Skip to main content

 

ปฏิพล   ยอดสุรางค์
เมืองมุมปาก
 
การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของย่านเก่า-เมืองเก่าที่ยังมีชีวิตนั้นคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ไม่ได้อิงอยู่กับความเป็น Monumentเลย แต่กลับอิงแอบแนบซ่อนอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็นเมือง เป็นย่าน นับตั้งแต่คนและผู้คน กิจกรรมของผู้คน การดำรงชีพ อาคารบ้านเรือน ตลาด วัดวาอาราม อาคารสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ ลานบ้าน ลานเมือง ต้นไม้และพืชพรรณ แม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งก่อสร้างอื่นๆของเมือง เช่น ถนน สะพาน อนุสาวรีย์ รวมทั้งโครงสร้างระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ฯลฯ ประกอบกันดังนั้นการบริหารจัดการและควมคุมจึงต้องการ “มาตรการ” หรือ “ระบบ” ที่ต่างออกไป
 
เมื่อมีชั้นของ “ของเก่า” แทรกอยู่ในเนื้อของเมือง ซึ่งของเก่าเหล่านั้นมีคุณค่า-มูลค่าเมื่อมาประกอบกันทั้งยังสามารถเพิ่มค่าให้กับ “ของใหม่” ที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการ “การจัดการ” เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นสามารถเก็บไว้กินไว้ใช้ได้ต่อไป

เมื่อเรื่องของเมืองเก่า-ย่านเก่าไม่ได้เป็นเรื่องของMonumentและการอนุรักษ์แบบรวมศูนย์อีกต่อไป ในขณะเดียวกันท้องถิ่นก็สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อทำการคุ้มครองคุณค่าเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม(กับพื้นที่)และรวดเร็ว(กว่าส่วนกลาง) รวมทั้งในอนาคตที่มีแนวโน้มที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจการจัดการมรดกวัฒนธรรมลงสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าโลกของงานอนุรักษ์ “บ้านๆและเมืองๆ” คงจะกลับมาหมุนด้วยพลังขับเคลื่อนของท้องถิ่นด้วยรอบที่เล็กลงและเร็วขึ้น และก็จะใกล้ชิดกับพื้นที่ยิ่งขึ้น อีกด้วย

บ้านๆเมืองๆกับสภาพภูมิทัศน์
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา  มีการพูดถึงการจัดการพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น โดยมิได้มองเพียงแต่ความเป็น Monument ของมัน องคาพยพของบ้าน-เมืองและชุมชนที่ถูกประกอบขึ้นมาได้ถูกพิจารณาให้มีคุณค่าที่ส่งเสริมกันและกัน จนขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเสียไม่ได้สำหรับมาตรการในการจัดการกับพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ไม่ใช่เมือง (urban area) ที่มีความอ่อนไหวต่อการพัฒนาอันไม่พึงประสงค์ รวมทั้งที่อ่อนไหวต่อการขยายตัวของความเป็นเมืองที่อาจจะคุกคามต่อสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและวํมนธรรมของชุมชน นั่นคือมาตรการทาง“ภูมิทัศน์(ทาง)วัฒมนธรรม”
 
แนวคิดเรื่องภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพิ่งจะเกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยนักประวัติศาสตร์, นักภูมิศาสตร์, ภูมิสถาปนิก และนักอนุรักษ์จากทางฝั่งยุโรปและอเมริกา คำว่า “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” ได้รวบรวมความหลากหลายของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติซึ่งได้สะท้อนถึงเทคนิควิธีการเฉพาะตัวของการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนเมื่อพิจารณาถึงลักษณะและขอบเขตของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ตั้งถิ่นฐานรวมถึงความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติการคุ้มครองภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมดังกล่าว สามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคนิควีธีการร่วมสมัยของการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน และสามารถรักษาหรือเพิ่มคุณค่าทางธรรมชาติในภูมิทัศน์นอกจากนั้นการดำรงอยู่ของรูปแบบดั้งเดิมของการใช้ที่ดินก็ยังรองรับความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-diversity) ในหลายๆภูมิภาคของโลกแน่นอนว่าการรักษาภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมยังเป็นประโยชน์ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

ส่วนคำเรียก ‘Cultural landscape’นั้นเป็นคำที่ถูกคิดค้นและพัฒนาแนวคิดขึ้นมาใช้ในแวดวงวิชาการในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองโดยศาสตราจารย์คาร์ล ออร์ตวิน ซอเออร์ (Carl Ortwin Sauer) นักภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์(University of California, Berkeley)โดยได้ให้คำจำกัดความของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมไว้ว่าเป็นการทำภูมิทัศน์ทางธรรมชาติให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างด้วยกลุ่มทางวัฒนธรรม โดยมีวัฒนธรรมเป็นผู้กระทำ พื้นที่ธรรมชาติเป็นตัวกลาง และผลลัพธ์ก็คือภูมิทัศน์วัฒนธรรม [1]  ซึ่งต่างจาก “มนุษย์” กับ “ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ”โดยศาสตราจารย์ซอเออร์ได้กล่าวไว้ว่าเป็นรูปแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการพัฒนา ซึ่งมักจะจบลงด้วยวัฎจักรของการเปลี่ยนแปลงโดยวัฒนธรรมและกลุ่มคนใหม่ๆ

