Skip to main content

 



นำร่องโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มเมืองมุมปาก : เพื่อการศึกษาเมือง ผังเมืองและการเมืองท้องถิ่น

การเมืองในท้องถิ่นควรจะปักหลักอย่างงดงามมาตั้งแต่ปฏิวัติสยาม 2475 พร้อมกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล 2476 เนื่องจากเป็นหน่วยการปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชน 
จนเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยใกล้ตัวที่สุด แต่เมื่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนในเทศบาล ผูกอยู่กับเงื่อนไขของโครงสร้างประชาธิปไตยระดับประเทศด้วย
 
จึงไม่แปลกอะไรที่เทศบาลจึงเติบโตมาอย่างแคระแกร็น ไม่แพ้กับ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศ จนเมื่อทศวรรษ 2540 นี้เองที่มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การผลิดอกออกผลของหน่วยปกครองท้องถิ่นที่เรียนรู้ผิดถูกกันไปในนาม อบต. เทศบาลตำบล ค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบการดูแลตัวเองในท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสเรียกร้องการยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำลังเสียงดังขึ้น การโยนหินถามทางด้วยสูตรกระจายอำนาจไปสู่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก็เป็นอีกโมเดลที่ยังต้องการการถกเถียงอย่างแหลมคม แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยแห่งการปกครองท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง พร้อมไปกับความขัดแย้งเฉพาะหน้ากับการปกครองส่วนกลางแบบ กรุงเทพนิยม

1-2 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับอบจ., เทศบาล หรือกระทั่งอบต. แสดงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่นักการเมือง วิธีการต่อรองของประชาชน การสร้างและเปลี่ยนแปลงพื้นที่เมืองด้วยอำนาจการเมืองท้องถิ่น การสร้างสรรค์กิจการต่างๆในนามท้องถิ่น ฯลฯ ขยายตัวอันเป็นเรื่องชวนคิด ชวนถกเถียงอย่างยิ่ง ขณะที่ปราการด่านสำคัญก็คือ วิธีคิดแบบชนชั้นกลางที่คิดว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักเลือกตั้งคือ ผู้ที่โกงกินและชั่วช้า เป็นอมนุษย์ 
 
ในอีกด้าน เราพบว่า ภายใต้อำนาจของท้องถิ่นเหล่านี้ ได้โยงใยอยู่กับ "พื้นที่เมือง" อีกด้วย แต่พื้นที่เมืองเหล่านี้เองจะถูกแยกออกจากการทำความเข้าใจอยู่เสมอ อาจเป็นเพราะว่าไม่ถูกให้ความสำคัญ หรือเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ จึงอาจกล่าวได้ว่า ภูมิศาสตร์การเมืองระดับท้องถิ่น ไม่เป็นที่เข้าใจกันนัก
 
ทุกวันนี้พื้นที่เมืองและชนบททั้งในระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาคกำลังเปลี่ยนแปรอย่างมากมาย โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กท์ รถไฟความเร็วสูง ที่จะสร้างการเชื่อมต่อแบบใหม่ รวมไปถึงการเชื่อมเมืองชายแดนที่จะทวีความสำคัญมากขึ้น จะทำให้เราละเลยพื้นที่ต่างๆเหล่านี้ไม่ได้ ในอีกด้านหนึ่งเราพบว่าการวางผังเมืองในประเทศที่ยังอยู่ในระดับประถม และกระจุกตัวอยู่กับกรมกอง มากกว่าจะกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น กฎหมายผังเมืองในระดับ "ผังเมืองเฉพาะ" ที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ. ยังไม่เคยถือกำเนิดในประเทศนี้ แต่อย่ากระไรเลย "ผังเมืองรวม" หรือผังสีที่เราเห็นกันในชั้นกฎกระทรวงก็พบว่าหมดอายุไปแทบทั้งประเทศ ก็ยังไม่มีการต่ออายุ ยังไม่ต้องนับว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองๆหนึ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถิติต่างๆ ประวัติศาสตร์ยังอยู่ในระดับที่ตื้นเขินอย่างยิ่ง
 
ในนามของผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองและการเมืองท้องถิ่น จึงเห็นพ้องกันว่า เราควรจะมีพื้นที่สำหรับบันทึกและแลกเปลี่ยนสิ่งที่แต่ละคนไปเจอมาเพื่อคำอธิบายสู่ความเข้าใจเรื่องดังกล่าว และขอเสนอตัวและเสนอบทความในนามของ "เมืองมุมปาก" เพื่อยืนหยัด นั่งหยัดและนอนหยัดตามภารกิจดังกล่าว

แล้วพบกับบทความรายสะดวกของพวกเราได้ครับ
กลุ่ม "เมืองมุมปาก" ขอเปิดตัวนับจากนี้ไป

ตามความเคลื่อนไหวผ่าน เพจ FB ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/CityAtMouth

บล็อกของ เมืองมุมปาก

เมืองมุมปาก
ปฏิพล   ยอดสุรางค์เมืองมุมปาก