนพลัม สวนที่ไม่ได้มีเพียงพลัม ถามหาเจ้าของสวนที่ชื่อทองดี แวะอุดหนุนซื้อติดมือมาบ้าง คงจะได้ส่วนที่แถมมากกว่าส่วนที่ซื้อกลับบ้านอย่างแน่นอน