ภูมิทัศน์วัฒนธรรมยังได้ถูกระบุไว้ในอนุสัญญามรดกโลกไว้ว่าเป็นแหล่งทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของ“การผสมผสานร่วมกันระหว่างผลงานของธรรมชาติและของมนุษย์”ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการของสังคมมนุษย์และการตั้งถิ่นฐานผ่านกาลเวลา ภายใต้อิทธิพลของข้อจำกัดทางกายภาพและ/หรือโอกาสที่ปรากฏตามปัจจัยแวดล้อมนั้นๆ และอิทธิพลของแรงขับเคลื่อนทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอก 

จะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมมีความแตกต่างกับมรดกผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ(Mixed Cultural and Natural Heritage) ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้ตามเกณฑ์ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของคำนิยามของมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ (ดูแนวทางในการปฏิบัติการสำหรับการดำเนินงานในอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกเพิ่มเติม)  โดยได้เน้นย้ำไปที่ความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน มากกว่าการดำรงอยู่ของของคุณค่าทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรมภายในแหล่งเดียวกันเท่านั้น

แนวคิดเรื่องภูมิทัศน์วัฒนธรรมในประเทศไทย ถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยแรกเริ่มได้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ชื่อของ “สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม” (Cultural Environment) โดยโครงการการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมTCEP (Thailand Cultural Environment Project)ของสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคนิคกระบวนการที่เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในประเทศเดนมาร์กเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยการสำรวจและทำแผนที่รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางทางธรรมชาติและศิลปกรรมที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมนั้นๆ แล้วนำมาวิเคราะห์และจัดวางแนวทางการจัดการที่เหมาะสมต่อไป
 
ความเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมในสังคมเอเชีย
เมื่อพิจารณาเฉพาะแหล่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคแล้ว อาจเห็นได้ว่าของนาขั้นบันไดและภูเขาศักสิทธิ์เป็นลักษณะทางภูมิทัศน์วัฒธรรมที่สำคัญมาก อันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคสำหรับนาขั้นบันไดได้ก่อรูปขึ้นจากความสัมพันธ์ของมนุษย์กับวัฒนธรรมข้าวและการเกษตรที่แพร่หลายในภูมิภาค รวมทั้งธีมของภูเขาศักสิทธ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับภูเขาที่ได้รับการพัฒนาความเชื่อมโยงกับการประกอบศาสนากิจทั้งในศาสนาพุทธ ศาสนาชินโตและเต๋า เป็นต้น
 


นาขั้นบันได
กิจกรรมทางการเกษตรมีบทบาทสำคัญในการก่อรูปของภูมิทัศน์วัฒนธรรมในท้องถิ่น ในสายวัฒนธรรมเอเชียซึ่งนิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่นาจึงกลายเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้ภูมิทัศน์ในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะแตกต่างไปไม่ซ้ำกันตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงถึงเทคนิควิธีการใช้ที่ดินที่แสดงให้เห้นอัฉริยะภาพของกลุ่มวัฒนธรรมท้องถิ่น และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งผสาน ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติคือการนาข้าวระบบขั้นบันไดที่ได้รับการพัฒนาในพื้นที่ภูเขาสูงและลาดชัน ซึ่งมีข้อจำกัดทางภูมิประเทศ/ภูมิอากาศเป็นอย่างมาก



ภูเขาศักดิ์สิทธิ์
ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคมีแหล่งทางภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมอยู่หลายๆแห่ง ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับศาสนาหรือความเชื่อในท้องถิ่น เช่นศาสนาพุทธลัทธิเต๋าและศาสนาชินโตเป็นต้นเทือกเขาในภูมิภาคจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นสถานที่สำหรับการบำเพ็ญเพียร รวมทั้งการสร้างความรู้สึกเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไท่ซาน ภูเขาหัวซาน ภูเขาอี้เหม่ย ภูเขาหวู่ยี และอุทยานแห่งชาติหลู่ซานในประเทศจีน, อุทยานแห่งชาติอูรูลู่-คาตา ในออสเตรเลีย, และกลุ่มเทิอกเขาศักดิ์สิทธิ์คิอิในญี่ปุ่น เป็นต้นภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภูมิภาคและได้ครอบคลุมความหลากหลายขององค์ประกอบที่ทับซ้อนกันระหว่างคุณค่าทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ รวมทั้งปัจจัย พื้นฐานของมรดกวัฒนธรรมที่มีจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ร่วมกัน
 
ตอนหน้าพบกับ “ตัวอย่างการอนุรักษ์และมาตรการทางกฎหมายสำหรับการรักษาภูมิทัศน์วัฒนธรรม”…
....
เชิงอรรถ
[1]  “The cultural landscape is fashioned from a natural landscape by a cultural group. Culture is the agent, the natural area the medium, the cultural landscape is the result”, Sauer, C. O. 1925. "The Morphology of Landscape". University of California Publications in Geography 

อ้างอิง
1. Fowler, P.J.: World Heritage Cultural Landscapes 1992 - 2002. World Heritage Papers 6. UNESCO World Heritage Centre 2003. 
2. The Ferrara workshop. Cultural Landscapes: the Challenges of Conservation. World Heritage Papers 7. UNESCO World Heritage Centre 2003. 
3. ICOMOS. World Heritage Cultural Landscapes. UNESCO-ICOMOS Documentation CentreSeptember 2009.
4. William Chapman. Cultural Landscapes of Thailand and their Protection: A Difficult Challenge for Heritage Conservators.

 

บล็อกของ เมืองมุมปาก

เมืองมุมปาก
ปฏิพล   ยอดสุรางค์เมืองมุมปาก