Skip to main content

 

 
ผมไม่แน่ใจว่าสัญลักษณ์ “เลี้ยวซ้ายเมื่อปลอดภัย” ใช้กันที่อื่นอีกหรือเปล่าในประเทศนี้ แต่ผมเพิ่งเคยเห็นที่นี่เป็นที่แรก ป้ายนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าหอนาฬิกาใจกลางเมืองปัตตานีพอดิบพอดี ดังนั้น ภายใต้กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ครอบครองเมืองนี้มาเกือบ 8 ปี คำว่า “ปลอดภัย” จึงชวนให้คิดว่า คนเขียนป้ายตั้งใจจะหมายถึง ให้ดูรถจากอีกฝั่งให้ดีหรือหมายถึงอะไร? 
 
จากจุดนี้ถ้าเดินเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายก็จะเป็นโรงแรมที่ผมพักพอดี และในคืนวันหนึ่ง เวลาประมาณสี่ทุ่มกว่าๆ ทั้งที่รถรายังขวักไขว่และแสงไฟสว่างไสว ผมก็ไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไรนัก เมื่อผมพยายามจะออกมาเดินเล่นชมเมืองสักสิบนาทีโดยจะเดินออกมาจากโรงแรมผ่านหัวโค้งตรงนี้เลย แต่ถูกเพื่อนที่เป็นคนปัตตานีเรียกให้ผมกลับด้วยเสียงแข็ง ก่อนที่เพื่อนจะอธิบายให้ผมฟังในลิฟท์ว่า จุดนี้ เคยมีประวัติถูกวางระเบิดซ้ำมาแล้วหลายครั้ง
 
แม้จะกลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว ผมยังคงตั้งคำถามเล่นๆ กับป้ายนี้ต่อไป ว่าหมายถึงปลอดภัยจากอะไร? และจะรู้ได้ยังไงว่าปลอดภัย?
 
 
ผมเดินทางมาปัตตานีคราวนี้กับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง เพื่อมาช่วยเพื่อนจัดงานนิทรรศการและงานเสวนา เรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สมาชิกของเราคนหนึ่งลงมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก ด้วยอาการหวั่นวิตก นั่งตัวเกร็งอยู่ในรถตู้ตลอดทางทำให้พวกเรามีเรื่องไปล้อกันได้สนุกสนาน
 
ในกิจกรรมของเราครั้งนี้ยังมีการเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “รอยแผลบนดวงจันทร์” หนังสือสารคดีที่นำเสนองานวิจัย เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหนังสือบรรจุความจริงของเด็กที่ถูกจับกุม ควบคุมตัวด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้สิทธิต่างๆ ที่เด็กควรได้รับ กับกระบวนการที่ควรจะมีเพื่อคุ้มครองเด็ก ก็ถูกยกเว้นไปด้วยกฎหมายพิเศษเหล่านั้น
 
ในหนังสือเล่มนี้ มีเรื่องราวของชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ที่ถูกล้อมจับแบบเหวี่ยงแหไปพร้อมกับผู้ใหญ่หลายคนในหมู่บ้าน เด็กคนนี้ถูกเรียกขานนามสมมติว่า “จันทรา” จันทราถูกขังที่ค่ายทหารเป็นเวลา 30 วัน ถูกซ้อมทรมาน เตะ ต่อย เอามีดจี้ ให้แช่ในน้ำแข็ง ให้นั่งในถังน้ำมันแล้วจุดไฟเผา ทั้งหมดนี้เพื่อบีบให้รับสารภาพ แม้ว่าจันทราจะถูกปล่อยตัวมาโดยไม่มีความผิด แต่ความรู้สึกเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวนั้น จันทรายังจดจำมันได้เป็นอย่างดี และอาจเป็นบาดแผลในใจไปตลอดชีวิตที่ยังคงเหลืออยู่และต้องดำเนินต่อไป นั่นคือความหมายของชื่อหนังสือ “รอยแผลบนดวงจันทร์”
 
บนเวทีเสวนาหัวข้อสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรม ที่มีทั้งผู้พิพากษา ผอ.สถานพินิจ องค์กรสิทธิ อยู่บนเวทีและยังมีอัยการ กับตำรวจนั่งฟังอยู่ด้วย วิทยากรทุกคนพูดเรื่องสิทธิเด็กตามหัวข้อรวมกันแล้วไม่เกิน 30% ของเวลาที่ใช้ไป พอได้ไมค์เข้าปากทุกคนต้องไม่พลาดที่จะอภิปรายเรื่องประเด็นปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น และความเห็นต่อการคงอยู่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ในฐานะผู้ดำเนินรายการผมสรุปสิ่งที่ได้จากเวทีวันนั้นว่า เป็นเรื่องดีที่เห็นทุกคนตื่นตัวกับปัญหาและแลกเปลี่ยนกันอย่างดุเดือดโดยไม่โกรธกัน กฎหมายพิเศษทั้งหลายควรจะใช้ต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิดต่อไป
 
แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า เรื่องกฎหมายพิเศษนั้น ความเห็นแยกออกเป็น ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ กับ ฝ่ายเอ็นจีโอ-นักศึกษา-ชาวบ้าน อย่างชัดเจนจนเหมือนเตี๊ยมกันมา ทั้งสองฝ่ายต่างมีเหตุผลที่ไตร่ตรองมาอย่างชัดเจนแล้ว ยากเกินไปที่การฟังเสียงอีกฝ่ายจะชักจูงให้เกิดการเปลี่ยนใจ
 
 
ค่ำคืนในเมืองปัตตานีไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างไปจากเมืองอื่น ทีมงานที่มาจากกรุงเทพฯ และน้องๆ นักศึกษาที่มาช่วยงาน ชวนกันมานั่งปลดปล่อยความอัดอั้นกันที่ร้านบารากุร้านเดียวในปัตตานี แม้ส่วนใหญ่ของบทสนนาบนโต๊ะนั้นจะเป็นการนินทาประสาเม้าท์ แต่ก็มีสาระแห่งชีวิตปนมาบ้าง
 
ในเมืองพหุวัฒนธรรมโดยแท้ ที่มีทั้งคนพุทธ มุสลิม ท้องถนนมีมัสยิด สลับกับวัดเถรวาท วัดมหานิกาย และศาลเจ้า มีคนจากภาคกลาง คนใต้ คนมลายู และคนจีน ทุกหัวระแหงมีความรู้สึกแบ่งแยกอยู่ เขตชุมชนของคนพุทธคนมุสลิมจะไม่ไป ไม่ใช่รังเกียจหรือกลัว แต่เพราะมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่ต้องห้ามตามศาสนา แม้แต่ในมหาวิทยาลัยหลักแห่งเดียว ก็มีการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มที่เชื่อเรื่องพหุวัฒนธรรม กับกลุ่มที่เชื่อเรื่องมุสลิมแบบอนุรักษ์นิยม และแม้แต่มุสลิมที่เคร่งครัดก็ยังมีสายใหม่และสายเก่า
 
“ไม่เข้าใจเลยว่าความรู้สึกแบ่งแยกนี่มันเกิดขึ้นได้ยังไง” ใครสักคนเปิดคำถามขึ้นมา
 
“กูรู้ๆ” ผมรีบตอบ “เพราะบางคนเกิดมาอยู่ในสังคมที่มีคนแบบเดียวไง เกิดมาเจอคนหน้าตาแบบเดียวกัน นับถือศาสนาแบบเดียวกันหมด เหมือนกรุงเทพฯที่กูอยู่ เวลาคิดอะไรก็เลยอยู่บนฐานที่ว่าคนมันมีแบบเดียว ไม่ได้คิดถึงว่ามีคนที่แตกต่างอยู่ และก็เป็นคนเหมือนกันมีค่าเท่ากัน” เป็นทรรศนะที่ผมเข้าใจว่าแหลมคมมาก จากการวิเคราะห์ไว้เองนานแล้ว
 
“แต่ว่าคนที่นี่เกิดมาในสังคมที่มีคนหลายแบบ แล้วความรู้สึกแบ่งแยกที่นี่มันเกิดขึ้นได้ยังไง?”
 
“เอ่อ ... งั้นกูไม่รู้แล้วว่ะ”  ^_^
 
 
ชา ที่วางอยู่บนโต๊ะบารากุนั้น ภาษามลายูเรียกว่า “แต” ใครสักคนบอกว่าเหมือนภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “TEA” และความรู้ประกอบสำหรับวงนั้นอีกนิดนึง ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “แต๊” แม้ภาษาไทยจะเรียกว่า “ชา” แต่ก็มีพวกอยู่เพราะภาษาจีนกลางและภาษาจีนกวางตุ้งเรียกว่า “ฉ่า”
 
ตกลงเราแตกต่างกันจริงเหรอ? ..... ผมคิดคนเดียว
 
“นามอ” แปลว่า ชื่อ คำนี้ผมฟังได้เองเพราะเวลาเพื่อนคนปัตตานีแนะนำผมให้กับคนอื่นจะพูดว่า “XXXXX นามอยิ่งชีพ (ชื่อผม)” และนามอ ภาษาอังกฤษก็คือ NAME หลังจากชื่อผมหลุดออกมาแล้ว จะมีอีกประโยคนึงตามมาคือ “XXXXX บาโกะ” ก็คือ บางกอก หรือกรุงเทพนั่นเอง ไม่รู้ว่าเป็นการทับศัพท์หรือดันบังเอิญพูดเหมือนกัน
 
อีกคำนึงที่น่าสนใจที่ผมได้เรียนรู้จากโต๊ะบารากุ คนมลายูเค้าเรียกคนพื้นเพอย่างผมว่า “ซีแย” คำนี้มาจากคำว่า “สยาม” ชื่อเดิมของบ้านเมืองของผมที่ภายหลังเปลี่ยนเป็น “ประเทศไทย” น้องนักศึกษาคนหนึ่งให้ทรรศนะว่า การเรียกคนจากภาคกลางว่าซีแยหรือสยามบอกเป็นนัยว่าคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยนับตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสยามหรือประเทศไทยนั่นเอง ในอดีตสยามก็คือสยาม และมลายูก็คือมลายู ส่วนปัตตานีก็เป็นรัฐหนึ่งของคนมลายู สยามเคยรบชนะปัตตานีก็เหมือนพม่าจากหงสาฯเคยตีกรุงศรีอยุธยาแตก แล้วจะให้คนอยุธยาคิดว่าตัวเองเป็นคนพม่าได้อย่างไร
 
แม้ว่าวันนี้ผืนแผ่นดินส่วนที่ผมนั่งสูบบารากุอยู่จะมีสถานะตามกฎหมายภายใต้การปกครองของรัฐไทย แต่ในความรู้สึกของคนที่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กระบอกปืน หรือรถถังก็บังคับกันไม่ได้ จึงไม่มีใครพูดแทนคนทั้งหมดได้ว่าอยากให้เป็นอย่างไร
 
 
เท่าที่ทีมงานจากกรุงเทพฯ พอมีเวลาท่องเที่ยวชมเมืองบ้าง เป็นโอกาสดีที่เราได้ไปเยือนทั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และมัสยิดกรือเซะ เพื่อตอกย้ำความหลายหลายทางวัฒนธรรมในเมืองปัตตานี หรือ ปาตานีแห่งนี้ เพื่อนที่เคยกลัวหัวหดตอนนั่งรถกำลังจะเข้าเขตจังหวัดปัตตานี บัดนี้ความรู้สึกนั้นได้หายไปแล้ว มันบอกว่าตอนดูข่าวก็ทำให้คิดภาพว่าภาคใต้จะเป็นอย่างนึง แต่พอมาถึงแป๊บเดียวก็รู้ว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย” ซึ่งผมก็ได้พยายามบอกมันก่อนหน้านี้แล้ว แต่มันไม่เชื่อ ก่อนมาผมเคยบอกมันว่ามีคนมากมายอยู่ที่นี่ทุกวันและใช้ชีวิตตามปกติ แต่มันเถียงผมว่า “ก็เค้าเป็นคนที่นั่นนิ” ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ดี แต่บัดนี้มันก็ได้เข้าใจด้วยตัวเองแล้ว
 
วันนี้และทุกวัน ที่หัวโค้งแยกหอนาฬิกากลางเมืองจะมีรถรามากมายวิ่งผ่านไปมา มีผู้คนมากมายเดินผ่านไปมา เพื่อสานต่อภารกิจประจำวันของตัวเอง ภายใต้ป้ายที่ไม่อธิบายว่ายังไง คือ ปลอดภัย ชีวิตของผู้คนก็ยังต้องดำเนินต่อไป ลำพังอำนาจของความกลัวคงไม่อาจแช่แข็งชีวิตให้นิ่งงันอยู่กับที่ได้เป็นเวลาถึง 8 ปี และจะต่อไปอีกไม่รู้นานแค่ไหน
 
ไม่มีใครไม่อยากเห็นความสงบและสันติภาพ แต่สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินมาต่อเนื่องสร้างเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนไว้มากเกินไป บาดแผล อคติ ความแตกแยก ก่อตัวฝังรากมานานเกินกว่าที่การจับ หรือยิงใครสักคนทิ้งจะจบปัญหาลงได้ ขนาดผมซึงมาเพียงไม่กี่วันยังเจอประเด็นวิ่งเข้าใส่จนสมองคิดอะไรไม่ค่อยจะทัน ดังนั้น คนปัตตานีจึงรู้อยู่แก่ใจว่าวันที่พวกเขาจะเลี้ยวซ้ายได้โดยไม่ต้องกังวลคงยังไม่มาถึง
 
