Skip to main content

 

 

 
ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด
 
ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร
 
ผมออกเดินทางอันไม่มีเหตุผลครั้งนี้มาตามคำเชิญชวนแกมบังคับของเพื่อนอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง ที่หายตัวไปในพื้นที่ปลอดสัญญาณโทรศัพท์ได้สามวันแล้ว เพียงเพราะว่าผมเป็นคนที่วันๆ นั่งอยู่แต่หน้าจอสี่เหลี่ยมจึงถูกคาดหมายว่าจะต้องมาเรียนรู้ประเด็นปัญหาของคนในพื้นที่อันห่างไกลบ้าง
 
ผมครึ่งหลับครึ่งตื่นรอคนมารับอยู่ที่จุดนัดหมาย ซึ่งไม่ได้นัดเวลาไว้แน่นอน คงจะเป็นน้ำค้างยามเช้าหรือสายหมอกแห่งขุนเขาที่ทำให้เส้นผมชื้นเปียกอยู่ตลอดเวลา ยิ่งนั่งรอนานเข้า อากาศยิ่งเย็นลง ในหน้าหนาวของดินแดนทางทิศตะวันตกฟ้าสว่างช้ากว่าที่คาดไว้มาก เกือบเจ็ดโมงเช้าแล้วกว่าที่ฟ้าจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอมเทา และอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลังเมื่อผู้คนในเมืองเล็กๆ เริ่มต้นชีวิตของพวกเขากันตามปกติ ขบวนรถขับเคลื่อนสี่ล้อก็มาจอดบริเวณที่เรานัดหมายกันไว้
 
หนึ่งในคณะที่มาแวะรับเตือนด้วยความหวังดีถึงสภาพถนนและฝุ่นสีแดง ที่จะต้องฝ่าฟันไประหว่างทาง และทำให้ผมหวั่นใจเมื่อพูดถึงระยะทาง 97 กิโลเมตรบนถนนลูกรังคดเคี้ยวข้างหน้านั้น ผมกัดฟันโดดขึ้นกระบะหลังพร้อมแจ็กเก็ตตัวหนา กับน้ำครึ่งขวดที่เหลือมาจากรถทัวร์ นึกด่าเพื่อนในใจที่ไม่ได้บอกกล่าวเรื่องเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ตอนชวนมา
 
ช่วงวิ่งฝ่าหมอกขึ้นเขาด้วยถนนลาดยางช่างหนาวจับใจ แต่หลังจากนั้นอากาศก็ร้อนไม่ต่างไปจากภาคอื่นๆ ของประเทศ ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากล้อรถทำให้ต้องนั่งคลุมหัวก้มหน้าหนีฝุ่นและแสงตะวันยามสาย แถมแรงกระแทกที่เกิดจากหลุมบ่อ แรงเหวี่ยงจากความคดเคี้ยวก็ทำให้ยากที่จะงีบได้แม้เพียงสักนิด เส้นทางที่นำเราเข้าไปนั้นรถต้องวิ่งเลียบลำห้วยไปเรื่อยๆ และความคดโค้งก็จะพาสายน้ำมาตัดกับทางวิ่งของรถเป็นระยะ ซึ่งระดับน้ำก็ไม่ใช่ตื้น บางช่วงไม่มีทางบนบก รถต้องวิ่งทวนน้ำไปตามลำห้วยเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร
 
พอผ่านชั่วโมงที่สี่ ความอ่อนล้าจากการเดินทางเข้าครอบงำทุกส่วน การแวะรับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งระหว่างทางทำให้ผมต้องนั่งหดขาอัดอยู่หลังกล่องของบริจาค ขณะที่คนขับต้องหยุดรถเป็นระยะเพื่อถามทาง แต่สุดท้ายรถของเราก็หลงออกไปนอกเส้นทางกว่าสิบกิโลเมตร กว่าจะย้อนกลับมาถึงยังสถานที่จัดงานนั้นรวมแล้วก็ใช้เวลาไปหกชั่วโมงเศษและอาจต้องทิ้งเสื้อสักตัวที่ใส่มา
 
