Skip to main content

สื่อนอกจุดตายรัฐบาล?

 

ทีมข่าวการเมือง

ภายในประเทศ สื่อไทยและรัฐบาลใหม่ดูจะยังดำเนินไปตามขนบที่เป็นมายาวนานคือยังอยู่ในช่วงเวลาน้ำผึ้งพระจันทร์ แต่นอกพรมแดนรัฐไทยออกไป กลับเป็นบรรยากาศที่แตกต่าง ข้อมูลข่าวสารที่ถูกรายงานออกไปดูจะไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาลใหม่ของประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้สักเท่าใด

น้ำผึ้งไม่หวาน

พลันที่ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ สิ่งที่รอยเตอร์แนะนำเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยก็คือ....

ภูมิความรู้ของเขาไม่เป็นที่สงสัย และการไปเล่าเรียนยังต่างแดนก็ส่งผลต่อการเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักธุรกิจระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้รับความนิยมในภาคอิสานซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในฐานะผู้นำฝ่ายค้านเขาเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ในภาคใต้น้อยมาก และเกือบทุกครั้งก็จะพบกับการต่อต้าน

ครั้งหนึ่ง ผู้สนับสนุนทักษิณได้ขัดขวางการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดเชียงใหม่โดยขว้างปาผักเน่าใส่นายอภิสิทธิ์

อภิสิทธิ์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนักฉวยโอกาสซึ่งไร้ที่อยู่ที่ยืนหากปราศจากซึ่งความช่วยเหลือจากกองทัพและกลุ่มต่อต้านทักษิณที่ชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เขาล้มเหลวในการกล่าวโทษพันธมิตรฯ แม้แต่เมื่อครั้งที่กลุ่มนิยมกษัตริย์ยึดสนามบินหลักสองแห่งก็ตาม และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคที่ตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2006 ซึ่งนำมาสู่ภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญ และเกิดการรัฐประหารในที่สุด

นโยบายของอภิสิทธิ์นั้นหยิบยืมมาจากทักษิณมาก โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งระบบสุขภาพและกองทุนเงินกู้ในเขตชนบทซึ่งริเริ่มมาจากช่วง 5 ปีแรกของทักษิณ

http://www.reuters.com/article/topNews/idUSTRE4BE0IV20081215

 

 

ขณะที่เทเลกราฟ จับตาไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างเทศนามกษิต ภิรมย์ ว่าเคยเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันมีพฤติกรรมบันลือโลกด้วยการปิดสนามบิน กักผู้โดยสารชาวต่างประเทศกว่า 350,000 คนไว้เป็นตัวประกันทางการเมืองไทย โดยเทเลกราฟตีพิมพ์คำกล่าวของนายกษิต ว่า การกระทำดังกล่าวนั้น ‘a lot of fun' ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาแก้ข่าวแล้วว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะที่ a lot of fun นั้นหมายถึงที่ทำเนียบต่างหาก

 

กษิต ภิรมย์ วัย 64 ปี กำลังจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ หน้าที่ของเขาคือการกอบกู้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างประเทศ แต่คงยากเมื่อความจริงนั้นเขาคือผู้สนับสนุนคนสำคัญของการประท้วง และยังคงเป็นอยู่

ผู้โดยสารกว่า 350,000 คนตกค้างเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์เมื่อผู้ประท้วงซึ่งเป็นพวกคลั่งระบอบกษัตริย์ซึ่งใช้ชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลักสองถึงสามพันทำการประท้วงยึดสนามบิน ความมั่นใจของนักลงทุนถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดแก่ธุรกิจท่องเที่ยวจะส่งผลให้มีการว่างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

แต่กษิตกล่าวกับนักการทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ต้องตกอยู่ในอาการอัศจรรย์ใจว่า การประท้วงนั้น สนุกสนานมาก อาหารดี ดนตรีไพเราะ

พันธมิตรฯ กล่าวหารัฐบาลว่าคอร์รัปชั่นและมีความโยงใยกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อปีก่อน แต่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำนวนมาก รวมถึงชนชั้นนำอาวุโสนั้นเชื่อว่าอิทธิพลของทักษิณที่มีต่อการเมืองไทยเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด

นายกษิต เป็นผู้ปราศรัยหลักคนหนึ่งของการประท้วง ซึ่งมีส่วนช่วยในการโค่นรัฐบาลของฝ่ายทักษิณลง พรรคประชาธิปัตย์ของเขา ขณะนี้ได้ทำการจัดตั้งรัฐบาลผสม แม้ว่าพรรคของเขานั้นจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอดในการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

"คุณต้องมองการประท้วงครั้งนี้ในฐานะที่มันเป็นการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตยให้ก้าวไปข้างหน้า" กษิต กล่าวแนะ

ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่าพันธมิตรฯ สามารถที่จะดำเนินการประท้วงได้โดยจะได้รับการยกเว้นโทษ และช่วยเหลือในการคว่ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะพันธมิตรฯได้รับการหนุนหลังจากปัจจัยที่ทรงพลังในการต่อต้านทักษิณจากราชสำนักและกองทัพ

กองทัพมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสนามบิน แต่ไม่กระทำการใดๆ เลยที่จะป้องกันผู้ประท้วงจากการเข้ายึดศูนย์กลางการบินที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

มีการรายงานอย่างกว้างขวางว่าเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกองทัพมีบทบาทสำคัญในการชักจูงให้ส.ส.สลับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อถูกถามถึงบทบาทของกองทัพในการผลักดันพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่อำนาจ กษิตตอบว่า "ผมไม่ทราบ"

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้คำมั่นว่าจะนำขบวนการพันธมิตรฯ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ว่านอกเหนือจากที่เขาเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาจากคนที่เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของพันธมิตรฯ แล้ว หนึ่งในแกนนำของพันธมิตรฯ ก็ยังเป็น ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พันธมิตรฯ มีบทบาทสำคัญในการนำพาพรรคประชาธิปัตย์มาสู่การเป็นรัฐบาล ฉะนั้นแล้ว ดิฉันคิดว่าเราจะต้องผิดหวังต่อการดำเนินการตามกฎหมายที่รัฐบาลบังคับใช้ต่อกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการกระทำของพันธมิตรฯ"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ได้ตำหนินักการทูตและสื่อมวลชนจากต่างประเทศที่ไม่ได้ให้ความเห็นอกเห็นใจที่มากพอแก่เหตุผลของฝ่ายพันธมิตรฯ "คุณควรจะยินดีกับครั้งแรกที่คนธรรมดาออกมากดดันและต่อต้านการคอร์รัปชั่น" กษิต กล่าว "ถ้าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง มันก็มีราคาที่จะต้องจ่าย" พันธมิตรฯ จ้างการ์ดซึ่งติดอาวุธอันประกอบไปด้วยไม้กอล์ฟ ปืน และระเบิด แต่กษิตกล่าววิพากษ์เหล่าชาวต่างชาติที่กังวลมากเกินไปเกี่ยวกับแนวโน้มของเหตุรุนแรง

"มีคนกล่าวหาว่าเราติดอาวุธ ภรรยาของผมไปร่วมชุมนุมด้วยทุกเย็น เธอเอาอะไรไป? เพียงแค่อาหารและยาเท่านั้น"

http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/thailand/3885612/Bangkok-airport-protests-were-fun-says-Thailands-new-foreign-minister.html

 

 

ด้าน ส.ส.ระบบสัดส่วนจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นบุคลากรด้านการศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ดร.เจริญ คันธวงศ์ ก็ต้องออกมาแก้ไขข้อเข้าใจผิดเมื่อสื่อต่างประเทศลงคำให้สัมภาษณ์ของเขาว่า เขาไม่กังวลกับเสียงของคนอิสาน และว่าคนอิสานนั้นเป็นลูกจ้างของคนกรุงเทพฯ เด็กปั้มน้ำมันก็เป็นคนอิสาน และคนใช้ที่บ้านของเขาก็เป็นคนอิสาน

ถ้อยคำนี้เผยแพร่ครั้งแรกในบทความของนิรมล โฆษ ผู้สื่อข่าวของเสตรทไทม์ สิงคโปร์ ในบทความที่มีชื่อว่า รัฐบาลใหม่ของไทยจะอยู่ได้นานแค่ไหน และถูกนำไปอ้างอิงซ้ำอีกทีในเดอะการ์เดียน ในบทความที่ชื่อว่า สงครามชนชั้น เบื้องหลังการปะทะของสี (http://www.guardian.co.uk/world/2008/dec/21/thailand-election-abhisit-thaksin-protests)

รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้นานแค่ไหน

ในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงดูเหมือนจะมาพร้อมคำถามที่ว่าแล้วจะเปลี่ยนอีกทีเมื่อไหร่

ฉะนั้นแล้ว การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ความสนใจก็ดูจะมุ่งไปที่ว่า รัฐบาลของเขาจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่

รวมด้วยกับที่ว่า ภายหลังจากอภิสิทธิ์ชนะการโหวดในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.แบบสัดส่วน เจริญ คันธวงศ์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายของ บริษัทติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บอกกับเสตรทไทม์ว่า มี 2 ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์พึงให้ความสำคัญ หนึ่งคือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสองคือ การแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติ

แต่เจริญไม่ได้หวั่นเรื่องการแบ่งแยกเชิงภูมิภาคที่เกิดจากความแตกแยกทางการเมือง กรุงเทพฯ และภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งของประชาธิปัตย์ ส่วนภาคเหนือและภาคอิสานนั้นเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งของเพื่อไทย

"คุณรู้ไหม คนอิสานเป็นลูกจ้างของคนกรุงเทพฯ" เขากล่าว "คนใช้ของผมก็มาจากอิสาน คนทำงานปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ ก็มาจากอิสาน" สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นข้อสรุปถึงจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ดังที่นักวิเคราะห์หลายคนได้ชี้ไว้ว่าประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตัวของพรรคเอง หากแต่นี่คือพรรคของกลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปราศจากการหนุนหลังจากตัวเล่นอื่นทางการเมือง เช่นกองทัพ และชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังขบวนการต่อต้านทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตระหนักดีถึงความข้อนี้ อภิสิทธิ์กล่าวยอมรับอย่างสุจริตใจต่อสเตรทไทม์ในระหว่างการเดินทางหาเสียงโค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดว่าพรรคไม่สามารถได้ที่นั่งเพิ่มในพื้นที่ภาคอิสานเพราะพรรคถูกมองว่าเป็นพรรคของคนกรุงเทพฯ

ในการเยี่ยมเยือนต่างจังหวัดสองสามครั้งในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เขาถูกต้อนรับด้วยผักเน่าซึ่งขว้างปาใส่รถของเขา และขณะนี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ถูกคัดเลือกผ่านการควบคุมของกองทัพโดยการหนุนหลังของผู้ทรงอำนาจในราชสำนัก การต้อนรับเขาก็คงจะมีสภาพไม่ต่างไปจากเดิมนักหากเดินทางไปยังพื้นที่ภาคอิสาน

จะมีความยุ่งยากยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาต้องแก้ปัญหาอันท้าทายในการฟื้นสภาวะเศรษฐกิจ

ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ถูกกระทบอย่างจริงจังจากการยึดสนามบินเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งหนึ่งในแกนนำเป็นส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ การกระทำของพันธมิตรฯ ส่งผลต่อหัวใจของเศรษฐกิจ

ภาคการส่งออก ถูกกระทบจากภาวะชะงักงันของตลาดต่างประเทศและเริ่มส่งผลต่อภาวะการว่างงาน การกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากทั้งสองปัจจัยทั้งด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเริ่มส่งผลในเดือนหน้า และเมื่อถึงเวลานั้น อภิสิทธิ์จะต้องเผชิญกับคนว่างงานในประเทศจำนวนนับล้านผนวกด้วยปัญหาความน่าเชื่อถือจากภายนอกประเทศ

ด้วยการหนุนหลังของกองทัพและราชสำนัก ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและชุมชุนนักธุรกิจรวมถึงนักการเมือง นักยุทธศาสตร์และนักจัดการ พรรคประชาธิปัตย์คงจะสามารถนำเสนอแนวทางและมีความเด็ดเดี่ยวในการวางนโยบายได้

เสียงเงียบซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยเหน็ดเหนื่อยกับการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและปรารถนารัฐบาลที่ทำงานได้

การเริ่มเมกะโปรเจ็กต์จะเป็นความสำคัญลำดับแรกเพื่อกระตุ้นการลงทุนและสร้างงาน แต่ การเยียวยาความแตกแยกในสังคมไทยที่ถูกสร้างขึ้นโดยการต่อสู้ทางการเมืองที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2006 และหยั่งรากลึกในปีนี้ ก็เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า

พรรคประชาธิปัตย์จะต้องจัดการกับเหล่ารอยัลลิสต์เสื้อเหลืองจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหล่าเสื้อแดงที่นิยมประชาธิปไตยและทักษิณ ชินวัตรซึ่งได้แสดงพลังแล้วว่าสามารถระดมคนได้เป็นหลักแสน

บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าเสียงข้างมากที่บอบบางของรัฐบาลประชาธิปัตย์จะอยู่ได้ไม่นานนัก โดยมีพื้นฐานมาจากบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการเจรจาต่อรองของกลุ่มธุรกิจการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลเอง

หากว่าพรรคไม่สามารถที่จะจัดการกับความคาดหวังและแรงกดดัน การจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปีหรือสั้นกว่านั้น ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

"ความท้าทายนั้นใหญ่หลวง และจะเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบาก" มล. พฤฒิสาน ชุมพล นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับเสตรทไทม์ "ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการอธิบายตัวเองเป็นหลักและการตัดสินใจของพรรค พวกเขาต้องทำงานและขณะเดียวกันก็ต้องทำการตลาดด้วย"

อภิสิทธิ์และทีมของเขาจะมีเวลาที่จำกัดในการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถถือหางเสือพานาวาฝ่าคลื่นไปสู้ผืนน้ำที่สงบกว่า และเช่นกันพวกเขาต้องชนะใจเสียงส่วนใหญ่ในภาคเหนือและภาคอิสาน หากไม่เช่นนั้น พวกเขาก็จะเป็นฝ่ายถูกนำทางในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

http://www.asianewsnet.net/news.php?id=3129&sec=1

 

ขอโทษคนไทย สื่อนอกเข้าใจผิด

ภายใน 1 สัปดาห์ รัฐมนตรีและส.ส.ของประชาธิปัตย์ต้องออกมากล่าวขออภัยและแก้ไขความเข้าใจผิด 2 เรื่องแล้ว ทั้งนี้ เนื้อหาในการขอโทษมุ่งไปที่ความเข้าใจผิดของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่เป้าหมายของคำขอโทษดูเหมือนจะอยู่ที่คนไทย

ท่านทูตกษิตนั้น เป็นบุคลากรทางการเมืองที่มีความขยันขันแข็งมาก ไม่ทันที่รัฐบาลจะแถลงนโยบาย ก็ทำงานอย่างเอาจริงเอาจังนอกเหนือจากต้องตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่อง ‘a lot of fun' แล้ว ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเขายังได้สั่งการให้ทูตไทยทั่วโลกทำหน้าที่ชี้แจงต่อชาวต่างชาติถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ด้วย พร้อมกับคำชี้แจงถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยว่าทรงอยู่เหนือการเมือง

ที่น่าสนใจมากก็คือ สื่อต่างประเทศนั้น เหตุใดยิ่งอยู่เมืองไทยนานก็ยิ่งเข้าใจผิดมาก ดังที่ท่านทูตยังต้องเอ่ยถามนายโจนาธัน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทยซึ่งตั้งคำถามเรื่องกลุ่มพันธมิตรกับกิจกรรมการเมืองที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องปิดสนามบินว่า "คุณอยู่เมืองไทยมากี่ปีแล้ว ผมว่าคุณไม่เข้าใจสังคมไทย ไม่เข้าใจพัฒนาการการเมืองของไทย"

ทว่า...หากเราท่านอ่านสื่อต่างประเทศเหล่านี้ดีๆ แล้วจะพบว่า ประเด็นของสื่อต่างประเทศไม่ได้สนใจว่าใครพูดอะไร มากเท่ากับตัวละครในการเมืองไทยได้แสดงอะไรต่อสายตาของพวกเขา โดยอาศัยฐานข้อมูลที่เก็บสั่งสมและเหตุการณ์ที่ร้อยเรียงกันมาตามลำดับ

การนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการยึดสนามบินที่เป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียนั้น ถูกนำเสนอในทางลบอย่างต่อเนื่องโดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/1569 )ทั้งคำอธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ถูกอธิบายโดยสื่อเหล่านี้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย สื่อบางสำนักกล้ากล่าวว่ามันคือขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับชื่อ และมีปัจจัยอื่นนอกระบอบประชาธิปไตยหนุนหลังอยู่ การมาถึงของรัฐบาลภายใต้การนำของประชาธิปัตย์ซึ่งมีสมาชิกพรรคคนสำคัญเป็นแกนนำและรัฐมนตรีของพรรคเป็นผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ จึงเป็นเรื่องที่ถูกร้อยเรียงเชื่อมโยงเข้ากันโดยง่ายสำหรับคนทั่วๆ ไป ที่สมาธิไม่สั้น และการใช้เหตุผลไม่บกพร่อง

การทำให้ประเด็นของเรื่องหดแคบเหลือเพียงความเข้าใจภาษาอังกฤษที่คลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่ประโยคซึ่งเป็นประเด็นนำเสนอหลักในสื่อไทยนั้น จึงไม่ได้ช่วยคลี่คลายข้อฉงนสนเท่ห์ หรือภาพลักษณ์ติดลบที่สื่อต่างประเทศมีต่อการเมืองไทยแต่ประการใดเลย การออกมาแก้ต่างเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษาไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด ทั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภาพลักษณ์ในสายตาต่างประเทศ หากแต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาภาพลักษณ์รัฐบาลในสายตาของคนไทย (ที่ไม่อ่านภาษาอังกฤษ) เท่านั้น

ส่วนผู้สื่อข่าวต่างประเทศ มีความเข้าใจต่อการเมืองไทยเพียงใด และจะยอมรับกับคำอธิบายที่รัฐบาลไทยจะผลิตต่อไปอย่างต่อเนื่องได้มากเพียงใด คงต้องย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่สื่อเหล่านี้เขียนอีกครั้ง

ตราบเท่าที่ไทยยังไม่เลือกการปิดประเทศ เชื่อได้ว่า สื่อต่างประเทศจะยังคงเป็นจุดเปราะบางของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของประชาธิปัตย์ต่อไป และคำถามที่สำคัญซึ่งสื่อไทยไม่ได้ถามแต่สื่อต่างประเทศถามตั้งแต่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยังไม่มีการประกาศนโยบายคือ รัฐบาลใหม่ของไทยจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน........

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- กระทรวงการต่างประเทศงานเข้า กษิต' สั่งทูตทั่วโลก แจงประชาธิปไตยไทย
http://www.prachatai.com/05web/th/home/14981

- เทเลกราฟตีข่าว กษิต ภิรมย์บอกยึดสนามบินสนุก อาหารดี ดนตรีไพเราะ
http://www.prachatai.com/05web/th/home/14969

- เทศกาล แบน เพื่อชาติ
http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/1569

- ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยัน "เราจะไม่เป็นรัฐที่ล้มเหลว"
http://www.prachatai.com/05web/th/home/14942

- ส.ส.ประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์สื่อนอก บอกไม่กังวลเสียงคนอิสานเพราะเป็นแค่ลูกจ้างของคนกรุงเทพ
http://www.prachatai.com/05web/th/home/14972

- ส.ส.ปชป.ปฏิเสธพูดดูถูกคนอิสาน ระบุเป็นปัญหาด้านภาษา
http://www.prachatai.com/05web/th/home/14990

- How long can the new Thai govt last?
http://www.asianewsnet.net/news.php?id=3129&sec=1

 

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ระหว่างรอผลว่า ท้ายที่สุดอดีตนายกรัฐมนตรีไทยและภรรยาจะได้อยู่ในประเทศอังกฤษในฐานะผู้ลี้ภัย หรือจะกลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่ต้องประสานให้ส่งมอบตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย ลองดูซิว่าทำเนียบรุ่นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศอังกฤษอ้าแขนรับที่ผ่านมา มีใครบ้าง.... 
หัวไม้ story
วันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 เป็นวันแห่งการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และการปราบปรามนั้นได้ดำเนินไปหลายวันในย่างกุ้ง หัวไม้สัปดาห์นี้ ขอเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการต่อสู้ของเพื่อนมิตรชาวพม่าในครั้งนั้น ด้วยบทเพลงพม่าที่เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น คือเพลง วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 และ เพลงไม่มีวันลืม (Kabar Ma Kyay Bu Heyt!) ทั้งสองเพลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ทุกรอบปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามที่เกิดขึ้นเราหวังว่าสักวันหนึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตยจะปรากฏขึ้นในขอบฟ้าฟากตะวันตก เพลง วันที่ 8…
หัวไม้ story
< พิณผกา งามสม > ถ้าผู้หญิงคืออีกซีกหนึ่งของฟากฟ้า อย่างที่จอน เลนนอน ไอดอลแห่งยุคบุปผาชนเคยกล่าวไว้  ภาพข่าว ดร. วันอาซีซาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กับสามีได้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในรัฐสภาที่ว่างลงในฐานะอีกครึ่งชีวิตทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ก็คงเป็นตัวอย่างจริงของความเป็นอีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า แต่จะเป็นท้องฟ้าของวันใหม่ดังที่นายอันวาร์ย้ำมาตลอดหรือไม่ เป็นเรื่องของการเมืองที่ยากจะคาดการณ์ ดร. วันอาซีซาร์ ได้ชื่อว่าเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของนายอันวาร์ จากอาชีพจักษุแพทย์…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง ประชาไท บันทึกปฏิกิริยาฝ่าย ‘ขวาใหม่' ภายใต้ฉายา ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' หลังจากการปราศรัยที่สนามหลวงของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด' เมื่อวันที่ 18 กรกฎคมที่ผ่านมาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้หยิบประเด็นการปราศรัยของ ‘ดา ตอร์ปิโด' มาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายคืนนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นต้นมา กระทั่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ขอให้ศาลอาญากรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับเลขที่ 2209/51 ให้จับกุม น.ส.ดารณีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ทำให้ น.ส.ดารณี…
หัวไม้ story
นับแต่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง การฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการเมือง และการฟ้องร้องอันมีผลทางการเมืองก็ดาหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย และองค์กรอิสระ เสมือนเป็นโหมโรงสำหรับ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ก็ไม่ปาน เพื่อเป็นหมุดหยุดพักสำหรับความสับสนในคดีที่เยอะแยะ อีรุงตุงนังกันอยู่ขณะนี้  "ประชาไท" รวบรวมคดีที่มีการฟ้องร้องกัน ภายใต้เงื่อนเวลาเริ่มต้นคือรัฐบาลชุดนี้ ให้ดูกันว่ายุคนี้ ศาลนั้น "งานเข้า" ขนาดไหน  
หัวไม้ story
จังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรกๆ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2524 จากขนาด 4,100 ไร่ ขยายจนเป็น 15,745 ไร่ นิคมฯ มาบตาพุดยังประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น 134 โรง (รวมโรงไฟฟ้า 8 โรง (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2550)) แยกเป็น 1.กลุ่มปิโตรเคมี  2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย 3.กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 4.กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 6.กลุ่มเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น โรงกำจัดกากของเสีย 7.กลุ่มเขตท่าเรือ…
หัวไม้ story
หลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2007 ได้รับอนุมัติไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2550  ก็เป็นอันชัดเจนว่า นับจากนี้ไป 15 ปี ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 กว่าโรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง (2,800 เมกกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (4,000 เมกกะวัตต์) มีทั้งที่ กฟผ.สร้างเองและการเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า (IPP)ยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมากด้วย  แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นตัวหลัก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน…
หัวไม้ story
ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่ของไทย ผ่านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง การเข้าถึงอำนาจ หลายครั้ง หลายรูปแบบ ที่มีสำเร็จและล้มเหลวคละเคล้ากันไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน โดยวิธีนอกระบบกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ยอมรับ เกี่ยวพันโดยตรงกับผลลัพธ์ของปฏิบัติการ ถ้าสำเร็จ คณะผู้ก่อการก็สามารถบัญญัติคำหรือภาษาสวยงามลงไปอ้างอิงการกระทำของกลุ่มตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะปฏิวัติ  คณะปฏิรูป  เป็นต้น แต่หากล้มเหลวมีเพียงโทษสถานเดียวคือการเป็นศัตรูของสังคมในฐานะ “กบฏ” หัวไม้สัปดาห์นี้จะพาย้อนไปดูการปฎิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ…
หัวไม้ story
  < พิณผกา งามสม > เมื่อชาวนาอยากจะพูดให้คุณเข้าใจปี 2545 ชาวบ้านปากมูลเลือกที่จะเดินทางทั่วอิสานเพื่อสื่อสารทางตรงไปยังบรรดาเพื่อนระดับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต้านเขื่อนเพราะพวกเขาไม่ได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักที่มักนำเสนอข่าวแบบจุดพลุ แล้วก็เลือนหายไป นั่นจึงทำให้พวกเขาออกเดิน เดินเพื่อสื่อสารทางตรง ไม่ต้องผ่านสื่ออีกต่อไป แน่นอนว่าชาวบ้านปากมูลต้องเดินทางวันละกว่า 10 กิโลเมตร ค่อยๆ เดินไปเพื่อแสดงนิทรรศการ และพูด แบบปากต่อปาก พวกเขาไม่ได้เดินมาที่ทำเนียบรัฐบาลหลังจากได้บทเรียนยาวนานจาก 99 วันหน้าทำเนียบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า…
หัวไม้ story
สัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์13 มิถุนายน 2551 “...ในวาระนี้นอกจากจะรู้สึกถึงวันเกิดของคณะ(รัฐศาสตร์) แล้ว ก็อยากจะอวยพรท่านนายกฯ ในสังคมมุสลิมนั้นมีวิธีขอพรให้ผู้นำ และเขาบอกว่าวิธีขอพรให้ผู้นำนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องขอพรให้ต้อง ขอให้พระเป็นเจ้าเอื้ออำนวยให้ผู้ปกครองมีสติ สามารถดำเนินการปกครองของตัวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประโยชน์ของคนทั้งหลายทั้งปวง มีปัญญาเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง ผมว่าอันนี้เป็นพรที่เราอยากจะให้กับท่านนายกรัฐมนตรีในวันเกิดของท่าน เสียดายที่นักข่าวโทรทัศน์ไปหมดแล้ว...”…
หัวไม้ story
ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไทยขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการคือ รัฐจะใช้ความรุนแรงกับผู้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกประการคือ การรัฐประหารซึ่งสื่อกระแสหลักยังคงต้องเกาะติด ‘น้ำเสียง' และ ‘ท่าที' ของนายทหารระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อย้อนดูสถิติการรัฐประหารของไทยจะพบว่า ความถี่ในการรัฐประหารของไทยคือ ประมาณ 7 ปีต่อการรัฐประหาร 1 ครั้ง การรัฐประหารที่เว้นช่วงสั้นที่สุดคือการรัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 ( 1 ปีกับอีก 15 วัน)ช่วงที่เว้นระยะนานที่สุดคือ 23 ก.พ. 2534 - 19 กันยายน 2549 เว้นช่วงนาน 15 ปี 6 เดือน กับอีก 28 วัน…
หัวไม้ story
หลังจากทำงานขับรถบรรทุกส่งแก๊สกับบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) มาได้ร่วมปี “สุรชัย” ถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่ หวังใจว่าจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากถูกต่ออายุทดลองงานมาเกือบปี แต่เมื่อไปถึงสำนักงานใหญ่ เขากลับได้รับการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทอเดคโก้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัททีไอจีอ้างว่า เป็นบริษัทจัดหางานระดับโลก ที่มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก ทีละคน ทีละคน... เขาและเพื่อนๆ ทยอยเซ็นสัญญาที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกว่าจะกรอกรายละเอียดให้ เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานหรือสัญญาเลย ทั้งยังไม่มีเวลาอ่าน…