Skip to main content

ปฏิพล   ยอดสุรางค์
เมืองมุมปาก

เมื่อพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงความเป็น Monument [1] ของวัด วัง และเมืองโบราณที่เป็นโบราณสถานทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองควบคุมดูแลแหล่งโบราณสถานดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองสภาพทางกายภาพที่จับต้องได้ของอาคารสถาปัตยกรรมรวมทั้งแหล่งที่มีคุณค่าในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีเป็นสำคัญ

ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความตื่นตัวด้านท้องถิ่นนิยมหลังจากการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 40รวมทั้งความถวิลหาอดีตของผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนชั้นกลาง  ที่ได้ผ่านประสบการณ์ความทรงจำในอดีตกับพื้นที่(ที่กำลังจะเปลี่ยนไป) ได้มีความพยายามที่จะรักษาความสงบสุขของชุมชนอย่างเก่าไว้ โดยมีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนความเป็นเอกลักษ์-อัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งนับว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชิวิตของผู้คน

เมื่อมาพิจารณาในลักษณะความเป็นหย่อมย่านทางประวัติศาสตร์แล้ว ย่านเก่า-เมืองเก่า ที่หากนำแต่สภาพทางกายภาพของอาคารบ้านเรือนมาพิจารณาแต่เพียงอย่างเดียว ก็คงไม่อาจจะฉายภาพความเป็นชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อการดำรงชีพ โดยมีรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างตัวตนคนถิ่นนั้นๆขึ้นมา กลุ่มอาคารและพื้นที่ของหย่อมย่านที่มีเอกลักษ์ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่หรือตามชุมชนเล็กๆรอบนอก แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่และการดำเนินไปของกิจกรรมทางเศษรฐกิจ-สังคมร่วมสมัย อาคารบ้านเรีอนเป็นเพียงตัวเชื่อมโยงความเป็นมาและเป็นไปในหย่อมย่านชุมชน

แล้วในเมื่อคุณค่าและความสำคัญไม่ได้อยู่กับสภาพกายภาพของอาคาร... ทีนี้จะทำอย่างไร



ภาพอัมพวาเมื่อ พ.ศ. 2547 กลุ่มของเรือนแถวที่มีความสัมพันธ์กับสภาพพื้นที่ สร้างเอกลักษณ์และตัวตนคนถิ่นนั้นๆหากเหลือเพียงหลังเดียวคงไม่สามารถทำให้เห็นความสำคัญ-สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและวิถีชิวิตเท่าไหร่นัก
ภาพ: ปูรณ์  ขวัญสุวรรณ
 
ในช่วงปีสองปีมานี้ ข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการพัฒนาเมืองเก่ามีให้ได้ผ่านหูผ่านตาอยู่ทุกวัน ประเด็นร้อนๆอย่างเช่นเรื่องของการปะทะกันระหว่างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอันเนื่องมาจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคมอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดน้ำอัมพวา  รวมทั้งกล่องดวงใจของเมืองหลวงอย่างเยาวราช นี่ยังไม่นับกรณีของการรื้อศาลฎีกาที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกายภาพของเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมมากนัก แต่ก็ได้สะท้อนถึงปัญหาหลายๆอย่างที่หมักไว้รอวันระเบิดขึ้นมา

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของมาตรการการจัดการ “ทรัพยากรทางวัฒนธรรม” กับการรักษาสมดุลของบ้านและเมืองที่จะต้องก้าวต่อไปข้างหน้า หากไม่มีมาตรการใดๆรองรับประเด็นดังกล่าวก็คงเกิดขึ้นอีกในหลายๆพื้นที่

ในทางปฏิบัติแล้ว สำหรับมาตรการทางกฎหมายสำหรับการคุ้มครองย่านเก่า-เมืองเก่า นอกเหนือจาก พรบ.โบราณสถานฯที่ยังมีปัญหาด้านการจัดการกับแหล่งที่ยังมีการใช้งานอยู่คือเป็นการรอนสิทธิของผู้อยู่อาศัย-ผู้ครอบครองในการที่จะจัดการกับทรัพย์ของตน  ก็ยังมีแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในกฎหมายผังเมืองที่เป็นเพียงเครื่องมือในการควบคุมภาพรวมกว้างๆของเมืองในแนวนอน ให้มีความสะดวก ปลอดภัยและมีสุขลักษณะที่ดีมากกว่าจะไปควบคุมในรายละเอียดทางตั้งของภูมิทัศน์เมือง รวมทั้งไม่สามารถจัดการความซับซ้อนของเมืองที่มีการซ้อนทับกันระหว่างของเก่าและของใหม่ได้เท่าไหร่นัก

นอกจากนั้นก็ยังมียังมีมาตรการอื่นๆเช่น พรบ.ควบคุมอาคาร และพรบ.สิ่งแวดล้อมฯที่สามารถประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ก็ยังเน้นเพียงแค่ตัวอาคารและกายภาพที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่สำหรับในเชิงพื้นที่แล้ว การประกาศพื้นที่สำคัญเป็นเขตเมืองเก่า ก็ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน

ในกรณีของย่านเก่า-เมืองเก่าที่มีความสำคัญที่ต้องการมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมและรวดเร็ว ที่ทำสำเร็จมาแล้วก็มีทั้งที่เชียงรายและเชียงคาน โดยอาศัยมาตรการคุ้มครองโดยออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับให้เข้ากับข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ได้ง่าย  รวมทั้งกำหนดให้มีแนวทางการออกแบบกายภาพของบ้านและเมืองที่มีลักษณะเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในท้องถิ่นเอง  ดังนั้นถ้าท้องถิ่นเล่นด้วย ก็ออกมาตรการฯได้เลย.. ไม่ต้องรอ ดังนั้นอำนาจในการบริหารจัดการย่านเก่า-เมืองเก่าจึงอยู่ในมือเทศบาล-ส่วนท้องถิ่น
 
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารว่าจะบริหารจัดการอย่างไรได้ตรงจุด
 
ตอนหน้าพบกับ “จากบ้านสู่เมืองกับสภาพภูมิทัศน์”

เชิงอรรถ
[1]ในบทความชิ้นนี้เลือกที่จะใช้คำว่า Monument แทนคำว่าอนุสรณ์หรืออนุสรณ์สถานตามที่เข้าใจโดยทั่วไป โดย Monumentสามารถอธิบายปรากฎการณ์นอกเหนือจากการระลึกถึง การสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรม ที่มีคุณค่าที่โดดเด่นจากมุมมองต่างๆ และยังประกอบด้วยความใหญ่โตและมีความหมายอย่างมาก ซึ่งจะครอบคลุมโบราณสถานเอาไว้ในนั้นด้วย

โดยมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ได้ให้คำนิยามของคำว่า “โบราณสถาน (Ancient Monument)” ไว้ว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
 

 

บล็อกของ เมืองมุมปาก

เมืองมุมปาก
ปฏิพล   ยอดสุรางค์เมืองมุมปาก