 
 
 
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแม่แพะ คือสถานที่ที่รถหยุด รถยนต์กระบะยกพื้นสูงกว่ายี่สิบคันจอดเรียงรายอยู่ก่อนแล้ว เด็กเล็กเด็กโตวิ่งวุ่นวายอยู่เต็มลาน ชาวเขาเผ่าปกากญอในชุดประจำชาติสีสันสดใส ผู้คนจากหมู่บ้านโดยรอบเดินทางมารวมกันหลายร้อยคนเพื่อรอร่วมกิจกรรมที่ว่ากันว่าไม่เคยมีใครจัดให้พวกเขามาก่อน ได้ยินมาอีกว่ามีชาวบ้านจากหมู่บ้านอูนุเดินเท้ามา 8 ชั่วโมงตั้งแต่เมื่อวานเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน
 
กิจกรรมช่วงบ่ายวันนั้น เป็นงานเสวนาเรื่องการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติโดยมีตัวแทนจากภาครัฐหลายหน่วยงานมาพูดกันด้วยภาษาไทยกลาง ต่างคนต่างอธิบายความตั้งใจอันดีงามของตัวเอง ขณะที่มีชาวบ้านไม่ถึงครึ่งที่พอจะฟังรู้เรื่อง ผมเดินหามุมถ่ายรูปอยู่สักพัก ก่อนฟุบหลับไปบนแผ่นผ้าใบท่ามกลางหลายชีวิตที่นั่งจ้องมองคนจากพื้นราบพร่ำบ่นอย่างมีความหวัง
 
แสงอาทิตย์ลับหายไปหลังขุนเขาอย่างรวดเร็วก่อนที่ธงชาติไทยจะลดลงจากเสา กิจกรรมในช่วงค่ำมีคอนเสิร์ตจากศิลปินปกากญอยอดนิยม มีการแสดงของเยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ และความบันเทิงอีกมากมายต้อนรับผู้มาเยือนจากแดนไกล แต่แม้บรรยากาศอันอบอุ่นกับเพื่อนฝูงรอบกองไฟก็ไม่สามารถรั้งความสนใจของผมไว้ได้นานนัก ผมแอบเข้าเต้นท์เงียบๆ และหลับนิ่งไปในทันที ขณะที่ผู้คนมากมายกำลังเก็บเกี่ยวความรื่นรมย์
 
 
 
 
 
เช้าวันใหม่ ผมเดินฝ่าน้ำค้างที่โปรยปรายไปล้างหน้าแปรงฟันยังลำห้วยที่เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนรถราจำนวนมากได้บุกตะลุยข้ามมา เส้นผมเปียกปอนเสียกว่าตอนนั่งอยู่ที่ท่ารถแม่สะเรียง ลมหนาวปลิวมากระทบใบหน้าให้สั่นสะท้าน ขณะที่สายหมอกสีขาวไต่เรี่ยไปบนผิวน้ำ แต่กลับเว้นพื้นที่บนผิวดินไว้ให้ต้นหญ้าสีเขียวได้รับแสงแรกของวันใหม่ที่ยังคงมาช้าอีกเช่นเคย
 
เมื่อพละกำลังกลับมาเต็มเปี่ยม ผมตกลงกับเพื่อนที่จะจัดกิจกรรมกินวิบากขึ้นเพื่อให้ตัวเองมีประโยชน์คุ้มค่ากับที่บุกบั่นมาแสนไกล หลังรวบรวมเงินลงขันกันได้ น้องเยาวชนคนหนึ่งเดินนำผมไปยังร้านค้าในหมู่บ้าน เราซื้อหาขนมและของแทบทุกอย่างเท่าที่จะนึกได้
 
เกมส์สิ้นคิดประจำงานวันเด็กดำเนินไปอย่างสนุกสนานไม่แพ้ตอนเล่นกันในเมืองกรุง แต่เมื่อแสงแดดตอนสายร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ และเสียงประกาศจผลการจับสลากจากเวทีกลางดึงดูดความสนใจจากผู้คนไปหมด อีกทั้งความเลอะเทอะจากการเล่นที่ทำความสะอาดกันไม่เคยทัน เราโหวกเหวกโวยวายกันได้ไม่กี่รอบก็ต้องพับเก็บ และเอาขนมที่เหลือไปแจกแบ่งกันในกิจกรรมอื่นๆ
 