ตราบใดที่ ยังมีเพียงความจริงตามภาพข่าวในทีวี
 
ยังมีรอยกระสุนรอบมัสยิดกรือเซะ
 
ยังมีรอยร้าว รอบสภอ.ตากใบ
 
ยังมีคำว่า ไทยพุทธ – มุสลิม – มลายู – ซีแย
 
ยังมีรอยแผลบนดวงจันทร์
 
 
 
ในเย็นวันหนึ่งขณะที่ผมนั่งรอเพื่อนๆ กลับจากการซื้อของ เวลาใกล้หกโมงเย็น พระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยกำลังจะลับขอบฟ้า แสงสลัวๆ สุดท้ายส่องให้ท้องฟ้าสีฟ้าอมเทามีสีชมพูปรากฏเป็นริ้วทางยาว เสียงสวดอาซาลดังลอยมาจากทิศทางใดทิศทางหนึ่งเตือนว่าได้เวลาทำละหมาดแล้ว เด็กหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินเรียงแถวออกจากห้องแล้วห้องเล่า ตึกแล้วตึกเล่า มุ่งหน้าไปในทางเดียวกัน ผมจึงลุกเดินตามไปในทิศทางนั้น
 
แสงไฟสว่างไสวลอดออกมาจากมัสยิดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ใต้ท้องฟ้าสีฟ้าสลับชมพูผืนเดียวกันนั้น นักศึกษาหญิงในชุดคลุมฮิญาบสีขาวเหมือนๆ กันเดินเรียงแถวหายเข้าไปข้างใน ในฐานะคนพุทธจากภาคกลาง ผมได้แต่ยืนฟังเสียงสวดอยู่ภายนอกเท่านั้น
 
ข้างๆ มัสยิดมีลุงขายโรตีอยู่คนหนึ่ง หลังจากที่นักศึกษาเดินหายเข้าไปในมัสยิดหมดแล้ว แกจึงยืนเหงาๆ อยู่ตรงนั้นคนเดียว
 
“โรตีไม่ใช่ไข่อันนึงครับ” ผมก็หาอะไรทำแก้ว่างเหมือนกัน
 
“ไสร่น้าโตรมา”
 
“ครับ?”
 
“ไสร่น้าโตรมา” แกพูดอีกครั้งพลางหยิบกระปุกน้ำตาลขึ้นมา ผมพยักหน้ารับ แล้วแกก็ก้มหน้าก้มตาตีแป้งโรตีอย่างคล่องแคล่ว
 
คนที่นี่พูดคนละภาษากับผม กินอาหารไม่เหมือนกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน แต่งตัวไม่เหมือนกัน มีความเชื่อไม่เหมือนกัน มีวัฒนธรรม มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน แต่งดงามไม่ต่างกัน จะแปลกอะไรถ้าหากความรู้สึกแบ่งแยกแตกต่างจากคน “ซีแย” ก่อตัวขึ้นเองในใจตามธรรมชาติ จะแปลกอะไรที่คนที่อยู่ในสังคมของเขารู้สึกอยากที่จะมีชีวิตในแบบของตนเอง
 
นอกจากเหตุผลเรื่องเกียรติภูมิของชาติไทยที่มีดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลจากการชนะศึกสงครามในอดีตแล้ว ผมก็มองไม่เห็นเหตุผลอะไรอีกที่คนหน้าตาเจ๊กๆ แบบผมจะต้องอยากไปปกครองคนมลายูที่ดำรงวิถีชีวิตไม่เหมือนกันเลยสักนิดเดียว
 
 “XXXXX”
 
ลุงพูดคำอะไรสักอย่างด้วยภาษาภาคกลางที่ผมฟังไม่เข้าใจ ขณะยื่นโรตีที่ม้วนเสร็จแล้วมาให้ ผมรับ ยื่นตังค์ให้แล้วเดินผละออกมา ลุงแกมองหน้าและยิ้มให้ผมหนึ่งทีประหนึ่งจะสื่อสารว่า ขอต้อนรับคนจากแดนอื่นที่คุยกันไม่เข้าใจ เมื่อลุงยิ้มให้แล้วผมก็ยิ้มรับ
 
ไม่ว่าความรู้สึกแบ่งแยกเกิดขึ้นได้อย่างไร และใครเริ่มก่อน
 
ไม่ว่า “จันทรา” จะเดินเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกได้เมื่อไร
 
ไม่ว่ากฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน
 
ไม่ว่าใครจะปกครองใคร หรือไม่มีใครปกครอง
 
“เราจะต้องอยู่ด้วยกัน”
 
 
โรตีเล็กๆ แผ่นนั้นหวานน้ำตาล และอร่อยดี
 
 
 
 

 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่