Skip to main content

 

จากกรณีความขัดแย้ง ระหว่างเอ็นจีโอสายผู้บริโภค กับผู้ประกอบวิชาชีพทางสาธารณสุขเรื่อง ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ฝ่ายผู้ป่วย ผู้บริโภคเสนอกฎหมายด้วยช่องทางการใช้รายชื่อประชาชน 10,000 คน แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ยกแรกเมื่อระฆังดังขึ้น ผมยอมรับว่าใจผมเอนทางฝั่งหมออยู่บ้าง เพราะประสบการณ์ที่ทำงานแถวนี้เข้าใจดีว่าเอ็นจีโอนักเคลื่อนไหวชอบทำงานแบบใจร้อน เอาประเด็นของตัวเองเป็นหลักชัย แล้วฟังเสียงคัดค้านจากผู้ปฏิบัติงานน้อย

ผมเขียนงาน ชิ้นแรก เพื่อสรุปภาพรวมข้อต่อสู้ของทั้งสองฝั่งด้วยใจเป็นกลาง ยกแรกๆ นั้นฝั่งหมอยังสู้ด้วยอาวุธหลักในแนว “หมองานหนัก หมอไม่ผิด หมอทำดีที่สุดแล้ว” การยกแต่เรื่องขวัญกำลังใจการทำงานของแพทย์ขึ้นมาอ้างเป็นยุทธวิธีเรียกคะแนนสงสาร ที่ได้แต้มบ้าง แต่ไม่สำเร็จเพราะเหตุผลอีกฝั่งชัดเจนกว่า ตัวร่างกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าจะไม่เพ่งโทษเอาผิดกับหมอเป็นรายบุคคล แต่ขอให้คนไข้ได้รับค่าชดเชยผ่านระบบกองทุน

หลังจากศึกษาข้อมูลเพื่อ เขียนงานชิ้นแรกเสร็จ ผมเริ่มมองประเด็นนี้ได้ชัดขึ้น

ยกสอง เหตุผลฝ่ายที่คัดค้านยกขึ้นมาซึ่งดูจะมีน้ำหนักมากที่สุดจนถึงวันนี้ คือ คณะกรรมการกองทุนที่จะมาทำหน้าที่วินิจฉัยการจ่ายค่าชดเชยมีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญน้อย มีเอ็นจีโอกับเครือข่ายผู้ป่วยเยอะ นิสัยแบบเอ็นจีโอที่ผลักดันอะไรก็จะเอาให้ได้ทั้งหมดทีเดียวเปิดรูโหว่ให้ตัวเองรูเบ้อเริ่ม ข้อโต้แย้งนี้ของฝ่ายหมอจึงน่ารับฟัง แต่กลับเบาหวิวไปทันทีหากคิดดีดีว่าพอกฎหมายเข้าสภาแล้วเรื่องเหล่านี้ก็คงถูกแก้ไขอีกมาก โดยนักเทคนิคกฎหมาย ซึ่งมีหมออยู่ไม่น้อยในนั้น

ยกถัดๆ มา เมื่อฝ่ายผู้บริโภคถือประโยชน์ประชาชนหนุนหลัง ฝ่ายหมอต้องเรียกความชอบธรรมบ้างจึงออกมาอ้างประโยชน์ส่วนรวม บุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำประสานเสียงว่า กองทุนที่จะเกิดขึ้นต้องใช้เงินของรัฐมหาศาล เงื่อนไขการจ่ายเงินง่ายเกินไป จะมีผู้มายื่นขอรับเงินมากเกินไป จนระบบรับไม่ไหว บุคลากรทางการแพทย์ต้องแบ่งเวลาไปจัดการงานเหล่านี้มากกว่ารักษาคนไข้ กองทุนที่เกิดขึ้นจะเอาเงินของชาติไปอยู่กับคนกลุ่มเดียวซึ่งเกิดการคอรัปชั่นได้ง่าย ขณะที่หมอยังคงถูกฟ้องร้องทางแพ่งทางอาญาได้อยู่

เมื่อฝ่ายรัฐบาลยังมีท่าทีจะส่งร่างกฎหมายนี้เข้าสภาต่อ ไม่ถอนออกมาตามคำเรียกร้อง ฝ่ายหมอวอล์กเอาท์จากที่ประชุมร่วมสามฝ่าย หันหลังให้การเจรจาสมานฉันท์ หันหน้าเข้าหากันเอง เพราะหมอเท่านั้นที่จะเข้าใจกันเอง และขู่สไตรก์เป็นมาตรการขั้นเด็ดขาด

เมื่อการต่อสู้เริ่มยืดเยื้อ ยิ่งสู้นานหมอก็ยิ่งเผยไต๋ ให้เห็นระบบคิดภายใน

เหตุผลต่างๆ ที่ยกมากล่าวโดยอ้างประโยชน์ประชาชนนั้นไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว เป็นไปได้ที่กองทุนดังกล่าวจะต้องใช้เงินรัฐบาลอย่างมหาศาล เป็นไปได้ที่คนไข้จำนวนมากจะมาเรียกร้องเอาเงินจากกองทุน โดยการฟ้องร้องหมอยังมีอยู่ เป็นไปได้ที่บุคลากรต้องแบ่งกำลังจำนวนมากไปจัดการงานเหล่านี้ และเป็นไปได้ที่เมื่อมีเงิน มีผลประโยชน์ก็จะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง

แต่นั่นเป็นเหตุผลที่เล็กน้อยมาก หากเราเชื่อว่าเพื่อนร่วมสังคมของเราจำนวนหนึ่งกำลังทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยที่เกิดจากบริการสาธารณสุข

ฝ่ายหมออ้าปากก็พูดแต่เรื่อง “ระบบ ระบบ ระบบ” ไม่เคยได้ยินหมอเอ่ยปากเรื่องความรู้สึก ไม่มีเรื่องชีวิตจิตใจ ไม่มีเรื่องความเป็นมนุษย์

การพูดถึงการรักษาเงินงบประมาณแผ่นดิน การสร้างระบบบริการสาธารณสุขให้เข้มแข็งไม่รั่วไหล การหวงเงินไม่จ่ายให้กับคนที่ไม่ได้เสียหายจริง เป็นเรื่องดีในทางหลักการ แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมกับชีวิตมนุษย์คนไหนเลยแม้แต่ชีวิตเดียว ไม่มีมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจคนไหนมีความทุกข์น้อยลงจากหลักการเหล่านี้ได้ มีแต่ระบบในจิตนาภาพที่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นมา ให้ผู้บริหารนั่งมอง ยิ้ม แล้วจินตนาการต่อเองว่าประชาชนได้ประโยชน์จากภาพเหล่านั้น

ตลอดเส้นทางการต่อสู้ มีแต่คำพร่ำบ่นว่าหมอทำงานหนัก หมอหนึ่งคนต้องดูแลคนไข้เกินกว่ามาตรฐาน ต้องทำงานล่วงเวลา จนเกิดความผิดพลาดได้เป็นธรรมดา มีแต่การโทษว่าคนไข้ที่มากเกินไปเป็นภาระของระบบสาธารณสุขอันสวยหรูที่หมออยากเห็น มีแต่การบอกว่าระบบการทำงานจะเสียหายหากร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมา แต่ตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่าแล้วคนที่บาดเจ็บเสียหายจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร
 
เพราะทุกครั้งที่จะมีการฟ้องร้องเป็นคดีความตามระบบปกติ คนทั้งวิชาชีพก็จับมือกันร้องโวยวาย ด้วยคำพูดเดิมๆ

คนไข้ที่หาย-ไม่หาย- ตาย-เจ็บ ก็เป็นเพียงผลผลิตธรรมดาจากระบบที่บุคลากรสาธารณสุขได้สร้างไว้ ด้วยวิธีการมอง “คนไข้” ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งหน่วยในงานบริหาร แล้วต้องพยายามหาวิธีมาบริหารคนกลุ่มนี้อย่างไรให้ระบบออกมาสวยหรูที่สุด โดยไม่ได้เห็นเพื่อนมนุษย์แต่ละคนมีชีวิตจิตใจ มีความเจ็บปวด แยกต่างหากเป็นคนๆ
 
หมอที่คิดได้แค่นี้ ก็ไม่เคยเห็นคนไข้เป็นคนครับ

 
หากเรายังให้เงินขอทานบ้าง แม้เราจะรู้ว่าแก๊งลักพาเด็กมาขอทานมีอยู่
นั่นเพราะเราก็รู้ว่าคนยากคนจนที่ไม่มีหนทางไปจริงๆ ก็ยังมีอยู่ และถ้าพอจะช่วยได้เราก็ควรทำ
บางครั้งเราทุกคนจึงแกล้งหลับตามองไม่เห็นแก๊งลักพาเด็กบ้าง เผื่อว่าเงินที่ให้ไปจะตกถึงมือคนที่ขาดแคลนจริงๆ
 
ฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าเรายอมให้งบประมาณของรัฐต้องถูกใช้ไปบ้าง ยอมให้มีการร้องเรียนที่เกิดขึ้นพร่ำเพรื่อบ้าง เพื่อแลกกับโอกาสที่คนที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจะได้รับการเยียวยา หรืออย่างน้อยเราก็หวังว่าพวกเขาจะได้

“เรา” ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง (หมอที่คัดค้านหัวชนฝาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง) เมื่อรับรู้ว่ามีเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่ง กำลังเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากความผิดพลาดทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางการแพทย์ที่ไม่มีคนผิดเพียงคนเดียว แต่ทำให้เพื่อนมนุษย์คนนั้นเจ็บปวดมากเหลือเกิน เราควรจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแบ่งเบาความเจ็บปวดนั้นมาบ้างไม่ใช่หรือ

ถ้าทุกคนในสังคมสามารถช่วยกันแบ่งเบาความเจ็บปวดนั้นมาได้คนละเล็กคนละน้อย ไม่ว่าเราจะรู้จักกับผู้ที่นอนเจ็บปวดอยู่หรือไม่ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วผู้นั้นจะหายดีหรือไม่ ไม่ว่าความผิดนั้นเป็นความผิดของบุคลากรคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ไม่ว่าจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลเอกชนแพงขึ้นบ้าง ไม่ว่าคลินิกเอกชนจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามจำนวนคนไข้ ไม่ว่าจะต้องแบ่งบุคลากรทางการแพทย์มาจัดการเรื่องร้องเรียน ไม่ว่าหมอกับคนไข้จะพูดคุยกันน้อยลง ไม่ว่าแพทย์จะถูกฟ้องได้อีกหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการคอรัปชั่น และไม่ว่าใครจะมาเป็นคณะกรรมการดูแลกองทุน
 

เราก็ควรจะทำ ด้วยสามัญสำนึกพื้นฐาน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

ยิ่งหมอที่คัดค้านออกมาพูดมากเข้า ยิ่งทำให้เห็นวิธีคิดของผู้ประกอบวิชาชีพที่อยู่ระดับบนของสังคมมาเป็นเวลานานแสนนาน ยิ่งให้เหตุผลฝั่งตัวเองมากเข้า หมอก็ยิ่งแบ่งแยกตัวเองออกจากประชาชน
 
ยกที่เก้า สิบ สิบเอ็ดฝ่ายผู้ประกอบวิชาชีพเริ่มชกใต้เข็มขัด โดยการสร้างนิทานความไม่ชอบมาพากลของผู้ผลักดันกฎหมาย ยกเรื่องราว ขุดคุ้ย ดิสเครดิตตัวบุคคลฝ่ายตรงข้าม มากกว่าพยายามพูดคุยถึงเนื้อหาของร่างกฎหมาย

ทางฝั่งกลุ่มผู้คัดค้านก็รู้ดีว่าตัวเองกำลังจะสูญเสียความชอบธรรม เพราะน้ำหนักเหตุผลนั้นเบากว่า จึงพร้อมกระโดดขึ้นยกที่สิบสอง ด้วยอำนาจต่อรองสุดท้าย คือ การนัดหยุดงาน

เป็นสิทธิของวิชาชีพแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จะนัดหยุดงานเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเช่นเดียวกับทุกอาชีพในสังคม เช่นเดียวกับแรงงานที่ต่อรองกับนายจ้าง เช่นเดียวกับการชุมนุมเสื้อเหลืองเสื้อแดง เช่นเดียวกับชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้า เขื่อน ท่าเรือ ฯลฯ

แต่สหภาพแรงงานรัฐวิสากิจ เคยนัดหยุดงานโดยไม่กระทบต่อการจ่ายน้ำจ่ายไฟ สหภาพการบินไทยเคยนัดหยุดงานแต่การเดินทางยังดำเนินต่อไปได้ คนขับรถเมล์เล็กเคยปิดถนนประท้วงโดยเลือกวันอาทิตย์และรถเมล์ใหญ่ก็ยังวิ่งอยู่

ดังนั้น ถ้าการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องระบบสาธารณสุขที่อยากเห็นของกลุ่มผู้คัดค้านร่างพ.ร.บ. ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยของบุคคลใดแม้แต่หนึ่งคน นั่นแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้มองเห็นแต่ระบบบริหารงานที่ตัวเองต้องการ มากกว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์

เท่ากับประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าอยู่คนละข้างกับประชาชน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อ่านรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ที่พิพาทกันได้ ที่นี่
 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่