Skip to main content

 

มหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนา หรือ "Mindanao State University" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1961 โดยถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาไฟใต้อย่างสันติ

สำหรับดินแดนโมโร หรือ “ฟิลิปปินส์ตอนใต้” จัดเป็นเขตภูมิศาสตร์วัฒนธรรมที่ประกอบด้วยเกาะมินดาเนา หมู่เกาะซูลู ปาลาวัน บาซีลัน และเกาะต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยมีพื้นที่รวมกันประมาณ 116,895 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่าหนึ่งในสามของเกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมด พร้อมมีประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ราวๆ 12 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่ส่วนที่เหลือจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (เป็นส่วนใหญ่)

จากภาพพหุวัฒนธรรมดังกล่าว บทบาทของมหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนา จึงถือเป็นช่องทางสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาล (Good Governance) และการออกแบบรูปการปกครองที่เน้นหนักไปทางด้านกระจายอำนาจ อัตลักษณ์ชาติพันธุ์และสหพันธรัฐนิยม (Federalism)

ล่าสุด มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้เปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ โดยได้ ดร. Macapado A. Muslim ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ขึ้นเป็นอธิการบดี


จดหมายข่าวของมหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนาประจำเดือนเมษายน 2014 ซึ่งแสดงเรื่องราวการเยือนมหาวิทยาลัยโดยประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 พร้อมบทบาทการพัฒนาวิชาการทางด้านโมโรศึกษาของ ดร. Macapado A. Muslim

ในด้านประวัติส่วนตัวนั้น ดร. Muslim จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนา ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (U.P.-University of the Philippines) และปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาอิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือกันว่าเป็นสำนักคิดที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการเมืองชนพื้นเมือง หรือ Indigenious Politics พร้อมกันนั้น ดร.Muslim ยังเคยแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการผลักดันการเจรจาหยุดยิงและกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลกลางที่มะนิลากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโมโร


อาคารเก่าแก่ภายในมหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนา

โดยการได้ผู้มีความรู้แจ้งทางด้านชายแดนใต้ ขึ้นเป็นอธิการบดี ได้ทำให้มหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนา เต็มเปี่ยมไปด้วยแหล่งทรัพยากรทางการศึกษา โดยมักปรากฏหัวข้อกิจกรรมของนักศึกษาหรือศูนย์ค้นคว้าวิจัยที่เข้มแข็งเกี่ยวกับฟิลิปปินส์และบังซาโมโรศึกษา

ฉะนั้น จึงนับได้ว่า สถาบันแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบสำคัญในการศึกษาเรื่องสันติภาพ ชายขอบ ชายแดน และ ทักษิณศึกษาชั้นนำของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ดูจะคล้ายๆ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในเมืองไทย อยู่มิใช่น้อย

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

ปล. ขอขอบพระคุณท่านอธิการบดี Macapado A. Muslim กัลยาณมิตรผู้มอบตำราหลายเล่มทางด้านมินดาเนาศึกษาให้กับข้าพเจ้า ซึ่งแม้จะเจอกันแค่ไม่กี่ชั่วโมง ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องพหุวัฒนธรรมอาเซียนบวกสาม ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา) หากแต่ด้วยบุคลิกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและความสนใจที่ต้องกันในเรื่องสหพันธรัฐนิยมเชิงเปรียบเทียบระหว่างเมียนมาร์กับมินดาเนา ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้พบกับสหายและคุณครูคนใหม่ที่ก้าวเข้ามาในชีวิตการเรียนรู้ของข้าพเจ้า ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าจนยากจะลืมเลือน

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน