Skip to main content

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่

เช้านี้ญาติๆ กองเชียร์ และทนายความเดินทางมาถึงศาลได้ ไม่มีใครติดน้ำ ยกเว้นคนเดียว คือ ตัวอากงเอง 

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ บริเวณถนนงามวงศ์วานยังถูกน้ำท่วมอยู่ ทำให้การเดินทางออกมาทำได้ยากลำบาก จริงๆ แล้วน้ำท่วมสูงแค่ไหนผมไม่รู้ แต่เมื่อนักโทษคนอื่นๆ ก็เดินทางออกมาไม่ได้ทุกคดี ผมจึงเชื่อว่านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้งอะไรกัน เป็นแค่การเริ่มต้นวันที่ไม่สวยเท่าไรนัก

เพื่อประโยชน์ของตัวจำเลยเอง ในคดีอาญา กฎหมายบอกว่าต้องดำเนินกระบวนพิจารณาทุกขั้นตอนต่อหน้าจำเลย ศาลจึงจะอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาพิเศษผ่านวีดีโอคอนเฟอเร็นซ์ ที่ต่อไปยังเรือนจำให้อากงได้ฟัง เกิดมาผมก็เพิ่งเคยเห็นกระบวนการนี้ครั้งแรก

ขั้นแรกการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ดูจะขลุกขลักนิดหน่อยเพราะเหมือนญาติจะห้ามเข้าไปในห้อง เข้าได้แต่ทนายความ เมื่อทนายความเขียนคำร้องต่อศาล ศาลก็อนุญาตให้ทุกคน ทั้งญาติ กองเชียร์ นักข่าว รวมทั้งผม เข้าไปได้ 

ภายในห้องพิจารณาคดีที่อยู่ใต้ถุนศาล รูปทรงยาวๆ แปลกๆ กองเชียร์นั่งหันด้านข้างให้ศาล หันหน้าไปยังกล้องวีดีโอกลางห้อง โทรทัศน์ขนาดใหญ่ติดห้อยลงมาจากเพดาน ภายในโทรทัศน์มีคนแก่ในชุดนักโทษสีส้มนั่งอยู่กลางจออย่างเดียวดาย นั่นคือ อากง ลูกๆ หลานๆ และป้าอุ๊ ภรรยาสุดที่รักนั่งใกล้กล้องมากที่สุด โบกไม้โบกมือให้อากง อากงโบกมือกลับ ทนายความเดินมายกมือไหว้กล้องทักทายอากงทีละคน สัญญาณเสียงจากฝั่งเรือนจำได้ยินไม่ชัดนัก

ผู้พิพากษาท่านที่นำกระบวนการสืบพยานมาตลอดเดินขึ้นบัลลังก์อย่างสง่าผ่าเผย พร้อมด้วยผู้ช่วยหน้าใหม่อีกหนึ่งท่าน ท่านนั่งลง เรียกชื่อจำเลย และเริ่มอ่านในทันที

คำพิพากษาถูกอ่านเร็วมาก ปั่บๆๆๆๆๆ ผมฟังเข้าใจ แต่จดไม่ทัน ฝรั่งที่ภาษาไทยไม่แข็งแรงฟังไม่ทันแน่นอน และผมก็แปลไม่ทันแน่นอนเช่นกัน ศาลอ่านข้อความในSMS ตามฟ้องให้คนทั้งห้องฟัง ฟังกี่ทีก็สะดุ้งโหยง แต่เป็นขั้นตอนที่ถูกต้องแล้วที่ท่านต้องอ่าน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ใช่ปิดๆบังๆ ทำเป็นปกป้องสถาบันฯ และปล่อยความคาใจไว้กับสาธารณชน

ครึ่งทางของคำพิพากษา ผมมองหน้ากับเจ้านายที่นั่งอยู่ข้างๆ ยิ้มเล็กๆ ให้กัน และส่ายหน้า รู้สึกว่าชักท่าไม่ดี ทนายความพูนสุขยกมือกุมหน้าผาก จุดที่ผมนั่งอยู่เป็นแถวหลังสุดมองไม่เห็นหน้าอากงในทีวี มองไม่เห็นหน้าป้าอุ๊และญาติๆ ที่อยู่แถวหน้า

ศาลยังอ่านต่อไป ผมจดบ้างไม่จดบ้าง ตาสอดส่ายไปรอบๆ ห้อง หัวเราะหึหึในใจ คิดกับตัวเองว่า วันนี้มาถึงจริงๆ แล้วสินะ ก่อนหน้านี้จินตนาการถึงวันนี้ไม่ออกจริงๆ เจ้านายยังกระซิบ “ใจเย็นๆ อย่าร้องนะ”

20 ปี "อากงSMS" โทษฐานส่งSMS 4 ข้อความ ข้อความละ 5 ปี อ่านจบศาลเก็บสำนวน เดินดุ่ยๆๆๆๆ ลงจากบัลลังก์ ยังไม่ทันที่ใครจะยืนทำความเคารพ

หลายคนเริ่มลุกเดินออก ด้วยสีหน้าเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มต้นบทวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ยังนั่งอยู่ในศาล ทนายยังลุกไม่ขึ้น ป้าอุ๊ลุกขึ้นหันหลังเก็บของ ผมเห็นน้ำตาอาบหน้าแก เช่นเดียวกับลูกสาวที่นั่งอยู่แถวถัดมา หลานสาวอายุ 12 ที่กล้าขึ้นให้การเป็นพยานในคดีก็ตาแดงก่ำ คงร้องมานานแล้ว

เสียงเจ้าหน้าที่ฝั่งเรือนจำดังออกมาจากลำโพง “สัญญาณไม่ชัดเลย ได้ยินไม่ชัด ว่ายังไงนะ”

“ยี่สิบปี นายอำพล ยี่สิบปี” เจ้าหน้าที่เทคนิคที่นั่งอยู่ใต้บัลลังก์บอกกลับไป

“คราวหน้าเอาไมค์ไว้ใกล้ๆ กว่านี้หน่อยนะ” เสียงจากเรือนจำดังกลับมาตอกย้ำว่า อากง เป็น คนสุดท้ายในที่นั้น ที่ได้ทราบชะตากรรมของตัวเอง

ขณะที่ทุกคนยังจับกลุ่มคุยกันด้วยอารมณ์เศร้าหมองหน้าห้องพิจารณา ป้าอุ๊พาลูกๆ และหลานๆ บึ่งไปเยี่ยมอากงที่เรือนจำทันที ภัยน้ำท่วมทำให้ฉากน้ำตาวันนี้ย้ายจากบัลลังก์ศาลไปอยู่ที่ห้องเยี่ยม ป้าอุ๊บอกกับพี่นักข่าวที่ไปเรือนจำด้วยกันว่า แกคิดว่า คงจะไม่ได้เจอสามีแกอีกแล้วก่อนตาย 

ไม่ใช่อากง ไม่ใช่ทนายความ กลุ่มคนที่ก้มหน้าเดินหันหลังให้ศาลเป็นกลุ่มแรกนั้นคือคนที่ต้องการความเข้มแข็งที่สุดในเวลานี้ 

เพราะไม่ว่าผลคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร มีคนกลุ่มหนึ่งที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อขาดกำลังหลักในการเลี้ยงดูหลานๆ คนกลุ่มนั้นก็ยังจะต้องอยู่ต่อไป

ผมเขียนอะไรขึ้นเล็กน้อยท่ามกลางฝุ่นตลบ เพื่ออยากให้ความสนใจของสังคมมองไปยังกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงให้มากกว่านี้ มากกว่าสนใจ “ระบบกฎหมาย” “ความยุติธรรม” หรือสารพัดคำใหญ่ๆ โตๆ 

ผมเศร้าสลดไม่แพ้คนอื่นๆ ในเวลานั้น แต่ผมเองยังต้องมุ่งหน้ากลับออฟฟิศ เพราะมีงานรอผมอยู่อีกมากใน 2-3 วันข้างหน้า (มากจริงๆ) ผมจึงย้อนนึกถึงวันที่ผมเริ่มเข้าประชุมเป็นส่วนหนึ่งในคดีนี้

“ผมไม่ได้เป็นทนายความในคดีนี้” ผมมีส่วนร่วมแค่เพียงจิ๊บๆจ๊อยๆ ผมทำงานสังเกตุการณ์คดี แต่เนื่องจากผมจบกฎหมายและเป็นสมาชิกของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผมจึงเข้าประชุมด้วย แรกๆ ก็ พยายามจะหลบเลี่ยงบ้าง เพราะลำพังงานในหน้าที่ที่รับเงินเดือนก็บกพร่องตลอดอยู่แล้ว ยังจะต้องเจียดเวลามาทำงานฟรีอีก ช่วงสัปดาห์ก่อนการสืบพยาน ผมต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายที่ ร่างกายทรุดโทรม แต่ก็จำได้ว่าถูกตามให้ตื่นเช้าไปคุยกับร้านซ่อมมือถือเป็นเพื่อนทนาย 

ตอนนั้นเจ้านายกระซิบว่า ในบางนัดก็ไม่ต้องไปหรอก ผมเข้าใจ แต่วันนั้นผมตัดสินใจเองว่าถึงขี้เกียจแค่ไหนผมก็จะไปทุกนัด เพราะหากผมนอนอยู่บ้าน และผลคดีออกมาไม่เป็นอย่างที่หวัง ผมคงจะรู้สึกผิดกับอากงไปตลอด 

แล้วผมก็ได้ทำอะไรเล็กๆน้อยๆ เท่าที่ทำได้ไปแล้ว วันนี้ผมจึงเดินออกจากศาลด้วยอารมณ์เศร้าที่ไม่ต่างจากทุกคน แต่ผมจะบอกตัวเองได้ว่าระหว่างทางที่ผ่านมามันไม่มีอะไรที่จะสามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้แล้ว และผมอยากบอกกับคนอื่นๆ ด้วยว่าทนายความในคดีนี้ได้ทำอย่างดีที่สุด เท่าที่เวลา และประสบการณ์ของตัวเองจะมีแล้ว และไม่มีอะไรที่เราควรจะต้องกลับไปรื้อฟื้นมันใหม่

หากเราเชื่อว่า อากงไม่ได้กระทำความผิด แต่ตกเป็นเหยื่อ เราควรจะมองด้วยว่า มีผู้คนอีกมากมายเท่าไร ที่ไม่ได้กระทำความผิดแต่ต้องเป็นแพะรับบาปอยู่ในเรือนจำ

หากเราเชื่อว่า ถึงอากงจะทำหรือไม่ทำ แต่การส่ง SMS 4 ข้อความก็ไม่ควรมีโทษหนักขนาดนี้ นั่นเราควรจะตั้งคำถามต่อกฎหมาย และไม่ได้มีกฎหมายฉบับเดียวในปัจจุบันที่มีโทษสูงเกินจำเป็น

 

หลังวันสืบพยานปากสุดท้าย น้ำตาท่วมห้องพิจารณาคดีของศาล ผมกลับบ้านมาเขียนบันทึกเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเพื่อให้ตัวเองจดจำช่วงเวลานั้นได้ โดยไม่ได้คิดว่าจะฮิต บันทึกเล็กๆ เรียกน้ำตาคนได้มหาศาล และมียอดคลิ๊กสูงที่สุดเท่าที่ทำงานเขียนบทความมาหลายปี ยกเว้นเรียกน้ำตาคนๆ เดียวไม่ได้

เจ้านายบอกผมว่า “หยุดนะ ห้ามร้องนะ! ถ้าไม่ใช่คนแก่ล่ะ ถ้าเป็นคนหนุ่มแข็งแรง จะร้องไหม?”

ถ้าเชื่อว่าทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน นอกจากองกงแล้ว มีคนอยู่ในคุกเพราะ กฎหมายมาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองอีกมากมายสักเท่าไร พี่หนุ่ม เรดนนท์ single dad ที่ต้องพรากจากลูกตัวเล็กๆ 13 ปี ทั้งที่คดีนั้นหลักฐานอ่อนกว่าคดีอากงมาก นี่ก็เป็นอีกคนที่ผมเคยเสียน้ำตาให้ และผมก็แทบจะไม่ได้ไปเยี่ยมเขาอีกแล้ว 

อากงเป็นแค่คนหนึ่งคนที่มีบุคลิกน่าสงสาร และเราเชื่อว่าเค้าไม่ได้กระทำความผิดเฉยๆ ปลายเดือนนี้ยังมีคดีคนถูกฟ้องว่าทำเพจเฟซบุ๊คหมิ่นอีกคดี ต้นเดือนหน้ามีคนถูกหาว่าโพสลิงค์ฟ้าเดียวกัน คดีความยังรออยู่อีกมาก ทั้งเด็กเยาวชน ผู้หญิง คนแก่ และคนหนุ่ม เราไม่รู้หรอก ผมก็ไม่รู้พอๆ กับที่ไม่รู้ในคดีอากงว่าพวกเค้าทำความผิดจริงหรือไม่ เพียงแค่พวกเค้าไม่ได้แก่และไม่ได้จน ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเค้ามีค่าควรที่จะถูกสนใจน้อยไปกว่ากัน

บทเรียนจากความรู้สึกในคดีอากง บทเรียนจากเจ้านายที่คอยขัดอารมณ์อยู่เสมอ บอกผมว่า เราจะต้องก้าวต่อไป เราทำอะไรในคดีนี้ไม่ได้มากแล้ว แต่ยังมีคดีหน้า และคดีหน้าๆๆๆๆ ที่มันจะเข้ามาอีก ถ้าเรามีความรู้สึกกับคดีอากงเท่าไร เราจะต้องจดจำความรู้สึกนี้ไว้ให้แน่นหนาที่สุด เพื่อจะบอกตัวเองเสมอว่า เราจงทำอะไรก็ได้และทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้มีอากง 2-3-4-5 หรือใครก็ตามที่อาจคล้ายอากงบนโลกใบนี้อีก

ซึ่ง นั่น คงต้องทำอะไรอีกมากมายเหลือเกิน

 

วันอ่านคำพิพากษามีโทรศัพท์เข้ามาหาผมเยอะจนน่าหงุดหงิด เพื่อนๆ รอบตัวทั้งหลาย เพิ่งมาสนใจงานที่ผมตามอยู่ก็วันนี้ หลายคนถามว่า ทำไมทนายความถึงไม่ทำนู่นทำนี่ ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้นก่อนหน้านี้ บางคนผมก็รับฟังแล้วค่อยๆอธิบาย บางคนสนิทหน่อยผมก็ตอกกลับไปแรงๆ 

“สาดดดดด คดีหน้ามึงมาอยู่กับกูตั้งแต่ต้นแล้วกัน”

 

 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่