ผมกลับมาเดินทางสู่ “คู่มือมนุษย์” ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ด้วยความรู้สึกอย่างท่องเดินทางไปในธรรม ในช่วงเวลาวิกฤติชีวิตไล่ตามสั่นคลอน เกิดภาวะความไม่ปกติ จนดูราวกับว่า อากาศรอบตัวมืดดำลงฉับพลันอีกครั้งหนึ่ง
ในนาทีเช่นนี้เองที่ธรรมะกลายเป็นบทเพลง คอยประคองไม่ให้เดินซวนเซเป๋จนไม่อาจทรงตัวยืนอยู่ได้ หนังสืออีก 2 เล่มที่ผมใช้ท่องไปในห้วงเวลาเช่นนี้คือ ตัวกู ของกู ของท่านพุทธทาสภิกขุเช่นกัน กับปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของ พระติช นัท ฮันห์
เวลาชีวิตเสียหลัก ผมคิดถึงหนังสือธรรมะที่ผมผูกพัน และยึดมาเป็นหลักดำเนินชีวิต จะไม่พึ่งพาผีสางนางไม้เทวดาทวยเทพองค์ใดก็ตาม ที่จะแนะนำพิธีกรรมอันส่อไปถึงการสื่อสารให้หลุดพ้น หรือถือดีไปสู่จุดหมายใดก็ตาม
ผมจะกลับมาหาหลักธรรมในธรรมชาติ ธรรมดาๆแต่ไม่ธรรมดา
“การก้าวเท้าออกไปแต่ละก้าวนั้นเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง และจิตของเราจะเบิกบานเหมือนดอกไม้ นำเราก้าวเข้าสู่โลกของความเป็นจริง ครูชอบเดินไปคนเดียว ตามทางเท้าในชนบท มีต้นข้าวต้นหญ้าเขียวขจีสองข้างทาง ค่อยๆวางเท้าลงไปทีละก้าวๆอย่างมีสติ รู้ตัวว่ากำลังก้าวไปบนแดนมหัศจรรย์...” (เดินบนพื้นโลกเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ ในหนังสือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ)
คลื่นชีวิตภายในที่กระเพื่อมสะท้อนกับทุกอย่างที่ไล่เข้ามาหานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ดำเนินมาชั่วชีวิต ตั้งแต่เกิด แม่สอนให้พูดคำว่า สวัสดี สอนให้พนมมือ แล้วบอกว่าไหว้พระ ชวนไปกราบพระพุทธรูป กราบตักพระสงฆ์ เดินตามหลังแม่ชี กระทั่งไหว้ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า กลายเป็นคลื่นจิตพื้นแรเงาอยู่ภายใน
โตอยู่ภายใน จึงไม่ต้องพูดถึงข้อสงสัยการมีอยู่จริงแท้หรือไม่เพียงใด
การเข้าไปใกล้บทธรรมขั้นลึกซึ้ง ทำความเข้าใจความละเอียดลออ อ่อนโยนมากกว่าปกติ เมื่อชีวิตตกอยู่ในห้วงทุกข์ วังวนของความร้าวราน ทรมานทางกายและจิตวิญญาณ จะด้วยเหตุใดก็ตาม นิสัยจริตสนใจเรื่องใดก็ตามเรื่องนั้นไป อยากอ่านหน้าไหนก็เปิดหน้านั้น
เก็บเล็กผสมน้อย เหมือนป้อนการเติบโตของต้นไม้ภายใน อย่างไม่รีบร้อน ด่วนให้ถึงเป้าหมายที่เรียกว่าหลุดพ้นใดๆ หรือต้องขวนขวายผ่านคำอธิบายบาปบุญ บางคราวพลั้งเผลอด้วยเงื่อนไขชีวิตใดก็ตาม ก็ให้รู้ว่าพลั้งเผลอ ไม่ซ้ำเติม ไม่แบ่งแยกหยิบมาตำหนิ หรือกระหน่ำทำให้ทุกข์จิตจมร้อนเผาไหม้ยิ่งขึ้น
รับผิดชอบและรับในสิ่งที่ทำลงไปอย่างที่สุด จะไม่ปฏิเสธความผิดพลาด จะไม่เบิกบานเกินล้นเมื่อพบความหลงดีใจ ดำเนินชีวิตไปตามปกติ พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว เช้าวันนี้กำลังผ่านไป เย็นย่ำกำลังมาและจะผ่านไป
