Skip to main content

การพัฒนารูปสัณฐานรัฐไทยในมิติภูมิศาสตร์การเมือง มักเต็มไปด้วยการปะทะขับหน่วงที่ตีโต้สลับกันไปมาระหว่าง “สัจเขต” หรือเส้นเขตแดนตามสภาพความเป็นจริง กับ “จินตเขต” หรือ เส้นเขตแดนตามจินตนาการของประชาชนและผู้ปกครองในช่วงเวลาหนึ่งๆ

ต่อกรณีดังกล่าว นโยบายชิงเขตอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศสในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามของไทย ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากการเมืองระหว่างประเทศและกระแสขวาจัดที่มีลักษณะชาตินิยมรุนแรง จนส่งผลให้รัฐไทยต้องตัดสินใจใช้มาตรการสงครามเพื่อปรับปรุงเขตแดนใหม่ หรือพูดอีกแง่ คือ มีการใช้กำลังเพื่อกระตุ้นการก่อตัวของกระบวนการแปลงสัณฐานเขตแดนจากจินตภาพประวัติศาสตร์ชาตินิยมให้กลายเป็นเส้นเขตแดนจริงที่ช่วยประกันอธิปไตยและช่วยเสริมสร้างเกียรติภูมิประเทศอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

การตัดสินใจทำสงครามกับฝรั่งเศสครั้งนี้ (รบกันหนักในปี 2483) ถือเป็นผลสืบเนื่องจากขบวนการเรียกร้องทวงคืนดินแดนซึ่งได้ขยายตัวมากขึ้นทั้งในกลุ่มปีกขวาที่เป็นพลเรือนและทหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองความอัปยศอดสูและความรู้สึกลึกๆ ที่ฝังรากอยู่ในมโนทัศน์ชาวสยามตั้งแต่วิกฤตการณ์ปากน้ำ รศ. 112 (พ.ศ. 2436) และการทยอยส่งมอบคืนดินแดนใต้อิทธิพลสยามไปให้กับอินโดจีนฝรั่งเศส เช่น ดินแดนแถบปากเซ-หลวงพระบางและมณฑลบูรพา โดยความขัดแย้งนี้ (ที่กองทัพสยามกำลังตกเป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือกองทัพฝรั่งเศสในการยุทธ์) ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซงไกล่เกลี่ยซึ่งนำไปสู่การพักรบและการลงนามระหว่างตัวแทนไทยกับฝรั่งเศสผ่านอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียวช่วงราวๆ กลางปี พ.ศ. 2484 ซึ่งมีผลทำให้ไทยได้ดินแดนกลับคืนมาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงทางตอนเหนือด้านหลวงพระบาง พื้นที่ฝั่งขวาตอนใต้ด้านเมืองจำปาศักดิ์และมณฑลบูรพาที่รวมอาณาเขตสำคัญอย่างเช่นศรีโสภณและพระตะบอง

ขณะเดียวกัน การได้ดินแดนคืนมา ได้ส่งผลให้ "ระบอบพิบูลสงคราม" มีฐานะสูงเด่นยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น ก็ส่งผลให้อำนาจการเมืองการทหารของกลุ่มฝ่ายขวาสยายปีกแผ่กว้างอย่างพร้อมสรรพ (ประกอบกับได้เกิดกระแสชื่นชมญี่ปุ่นในหมู่คนไทยในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยที่ทำให้ไทยได้ดินแดนคืนจนนำไปสู่การเป็นพันธมิตรทางทหารร่วมกันในเวลาต่อมา) กระนั้นก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นพ่ายสงครามมหาเอเชียบูรพาและหมดสภาพที่จะแทรกแซงอินโดจีนเพื่อผลประโยชน์ไทย กอปรกับการกดดันอย่างหนักจากรัฐมหาอำนาจทั้งอังกฤษ สหรัฐ หรือแม้แต่จีนคณะชาติ ท้ายที่สุด ในปี 2489 รัฐบาลไทยใต้การบริหารของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ตัดสินใจโอนดินแดนที่ยึดได้คืนมาทั้งหมดกลับไปให้ฝรั่งเศส ซึ่งก็ทำให้รูปสัณฐานเขตแดนกลับคืนสู่สถานภาพเดิมช่วงก่อนพิพาท

ประวัติศาสตร์การแย่งชิงดินแดนครั้งนี้ ถือว่ามีความน่าระทึกใจ โดยเฉพาะในแง่ของพลังที่ตีโต้กันไปมาระหว่าง “สัจเขต” กับ “จินตเขต” ทว่า ก็ไม่ค่อยพบเห็นงานเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือหลักฐานอ้างอิงที่กล่าวถึงพัฒนาการรัฐไทย-อินโดจีนในช่วงนี้อย่างลุ่มลึกละเอียดลออ จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับภาพประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าจากศาสตราจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อดีตผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งเป็นภาพถ่ายคณะผู้แทนไทยในคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส พุทธศักราช 2484 ในภาพประกอบด้วยคณะบุคคล 16 ท่าน โดยมีหลวงสิทธิสยามการ (สิทธิ ฮุนตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและนายกสโมสรโรตารี่) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะ นอกจากนั้น ยังมีบุคคลสำคัญอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงบิดาของอาจารย์ทักษ์ คือ นายจรัส เฉลิมเตียรณ (อดีตอธิบดีกรมยุโรป-อเมริกาและเอกอัครราชทูตประจำกรุงจาร์กาตา)

ปริศนาที่น่าขบคิด คือ คณะเดินทางนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรและสามารถบ่งชี้นัยสำคัญของประวัติศาสตร์การช่วงชิงดินแดนอินโดจีนในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลฯได้มากน้อยเพียงไร

อาจารย์ทักษ์เล่าให้ผมฟังคร่าวๆ ว่า คุณพ่อของท่านไม่ได้บอกอะไรมากนักเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของท่านภายในคณะผู้แทนชุดนี้ โดยบอกแต่เพียงว่าคุณพ่อเคยถูกญี่ปุ่นคุมตัวไว้ในฐานะสายลับ ซึ่งคุณพ่อได้ถูกขังคุกร่วมกับคุณถนัด คอมันตร์ (อดีต รมต. ต่างประเทศสมัยจอมพลสฤษดิ์ จนถึงรัฐบาลถนอม และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) โดยคุณพ่อเล่าว่า ตอนนั้น ท่านถนัดได้เตือนคุณพ่อว่าอย่าทานอาหารภายในคุกเพราะอาจถูกวางยาพิษ แต่ด้วยความหิวโหยคุณพ่อจึงได้ละเลยคำเตือนของท่านถนัด คุณพ่อไม่ได้บอกอาจารย์ทักษ์ ว่าสถานที่คุมขังนั้นอยู่ที่ไหน แต่บอกเพียงว่า คุณพ่อได้ถูกส่งต่อไปที่ไซง่อนระหว่างช่วงสงคราม

จากเรื่องราวดังกล่าว ผมมาพิจารณาดูแล้ว น่าจะคาบเกี่ยวกับสองเหตุการณ์ดังนี้

1. การเจรจาตกลงพักรบที่อ่าวไซ่ง่อน โดยระหว่างช่วงการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ญี่ปุ่นซึ่งมีฐานทัพอยู่ในอินโดจีน ได้เฝ้าดูประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนเห็นว่ากองทัพไทยมีทีท่าจะตีกองทหารฝรั่งเศสตกลงทะเลในไม่ช้า ซึ่งหากไทยกุมชัยชนะได้อาจส่งผลเสียต่อแผนการรบของญี่ปุ่น ซึ่งเตรียมเคลื่อนกำลังลงทางใต้เข้าอินโดจีนเช่นกัน ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเสนอต่อรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสขอเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเพื่อเข้าแทรกแซงสถานการณ์ก่อนจนนำไปสู่การเจรจาตกลงพักรบเมื่อช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2484 โดยฝ่ายไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาพักรบบนเรือลาดตระเวนญี่ปุ่น ชื่อ นาโตริ ที่จอดอยู่หน้าเมืองไซ่ง่อน (ต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ ยังคงเฝ้าดูท่าทีฝ่ายไทยและไม่ได้เป็นพันธมิตรทางทหารกับไทย เพราะกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสถือว่าเกิดขึ้นก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นขอยาตราทัพผ่านประเทศไทยจนนำไปสู่การดำเนินนโยบายเลือกข้างญี่ปุ่นของรัฐบาลไทย)

2. ต่อจากการพักรบที่ไซ่ง่อน ได้มีการเจรจาสันติภาพและปรับปรุงเขตแดนที่กรุงโตเกียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปประชุมร่วมกับตัวแทนญี่ปุ่นและฝรั่งเศส โดยมีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเป็นประธาน พร้อมกลุ่มตัวแทนข้าราชการทหารและพลเรือน การเจรจาตกลงกันได้เมื่อช่วงมีนาคม 2484 โดยทั้งไทยและฝรั่งเศสเห็นพ้องร่วมกันที่จะยอมรับการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นโดยฝ่ายฝรั่งเศสได้ยอมยกดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจำปาสักดิ์และแคว้นเขมรให้แก่ไทย ซึ่งตัวแทนทางการไทย ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว (โตกิโอ) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 จนต่อมา วันที่ 5 กรกฎาคม 2484 เมื่อสัญญานี้ได้รับการให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการ ได้มีการใส่ภาคผนวกกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการปักปันดินแดนขึ้นเพื่อดำเนินการจัดระเบียบเขตแดนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายไทย ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ซึ่งงานปักปันเขตแดนได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบจนกระทั่งถึงช่วงกรกฎาคม 2485 ไทยจึงเริ่มเข้าครอบครองดินแดนในส่วนที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ

จากลำดับเหตุการณ์ที่นำแสดงมา จึงคิดว่า บิดาอาจารย์ทักษ์ หรือ คุณจรัส เฉลิมเตียรณ (ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทยใต้การนำของหลวงสิทธิสยามการ) น่าจะเข้ามาเกี่ยวพันกับการเจรจาพักรบที่ไซ่ง่อนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2484 หรือ ก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย ซึ่งพฤติกรรมที่ญี่ปุ่นจับกุมตัวคุณจรัสโดยกล่าวหาว่าเป็นสายลับสยาม น่าจะเป็นผลพวงมาจากแผนยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นที่เตรียมช่วงชิงอินโดจีนอยู่ก่อนแล้วโดยเข้ามาปักหมุดอิทธิพลอยู่ที่ไซ่ง่อน ดังนั้น การที่คุณจรัสถูกทางการญี่ปุ่นจับตัวไปพร้อมๆ กับคุณถนัด คอมันตร์ แล้วถูกส่งไปที่ไซ่ง่อน จึงสัมพันธ์กับพฤติกรรมทหารญี่ปุ่นทั้งในช่วงก่อนเข้าแทรกแซงการรบและระหว่างแทรกแซงการรบผ่านกลวิธีเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งก็จบลงด้วยข้อตกลงพักรบบนเรือญี่ปุ่นที่อ่าวไซ่ง่อนนั่นเอง ส่วนคณะผู้แทนปักปันเขตแดนฝ่ายไทยที่นำโดยหลวงสิทธิสยามการ (ที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนักในหน้าประวัติศาสตร์) และเป็นคณะที่คุณจรัสร่วมปฏิบัติงานอยู่ด้วย ก็น่าจะเป็นชุดเดียวกันกับคณะกรรมการปักปันเขตแดนในพิธีสารภาคผนวกของอนุสัญญาสันติภาพ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2484 ซึ่งเป็นผลพ่วงที่เกิดจากการผลักดันเจรจาก่อนหน้านี้โดยคณะผู้แทนไทยชุดใหญ่ที่นำโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรอีกต่อหนึ่ง

สำหรับคณะกรรมการปักปันเขตแดนของหลวงสิทธิสยามการมีความสำคัญต่อประวัติการชิงดินแดนแค่ไหน อย่างไร ก็อาจพิจารณาคร่าวๆ ได้ว่า ผลที่ได้รับจากกรณีพิพาทอินโดจีนครั้งนั้น ไทยได้รับดินแดนบางส่วนที่เสียให้ฝรั่งเศสกลับคืนมาพร้อมมีการจัดหน่วยปกครองใหม่โดยแปลงเป็นอำเภอและจังหวัดพร้อมตั้งชื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่คณะบุคคลที่เสียสละอุทิศตนให้กับภารกิจในครั้งนี้ เช่น อำเภอพรหมโยธีในจังหวัดพระตะบองและอำเภอวรรณไวทยากรในจำปาศักดิ์ ส่วนเรื่องเส้นเขตแดนก็มีการปรับรูปโฉมในหลายพื้นที่ เช่น การเปลี่ยนแปลงมาใช้เส้นกลางร่องน้ำเดินเรือหรือร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตแดน ซึ่งทำให้บรรดาเกาะแก่งที่อยู่ฝั่งขวาของเส้นเขตแดน (ทิศตะวันตกแม่น้ำโขง) เป็นของไทย ยกเว้นบางเกาะที่ยังตกเป็นของอินโดจีน ส่วนในทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) เขตแดนได้แก่เส้นโค้งวงกลมรัศมียี่สิบห้ากิโลเมตร จากจุดพรมแดนระหว่างจังหวัดพิบูลสงครามกับพระตะบอง (จดปากน้ำสตึงกมบต) แล้วไปบรรจบกับจุดพรมแดนระหว่างจังหวัดพระตะบองกับโพธิ์สัตว์ (จดปากน้ำสตึงดนตรี)

ฉะนั้น ภารกิจของคณะกรรมการปักปันเขตแดนของหลวงสิทธิสยามการ จึงมีความสำคัญต่อกระบวนการแปลงรูป “จินตเขต” ตามแนวคิดชาตินิยมเอียงขวาในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ให้กลายสภาพเป็นเส้น “สัจเขต” เพื่อรองรับความยิ่งใหญ่ของรัฐและชาติไทยให้คงอยู่รุ่งโรจน์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทว่า เมื่อรัฐไทยต้องพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองร่วมกับญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะในเวลาต่อมา จนมีการคืนดินแดนกลับไปให้ฝรั่งเศสในสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ คุณูปการของคณะกรรมการปักปันเขตแดน 2484 ก็ถูกกลบฝังลงพร้อมถูกข่มให้มัวในหน้าประวัติศาสตร์ชาติ จนทยอยหายสาบสูญไปจากความรับรู้ของคนไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งเริ่มค่อยๆ ตกอยู่ใต้โลกสัจเขตหรือแม้กระทั่งโลกไร้พรมแดนใต้ศักราชโลกาภิวัฒน์-อาเซียนภิวัฒน์ มากขึ้นทุกที (แม้จะมีการผุดเรื่องจินตเขตชาตินิยมชิงคืนนครวัดและปราสาทพระวิหารหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม)


ดุลยภาค ปรีชารัชช

ขอขอบพระคุณ ศ.ดร. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่เอื้อเฟื้อรูปภาพคณะผู้แทนปักปันเขตแดน 2484 พร้อมถ่ายทอดเกร็ดชีวประวัติบิดาที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันน่าระทึกใจในครั้งนี้

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค