Skip to main content



หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 

แสงแดดยามสายเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ และขยายกำลังเข้าแผดเผาผิวหนังของเด็กกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ทำให้ผมเริ่มเอ่ยปากถามพี่สาวชาวใต้ที่อยู่ท้ายรถด้วยกัน

“นี่เรากำลังจะไปไหนครับ” ผมถาม

“หม่ายรู่” เธอตอบ และอธิบายเส้นทางอีกนิดหน่อยด้วยภาษาใต้แต่ผมฟังไม่เข้าใจ

หลายชั่วโมงก่อนหน้านี้ ผมออกเดินทางด้วยความอยากจะมาเรียนรู้และติดตามกิจกรรมคัดค้านการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา โดยที่ตอนออกเดินทางผมก็ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ตรงไหนของประเทศไทย ไม่รู้ว่ามันจะไกลขนาดนี้ และไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังคัดค้านนั้นมันไม่ดีอย่างไรกันแน่ 

ทันทีที่มาถึง ขบวนรถรณรงค์ มอเตอร์ไซค์ และซาเล้งติดธงสีเขียวสดจำนวนมากก็ตั้งท่าพร้อมอยู่แล้ว เมื่อพวกเขาเคลื่อนขบวน ด้วยความกลัว “ตกขบวน” ผมจึงโดดขึ้นหลังรถกระบะของใครก็ได้ เลือกเอาคันที่ดูแล้วน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนและก็นั่งดูบรรยากาศมาเรื่อยๆ ตลอดทาง มีกล้องห้อยคออยู่หนึ่งตัวเห็นอะไรก็เลยกดๆๆๆ ไปแก้ว่าง

เท่าที่รู้ “ท่าเรือปากบารา” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สะพานเศรษฐกิจอันดามัน-อ่าวไทย” หรือ Land Bridge ที่จะขุดเจาะน้ำมันจากทะเลฝั่งอันดามัน ทำท่าเทียบเรือมาขึ้นที่หาดปากบารา สร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บริเวณนี้ วางท่อส่งน้ำมัน สร้างทางรถไฟ ทำถนน เพื่อขนส่งสินค้าทางบกข้ามฝั่งไปลงทะเลอีกครั้งที่ท่าเรืออำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่ชดเชยความฝันของการขุด “คอคอดกระ” ได้ดีทีเดียว

เหตุที่คนแถวนี้อาจจะไม่ค่อยชอบเพราะต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้านจำนวนมาก ต้องระเบิดภูเขา ดูดทรายจากหลายพื้นที่เพื่อนำไปถมทะเล สร้างเป็นท่าเรือยื่นลงไปในทะเลตรงเขตที่เป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและมีแนวปะการังสวยงาม

ที่มาภาพ skycrapercity

ก่อนมาผมเคยเห็นข่าวโครงการนี้แบบผ่านๆ ทางเว็บไซต์แนวรณรงค์ของเอ็นจีโอ ผมเห็นการเคลื่อนไหวเจ๋งๆ หลายครั้งของคนคัดค้าน และแอบคิดว่าโครงการท่าเรือนี้ไร้สาระมาก จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเพิกถอนอุทยานแห่งชาติสวยๆ มาสร้างท่าเรือ ทำลายระบบนิเวศน์ ทำหลายแหล่งหากินของชาวประมง แถมมาบุกบ้านของคนใต้ที่มีนิสัยพื้นฐานเป็นคนดุดัน จริงจัง ห้าวหาญ อย่างเช่น คนในพื้นที่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ก็เคยยืนหยัดคัดค้านโครงการต่างๆ มามากมายแล้ว ผมเชื่อว่าคนสตูลคงไม่มีทางยอมและจะผนึกกำลังขวางทางมันได้อย่างแน่นอน ผมจึงมาติดตามดูพลังเหล่านั้น

ขบวนรถติดธงสีเขียววิ่งรณรงค์ไปตามหมู่บ้าน ลัดเลาะผ่านสวนยางพารา สวนปาล์ม ทุ่งนา เพื่อชักชวนชาวจังหวัดสตูลให้ไปร่วมกิจกรรมลงนามสัญญาประชาคมหนึ่งหมื่นคนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 หรือในวันรุ่งขึ้น ธงสีเขียวสดใสปลิวไสวตามแรงลมเมื่อรถวิ่ง ทำให้ปรากฏเป็นภาพถนนสีเขียวสายยาวบ่งบอกถึงความพร้อมที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม 

เด็กๆ วัยรุ่นในขบวนส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเฮฮาตลอดทาง บางจังหวะก็มีคนตะโกนว่า “ท่าเรือน้ำลึก” แล้วคนอื่นๆ ตะโกนรับว่า “ออกไป!” รถติดเครื่องเสียงที่วิ่งนำขบวนหยุดเป็นระยะๆ เพื่อประกาศประชาสัมพันธ์ ส่วนผู้คนที่ร่วมขบวนก็หาเรื่องคุยสนุกสนานไปตลอดทางโดยไม่ต้องสนใจว่าที่สี่แยกข้างหน้าขบวนจะเลี้ยวไปทางไหน หรือจะหยุดลงเมื่อไร

ขบวนธงสีเขียวยังเคลื่อนที่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่เกรงกลัวแสงแดดในยามสาย เสียงคนโห่ร้องยังมีให้ได้ยินเป็นระยะๆ จากหัวแถว ชั่วขณะหนึ่งผมเชื่อว่า เพียงแค่คนหลายร้อยคนกับรถหลายร้อยคันพร้อมใจมุ่งไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกันได้เรื่อยๆ เช่นนี้ โดยที่ทุกคนตระหนักดีถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทาง แม้ไม่จำเป็นต้องมีเส้นทางที่แน่ชัด แต่พวกเขาก็จะต้องไปถึงจุดหมายของพวกเขาได้ในสักวัน

มีคนคิดไม่เหมือนผมเกี่ยวกับเรื่องขบวนธงเขียว

เธอชื่อ น้องเฟิร์น 

น้องเฟิร์น เป็นลูกสาวของบ้านหลังที่ผมมาขออาศัยหาที่หลับนอนสำหรับสองสามวันของผมที่สตูล น้องเฟิร์นเป็นเด็กสาววัยรุ่นตาโต ผมยาว ดูผ่านๆ ไม่รู้ว่าเป็นคนสตูลแท้ๆ โดยกำเนิด เพราะผิวพรรณขาวใสเหมือนเด็กกรุงเทพฯ มากกว่าเด็กใต้ ได้ข่าวว่าความสวยติดอันดับเป็นดาวโรงเรียนประจำอำเภอละงู ตอนนี้เฟิร์นเรียนอยู่ชั้นม.6 ผลการเรียนดี และกำลังจะตัดสินใจเลือกคณะเรียนต่อ ผมเริ่มคุยกับเธอก็เพราะเราถามไถ่กันเรื่องการเลือกคณะในมหาวิทยาลัย น้องเฟิร์นอยากเข้าธรรมศาสตร์ อยากไปเรียนกรุงเทพฯ และมักจะพูดล้อเล่นว่าเธอเป็นเด็กธรรมศาสตร์

น้องเฟิร์นเล่าว่า วันที่คนอื่นไปขี่รถรณรงค์กัน ทั้งที่เพื่อนของเธอก็ไปด้วย แต่เธอเลือกที่จะไปเที่ยวเล่นที่จังหวัดสงขลา เพราะเธอไม่เชื่อว่าการรณรงค์ให้คนออกมาร่วมกิจกรรมด้วยวิธีการนี้จะได้ผล เธอบอกว่าเท่าที่เธอเห็นมา คนสตูล ทุกคนรู้สึกเหมือนกันว่าไม่อยากได้ท่าเรือน้ำลึก แต่คนที่กล้าออกมาคัดค้านมีน้อย คนส่วนใหญ่เอาแต่เก็บตัวไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ดังนั้นเธอจึงคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปเรียกร้องเอาอะไรกับคนเหล่านั้น ทั้งที่เธอเองก็คัดค้านท่าเรือร้อยเปอร์เซ็นต์โดยสายเลือดอยู่แล้ว

บ้านของน้องเฟิร์นที่ผมพักอาศัยอยู่นี้เอง คือบ้านที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนคัดค้านท่าเรือ นอกจากน้องเฟิร์นแล้วสมาชิกในครอบครัวยังมี “บังดีน” พี่ชายอายุต่างกัน 10 ปีของเธอ หนุ่มใต้เจ้าสำอางขับรถเก๋งซิ่งโหลดต่ำ ผู้เลี้ยงแมวพันธุ์เปอร์เซียผสมไว้เกือบสิบตัว แม่ของน้องเฟิร์นที่ผมเรียกว่า “มะ” ส่วนพ่อของเธอนั้นหายสาบสูญไปเฉยๆ เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ 

แม่ของน้องเฟิร์นมีพี่น้อง 6 คน พี่คนโตเสียไปแล้ว ส่วนมะเป็นคนที่สอง คนที่สามนั้น น้องเฟิร์นเรียกว่า “หยังหวันหลา” ผมนับญาติไม่ถูกก็เลยเรียกตาม หยังหวันหลาเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มกว้าง มีพลังเหลือเฟือ เธอจะทักทายอย่างเป็นกันเองกับผู้มาเยือนทุกๆ คน ตอนนี้หยังหวันหลาไม่ได้ประกอบอาชีพนอกบ้าน งานของเธอคือการปลูกต้นไม้ แต่งสวน ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาอยู่ในบริเวณบ้านของพวกเขา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารให้คนในบ้านกินกันเองโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหาจากข้างนอก

คนที่สี่ ผมเรียกว่า “บังไกร” หรือไกรวุฒิ ชูสกุล แกนนำชาวบ้านที่เป็นตัวตั้งตัวตีเดินหน้าค้านการก่อสร้างท่าเรือ บังไกรเป็นชายหนุ่มที่ดูเรี่ยวแรงดี คล่องแคล่ว รู้จักทะเลเป็นอย่างดี ขยันเรียนรู้ติดตามข่าวสาร พูดภาษากลางชัด และสามารถจับไมค์บนเวทีเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่คนสตูลรู้สึกออกไปได้อย่างชัดเจน บังไกรเคยทำประมงมาก่อนแต่ตอนนี้มีอาชีพดูแลนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวยังเกาะต่างๆ อยู่ที่ท่าเรือท่องเที่ยวชายหาดปากบารา ซึ่งก็ต้องหยุดงานเป็นพักๆ เพื่อมาทำหน้าที่แทนคนสตูลที่เหลือ 

น้องคนที่ห้าผมเรียกว่า “น้ายา” แต่เฟิร์นเรียกเป็นภาษาใต้ปนมลายูว่า “จิ๊ยะ” น้ายาดูบุคลิกเป็นสาวสมัยใหม่ ท่าทางทะมัดทะแมง แต่งตัวแบบสากลนิยม เพราะเธอทำธุรกิจท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก และเป็นเจ้าของรีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ น้ายาดูเผินๆ เหมือนคนเมืองมากกว่าชาวบ้านอย่างมะ หรือ บังไกร ส่วนน้องคนสุดท้ายของบ้านนี้น้องเฟิร์นเรียกว่า “ฉูหนา”  เป็นเกษตรกร ผมยังไม่มีโอกาสได้รู้จักมากนัก 

แม่ของน้องเฟิร์นต่างกับพี่น้องคนอื่นๆ เล็กน้อย คือ มะจะไม่มีนิสัยกล้าๆ บ้าบิ่นเหมือนหยังหวันหลากับบังไกร มะมีบุคลิกเหมือนชาวบ้านธรรมดาๆ ที่วิตกกังวลและขี้กลัว โอบอ้อมอารี มะเป็นสาวชาวใต้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นและกลัวทะเล มะไม่ค่อยชอบออกจากบ้านและไม่ยอมไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะเพราะไม่กล้านั่งเรือ มะเคยเป็นแม่ครัวเอกอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่เพิ่งลาออกมาเพื่อทำหน้าที่ดูแล “หวัน” หรือตาของน้องเฟิร์นที่ตอนนี้นอนห้อยสายยางอยู่กับบ้านออกไปไหนไม่ได้ แถมเวลานอนบางครั้งจะเพ้อเหมือนพยายามพูดอะไรสักอย่างที่ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

พี่น้องครอบครัวนี้ปลูกบ้าน 3-4 หลังอยู่ในบริเวณเดียวกัน พวกเขาเป็นตัวแทนของคนทุกประเภทที่จะเดือดร้อนจากการเกิดขึ้นของท่าเทียบเรือน้ำลึก จึงเป็นพวกเขานี่แหละที่ลงมือทำงานประสานงาน และลงแรงจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความคิดของคนสตูล ยืนยันสิทธิของเจ้าของพื้นที่ และบ้านบริเวณที่ผมมาขออาศัยอาบน้ำและหลับนอนนี้เองก็เป็นทั้งจุดกำเนิดและศูนย์กลางการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนกันเข้าออกตลอดทั้งวัน

บังไกรเองก็เห็นด้วยกับความคิดของน้องเฟิร์น บังไกรเล่าว่าเมืองสตูลเป็นเมืองที่สงบและคนสตูลเป็นคนรักสงบ คนที่นี่ไม่เคยเจอกับความขัดแย้ง การประท้วง หรือกิจกรรมอะไรแบบนี้มาก่อน คนที่รับรู้ข้อมูลก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการทั้งนั้นแต่ยังไม่ตื่นตัวพอที่จะลุกขึ้นมาคัดค้าน ขณะที่หยังหวันหลาบอกว่า อยากให้คนที่ไม่แสดงตัวได้ลองโดนกับตัวเองเสียบ้าง บางทีถ้าโครงการได้เดินหน้าก่อสร้างจริงๆ วันนั้นคนถึงจะเริ่มรู้สึกเดือดร้อนกัน

ผมถามมะว่าเครียดไหมกับการต้องมาเคลื่อนไหวคัดค้านท่าเรือ 

“เครียด” มะตอบทันทีด้วยสีหน้ากังวล มะบอกว่าไม่รู้ว่าถ้าแพ้แล้วสุดท้ายจะอยู่กันอย่างไร ข้อมูลประกอบคำตอบคือ บ้านของครอบครัวนี้อยู่ในเขตที่จะต้องถูกเวนคืนด้วยเพื่อขยายถนนให้กว้างขึ้น

ผมถามว่า ถ้าจ่ายเงินให้เยอะๆ แล้วหาที่อยู่ใหม่ให้ในเมืองจะเอาไหม มะตอบว่าไม่เอา เพราะมะไม่ชอบไปอยู่ในเมือง อยากอยู่ที่นี่ ขณะที่น้องเฟิร์นยิ้มอย่างดีใจว่าจะได้ไปอยู่กรุงเทพฯ ผมเลยบอกน้องเฟิร์นว่า ตัวผมเองเกิดกรุงเทพมีบ้านอยู่กรุงเทพ แต่ผมกลับอยากมีบ้านต่างจังหวัดบ้าง ถ้าหากให้ไปอยู่กรุงเทพบ้างแต่ยังมีบ้านให้กลับก็คงดี แต่ถ้าไม่มีบ้านให้กลับแล้วจะดีจริงเหรอ? น้องเฟิร์นทำหน้ายิ้มตอบแบบเศร้าๆ

ส่วนหยัวัลลลาตอบชัดเจน “โอ๊ย!... ไม่เอาหรอก ถ้าให้อยู่แบบไม่มีต้นไม้แบบนี้นะ อยู่ไม่ได้หรอก” เธอพูดพลางเงยหน้ามองต้นเงาะที่กำลังออกผลเล็กๆ สีเขียวอ่อนๆ เต็มต้น แต่หยังหวันหลาบอกว่าเธอไม่รู้สึกเครียด เพราะเธอรู้สึกว่าการทำงานแบบนี้ทำให้รู้สึกสนุกดี “ถ้าไม่มีอะไรแบบนี้สิ ก็ไม่รู้วันๆ จะไปทำอะไร” และที่สำคัญนี่คือแผ่นดินของเธอเอง ถ้าเธอไม่ทำแล้วจะให้ใครมาทำ

ผมถามด้วยว่า ทำงานแบบนี้เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตบ้างหรือเปล่า หยังหวันหลาตอบทันทีด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่าอันตรายเหมือนกันนะ และเธอเล่าให้ฟังว่า เคยถูกขู่สารพัดมาแล้วแต่คนบ้านนี้ไม่กลัว ขณะที่บังไกรเล่าว่าเคยมีคนเอาปืนวางมาให้ แต่เขาตอบกลับไปว่า “คุณมีปืนแต่ผมมีจุดสามห้าเจ็ด จะเอาไหม” บังไกรไม่เคยมีแววแห่งความหวาดกลัวในแววตา สีหน้า และท่าทาง ทั้งที่แกมีศัตรูอยู่เต็มเมืองสตูลซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ได้ผลประโยชน์จากการก่อสร้างโครงการ

คืนก่อนวันงาน แม้จะเป็นเวลาเที่ยงคืนแล้วแต่ทุกคนก็ยังนั่งล้อมวงคุยกันอย่างยิ้มแย้ม พี่คนหนึ่งเปิดเฟซบุ๊คที่ลงโฆษณากิจกรรมไว้และอ่านคอมเม้นต์ให้ทุกคนฟังร่วมกัน หลายข้อความเป็นการให้กำลังใจน่ารักๆ ช่วยเพิ่มรอยยิ้มให้กับทีมงานที่จะต้องแบกภาระหนักในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า บางข้อความแม้ไม่ค่อยสบอารมณ์นักแต่พวกเขาก็บ่นแบบเย้ยเยาะให้กันฟังได้ บังไกรเอาหมอนมาหนุนและผล็อยหลับไปในวงนั้น พวกเขาเตรียมงานกันอย่างง่ายๆ แบ่งงานกันตามประสาชาวบ้าน ไม่มีระบบระเบียบอะไรมากมาย แม้จะเป็นงานใหญ่แต่ก็ไม่ต้องเนี๊ยบเป๊ะเหมือนงานเวทีของออร์กาไนเซอร์เอกชน ไม่มีต้องเคร่งเครียด หนักใจหรือทุกข์ร้อนอะไร

บนฝาบ้าน ตรงเฉลียงที่สมาชิกนั่งล้อมวงกันมีธงสีเขียวผืนหนึ่งติดอยู่ และมีข้อความเขียนด้วยลายมือวัยรุ่น ไม่รู้ว่าใครเขียน ข้อความนั้นบอกว่า “อย่าได้ท้อแท้ อย่าได้เสียใจ ท่านย่อมเป็นผู้ที่เหนือกว่า หากท่านคือผู้ศรัทธาที่แท้จริง...”

บ้านเล็กๆ หลังหนึ่งที่ใกล้วันจัดงานมีเอ็นจีโอและนักข่าวมานอนอยู่เต็มบ้าน มีรถราหลายคันวิ่งเข้าออก มีนักศึกษาแวะเวียนมาถามไถ่งาน มีธงสีเขียวติดไม้ไผ่กองใหญ่ๆ มีเด็กเล็กๆ ลูกหลานเจ้าของบ้านวิ่งเข้าออก มีน้ำเปล่ากับถุงห่อข้าวที่เหลือแจกจากกลางวัน คือบ้านเล็กๆ หลังนี้ที่ผมจะขออาศัยนอนสักสองคืน

มีเรื่องหนึ่งที่ผมคาดการณ์ถูก คือ โครงการก่อสร้างท่าเรือนั้นฟังแล้วรับไม่ค่อยได้ และมีเรื่องหนึ่งคือผมคาดการณ์ผิด คือ ไม่ใช่ว่าคนสตูลทั้งจังหวัดจะเข้มแข็งพอลุกขึ้นมาผนึกกำลังแน่นหนาเพื่อขวางโครงการ ความจริงแล้วผู้นำในการส่งเสียงเรียกร้องก็เป็นเพียงครอบครัวเล็กๆ ของคนธรรมดาที่ทำมาหากินตามปกติครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่พวกเขากล้าพอที่จะเอาสมาชิกทุกคนในครอบครัวเข้าไปตั้งขวางทางปืนของวาทะกรรม “การพัฒนาชาติ”

ความกล้าหาญบนชีวิตจริงของพวกเขา ทำให้ผมตั้งคำถามถึงความด้อยคุณค่าของตัวเองที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเพื่อพวกเขาได้บ้าง และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งผมคงรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าสิ้นดีหากละเลยไม่ได้จดจารและถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้ 

 

ตัวอย่างแมวเปอร์เซียที่บ้านเลี้ยงไว้

 

……………………………………..

 

บ่ายสองโมงกว่าๆ ของวันแรกในจังหวัดสตูล ขบวนรถมาหยุดตรง “ลาน 18 ล้าน” ลานกิจกรรมสาธารณะบริเวณชายหาดปากบารา เพื่อนเล่าให้ผมฟังว่าบริเวณนี้แหละคือพื้นที่ที่จะใช้สร้างท่าเรืออุตสาหกรรมอันยิ่งใหญ่ โดยเกาะลูกที่เห็นอยู่ตรงหน้าเรียกว่าเกาะเขาใหญ่ ที่อยู่ไกลหน่อยคือเกาะตะรุเตา ซึ่งความรู้เก่าผมบอกว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยระดับเวิลด์คลาสมาก ถัดจากตะรุเตาคือเกาะลังกาวีเป็นส่วนของมาเลเซียแล้ว และส่วนที่อยู่ไกลออกไปอีกก็จะเป็นเกาะหลีเป๊ะสุดเขตแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว

ส่วนช่องแคบๆ ที่ให้เรือเดินผ่านได้ระหว่างเกาะเขาใหญ่นั้นเองคือช่องที่เรียกว่า “ปากบารา” เพื่อนผมโม้ให้ฟังว่าตอนเย็นพระอาทิตย์ก็จะตกตรงช่องแคบๆ นั้นพอดี ผมคิดในใจว่ามันคงจะเป็นภาพที่สวยเกินเหตุอยู่เหมือนกัน ผมจึงยกกล้องขึ้นกดภาพนี้ไว้สำหรับตอนกลางวัน และตั้งใจว่าจะตั้งกล้องหามุมแจ่มๆ รอถ่ายภาพแสงสวยๆ ตอนพระอาทิตย์ตกระหว่างช่องเขาให้ได้ เพราะแอบคิดว่าภาพสวยเว่อร์ๆ เพียงภาพเดียวก็อาจตอบคำถามได้แล้วว่าทำไมถึงไม่อยากให้มีท่าเรือมาวางขวางอยู่ตรงนี้

ประมาณสี่โมงของวันแรก ผมออกไปเดินเล่นเพื่อเฝ้ารอการเคลื่อนตัวของพระอาทิตย์ แต่ผมก็เห็นว่าพระอาทิตย์ลอยจ้าอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ตรงกับช่องนั่นเท่าไร ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เมื่อมันเลื่อนต่ำลงมาแล้วจะเลื่อนไปลงตรงช่องพอดีได้ ผมเริ่มสงสัยแล้วว่าเพื่อนของผมมาอยู่ใต้นานเลยชักจะออกทะเลมากไปหน่อยหรือเปล่า ผมได้แต่รอดูคำตอบเพื่อให้เห็นกับตาตัวเอง

แต่ยังไม่ทันถึงเวลาเฉลยผมก็ถูกลากขึ้นรถไปที่อื่น และระหว่างทางนั้นเราแวะถ่ายวีดีโอทำคลิปเพื่อโปรโมตงาน หลังจากถ่ายเสร็จเราต้องรีบไปนั่งตัดต่อกันทันทีเพื่อจะโหลดขึ้นยูทูปให้เร็วที่สุด วันนั้นแสงอาทิตย์ลับหายจากท้องฟ้าไปขณะที่ผมยังนั่งจ้องโปรแกรมตัดต่ออยู่ในสำนักงานอะไรสักแห่งหนึ่งด้วยความร้อนรน วันนี้คำตอบเดินทางหนีผมไปแล้ว แต่ยังไงเสียวันรุ่งขึ้นพระอาทิตย์ก็ต้องตกให้เห็นอีกครั้งแน่ๆ 

เช้าวันที่ 10 มิถุนายน 2555 วันกำหนดนัดทำสัญญาประชาคมไม่เอาท่าเรืออุตสาหกรรมของคนสตูล รถคันแล้วคันเล่าขับออกไปจากบริเวณบ้านของแกนนำมุ่งหน้าไปยังสถานที่จัดงาน ส่วนผมกับเพื่อนและน้องเฟิร์นนั่งรถเก๋งติดสติ๊กเกอร์เฟี๊ยวฟ๊าวผู้ผ้าเขียวของบังดีนออกจากบริเวณบ้านเป็นคันสุดท้าย เพราะน้องเฟิร์นใช้เวลาเกือบชั่วโมงไปกับการเลือกชุด วันนี้มะบอกว่ามะไม่ไปด้วยเพราะต้องมีคนอยู่เฝ้าหวันและเฝ้าบ้าน ส่วนพี่ๆ เอ็นจีโอและบังไกรล่วงหน้าไปก่อนนานแล้ว

หยังหวันหลามอบหมายให้ผมนั่งเฝ้าที่โต๊ะสำหรับลงชื่อ “สัญญาประชาคม” รอรับประชาชนทั่วสารทิศที่จะมาร่วมงาน ขณะที่มีพี่อีกคนมานัดหมายกับผมเรื่องการถ่ายวีดีโอของวันนี้ จากที่มาถึงสตูลแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ผมค่อยๆ กลายเป็นคนยุ่งคนหนึ่งขึ้นมาเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ดีผมยังเฝ้ารอการถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก ด้วยความมั่นใจว่าวันนี้มีกิจกรรมถึงตอนเย็น ผมจึงไม่น่าจะถูกลากไปที่ไหนได้อีกเป็นแน่

ช่วงสายถึงบ่ายฟ้าใสแจ๋วไร้เมฆ แดดริมทะเลจ้าจัดเกินทนทาน ผมเดินถ่ายวีดีโอสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้คนจนได้ผิวสีใหม่มา “แทน” ผิวสีเก่า ทั้งคนเฒ่าคนแก่ เยาวชน ผู้นำศาสนาในท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว เอ็นจีโอ นักวิชาการ รวมทั้งแขกจากต่างถิ่นที่แวะเวียนมาร่วมกันลงนาม ผมได้ฟังเหตุผลของการคัดค้านหลายแง่มุม ส่วนใหญ่แล้วจะให้เหตุผลในเรื่องของธรรมชาติที่สวยงาม การท่องเที่ยว ความสงบของเมืองสตูล ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ฯลฯ คนที่นี่ไม่ค่อยกล่าวอ้างถึงวิถีของตัวเองว่าจะต้องสูญเสียไปอย่างไรหากท่าเรือน้ำลึกมาตั้งอยู่

พอเหนื่อยจากถ่ายวีดีโอผมก็จะแวะเวียนมาหาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่โต๊ะลงชื่อ บรรยากาศที่โต๊ะนี่เจ๋งกว่าที่คาดไว้มาก คนจำนวนมากที่ไม่รู้จักกันเดินทางมาจากไหนก็ไม่รู้ พวกเขาอาจจะไม่มีเวลาอยู่ฟังเวทีเสวนาจนจบ พวกเขาอาจะไม่สู้แดดพอยืนเชียร์คนปราศรัย พวกเขาอาจจะไม่กล้าพอลุกขึ้นมาเป็นคนจัดงานเอง แต่พวกเขาคิดเป็นและเชื่อเป็น จึงเดินทางมาในฐานะปัจเจกชนเพื่อร่วมลงชื่อใน “สัญญาประชาคม” แสดงเจตจำนงของตนเองว่าไม่ต้องการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แต่ขอมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาของจังหวัดสตูลด้วยตัวเอง

หลายคนจอดรถ เดินมาลงชื่อ เสร็จแล้วก็กลับเลย พวกเขามาตามคำเชิญชวนของคนจัดงาน คือมาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสัญญาประชาคม 10,000 คน บางคนก็อยู่ร่วมงานสักพักแล้วค่อยกลับ หากเป็นพี่น้องที่มาไกลจากพื้นที่อื่นก็จะอยู่ร่วมงานกันทั้งวัน ทำให้ตั้งแต่เปิดโต๊ะตอนเช้าถึงเวลางานเลิกโต๊ะลงชื่อไม่เคยเงียบเหงา ไม่ใช่มีแต่คนในเครือข่ายมาเชียร์กันเองอย่างที่คิด แต่จากมุมมองของผมเห็นว่านี่คือสัญญาประชาคมของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง 

             

ขนาดบังไกรบอกว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมออกมาร่วม แต่กิจกรรมครั้งนี้ผมได้เห็นการมีส่วนร่วมจากคนจำนวนมากจริงๆ นี่ไม่ใช่งานชุมนุมทางการเมือง โทรทัศน์ฟรีทีวีไม่เคยรายงาน จึงไม่ใช่การหลับหูหลับตาแห่ตามกระแส แต่เป็นการแสดงออกจากความเชื่อส่วนตัวของฝูงชนที่นัดกันมา เมื่อต่างคนต่างกล้าแสดงออกจากส่วนตัวสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันจึงเป็นเจตจำนงที่หยัดยืนขึ้นมาอย่างเด่นชัด ไม่ว่ารายชื่อนั้นจะครบ 10,000 ตามที่คนจัดงานวางเป้าไว้หรือไม่ก็ตาม

เวลาสี่โมงเย็นเศษๆ มีการทำพิธีละหมาดฮายัต ซึ่งตามความเชื่อของชาวมุสลิมเป็นพิธีกรรมที่ขอพรจากพระเจ้าให้ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติร้ายออกไปจากพื้นที่นั้นๆ ซึ่งพวกเขากำลังขอให้ปัดเป่าท่าเรือออกไปจากแผ่นดินถิ่นกำเนิดแห่งนี้ ผู้นำศาสนาหลายคนร่วมกันสวดมนต์บนผ้าสีเขียวผืนยักษ์ที่ปูไว้หน้าเวที ชายมุสลิมหลายคนเข้าร่วมสวดด้วย ขณะที่ผู้ชมโดยรอบหงายฝ่ามือสองมือขึ้นรับพร 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฟ้าโล่งอยู่แท้ๆ ทันทีที่ผู้นำเริ่มสวดบทสวดของพวกเขา มองไปสุดสายตาของปลายฟ้าด้านทิศตะวันตกทิศที่ทุกคนกำลังหันหน้าไป นั้นท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีดำทะมึน สายฟ้าแลบแปล่บๆ อยู่ลิบๆ ลมพัดแรงมากพาเอาคลื่นในทะเลโหมซัดเข้าหาฝั่งอย่างหนักหน่วง ยิ่งพิธีดำเนินไปเมฆดำมหึมาก้อนนั้นก็ยิ่งลอยเคลื่อนตัวเข้ามาทางบริเวณที่จัดงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่นานแสงแดดค่อยๆ ถูกบดบังหายไป 

เสียงสวดผ่านไมโครโฟนยังลอยมาเบาๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่นานนักเมฆดำก็เคลื่อนตัวมาอยู่เหนือศรีษะของพวกเรา บรรยากาศในงานเปลี่ยนโทนเป็นสีเทา ความมืดเข้าปกคลุมทะเล ภูเขา และเรือกสวนไร่นาโดยรอบหมดแล้ว แต่เบื้องหน้าของเหล่าโต๊ะอิหม่ามนั้นปรากฏเป็นลำแสงลำใหญ่ทะลุผ่านช่องโหว่ของเมฆก้อนยักษ์ แสงปรากฏเป็นลำชัดเจน ส่องลงมาจากฟ้าเหนือเมฆก้อนนั้น แหวกผ่านม่านความมืดและละอองฝน วิ่งตรงลงมาปรากฏเป็นแสงสว่างสะท้อนกับผืนน้ำทะเลบริเวณหน้าเกาะเขาใหญ่ จุดที่จะทำการก่อสร้างท่าเรือพอดิบพอดี ผมไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามแต่หากใครจะอธิบายเหตุการณ์นี้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ผมไม่ขอฟัง

เสียดายสุดๆ ที่มือผมไม่ไวพอจะยกกล้องภาพนิ่งที่ห้อยคออยู่ขื้นกดอะไรไว้สักรูป เพราะมัวแต่วิ่งถ่ายวีดีโอ และถ่ายฉากเปิดหน้าพิธีกรสู้กับกระแสลมแรงและแสงที่กำลังเปลี่ยน เท่าที่ผมหาตามเฟซบุ๊คดู ได้รูปนี้มา

เครดิตภาพ น้องกิม พี่ฮุก

หลังจากเสร็จพิธีไม่นาน เมื่อทุกคนลุกจากที่ละหมาดแล้ว สายฝนก็เทลงมา จากโปรยปรายอ่อนๆ แล้วก็ค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จนทุกคนต้องวิ่งหาที่หลบซึ่งก็มีเต้นท์ในงานให้หลบได้อยู่ไม่มากนัก แม้ฝนตกแต่การปราศรัยบนเวทียังดำเนินต่อ และผมก็ยังต้องถ่ายวีดีโอสัมภาษณ์คนต่อไปเพราะเวลาเหลือไม่มากแล้ว แต่กระนั้นก็ดีผมสังเกตเห็นว่าในเต้นท์ที่เป็นโต๊ะลงชื่อนั้นยังคงมีคนทยอยมาลงชื่อเรื่อยๆ ถึงจะเบาบางลงบ้างแต่ก็ยังไม่ขาดตอน ผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งคลุมเสื้อกันฝนขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าสายฝนมาเพื่อขอร่วมลงชื่อด้วย พอลงชื่อเสร็จแล้วเธอก็ขี่รถกลับเลย 

เวลาหกโมงเศษเห็นจะได้ เมื่อฝนเริ่มซาลง กิจกรรมสุดท้ายของวันนี้ก็มาถึง เหล่าแกนนำตัวหลักๆ ขึ้นไปยืนหน้ากระดานรวมกันบนเวที ผู้นำศาสนาคนที่ผมสัมภาษณ์ถอดหมวกะปิเยาะห์ออกแล้วขึ้นอ่านคำประกาศสัญญาประชาคม เท่าที่มองเร็วๆ แบบมองไปถ่ายวีดีโอไป บนเวทีผมเห็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ผมสัมภาษณ์เมื่อกลางวันทั้งสองคนยืนอยู่ ผมเห็นเอ็นจีโอสองสามท่านที่ผมรู้จัก ใครสักคนที่เมื่อคืนนอนอยู่ที่บ้านด้วย พี่คนที่ขับรถกระบะที่ผมนั่งวันแรก นักวิชาการจากกรุงเทพฯ และแน่นอนมีบังไกรขาใหญ่ และน้องเฟิร์นยืนบนนั้นอยู่ด้วย

“กินข้าวหรือยัง” เสียงหญิงสาวคนหนึ่งทักผม 

ผมหันไปเห็นหญิงสาวมุสลิมคนหนึ่ง เห็นทีแรกแทบจำไม่ได้ “มะ” คลุมฮิญาบสีดำออกจากบ้านมาทันร่วมในช่วงเวลาสำคัญ “กำลังจะกินครับ” ผมตอบเร็วๆ โดยที่ถือห่อผัดไทยอยู่ในมือ

เมื่อผู้นำศาสนาอ่านคำประกาศเสร็จบังไกรหันไปกระซิบหลังเวทีให้เปิดเพลง แล้วคว้าไมค์มาประกาศเป็นภาษาใต้ถึงความสำคัญของช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ที่ผู้นำทุกฝ่ายจะร่วมลงนามใน “สัญญาประชาคม” พร้อมกันบนเวที ผู้นำท้องถิ่นแต่ละคนทยอยหยิบปากกาขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ของคนสตูลพร้อมกัน บังไกรควักแว่นตาออกมาใส่และเดินเข้าไปลงชื่อเป็นคนท้ายๆ ขณะที่มือหนึ่งยังถ่ายวีดีโออยู่ผมเห็นหยังหวันหลา น้ายา และมะ วิ่งขึ้นไปสมทบบนเวทีด้วย 

จังหวะนั้นเพลงของพี่อี๊ด วงฟลาย ที่บังไกรสั่งให้เปิดดังขึ้นมา มันร้องว่า “แผ่นดินผืนนี้ คือที่อยู่และที่ตาย ที่สุดของหัวใจ เราแลกมาด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา ....” ฉากนี้เติมพลังให้กับการเดินทางมาอาบแดดในแดนใต้ของผมได้ดีชิบเป๋ง

แสงสว่างของวันกำลังค่อยๆ หายไป ท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำ ผมเดินมาช่วยโต๊ะรับลงชื่อเก็บกระดาษแผ่นสุดท้ายโดยที่ไม่มีใครพยายามจะนับว่ารายชื่อทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร แล้วผมก็นึกได้ว่าพระอาทิตย์ได้ลาลับขอบฟ้าของอีกวันหนึ่งไปเสียแล้ว วันนี้มันแอบหลบหายไปภายใต้ความช่วยเหลือของเมฆฝน แล้วผมก็ยังไม่รู้คำตอบว่าพระอาทิตย์มันจะตกลงตรงช่องเขานั่นพอดีจริงหรือไม่ และถ้าจริงมันจะสวยสักขนาดไหน 

ผมวิ่งไปดูวิวบริเวณที่จะถมทะเลสร้างท่าเทียบเรืออีกครั้งก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะหมดลง เห็นแสงเรืองๆ เหมือนว่าพระอาทิตย์น่าจะลับไปทางหลังเกาะเขาใหญ่มากว่า ผมกดชัตเตอร์เอาไว้ได้ภาพออกมาธรรมดาๆ แบบนี้

เช้าวันรุ่งขึ้นผมตื่นมาทำตัวสบายๆ เหมือนอยู่บ้านตัวเอง นั่งเล่นอยู่หลายชั่วโมง ก่อนจะออกมาเพื่อขึ้นรถทัวร์รอบบ่ายสามโมง วันนี้น้องเฟิร์นไม่อยู่แล้วเพราะไปโรงเรียนแต่เช้า ตลอดทั้งวันมะยังเอ่ยปากชวนให้ผมอยู่ต่ออีกสองสามคืนเพื่อจะให้ไปเที่ยวรีสอร์ทของน้ายาบนเกาะหลีเป๊ะ แต่ผมดันมีนัดประชุมในวันถัดไป ก่อนขึ้นรถกลับผมร่ำลามะว่า “ครั้งหน้าเดี๋ยวผมจะมาเที่ยวใหม่ แต่ขอมาแบบเที่ยวจริงๆ นะ เพราะคงจะไม่มีท่าเรือให้ค้านแล้ว” ผมตั้งใจพูดเล่นเพื่อให้กำลังใจมะ แต่ไม่รู้มะเข้าใจผมหรือเปล่า 

บังไกรเดินมาส่งผมถึงรถ ผมจึงลาบังไกรอีกทีว่า “ถ้าผมมาครั้งหน้า จะมาเพื่อเที่ยวและมาขอนั่งเรือของบังไกรด้วย แต่หากมีกิจกรรมอะไรให้ช่วยอีก ถ้าผมมาได้ผมก็จะมา” บังไกรยืนดูจนกระทั่งรถเคลื่อนออกจากบริเวณบ้านและพ้นสายตาไป ระหว่างทางจากบ้านไปถึงบขส. หยังหวันหลายังโทร.มาให้ผมกล่าวลาด้วยอีกคน เพราะเมื่อกี้ผมกลับออกมาตอนที่เธอไม่อยู่ ผมไม่ยักรู้ว่าการมาเยือนของเด็กกรุงเทพในกิจกรรมครั้งนี้ก็มีความสำคัญกับเขาอยู่บ้างเหมือนกัน

รถทัวร์มาช้ากว่ากำหนด ผมออกจากสตูลเลยบ่ายสามครึ่งมานิดหน่อย และจะไปถึงสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ที่กรุงเทพฯ ประมาณเกือบๆ หกโมงเช้าของอีกวัน ซึ่งน่าจะเป็นการนั่งรถทัวร์สายยาวที่สุดในชีวิตของผม และถ้าไม่มีภูเขามาขวางผมคงได้นั่งมองพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าจากบนรถทัวร์หลังจากที่พลาดมาสองวันก่อนหน้านี้

ไม่ว่าพระอาทิตย์ยามเย็นจะเคลื่อนตัวลงตรงช่องว่างระหว่างเกาะนั่นได้จริงหรือไม่ และไม่ว่าภาพนั้นจะสวยงามสักแค่ไหน ก็คงไม่สำคัญเท่า ผืนน้ำตรงหน้าเกาะเขาใหญ่นั้นต้องไม่มีท่าเทียบเรือน้ำลึก

ไม่ใช่เพราะมันบดบังทัศนียภาพ แต่เพราะคนสตูลเค้าไม่เอา!

 

......................................

 

 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
  นาทีที่ผมยืนอยู่ข้างเวที ห่างจากจุดที่แสงไฟสารพัดจะสาดส่องเป็นระยะหนึ่งก้าวเต็มๆ ผ้าม่านสีดำผืนบางๆ เท่านั้นที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างริมฝีปากของผมกับแสงไฟด้านนอก บริเวณที่ยืนอยู่นั้นปิดมืดหมด มืดสนิทจนมองไม่เห็นแม้แต่คนที่ยืนข้างๆ และความคิดความฝันของตัวเอง ระหว่
นายกรุ้มกริ่ม
  
นายกรุ้มกริ่ม
 ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้นเด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน
นายกรุ้มกริ่ม
เห็นด้วยกับไอเดียคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาวส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล 22 พฤษภาคม 2558 วันคร
นายกรุ้มกริ่ม
ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ “คฑาวุธ” มาก่อนเลย จนกระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2557  ในเช้าวันที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่กับจำนวนคนถูกเรียกและถูกจับโดยคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการยึดอำนาจท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงสุด จึงคาดหมายได้ว่าแรงต้านจากประชาชนฝ่ายป
นายกรุ้มกริ่ม
17 เมษายน 2557 เป็นวันสุดท้ายที่มีบุคคลอ้างว่าว่าพบเห็นนาย “บิลลี่” หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือบางคนนิยามว่าเขาคือ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” การหายตัวไปของคนคนหนึ่งที่ตั้งตัวเป็นฝ่
นายกรุ้มกริ่ม
ผมได้ยินชื่อลุงครั้งแรกตามสื่อ ได้อ่านเรื่องราวผ่านๆ ดูคลิปของลุง แต่ไม่ได้ตั้งใจดูนัก ผมได้ยินว่าลุงเป็นนักแปล และเป็นนักเขียนด้วย โดนคดี 112 แต่ไม่รู้ว่าลุงทำอะไร ผมได้ยินคนตั้งฉายาลุงว่า "กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ" ผม
นายกรุ้มกริ่ม
 มาเยือนเมือง “สตูล สะอาด สงบ” เป็นครั้งที่สอง หลังจากเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้วติดสอยห้อยตามเพื่อน NGO มาดูกิจกรรม “สัญญาประชาคม” ที่คนสตูลร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา แต่ครั้งนี้สดใสกว่าเดิม มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมที่อาจารย์พานักศึกษาจากม.ทักษิณ มาลง