Skip to main content

มาเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งแรกในชีวิต
เป็นอีกครั้งที่หลับบนรถทัวร์มาตลอดคืนอันแสนจะธรรมดา ยิ่งเดินทางแบบนี้บ่อยขึ้น ก็ยิ่งเคยชิน ถึงแอร์จะหนาว อาหารจะห่วย ก็ไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ลงรถทัวร์ได้ไม่นาน เพื่อที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ก็มารับที่บขส. ยังไม่ทันรู้จักตัวเมืองให้ถ้วนทั่ว ประสบการณ์ใหม่ๆ ก็มายืนรออยู่ข้างหน้าอีกแล้ว

สิ่งที่ดึงผมมาที่นี่ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่นักท่องเที่ยวตามหาจากจังหวัดใหญ่ของภาคอีสาน ผมเดินทางมาตามดู ไฟฝันเล็กๆ ของเด็กนักศึกษากลุ่มหนึ่งจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชธานี ที่ประกาศอยากจะจัดค่ายอาสาพัฒนาชนบทขึ้นเป็นครั้งแรกของตัวเอง และของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเล็กๆ มีอาคารเรียนหนึ่งหลัง เปิดสอนคณะนิติศาสตร์มาได้ 11 รุ่น เรียนกันเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ นักศึกษารุ่นหนึ่งมีแค่สิบกว่าคนเท่านั้น แถมมีทั้งผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว มาเอาปริญญาใบที่สอง-สาม และเด็กวัยรุ่นตามเกณฑ์ เรียนอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการรวมตัวทำกิจกรรมอะไรสักอย่างจึงค่อนข้างยาก ที่ผ่านมานักศึกษาที่นี่ยังไม่เคยรู้จักกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนามาก่อน แต่มีน้องอยู่กลุ่มหนึ่งที่ดันมีแรงกบฏมากพอจะก้าวออกมาสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นเอง ก้าวแรกของคนอยากทำอะไรเพื่อสังคมนั้นน่าสนใจเสมอ

อาจารย์ของน้องๆ กลุ่มนี้ขอให้ผมมาร่วมงาน เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงของน้องที่จัดค่าย แม้ภารกิจรอบตัวจะหลากหลายแต่ผมก็ยินดีมา เพราะสมัยผมเป็นนักศึกษา ผมเองเคยทั้งเข้าร่วม และเป็นผู้จัดกิจกรรมแบบนี้มาบ้าง ผมจำได้ดีถึงวันที่ทุ่มเทแรงกายเกินขีดจำกัดตัวเอง แม้แขนขาจะปวดเมื่อยแต่ต้องกัดฟันแบกปูน ก่ออิฐ เพื่อสร้างอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นให้สำเร็จ ภาพความทรงจำเหล่านั้นยังติดอยู่ในหัวของผมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีมันยังสร้างรอยยิ้มให้ผมได้เสมอเมื่อนึกถึง และมันมีคุณค่ามากสำหรับความเป็นตัวผมในวันนี้ ผมจึงรับหน้าที่มาช่วยปลุกพลังฝันให้กับทีมทำค่ายมือใหม่ โดยแอบหวังว่าประสบการณ์ที่มีอยู่ไม่มากนักของผมอาจช่วยสร้างความทรงจำดีดีให้พวกเขาได้บ้าง พร้อมกับมาขอแบ่งปันความทรงจำดีดี และเชื้อไฟใหม่ๆ ให้กับตัวเองบ้างเช่นกัน

แต่สภาพการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดนัก ค่ายของน้องเป็นค่ายเล็กๆ เล็กกว่าที่ผมคิดเอาไว้มาก มีเพียงนักศึกษาแค่ 7 คนขนของขึ้นรถปิ๊กอัพไม่เต็มหนึ่งคัน มุ่งหน้าเข้าหมู่บ้าน เมื่อรวมผมกับเพื่อนอีกคนที่มาจากกรุงเทพฯ  ค่ายนี้จึงมีสมาชิกทั้งหมด 9 คน ทั้งที่ได้ติดต่อนักศึกษากศน.ในพื้นที่ไว้ให้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน แต่ก็ไม่มีใครมา ตอนแรกวางแผนว่าจะทาสีปรับปรุงห้องสมุด แต่ว่างบประมาณไม่พอจึงเปลี่ยนเป็นทำรั้วโรงเรียน


ไม่มีกิจกรรม ไม่ต้องทำความรู้จัก ไม่มีละลายพฤติกรรม ไม่มีสต๊าฟ ไม่มีน้อง ไม่มีแบ่งฝ่ายงาน เหมือนค่ายอื่นๆ ไม่มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความฝัน ทันทีที่รถปิ๊กอัพมาถึงที่โรงเรียนบ้านหนองกล้า อำเภอหนองหาน ในเวลาเกือบแปดโมงเช้า ทุกคนทั้งผม เพื่อนและน้องนักศึกษาก็สวมงอบ ถือเสียม เดินดุ่ยๆ  ออกไป ด้านนอกโรงเรียน

งานทำรั้วโรงเรียนไม่ยากนัก แค่ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 40 เซ็นติเมตร เอาเสาปูนวาง และก็ตอกลวดหนามเข้าไปเท่านั้น โรงเรียนไม่ได้ใหญ่มาก รอบโรงเรียนต้องวางเสาประมาณ 120 ต้น ไม่หนักหนาเลยหากเทียบกับค่ายอาสาพัฒนาอื่นที่เคยไป ซึ่งต้องสร้างอาคารเป็นหลัง ต้องแบกหินกวนปูนหลายสิบลูก แต่สำหรับคนที่กะว่าจะแค่มาดูแลน้องก็ตั้งตัวไม่ติดอยู่เหมือนกัน ขุดหลุมแรก ไม่ยากเท่าไร พอเข้าหลุมที่สอง ที่สาม มือที่เคยจับแต่คอมพิเตอร์ก็เริ่มเจ็บ แถมบรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้สนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้ เนื่องจากคนน้อย ยังไม่สนิทกัน จึงไม่มีบรรยากาศการทำงานไปแซวเล่นกันไป ให้กำลังใจกันไป เหมือนที่เคยสัมผัส

สิบโมงกว่า แดดยามสายแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำ อากาศนิ่งสงัดคล้ายฝนจะตกแต่ไร้เงาของเมฆดำ คนที่เคยแรงดีดีก็เริ่มนั่ง เริ่มหนืด ขุดหลุมมาได้รวมกันประมาณ 20 หลุมจาก 120 เท่านั้น รั้วโรงเรียนดูไม่มีอนาคตเอาเสียเลย ผมอยากจะยืนใต้ร่มไม้มองน้องทำมากกว่า แต่น้องก็เริ่มวางเสียมเช่นกัน เมื่อผอ.โรงเรียน มาแสดงความเห็นว่า พรุ่งนี้จะมีชาวบ้านมาช่วยอีกหลายคน รั้วแค่นี้ทำไม่นานก็เสร็จ ไม่มีอะไรต้องห่วง งานของวันนี้จึงหยุดพักเพียงแค่สิบเอ็ดโมง

อาหารกลางวัน ถูกจัดเตรียมไว้อย่างดีแล้ว โดย “ครูอ๋อย” ครูคนหนึ่งในโรงเรียน กับแม่ของครูอ๋อย ชาวบ้าน และเด็ก อีก 3-4 คน อาหารทุกมื้อที่นี่คือข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ และอื่นๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละมื้อ ซึ่งมากมายสำหรับกินอิ่มได้หลายสิบคน

ช่วงบ่ายของวันแรกไม่มีงานอะไรให้ทำแล้ว เพราะแดดร้อนมาก หลายคนหายเข้าไปในมุมส่วนตัวเพื่อแอบงีบสักหน่อย ผมแนะนำน้องให้ไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในโรงเรียน ไม่ต้องเตรียมการอะไรมากนัก เราก็พาเด็กๆ 30-40 คนมาวิ่งเล่นเกมส์สนุกๆ สักนิดหน่อย ตกเย็นชวนกันเตะบอล และเมื่อแสงสว่างของดวงอาทิตย์จางหายไป บางคนตั้งวงสุรา บางคนก็หลับไปเพราะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง

เช้าวันที่สองเริ่มขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ขณะที่ผมเพิ่งงัวเงียลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน ก็มองเห็นความเคลื่อนไหวอยู่ที่ริมรั้วแล้ว ชาวบ้านจำนวนหนึ่งกำลังลงมือทำงานที่พวกเราทำค้างไว้ตั้งแต่เมื่อวานสาย เสาปูนกว่าร้อยต้นถูกทยอยนำขึ้นรถมาส่งข้างโรงเรียน แม้ว่างานข้างนอกนั่นจะเริ่มขึ้นแล้ว แต่เรายังแวะหาข้าวเหนียวส้มตำอัดลงท้อง ก่อนที่จะสวมงอบใบเดิม สวมถุงมือ และสวมวิญญาณของคนหนุ่มออกไปสู้แสงแดดยามสายอีกครั้ง


บรรยากาศริมขอบรั้วโรงเรียนวันนี้แตกต่างจากวันแรก ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านกว่ายี่สิบคนกำลังตั้งหน้าตั้งตาขุดหลุม พวกเขาไม่ต้องใส่ถุงมือ ไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย พวกเขานั่งลงกับพื้น เอาเสียมเจาะๆๆๆๆ แล้วเอามือเปล่าล้วงดินขึ้นมา แต่ละหลุมถ้าไม่มีหิน หรือรากไม้มาขวางใช้เวลาขุดแค่ประมาณสิบนาที หลุมไหนมีอุปสรรคหน่อย มาช่วยกันงัดสามสี่คนเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ เสาปูนสูง 120 เซ็นติเมตรที่นักศึกษายกกันสองคนยังหนัก ชาวบ้านยกคนเดียวสบายๆ ไม่เพียงชายฉกรรจ์เท่านั้น คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านก็มาช่วยกันคิด ออกความเห็น ช่วยกันขึงเชือกวัดเสาแต่ละต้นให้ตรง รวมถึงกำลังเสริมจากหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ก็ทยอยมา


เสียมมีไม่พอ ผม และน้องนักศึกษา ได้อู้มาเสิร์ฟน้ำ เสริ์ฟขนม ถ่ายรูปบ้าง ยืนเม้าท์บ้าง พอเสียมว่างก็ลงมือขุดบ้าง แต่ไม่เหนื่อยนัก ชาวบ้านทยอยยกเสาลงหลุมและตักดินกลบอย่างคล่องแคล่ว ขณะที่อีกทีมก็ตอกตะปูติดลวดหนามไล่ตามมาติดๆ ราวกับพวกเขามีประสบการณ์ทำรั้วอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ใกล้เที่ยงเมื่อหยดเหงื่อเริ่มซึมเต็มแผ่นหลัง รถไถคันใหญ่จากไหนไม่รู้วิ่งมาช่วยเกลี่ยดินข้างขอบรั้วโรงเรียนให้เรียบ ช่างในหมู่บ้านคนหนึ่งยกเสาปูนวางลงในหลุมสุดท้าย แล้วโรงเรียนบ้านหนองกล้าก็ได้รั้วใหม่เรียบร้อยสวยงาม ภารกิจทุกอย่างเสร็จสิ้นลง (เป็นผลงานของเรา)


ทุกคนกินข้าวเหนียวมื้อใหญ่ร่วมกันและแยกย้ายกลับบ้านอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่ทันได้กล่าวคำขอบคุณ จากเดิมที่วางแผนงานไว้สามวันเต็ม ผ่านมาเพียงแค่วันครึ่ง ค่ายเล็กๆ นี้ก็กำลังจะจบ กิจกรรมที่วางไว้มากมายว่าวันสุดท้ายจะมีเลี้ยงใหญ่ มีกีฬาสานสัมพันธ์กับชาวบ้านคงจะไม่เกิดขึ้น น้องประธานค่ายมีแววตาที่สับสนกับกิจกรรมแรกของตัวเอง ท่ามกลางคำถามว่าเราควรจะกลับกันบ่ายนี้เลย หรือจะพยายามจัดกิจกรรมต่อไปตามแผนที่วางไว้ทั้งที่ไม่มีงานให้ทำแล้ว ฝนตกลงมาอย่างหนักเหมือนจะมาช่วยกลบดินรอบเสาแต่ละต้นให้แน่นยิ่งขึ้น ผมหลบเข้ามุมส่วนตัวอีกครั้ง ทบทวนวันกว่าๆ ที่ผ่านมาแล้วรู้สึกว่า ค่ายนี้อาจจะเป็นแค่อีกหนึ่งการเดินทาง ที่ไม่ได้จับจองพื้นที่ในความทรงของผมเท่าไรนัก ยังไม่มีคำตอบหรือคำแนะนำอะไรให้นักจัดค่ายมือใหม่ และเมื่อฝนตกหนักในยามบ่ายทุกคนก็งีบหลับกันอีกครั้ง

ฝนหยุดประมาณบ่ายสาม ผมตื่นขึ้นและออกเดินเล่นไปตามทางเดินในโรงเรียนที่บัดนี้เงียบสงัด ทางเดินเป็นเพียงถนนดินสีแดงมีน้ำขังเฉอะแฉะ สายตาผมก้มต่ำมองเห็นรอยตีนไก่สามแฉกอยู่ตามแอ่งน้ำขังเหล่านั้น ผมจำภาพนี้ได้ ภาพนี้เป็นภาพเดียวกับภาพที่ประทับอยู่อย่างแน่นหนาในหัวผม ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สาม ที่ผมเดินทางขึ้นดอยไปพบกับความทรงจำแสนวิเศษ ณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งครั้งนั้นมีสมาชิกร่วมเดินทาง 9 คนเท่ากับครั้งนี้พอดี ภาพเล็กๆ แวบหนึ่งเตือนให้รู้ว่าผมมาที่นี่ทำไม และผมจะไม่ยอมหยุดอยู่เฉยๆ ให้เวลาผ่านทิ้งไป โดยไม่ฉกฉวยอะไรกลับไป

ผมชวนน้องประธานค่ายไปคุยกับพี่ๆ 3-4 คนที่ยังนั่งกินเหล้ากันอยู่ ชวนมาเล่นกีฬา ไปคุยกับแม่ของครูอ๋อยว่าจะชวนชาวบ้านมาทำอะไรได้อีก ซึ่งท่านเสนอว่าจะทำบายศรีในคืนนี้ให้พวกเราโดยท่านจะเตรียมให้ ผมชวนทุกคนในค่ายให้ลุกจากที่นอนและลงไปเดินทักทายผู้คนในหมู่บ้าน ไปขอบคุณคนที่มาช่วยงานเมื่อเช้า ไปชวนผู้ชายมาเตะบอล ไปชวนผู้เฒ่าผู้แก่มาผูกข้อมือบายศรี และชวนทุกคนมาร่วมเลี้ยงส่งพวกเรากัน เย็นวันนั้นมีเด็กๆ กลุ่มใหญ่ วัยรุ่น 2-3 คนมาเตะบอล เตะตะกร้อกับเราที่สนามของโรงเรียน แม้จะไม่ใช่งานกีฬาสานสัมพันธ์อย่างที่หวังไว้ แต่ก็เป็นแมตช์เล็กๆ ที่สนุกไม่ใช่เล่น และเมื่อแสงสว่างของดวงอาทิตย์จางหายไปเป็นครั้งที่สอง คนแปลกหน้าที่แววตาเป็นมิตรกลุ่มใหญ่ก็เดินเข้ามารอเราอยู่ใต้ศาลาเล็กๆ ของโรงเรียน

ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านหลายสิบคนมานั่งรอพวกเราอยู่แล้วเพื่อผูกข้อมือบายศรีให้ บางคนเคยเห็นหน้าตอนทำงาน บางคนเห็นหน้าที่บ้านเมื่อตอนเย็น อีกหลายคนไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แต่พวกเขาก็มากันอย่างพร้อมเพรียง มาเพื่ออวยพรให้เรา พิธีการเริ่มขึ้นอย่างธรรมดา ผอ.กล่าวอะไรเวิ่นเว้อเล็กน้อยตามสไตล์ คุณตาคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดเดินเข้ามาผูกข้อมือให้ผม และหลังจากนั้นคุณตาคุณยายก็ต่อคิวกันเรียงหน้าเข้ามาพร้อมด้ายคนละเส้น

พวกเขามาอวยพร เขากล่าวขอบคุณที่เราแวะเวียนมาเยือนบ้านของเขา ขอบคุณที่เรามาทำประโยชน์ให้ที่นี่ ทั้งที่จริงๆ แทบไม่ได้ทำอะไร พวกเขาอวยพรขอให้เราโชคดี ประสบความสำเร็จในชีวิต พวกเขาบอกเราว่าเมื่อเราเรียนจบ ไปทำงาน เป็นใหญ่เป็นโตแล้วให้กลับมาเยี่ยมเยือนกันได้ และพวกเขาบอกผมว่า “อย่าลืม” พวกเขา

ผมตอบ “ครับ” ทั้งที่ผมยังไม่ได้เริ่มจำด้วยซ้ำไป


แม้จะเป็นคำพูดเชยๆ ติดปากคำหนึ่ง แม้จะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตรัง พังงา กาญจนบุรี ฯลฯ ที่ผมเคยไปลงแรงสร้างสารพัดสิ่งอยู่แห่งละหลายวัน แต่กับอุดรธานีที่ผมมาสัมผัสแค่เพียงแวบเดียว ช่วงเวลาเล็กๆ สั้นๆ นี้จึงกระตุกให้ผมคิดถึงบางอย่างบ้าง และแม้มันไม่ใช่คำขอที่มากมายอะไรเลย แต่ผมมักจะทำไม่ได้

นักศึกษาหลายร้อยหลายพันคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เดินทางออกค่ายในแต่ละปี คนหนุ่มสาวได้โอกาสสัมผัสกับวิถีชีวิตในชนบทที่ยากไร้ เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมอันงดงามของชนเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมยังย่ำอยู่กับที่ ชาวเขาที่เรียกร้องสิทธิจัดการทรัพยากรยังถูกคนเมืองลุกขึ้นต่อต้าน คนจากต่างเผ่าต่างภาษายังถูกรังเกียจเหยียดหยาม นั่นก็เพราะเมื่อพวกเขากลับเข้าสู่การต่อสู้ดิ้นรนในเมืองใหญ่ พวกเขาก็หลงลืมความเป็น “คน” ของผู้คนที่พวกเขาเคยสัมผัสมา และกลับไปดำเนินชีวิตตามวิธีคิดที่ไม่มีพื้นที่ให้มิตรสหายจากต่างถิ่นร่วมอยู่ในนั้น

เช่นเดียวกัน ขณะที่เรากำลังนั่งผูกข้อมือกันอยู่นั้น ห่างออกไปอีกไม่กี่กิโลเมตร ชาวบ้านในกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม กำลังเดือดร้อนเพราะได้รับผลกระทบจากพิษของการทำเหมืองแร่โปแตซ และไม่กี่วันก่อนที่ผมจะเดินทางมาที่นี่ ที่อำเภอกุมภวาปี ชาวบ้านสิบกว่าคนเพิ่งถูกจับเพราะคัดค้านการสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง พวกเขาคงจะไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้ หากผู้คนจำนวนมากที่ผ่านเข้าออกไปมา ยังรับรู้ว่าพวกเขายังมีตัวตนและปัญหาของพวกเขายังคงอยู่

บางทีการทำความดีเพื่อสังคม หรือการทำอะไรเพื่อคนอื่น อาจจะไม่ใช่การสร้างตึกหลังใหญ่ ไม่ใช่การออกเงินทุนมหาศาล ไม่ใช่การจัดกิจกรรมสนุกๆ ไม่จำเป็นต้องลงแรงปาดเหงื่อจนปวดเมื่อยแขนขา เท่านั้น

บางทีสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดเพื่อใครสักคนหนึ่งที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิตเรา คือการ “ไม่ลืม” ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่และอยู่อย่างไร

ท่ามกลางแสงไฟสลัว เสียงประกาศจากผู้อำนวยการ และด้ายสีขาวเต็มข้อมือขวา ภาพของผู้คนมากมายที่เคยพบปะเจอะเจอวิ่งไหลเข้ามาในหัวสมองผมเต็มไปหมด ผมใช้เวลานั่งนึกถึงพวกเขาอยู่สักพัก คุณตาคุณยายนั่งจกข้าวเหนียวคนละไม่กี่คำพอเป็นพิธีก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านอย่างรวดเร็ว พวกเขาไม่รู้จักชื่อผม ผมไม่รู้จักชื่อพวกเขา แต่ภาพความทรงจำ ณ จุดหนึ่งในวันนั้น จะติดอยู่ในหัวของผมตราบเท่าที่ผมยังรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้ และมันจะมีคุณค่ากับชีวิตของผมในวันข้างหน้าเช่นกัน

รั้วปูนติดลวดหนามของโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่มันอาจมีคุณค่าน้อยกว่าการจดจำเรื่องราวระหว่างทางการเกิดขึ้นของมัน
 
    เพื่อแทนคำขอบคุณที่ยังไม่เคยได้พูด
    ผมจะไม่ลืมคุณตาคุณยายทุกคนที่มาร่วมเลี้ยงส่งและผูกข้อมือให้ผมในวันนี้
    ผมจะไม่ลืมพี่ๆ น้าๆ ลุงๆ ทุกคนที่มาช่วยกันสร้างรั้วโรงเรียนจนเสร็จ
    ผมจะไม่ลืมผอ. ที่สนับสนุนค่ายเล็กๆ นี้อย่างเต็มที่ กับพี่นักการที่คอยเปิด-ปิดไฟยามดึก
    ผมจะไม่ลืมครูอ๋อย แม่ครูอ๋อยและแม่ครัวที่คอยทำอาหาร ล้างจานให้ผมทุกมื้อ
    ผมจะไม่ลืมข้าวเหนียวทุกเม็ดที่ทำให้ผมอิ่ม
    ผมจะไม่ลืมเด็กๆ ที่มาวิ่งเล่นกันให้สนุกสนาน
    ผมจะไม่ลืมเพื่อนร่วมทาง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชธานี และนักศึกษาที่กำลังจะจุดไฟดวงใหม่ขึ้นทั้ง 7 คน
   
ไม่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้าหากผมได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับผู้คน ณ บ้านหนองกล้า อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ผมจะต้องมีปฏิกริยาที่แตกต่างไป

 

 

 

 

 

*หมายเหตุ* เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น เพื่อตอบแทนทุกสิ่ง และทุกคนที่ผมไม่อยากลืม หวังว่าการเขียนนี้จะช่วยบันทึกเรื่องราวของพวกเขาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขออภัยที่เขียนล่าช้าไปเดือนเศษหลังกลับมา

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่