เวลาเพียงสิบโมงกว่าทีมงานที่มาจัดกิจกรรมต่างๆ เริ่มทยอยเก็บข้าวของ เมื่อผู้มาร่วมงานได้รับของขวัญของรางวัลกันพอใจแล้วก็เริ่มแยกย้าย พอมองซ้ายมองขวาแล้วเห็นว่าหน้าที่ของผมกำลังจะหมด ผมรีบวิ่งไปเก็บเต้นท์ ยัดเสื้อผ้าลงกระเป๋า หาอะไรกินรองท้อง และถ่ายรูปกับเพื่อนๆ
 
จนเมื่อเวลาใกล้เที่ยงรถที่จอดอยู่เริ่มเคลื่อนออกเดินทางเพราะทุกคนต่างก็รู้ดีว่าหากประมาทระยะทางที่รออยู่ข้างหน้าพวกเขาอาจจะไปไม่ถึงพื้นราบก่อนฟ้ามืด ผมกระโดดขึ้นหลังรถคันที่พอจะมีที่ว่าง พร้อมน้ำเต็มขวดกับผ้าขาวม้าคลุมหัวโดยยังไม่ได้บอกลาใคร ผมคงช่วยได้ดีที่สุดเท่านี้สำหรับกิจกรรมที่อาจมีขึ้นครั้งเดียวในชีวิตของใครหลายคน และผมก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งนับจากตอนที่รถจอดครั้งก่อนได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง  
 
 
 
 
ขากลับไม่มีการหลงทางอีกต่อไป แต่แดดและฝุ่นโหมหนักกว่าขามามาก รถทุกคันวิ่งตามกันไม่ห่างมุ่งหน้าสู่ตัวเมือง เมื่อผิวหนังเริ่มร้อนแสบ ปากคอแห้งผาก รถของเราก็พาผมมาถึงเซเว่นอีเลฟเว่นที่ท่ารถพร้อมมีน้ำอัดลมเย็นๆ ได้ภายใน เวลา 4 ชั่วโมงเศษ ซึ่งระยะเวลาช่วงนี้เอง ผมได้รู้จักกับสหายพิเศษสามคนที่นั่งมาในรถคันเดียวกัน
 
มึดา หญิงสาวผู้มีแววตาเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น มีพลังกายพลังใจเข้มแข็ง เธอเป็นคนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพิ่งได้รับสัญาชาติไทยจากทางราชการเมื่อปีกว่ามานี้ การต่อสู้เพื่อให้ได้รับสัญชาติของเธอเป็นตัวอย่างให้กับใครหลายคนในปัจจุบัน
 
ซิ่ง หนุ่มตัวเล็ก มาดกวน ท่าทางคล่องแคล่ว อัธยาศัยดี เป็นคนมาไกลจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
 
เบิร์ด หนุ่มมาดกวนอีกคน ผู้เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน มาจากอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่าเป็นเจ้าถิ่นแถวนี้ก็ว่าได้
 
ทั้งสามคนเป็นชาวปกากญอโดยกำเนิด ดูจากบุคลิกท่าทางถ้าไม่ได้ยินตอนคุยกันด้วยภาษาของตัวเองก็จะไม่รู้ว่าต่างจากคนพื้นราบทั่วไป พูดภาษาไทยกลางชัดไม่มีตำหนิ ทั้งสามคนยังเป็นสมาชิกของชมรมหัวรถไฟ กลุ่มกิจกรรมเล็กๆ ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่มึดาเป็นคนก่อตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ทางนิติศาสตร์ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ
 
ชมรมหัวรถไฟยกทีมกันเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมงานวันเด็กไร้สัญชาติครั้งนี้ก่อนผมหลายวัน โดยเป็นอาสาสมัครลงพื้นที่เข้าไปอยู่กินกับชาวปกากญอในหมู่บ้านที่ไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่ประเทศไทยเพราะ "ตกสำรวจ" จากทางราชการ เพื่อสัมภาษณ ์เก็บข้อมูลของบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ โดยต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว เทือกเขาเหล่ากอ ญาติพี่น้อง ประวัติการตั้งถิ่นฐานของแต่ละบุคคลคน พร้อมทั้งหาพยานมารับรอง เพื่อนำหลักฐานทั้งหมดยื่นขอสัญชาติต่อตัวแทนของผู้มีอำนาจในวันงาน
 
ภารกิจนี้ฟังดูท้าทาย แต่คงลำบากทีเดียวถ้าเป็นคนเมืองกระจอกๆ อย่างผม การไปสัมภาษณ์ชาวบ้านไปอยู่กินเป็นเวลาหลายวันคงต้องพบกับอุปสรรคทางภาษา วัฒนธรรม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความลำบากในการเดินทางบุกป่าฝ่าดง นี่คือภารกิจที่ต้องการคนรุ่นใหม่ ที่ยังมีไฟมีใจอาสา มีทักษะกับงานเอกสารข้อมูล เข้าใจกฎหมายของรัฐไทย พูดภาษาถิ่นได้และเข้าใจปกากญอ
 
ผลงานของทีมงานที่ลงพื้นที่กว่า 60 คน รวบรวมข้อมูลของบุคคลได้กว่า 300 ชีวิต อาจจะช่วยให้รัฐไทยยอมรับการมีตัวตนอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ขึ้นมาได้บ้าง...
 
ผมก้าวขึ้นรถเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านของผมในเมืองหลวงตอนที่อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง รถทัวร์จะวิ่งออกจากแม่สะเรียงตอนหกโมงเย็น เพื่อไปให้ถึงกรุงเทพตอนหกโมงเช้า มึดากับซิ่งและเพื่อนของผมอีกคนนั่งรถตู้ไปเชียงใหม่ ส่วนเบิร์ดมีคนมารับจึงแยกไปต่างหาก เรากินข้าวเย็นง่ายๆ กันที่ท่ารถ ก่อนที่แต่ละคนจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายของตัวเอง ผมมอบรอยยิ้มให้พวกเขาก่อนจากกันแทนคำชื่นชม
 
 
 
 
 
รถหยุดลงที่โค้งไหนสักแห่งบนถนนนับพันโค้งห่างจากแม่เสรียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ท้องฟ้ามืดสนิททันทีตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับหายไป นอกหน้าต่างรถมีแต่ความมืดกับความสงสัย เจ้าหน้าที่สองคนในชุดลายพรางกับเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเดินขึ้นมาบนรถพร้อมไฟฉาย
 
"ขอดูบัตรด้วยครับ"
 
ทุกคนล้วงกระเป๋าควักหลักฐานแสดงตัวตนออกมาทั้งที่เต็มใจบ้าง หงุดหงิดบ้าง ผมยื่นพลาสติกแข็งสีฟ้าในซองสีขาวขุ่นให้อย่างมั่นใจ สามนาทีต่อมาล้อก็หมุนอีกครั้งโดยไร้ปัญหาใดๆ เพราะทุกคนในรถเป็น "คนไทย" ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย
 
ผมย้อนนึกถึงคนหนุ่มสาวประมาณ 20 คนจากหมู่บ้านอูนุที่เมื่อวานพวกเขานั่งเกาะกลุ่มกันนิ่งเงียบบตลอดการเสวนาเพราะไม่มีใครฟังภาษาไทยกลางได้ เมื่อเวทีเปิดให้ซักถาม ตัวแทนคนหนึ่งลุกขึ้นยืนอ่านกระดาษเก่าๆ ที่เขียนมาเป็นภาษาปกากญอ มีผู้แปลเป็นไทยให้ฟังว่าพวกเขาเป็นตัวแทนมาจากหมู่บ้านที่ไม่มีใครเข้าถึง และเดินเท้ามาเพื่อขอให้ช่วยให้พวกเขาได้รับสัญชาติไทย
 
