โลกของเขาช่างแตกต่างจากคนอื่น ยากจะถามหาเหตุผลด้วยซ้ำว่า ผลน้ำเต้าแก่แกะเม็ดในออกไป เอามารวมกับลำไม้ไผ่เล็กๆ เปิดรูตามปล้อง กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ฟูหลู” หรือแคนน้ำเต้าได้อย่างไร และสิ่งนั้นนำพาเรื่องใดมาสู่ตัวเขาบ้าง
เขากำลังเต้นรำอยู่กับสิ่งที่มองไม่เห็น
เย็นย่ำใกล้ค่ำเต็มที แต่มวลเมฆฝนกำลังไหลผ่านหินภูผา หรือจะบอกว่าภูผาปะทะเมฆเข้าอย่างจัง ลีลาภูผาปะทะเมฆอ่อนช้อยนุ่มนวล เคลื่อนไหลเพียงพริบตาเดียวเท่านั้น นาทีต่อไปอาจมีฝนได้ ครึ้มหม่นมัวซัวไปทุกทิศทุกทาง
“มาช้าไปนิดเดียว แดดเพิ่งจากไปเมื่อกี้” เจ้าของระเบียงที่พักพูดทักทาย “พักค้างคืนมั้ย ตอนเช้าๆจะเห็นหมอกปกคลุมเต็มทั้งหุบเหว”
ชีวิตที่อยู่ใกล้ธรรมชาติหรือเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ การเฝ้าสังเกตและนำมาอธิบายจึงเต็มไปด้วยคำเชิญชวนอันมีเสน่ห์น่าหลงใหล
ทุกคนจึงลงความเห็นว่า กำลังยืนอยู่บนดินแดนของความงาม
ไม่ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะได้รับการตราหน้าจากใครกลุ่มไหนก็ตาม ว่าเคยมีพฤติกรรมปลูกฝิ่น ทำไร่ฝิ่น ขนยาฝิ่น ตัดต้นไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง ขนาดต้องขอร้องไหว้วอนให้เหลือพื้นที่ป่าไว้
แต่สิ่งที่สัมผัสได้ผ่านแววตาของเขา ก็ยังฉายความซื่อใส เต็มด้วยมิตรไมตรี คนเหล่านี้ไม่มีญาติอยู่ในเมืองใหญ่ หรือต่างจังหวัดใดๆ สายเลือดพวกเขาหมุนวนอยู่ตามป่าเขา เดินทางหากันตามหุบห้วย ถามหากันจากซอกภูเขาที่ซ้อนยอดต่อยอด
ดูไปแล้วพวกเขาก็ไม่ต่างจากต้นไม้ในป่าต้นหนึ่ง สัตว์ป่าตัวหนึ่ง แมลงปอตัวหนึ่ง ผีเสื้อตัวหนึ่ง หรือฝูงแมงฝูงมดที่จับกลุ่มอยู่รวมกัน ยิ่งมองยิ่งพบกับความแตกต่าง พวกเขาเป็นคนของแผ่นดินภูเขาจริงๆ
“หน้าผาสูงชันอย่างนั้น ต้นไม้ก็ยังพยายามจะเสียดยอดงอกงามขึ้น แทรกตัวขึ้นมาอย่างยากลำบาก พบกับลมพัดแรง ดินถล่ม ไฟไหม้ป่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกมันก็โตกันมาได้” เสียงพูดเชื่อมโยงชีวิตในธรรมชาติจากคนร่วมเดินทาง
พวกเขาก็ไม่ต่างกัน ยังพยายามจะมีชีวิตอยู่
เขาเป็นเผ่าลีซู โดยดวงตาและท่าทาง เขาไม่น่าจะถูกนับเป็นผู้สูงอายุ แต่ก็นับเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้านได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
หมู่บ้านของเขาตั้งอยู่บนไหล่เขาอีกฟากของยอดดอยหลวงเชียงดาว หน้าผาชันที่ซ่อนทางเดินขึ้นไปยังยอดหน้าผาไว้อย่างเงียบงัน
ระหว่างทางถนนที่มุ่งไปสู่ชายแดน บนเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจากเมืองอื่น ต่างใฝ่ฝันถึงเส้นทางป่า ความเงียบเปลี่ยวของพื้นที่ และหุบเหวของความแปลกหน้าที่เก็บซ่อนมรดกดั้งเดิมเอาไว้ด้วย
เขตแดนโลกสมัยใหม่พยายามรุกล้ำเข้ามา พร้อมกับจับยัดภาพปรากฏในนามผู้บุกป่าปลูกพืชผักเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีเข้มข้น ยานพาหนะรถกระบะขับเข้าป่าดงดอยด้วยใบสั่งซื้อ อีกทั้งข้องแวะกับไร่ฝิ่นยาเสพติด สายตาจากโลกข้างนอก มองพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนเป็นอื่นเลยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา
แต่บ่อยครั้งเหลือเกิน เสียงดนตรี เสียงเพลงในมือเขาสะกดใจคนให้ลุ่มหลง ราวกับโดนมนต์สะกด
“ฟูหลู” เขาตอบทันทีที่มีคำถามว่ามันมีชื่อเรียกอย่างไร
แรกเริ่มมันดังอยู่ในบ้านหลังที่ตั้งอยู่บนไหล่เขาลาดต่ำลงไป เป็นเสียงอื่นไปไม่ได้ เสียงดังออกหลอนๆในเย็นย่ำแสงหลบห่างออกไปทุกที ราวกับภูติออกมาเต้นรำอยู่ในมุมมืดๆ คนที่คุ้นเคยกับเสียงเพลงเสียงดนตรี คิดเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นเสียงดนตรีของพวกเขา
เขาเดินตรงมายังระเบียงชมวิว ในมือมีฟูหลูติดมือมาด้วย
ท่วงทำนองเพลงเผ่าลีซู ลายเพลงที่พบเห็นได้ในถิ่นเช่นนี้ หลบๆซุกๆอยู่ตามบ้าน นานๆจะออกมาส่งเสียงสักครั้งหนึ่ง ในงานพิธีกรรมขึ้นในหมู่บ้านเท่านั้น นอกเหนือเสียงของความรื่นเริงรวมหมู่ ก็เป็นเสียงเพลงของการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ
“สอนลูกๆหลานๆด้วยมั้ย” คำถามมุ่งอยากรู้หาผู้สืบทอดเสียงนั้น
“เด็กๆไม่มีใครเป่าแล้ว”…
จังหวะของมันดังมาจากอก กระเพื่อมมาจากหัวใจ
บางเสียงบีบเค้นให้แหบโหย ขณะบางเสียงบีบบี้จนเสียงแตกอย่างกับเสียงสะอื้นร่ำไห้ แต่ละเสียงดังลอดรูไม้ไผ่ กังวานไพเราะจับใจเหลือเกิน
ใครคนหนึ่งพูดว่า “นึกถึงกลิ่นควันไฟกับเหล้าเข้มๆ”
เขาบอกว่ามีไผ่ชนิดเดียวเท่านั้น นำมาทำฟูหลู มีอยู่ไม่มากในป่า ขึ้นบริเวณที่ชื้นริมลำห้วย ต้องออกเดินเข้าไปในป่าไกลๆ ตัดแล้วตั้งวางตากแดดไว้ราวครึ่งเดือน จึงจะเอามาทำฟูหลูได้ ท่าเต้นรำกับเสียงแคนราวกับอุปรากรที่ร่ายรำอยู่ในความมืดสลัว ในแดนดงลับแลอันห่างไกล
************************
ตีพิมพ์ครั้งแรก เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจรายวัน(เสาร์) ฉบับที่ 541 3 ตุลาคม 2552 คอลัมน์ คนคือการเดินทาง ในชื่อเรื่อง “ฟูหลู” หลังภูเขาใหญ่มีฉากเต้นรำ