ไม่เคยไม่มีเวลาให้สำหรับการเริ่มต้นใหม่ ที่ไม่สอดคล้องกับคลื่นจิตวิญญาณ และพยายามปล่อยความผิดพลาดที่ยึดจับใจทุรนให้คลายผ่านไป
ความคิดเช่นนี้ มาจากการเก็บเล็กผสมน้อย ที่สอดกับจริตตัวเองมากที่สุด ไม่ได้เกิดจากการหักโหมเพื่อจะรู้บทธรรมชั่วข้ามคืน นำมาเป็นแนวทางชีวิต ทุกอย่างเป็นไปเท่าที่เป็นไปได้ และขบคิดทบทวนนำมารดต้นไม้ภายในให้เติบโตยิ่งขึ้น
“อย่าให้ธรรมะนั้นเกิดมีการผูกขาด หรือเกิดความมีสิทธิเป็นเจ้าของขึ้นแก่บุคคลใด หรือแก่ส่วนไหนของโลกขึ้นมาเป็นอันขาด จึงจะสามารถใช้เป็นเครื่องกำจัด “ตัวกู – ของกู” อันเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่มีอยู่เพียงตัวเดียวของโลกได้” (ตัวกู ของกู ท่านพุทธทาสภิกขุ)
เป็นความสว่างวาบจับใจ ปล่อยให้เชื่อมโยงกับปัจจัยในชีวิต อันนำไปสู่หนทางความเข้าใจมากขึ้นทั้งนั้น “การเกิดขึ้นแห่ง “ตัวกู ของกู” นั้น คือ จิตที่ตั้งใว้ผิด... ย่อมนำมาซึ่งอันตราย หรือเป็นการทำอันตรายแก่ผู้นั้น ยิ่งกว่าอันตรายที่ศัตรูหรือโจรใจอำมหิตจะพึงกระทำให้...”
ไม่ว่าเปิดหน้าไหนในบทธรรม เหมือนได้รดน้ำต้นไม้ภายใน มันงอกงามสว่างขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา รับรับแต่ใจจิตวิญญาณตนเองเท่านั้น
การล้างถ้วยล้างจานก็เป็นหนทางนำความสว่างมาให้ นั่นก็เป็นการเก็บมาจากวิถีปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันห์ ที่สอนให้แก่เหล่าลูกศิษย์ได้ประจักษ์ ถึงความหมายการอยู่กับปัจจุบันขณะ
“ขณะล้างจานเราก็ควรล้างจานอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่าขณะล้างจานเราต้องรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังล้างจาน ถ้าดูเผินๆอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ออกจะดูโง่เขลา ที่ไปให้ความสำคัญมากมายกับสิ่งธรรมดาๆ แต่นั่นกลับตรงจุดเผงเลยทีเดียว..” (ล้างจานเพื่อล้างจาน ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ พระติช นัท ฮันห์)
วันที่เดินทางกลับไปสู่บทธรรม อันเป็นเสมือนเพลงกล่อมต้นไม้ภายใน ให้เติบโตขึ้นมาเป็นร่างกาย จิตใจ และวิญญาณอย่างปกตินั้น ดูเหมือนยากเข้าใจ แต่ก็ง่ายจะเข้าใจ ดูเหมือนง่ายแสนง่าย แต่ไม่ง่ายเลย ประตูบานนี้ มีไว้ให้ดวงจิตดวงใจที่ซวนเซเป๋มาเป็นลำดับแรก ออกไปรับแสงแรกอีกครั้งหนึ่ง ดวงจิตดวงใจที่แข็งแรงอาจไม่อยากเปิดประตูไปหยั่งดู หรือประตูภายในบานนั้น ได้รับการปัดกวาดเช็ดถูอยู่สม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องรับมอบวันหนึ่งวันใดให้เป็นวันสำคัญพิเศษ