การให้สัญชาติแก่ชาวเขา เคยถูกโต้แย้งด้วยแนวคิดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการเอารัฐสมัยใหม่ไปให้กับกลุ่มคนที่เคยมีวิถีชีวิตอันเรียบง่ายสงบสุขอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นการพาโลกาภิวัฒน์เข้าไปทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม แนวคิดดังกล่าวนั้นมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่นาทีนี้ผมมองว่าเป็นวิธีคิดที่มาจากฐานการมองมนุษย์ทุกคนอย่างไม่เท่ากัน
 
ชีวิตที่อาจถูกจับว่าเป็นคนต่างชาติอยู่ทุกเมื่อจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ได้อย่างไร ชาวหมู่บ้านอูนุคงไม่มีสิทธิแม้เพียงเหยียบลงมาในเมืองไม่ว่าเขาจะอยากมาหรือไม่ การเรียกร้องสัญชาติอาจไม่ได้หมายถึงการอยากเป็นคนเมืองอย่างเราๆ ไม่ใช่การร้องขอการศึกษา โทรศัพท์ น้ำประปา หรือแผ่นกระดาษสักใบ แต่เป็นการป่าวประกาศหาสิทธิ หาศักดิ์ศรีการมีอยู่ของตัวตน หาการยอมรับจาก “เพื่อน” ที่อยู่ห่างไปหลายร้อยกิโลเมตรว่าต่างก็เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันและมีชีวิตอยู่ร่วมบนผืนแผ่นดินเดียวกัน
 
สักวันหนึ่งหากพวกเขาต้องเดินทางเข้ามาในเมืองพวกเขาควรจะไม่โดนจับ หากพวกเขาต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐพวกเขาควรจะต้องมีสิทธินั้น หากพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมพวกเขาควรจะอ้าปากเรียกร้องมันโดยบอกได้ว่าตัวเองเป็นใคร และหากวันหนึ่งเมื่อชีวิตของพวกเขาสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไปแล้ว พวกเขาก็จะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง อย่างที่มึดา ซิ่ง และเบิร์ด กำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน
 
 
 
 
รถทัวร์วิ่งฝ่าความมืดลัดเลาะไปตามทางบนเทือกเขาสูงอย่างชำนาญ หันหลังให้อีกหลายต่อหลายชีวิตบนยอดดอยที่ในใจยังร่ำร้องส่วนที่ขาดหายไปตามแต่ความต้องการของแต่ละคน ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศบาดผิวหนังกว่าความเย็นชุ่มชื่นที่มากับสายหมอก ทำให้ใจยังไม่ปล่อยวางจากเรื่องราวที่พบเจอระหว่างการเดินทางอันยาวไกล แผ่นหลังและต้นขาปวดเมื่อยจากการนั่งรถที่รวมแล้วจะเป็นระยะเวลา 34 ชั่วโมงเต็มๆ ผมหันไปสบตากับเพื่อนที่ยังไม่หลับเช่นกัน
 
“รู้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าย้อนเวลาได้จะเปลี่ยนใจไม่มาไหม?”
“ไม่” คำตอบชัดเจนมาก “ไมอ่ะ แกจะเปลี่ยนใจเหรอ”  
“ไม่รู้สิ ก็ไม่มั้ง” ผมตอบท่ามกลางความเมื่อยล้า สิ่งเดียวที่คิดตอนนั้นคือการเดินทาง 34 ชั่วโมงในเมืองสามหมอกเพื่อมาเล่นกินวิบากไม่กี่รอบ การได้พบเจอสหายที่น่าชื่นชมทั้งสามคน และเรื่องราวชีวิตของผู้คนอีกมากมาย ได้ช่วยให้คนที่อยู่แต่ในห้องเล็กๆ กลางเมืองหลวงคนหนึ่งเติบโตขึ้นมากทีเดียว

 

ป.ล. ขอบคุณ ตอง เอก ฝัน ผู้ร่วมเดินทาง และขอบคุณพี่นิ้ว(เจ้านาย) พี่แพท เจ๊ ที่เป็นกำลังใจให้เขียนจนเสร็จ

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่