Skip to main content

 



7 ก.พ. 2559 ครบรอบ 69 ปี นับแต่วันก่อตั้งสภาสหพันธรัฐฉานซึ่งสัมพันธ์กับการก่อตัวของสถาบันการเมืองรัฐฉานที่มีผลต่อการบูรณาการดินแดนและจัดตั้งรัฐเอกราชเมียนมาในเวลาต่อมา

ประเด็นที่ผมอยากพูดกับพี่น้องไตในวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องประวัติวันชาติหรือนัยสำคัญของสนธิสัญญาปางโปลง หากแต่เป็นเรื่องของสารัตถะสหพันธรัฐนิยม (Federalism) ซึ่งเป็นทฤษฏีการเมืองที่กำหนดชะตาชีวิตของพี่น้องไตรวมถึงพี่น้องพหุเชื้อชาติอื่นๆในสหภาพเมียนมา

ในทางนิรุกติศาสตร์ ภาษาพม่าไม่มีคำศัพท์ที่ใช้เรียกสหพันธรัฐโดยตรง มีแต่เพียงคำว่า 'ปิตองสุ' ที่หมายถึง 'สหภาพ/Union' อันสื่อถึงการเข้ามารวมตัวกัน (Coming Together) ของบรรดาดินแดนและชนชาติกลุ่มต่างๆ ขณะที่ภาษาไทใหญ่ พบเห็นการเรียกชื่อสหพันธรัฐ (จากกลุ่มผู้นำการเมืองไตอย่างเจ้ายอดศึก) โดยออกเสียงว่า "เฟ็ตเดอเหรด" ซึ่งเป็นการกร่อนเสียงมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "เฟ็ตเดอเรชั่น"

ฉะนั้น การไม่พบคำศัพท์หรือรากเหง้าดั้งเดิมทางภาษา ย่อมแสดงให้เห็นว่าแนวคิดสหพันธรัฐนิยมถือเป็นของแปลกใหม่หรืออาจยากต่อเรียนรู้ศึกษาทั้งในหมู่ประชากรรัฐฉานและรัฐพหุชาติพันธุ์อื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดอ่านตำรารัฐศาสตร์ (การเมืองเปรียบเทียบ) กลับพบเห็นสารัตถะหรือรายชื่อปรมาจารย์จากแวดวงสหพันธรัฐนิยมจำนวนมิน้อยที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมแห่งรัฐเมียนมา

ตัวอย่างชัดเจน คือ นักร่างรัฐธรรมนูญเมียนมายุคเรียกร้องเอกราช เช่น ออง ซาน และ ชาน ตุน ที่เคยยกคำอธิบายของ K.C. Wheare นักสหพันธรัฐนิยมเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ที่ศึกษาการออกแบบรัฐธรรมนูญสหพันธ์ในประเทศสำคัญต่างๆรอบโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดาและแอฟริกาใต้ โดยทฤษฏีการเมืองของ Wheare ถือเป็นรากฐานสำคัญของการแบ่งปันอำนาจอธิปไตยระหว่างรัฐพม่าแท้กับรัฐชายแดนภูเขายุคหลังเอกราช

ขณะเดียวกัน ปัญญาชนยุคใหม่อย่าง Lian H. Sakhong จากกลุ่มชาติพันธุ์ฉิ่น ก็เคยเสนอแนวคิดการจัดประเภทรัฐสหพันธ์ตามข้อเสนอของ Daniel J. Elazar และ Ronald Watts ปรมาจารย์ด้าน federalism ระดับโลก ที่เคยเสนอคุณลักษณะพื้นฐานของรัฐรวมแบบสหพันธ์ อาทิ การแบ่งรัฐบาลออกเป็นสองส่วน คือ รัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ การจัดสรรทรัพยากรระหว่างรัฐบาลต่างๆตามกรอบรัฐธรรมนูญ หรือ การมีองค์กรกลางในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ หรือ ระหว่างมลรัฐต่างๆ

จากเหตุผลที่นำแสดงมา แม้สหพันธรัฐนิยม จะเป็นแนวคิดนำเข้าจากต่างประเทศ หากแต่ก็มีความพยายามจากทั้งรัฐบุรุษและปัญญาชนเมียนมาในการศึกษาสารัตถะตัวตนของทฤษฏีสหพันธรัฐนิยมนับตั้งแต่ยุคปลายอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่า ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสหพันธรัฐนิยมกลับกลายเป็นประเด็นตกค้างในทางประวัติศาสตร์ และก็ไม่เคยตกผลึกในการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งรัฐเมียนมา จนพูดได้ว่า จะมีคนไทใหญ่หรือชนชาติพันธุ์อื่นๆในเมียนมาซักกี่คนที่มีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาหรือหลักปฏิบัติสหพันธรัฐนิยมอย่างลุ่มลึก

ฉะนั้น หากพี่น้องไตหรือขุนศึกชาติพันธุ์ไตมีความต้องการที่จะสถาปนาสหพันธรัฐที่แท้จริง (Genuine Federalism) เขาเหล่านั้น ก็ควรต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพิชัยยุทธ์สหพันธรัฐในระดับที่แตกฉาน ทั้งนี้ก็เพื่อเบิกทางไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนบนแผ่นดินไต

ครับ หนทางการพัฒนาสหพันธรัฐนิยม ยังคงอีกยาวไกล หากแต่กระผมก็อยากอวยพรให้พี่น้องไตพร้อมพี่น้องพหุเชื้อชาติอื่นๆในรัฐฉาน จงประสบความสำเร็จในการออกแบบสหพันธรัฐ

ย่างก้าวเข้าปีที่ "หกสิบเก้า" พร้อมตะวันฉายฉานบนยอดดอยไตแลง ผมขอนำพาเชิญชวนให้พี่น้องไตจงก้าวต่อไปอย่างสง่างาม พร้อมอธิปไตยบนฐานแห่งสหพันธรัฐ

ดุลยภาค

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน