Skip to main content

1

ตี 5 ครึ่งของวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2549 ท้องฟ้ากำลังจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาว ชาวจิตอาสา (เกือบ) 20 ชีวิต นัดรวมพลกันหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บทเริ่มต้นของการเดินทางรวมใจสร้างห้องสมุดดิน (25-27 ส.ค.49) กับกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยอง คนกวาดถนน รถเก็บขยะและแม่ค้าขายผัก นักเรียน พนักงานห้างและพนักงานออฟฟิศ ผู้บริหาร ครู-อาจารย์และนักการเมือง คือ ลมหายใจของกรุงเทพฯ (มหานครของเรา) กับการเริ่มต้นของชีวิตอีกครั้ง ผมไปถึงที่นัดหมาย 06.00 น. (ฮา)

2

สีสันของโลกเข้มข้นขึ้นตามเวลา ระยองปลายฤดูฝนท้องฟ้าสีเทาออกหม่น ขาวข้นเหมือนวีปครีมในถ้วยกาแฟร้านสตาร์บั๊ค ผมนั่งหลับๆ ตื่นๆ อยู่ทางตอนหน้าข้างคนขับทำให้โลกระหว่างทางเป็นสีดำสลับสีขาวสีขาวสลับสีดำอยู่ตลอดเวลา ห้องสมุดดินของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ขนาด 1X3 เมตร เป็นจุดมุ่งหมายของภารกิจจิตอาสาในครั้งนี้ รถตู้สองคันเลี้ยวชะลอความเร็ว ลงไปตามถนนดินแฉะๆ มองเห็นทุ่งนาตัดกับเส้นขอบฟ้าและสวนผลไม้ของชาวบ้าน ผมมองผ่านกระจกหน้ารถเห็นป้ายไม้ซีดจางเขียนเอาไว้ว่า “กลุ่มรักษ์เขาชะเมา”

หลังป้ายเป็นอาคารดินใช้เป็นโรงเรียนโรงเล่นของกลุ่มรักษ์เขาชะเมาและห้องนอนอันอบอุ่นของชาวจิตอาสา ซูโม่และหมึกดำหมาสองตัวของแก้ววิ่งออกมาอย่างคุ้นเคยเหมือนกับมันจะรู้ว่าหน้าที่ของมัน คือ การต้อนรับแขก ก่อนที่แก้วจะคุยให้ผมฟังลับหลังมันว่า “มันต้อนรับไปหมดทุกคนนั่นแหละ แม้แต่ขโมยมันก็ไม่มีข้อยกเว้น”

การลงมือ-ลงเท้าย่ำดินปั้นบ้านเป็นงานหนักที่สนุกสนานและทำให้ผมลดความคลางแคลงใจจากที่เคยสงสัยว่าทำไมควายทุกเพศวัยถึงชอบนอนอ้อยอิ่งกลางปลักโคลนเลน ตอนนี้ จิตของชาวอาสาดูเหมือนจะว่างเพราะต่างไม่พะวงกับความเลอะเทอะ แต่ละคนกระโดดลงไปอยู่ในบ่อโคลนสีน้ำตาลเข้มโดยมี แก้ว ชายรูปร่างบอบบาง คอยบอกวิธีการ

ขั้นตอนนี้เป็นการย่ำเพื่อปั้นก้อนอิฐดินสำหรับมาก่ออาคาร โคลนเหนอะๆ ข้างคันนาถูกขุดจนเป็นหลุมก่อนจะเทน้ำลงไปผสมเพื่อให้การย่ำง่ายขึ้น ชาวจิตอาสาเกาะกันเป็นวงกลม ประสานมือไว้บนไหล่เพื่อนข้างๆ ทำให้การขยับเท้าเป็นไปอย่างมั่นคง ย่ำจนดินโคลนเหลวไหลผ่านง่ามนิ้วเท้า หลังจากนั้น แกลบหรือทรายจะถูกขนมาผสมจนโคลนเหลวจับตัวกันเหมือนวุ้นรสกาแฟ-ไม่ใส่ครีม เหนียวหนึบหากยืดหยุ่น ทดสอบจากการเอาฝ่าเท้ากดลงไปในเนื้อดิน หากดินจมลงไปแล้วไม่คืนรูปแสดงว่าใช้ได้

แก้ว เป็นบุคคลหนึ่งที่หลายคนทึ่งในความสามารถและความคิด บ้านดินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของยุคสมัย เทคโนโลยีมุ่งให้เราเป็นผู้เอาชนะมากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติ การมองผืนดินเป็นมากกว่าผืนดินทำให้เรารู้จักตัวเองและอ่อนโยนให้กับธรรมชาติ เหมือนกับคำว่าเกิดจากผืนดินกลับสู่ผืนดิน แก้วออกตัวว่ากลุ่มรักษ์เขาชะเมาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างบ้านดินนะครับ สิ่งที่ทางกลุ่มของเราเน้น คือ การสร้างคุณค่าภายใน การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับดินน้ำลมไฟอย่างกลมกลืน สังคมมนุษย์กำลังถอยร่นออกจากจุดกำเนิดของชีวิต โลก-ธรรมชาติ จึงเป็นได้เพียงที่อยู่ชั่วคราวของเรากับการหาประโยชน์สร้างความร่ำรวยของคนบางกลุ่มเท่านั้น

แก้วลุกขึ้นพร้อมกับไม้เท้าแทนขาข้างขวา โขยกเขยกนำเราไปย่ำดินปั้นบ้านข้างคันนา

3

มือขาวๆ ของชาวอาสาถูกพอกเอาไว้ด้วยโคลนหนาเตอะและไหลเข้าไปอุดอยู่ในเล็บมือเล็บเท้าอย่างไม่ปรานีปราศรัย อิฐดินแข็งถูกลำเรียงก่อเป็นผนังอาคารห้องสมุด ฉาบผสานด้วยโคลนเหนียวผสมแกลบแทนปูนซีเมนต์ แต่ละก้อนถูกกะเทาะโป๊กๆ เป๊กๆ ให้เรียบทุกด้านด้วยคมมีดพร้าก่อนจะจัดเรียงสลับฟันปลา การก่ออิฐดินมีเทคนิคเฉพาะ ผู้ก่อต้องทุ่มอิฐลงไปแรงๆ บนโคลนเหนียวผสมแกลบให้ได้ยินเสียงดังแผละและเม็ดโคลนกระเด็นกระดอนให้ได้หลบกันพอหอมปากหอมคอ บางคนหลบไม่ทันเลอะหน้าเลอะตา แต่ไม่เป็นไร คิดซะว่าเป็นการบำรุงผิวด้วยการพอกโคลนเหนียวผสมแกลบ ผลจากการย่ำดิน ก่ออิฐกับรอยยิ้มเลอะเทอะท้าทายสบู่เหลวขจัดคราบไคลทำให้ผนังอาคารเริ่มเป็นรูปเป็นร่างกลายเป็นห้องสมุดแก่เด็กๆ รักษ์เขาชะเมา

4

ยามค่ำมาถึง ...

อาคารดินโรงเรียนโรงเล่นถูกแบ่งออกเป็นสองฟากโดยขึงเชือกฟางผ่าโถงจากด้านหน้าไปจรดด้านหลังตามแนวยาว มุ้งด้านซ้ายผูกปลายเชือกเข้ากับผนังด้านซ้ายส่วนอีกด้านผูกกับเชือกฟางกลางห้อง มุ้งด้านขวาผูกปลายเชือกกับผนังด้านขวาส่วนอีกด้านผูกกับเชือกฟางกลางห้อง หันหัวเข้าผนัง หันเท้าเข้าหากัน เพียงเท่านี้ อาคารโรงเรียนโรงเล่นก็แปรสภาพเป็นห้องนอนอันอบอุ่น

 

20080501 สภาพเท้า หลังย่ำดิน
สภาพเท้า หลังย่ำดิน เป็นแบบนี้แหละครับ

20080501 ก่ออิฐต้องให้ได้ยินเสียงดังแผละ
ก่ออิฐต้องให้ได้ยินเสียงดังแผละ

20080501 ย่ำ
ย่ำ ย่ำ ย่ำ

20080501 สัมผัสแผ่วเบาของนักสร้างบ้านดิน
สัมผัสแผ่วเบาของนักสร้างบ้านดิน

20080501 จับมือลงบ่อดิน
จับมือลงบ่อดิน

20080501 หลังจากย่ำดิน (1)

20080501 หลังจากย่ำดิน (2)
หลังจากย่ำดิน ชาวอาสาได้ทดลองหว่านข้าว

20080501 ดูกันก่อน
เฮ! ดูกันก่อน ครายเป็นคราย เอิ๊ก เอิ๊ก

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ใบไม้ปลิดออกจากขั้ว กลายเป็นสีขาวกลางผืนป่าสีเขียว
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
   ฮ่อมดง มองเห็นเป็นพุ่มๆ ริมทาง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ดงน้อยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะหยุดค้างแรม มีห้องน้ำที่ทำด้วยไม้ไผ่สานใบตองตึงต่ออย่างหยาบๆ ในห้องขุดลึกเป็นโพรงราวๆ 3 เมตร ปากหลุมเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เมตร มีไม้พาดระหว่างปากหลุมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งทำธุระทั้งหนักและเบานักเดินป่าสัก 10 คน มาถึงดงน้อยในเย็นวันนั้น อากาศขมุกขมัวทำให้เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน มืดสนิทภายใต้อ้อมกอดของขุนเขาและราวป่า ลูกหาบของคณะเดินป่าชุดนั้นเริ่มอุธทรณ์ เมื่อพวกเขาคิดว่า จะเดินไปอ่างสลุงในคืนนั้น เพื่อให้ทันดูทะเลหมอก“หากพวกคุณจะไป พวกคุณไปได้เลย ลูกหาบ(4 คน)จะพักที่นี่แล้วตามไปพรุ่งนี้”“อ่าว แล้วเราจะเอาอะไรกินคืนนี้” หนึ่งในนั้นเริ่ม…
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมยืนมอง ขาหมูอวบๆ สีน้ำตาลเข้มแช่อยู่ในน้ำพะโล้ที่ร้านพรเพ็ญ(ขาหมูเสวย เจ้าเก่า)มันนอนนิ่งๆ รอคนขายเอามีดมาปาดบางๆ โปะลงบนข้าวให้ลูกค้า ไอร้อนหน้าเตาพอจะช่วยให้เนื้อตัวผมเบาขึ้นจากความหนาวนอกร้านที่กัดกร่อนถึงกระดูก"ซื้อขาหมู 100 บาท ครับ" ผมบอกคนขายแกกำลังวุ่นวายอยู่กับงานขายตรงหน้า ลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาหนาตา แดดสายแหย่ตัวรอดตามช่องชายคา ผมคิดว่า เราน่าจะซื้อขาหมูขึ้นไปกินบนดอยหลวงเชียงดาว...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมเจอ สาม พัน โบก โดยบังเอิญ คุณป้าจากสองคอน รีสอร์ท แกบอกว่าให้ขับรถไปสัก 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย สุดสวนมะขามของอาจารย์เรืองประทิน นั่นแหละอาจารย์เรืองประทิน ชายร่างใหญ่ ผิวสีน้ำตาลไหม้ ผมหยักศกสีดำสนิท ทำให้แกดูขรึมๆ แต่รอยยิ้มที่ออกมาจากดวงตาเล็กๆ คู่นั้น บอกว่า แกเป็นคนมีไมตรี“นาย 2 คน มาจากที่ไหนกัน” แกทักด้วยน้ำเสียงแบบพ่อพิมพ์ภูธร“กรุงเทพฯ ครับ” เพื่อนผมบอก ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปและมาที่นี่ได้ยังไง“โอ้ว นั่น คุณเดินลงไปสำรวจสิ” แกชี้ไปที่กลุ่มโขดหินเว้าแหว่ง ข้างหน้า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทะเลแหวก ที่หาดนพรัตน์ธารา เสียงเครื่องเรือหางยาวออกจากฝั่ง พรายฟองทะเลสีขาวละเอียดแหวกออกเป็นสายตามความเร็วของเรือ ไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา ขอบฟ้ากับผืนน้ำจรดกันแทบเป็นเนื้อเดียวอาสาสมัครลงความเห็นว่า เราควรจะไปทะเลแหวกอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-อ่าวพระนาง หมู่เกาะพีพี หรือ "หาดคลองแห้ง" ตามคำเรียกเดิมของคนพื้นถิ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ทางภูมิศาสตร์ช่วงน้ำลง น้ำคลองซึ่งไหลลงมาจากภูเขาทางด้านเหนือจะแห้งขอด ทรายขาวละเอียดปนเปลือกหอยยาวเหยียดจะโผล่เหนือผืนน้ำ ทอดยาวลงทะเล ก่อนจะบรรจบกับเกาะเขาปากคลอง เข้ากันได้ดีกับทิวสนริมฝั่ง กลายเป็นภูมิทัศน์ชายหาดแปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว ไกลออกไป…