Skip to main content

ไม่มีสถานที่ไหน ผูกมัดใจผมไว้แน่นเท่าที่แห่งนี้ เป็นแววตาของพ่อที่มองลูกด้วยความเอ็นดู ดินแดนที่เราเหล่าเด็กๆไม่ได้ไปบ่อย หนึ่งปีผ่านไปเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น เวลาอื่นราวกับมันเป็นสถานที่ต้องห้าม และน่าเกรงกลัว


ความจริงในโลกของเด็กชาย ต้องเดินไปเรียนหนังสือตามทางรถไฟ ไปกลับวันละ 10 กิโลเมตร เพียงมองข้ามผ่านทุ่งนาไปทางทิศตะวันตก ห่างราวครึ่งกิโลเมตร ก็เห็นแนวป่าทึบเป็นกำแพงหนา ล้อมไม้ใหญ่ต้นสูงเสียดฟ้าต้นหนึ่ง มีธงเหลืองปลิวอยู่เหนือยอดไม้ มองไม่เห็นโรงธรรม กุฎิ หรือต้นลั่นทมเก่าแก่ล้อมโรงธรรม


เดินผ่านทุกครั้ง ในใจผมผุดพรายถึงฉากนั้น เปลือกลำต้นกิ่งก้านลั่นทมที่ดูเหมือนแขนขาคนแก่ บิดงอเป็นโหนกนูนตุ่มตายื่นขึ้นมาจากดิน จะต่างออกไปก็ตรงที่มันเป็นลำแขนเหี่ยวแข็งเป็นหินที่ให้ช่อดอกขาว กลิ่นหอมโชยทั่วอาณาบริเวณโรงธรรม มากกว่านั้นก็คือ คูน้ำที่ไหลเป็นกำแพงเกือบล้อมรอบอาณาบริเวณ อย่างกับคูเมืองยังไงยังงั้น


ในโรงธรรมมีตาหลวงกับยายทอง ผู้ใหญ่เล่าให้เด็กฝังใจจำ ว่าเป็นพระผุดขึ้นมาจากดิน พร้อมยายทอง คนทุกรุ่นในหมู่บ้านบอกว่า ตั้งแต่เกิดก็เห็นมีอยู่แล้ว


หนึ่งปีคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีโอกาสเข้าไปเพียงหนึ่งครั้ง เพราะวัดทุ่งขุนหลวงอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านออกไปราว 5 กิโลเมตร เป็นวัดที่ดูเหมือนเกาะตั้งอยู่บนทุ่งราบ เป็นไข่แดงที่ห้อมล้อมไว้ด้วยทุ่งนากว้าง ต้องเดินเท้าไปเท่านั้น เดินข้ามทุ่งนา ข้ามคลองที่ไหลไปลงทะเลสาปสงขลา แล้วข้ามป่าเสม็ด ข้ามทุ่งนาอีกครั้ง ทางเดินก็เป็นทางเปลี่ยว ไม่ค่อยมีคนเดิน


ต้องเป็นวันสำคัญเท่านั้น ทุกคนถึงจะไปรวมกัน


25_06_1


ตาหลวงเป็นพระปูนปั้นองค์ใหญ่มาก สายตาเด็กมองใบหน้าตาหลวงราวกับยืนมองยอดไม้ สูงเหลือเกิน ใครย่างเข้าไปถึงโรงธรรมต้องก้มต่ำ หรือไม่ก็หมอบคลานเข้าไปให้ใกล้ที่สุด เพื่อจะไหว้ขอพรให้ปกป้องดูแล และดลบันดาล


ทุกคนในหมู่บ้านเป็นลูกหลานตาหลวงยายทอง ความทุกข์ใดๆของลูกหลาน ถูกปัดเป่าออกไปอย่างน่าอัศจรรย์


คนรุ่นพ่อบอกว่า ตอนพ่อเล็กๆ มีช้างหลงทางเข้ามาใช้งวงรัดคอยายทอง คอหักหล่นดิน ยายทองที่เด็กชายเห็นจึงอยู่ในสภาพแยกหัวออกจากคอ ปิดทองห่มผ้าวางไว้ใกล้ๆ


ตาหลวงกับยายทองที่หัวออกจากตัว เป็นภาพติดตัวทุกคนในหมู่บ้าน


หนึ่งปี หนึ่งครั้งที่เด็กๆในหมู่บ้านต่างตื่นเต้น ก็คือได้ไปร่วมวันว่าง(สงกรานต์)ที่วัดทุ่งขุนหลวง คนจากทุกทิศทุกทางต่างมุ่งหน้ามา คนล้นโรงธรรม ออกเต็มอยู่บนศาลาไม้เก่าๆมุงหลังด้วยกระเบื้องเก่าๆ บ้างก็นั่งอยู่ใต้ร่มไม้


ต่างมุ่งหน้ามาเพื่อจะอาบน้ำตาหลวงยาทอง ทุกอย่างจะจบลงด้วยการขนน้ำจากบ่อทราย ขนไปอาบตาหลวงยายทอง ด้วยราดน้ำลงไปบนส่วนของตาหลวงยายทอง รดราดจากเหนือหัวลงมา และคอยรับน้ำจากปลายคาง ปลายหูตาหลวง น้ำที่ได้ไปนั้นเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรคได้ เด็กไม่สบายก็นำมาตบหัว เหมือนนำมนต์หล่อเลี้ยงจิตใจคนในหมู่บ้าน


ระหว่างทางขนน้ำมาอาบตาหลวงยายทอง ก็สนุกกับการสาดน้ำใส่กันจนเปียกกันไปตามกัน ลองนึกถึงภาพคนจำนวนมาก เดินไปยังบ่อทรายบ่อเดียว คนตักก็ตักไป ผลัดเปลี่ยนกันตักน้ำ ใช้ขันน้ำรับทีละขัน เดินเป็นคลื่นคนเข้าไปในโรงธรรม


ล้อมตาหลวงยายทองอย่างกับมด กลิ่นน้ำที่ราดท่วมนองโรงธรรมมีกลิ่นของเสื้อผ้านักบวช ผมมักยืนสูดเอากลิ่นอากาศนานๆ


วันนี้ หนทางไปวัดทุ่งขุนหลวงทอดขนานทางรถไฟ ไม่ต้องเดินเป็นชั่วโมงอีกแล้ว กลับบ้าน ผมแวะไปกราบไหว้รำลึกถึงห้วงเวลาวัยเยาว์ ที่ยังวิ่งเล่นอยู่เงียบๆภายใน คุณค่าความหมายที่อยู่เหนือกาลเวลา


ทุ่งขุนหลวง ผมจึงนำมาเป็นนามสกุลของนามปากกา เขียนหนังสือ ด้วยอยากจะบอกถึงสถานที่ซึ่งกลายเป็นเงาตามตัว เงาวัดเก่าแก่ เงาตาหลวงยายทองที่ฝังเงียบอยู่ในใจเสมอมา

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