Skip to main content

ทีมข่าวการเมือง

การเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. มีหลายประเด็นจากการเยือนดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง หลายเรื่องถูกบิดเบือน และผลิตซ้ำ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม ประชาไท ขอนำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีการรายงาน เรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง และเรื่องที่บิดเบือนดังกล่าว ในระหว่างการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

1.
เปิดต้นทางข่าว
ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร

 

สื่อมวลชนไทยทุกฉบับพร้อมใจรายงานภารกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. แทบจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรายงานข่าวนั้น

โดยในวันที่ 14 มี.ค. เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ไปปาฐกถาหัวข้อ การจัดการความท้าทายในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย” ที่ St. John’s College OXFORD และในช่วงตอบคำถามได้อภิปรายโต้ตอบกับ ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันพำนักอยู่ที่อังกฤษ โดยมีการายงานอย่างครึกโครมในสื่อว่านายอภิสิทธิ์ตอบโต้ ใจ ว่า ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร

โดยการนำเสนอลักษณะดังกล่าว ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ เช่น คมชัดลึก ["อภิสิทธิ์"โชว์สปีชย้ำปชต.ไทยเดินหน้า] ไทยโพสต์ ["มาร์ค" เคลียร์สถานการณ์ประเทศไทย ตอก ใจหน้าหงายกลางออกซ์ฟอร์ด] ไทยรัฐ [มาร์คโชว์สปีชอ๊อกฟอร์ด ย้ำปชต.ไทยต้องเดินหน้า] แนวหน้า ["ใจ"ชูตีนตบป่วนปาฐกถา มาร์คตอกกลับหนีคดีหมิ่น แจงผู้ดีปชต.ไทยเริ่มเข้มแข็ง]

ประชาทรรศน์ ['มาร์ค'ยันไทยปชต.เต็มใบ'ใจ'โผล่ชูตีนตบโต้กลางวงปาฐกถา] โพสต์ทูเดย์ ["มาร์ค"โต้ "ใจ"กลางวงปาฐก] มติชน ["ใจ อึ๊งภากรณ์"ชูตีนตบรับ"มาร์ค"ที่อ๊อกซ์ฟอร์ด-นายกฯลั่นไม่ยอมให้เสียงข้างมากหักล้างความโปร่งใส] ASTVผู้จัดการออนไลน์ [“มาร์คปาฐกถาออกซฟอร์ด ยันไทยมี ปชต. ใจโผล่พกตีนตบถาม กม.หมิ่น] the Nation [Abhisit vows progress on democracy] ฯลฯ อีกหลายฉบับ รวมถึงรายการเล่าข่าวตอนเช้าของโทรทัศน์ช่องต่างๆ

ในบรรดาสื่อมวลชนไทยนั้น จะยกเว้นก็แต่ข่าว Abhisit vows progress on democracy ของ Bangkok Post พูดถึงการเผชิญหน้าระหว่างนายอภิสิทธิ์กับใจเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้รายงานการโต้เถียงกันเรื่อง หนี แต่อย่างใด แต่เหตุผลจะมาจากความระมัดระวังของกองบรรณาธิการ หรือหน้ากระดาษในการนำเสนอข่าวอันจำกัดก็ไม่อาจทราบได้

และคำพูดเจ้าปัญหาท่อนที่ว่า ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไรของแต่ละสื่อนั้น พบว่ามีที่มาจากการรายงานของ สำนักข่าวไทย [1] ซึ่งส่งผู้สื่อข่าวติดตามไปทำข่าวนายกรัฐมนตรีที่อังกฤษ หลังจากการนำเสนอของสำนักข่าวไทย จึงเกิดกระบวนการเผยแพร่แบบ รวมการเฉพาะกิจ ต่อกันมาจากสื่อไทยฉบับต่างๆ

รวมทั้งประชาไท [2] ที่นำข่าวเหล่านั้นมาเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ต่อในคืนนั้นด้วย และหลายวันต่อมาประชาไทจึงมีการนำเสนอการรายงานในมุมมองของผู้ฟังปาฐกถาดังกล่าวโดยแปลมาจากเว็บไซต์นิวมันดาลา [3]

การพร้อมใจกันรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยดังกล่าว นำมาสู่การวิจารณ์โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผ่านกระทู้ คุณภาพของสื่อไทยกรณีอภิสิทธิ์ที่ Oxford [4] ในกระดานข่าวฟ้าเดียวกัน สมศักดิ์เห็นว่าเป็นการรายงานข่าวเพื่อทำให้ อภิสิทธิ์ มี "ชัยชนะ" ในการโต้กัน (ซึ่งความจริง เป็นประเด็นจิ๊บจ๊อย) ประเภท สามารถสวนกลับใจ ในสิ่งที่ใจ ตอบไม่ได้ ปัญหาคือ ที่จริง อภิสิทธิ์ ไม่ได้สวนกลับ ใจ ด้วยประโยคทีว่าเลย

สรุปแล้ว เวลาอ่านหรือฟัง สื่อ ไทย ไม่ว่า ช่องไหน ฉบับไหน ถ้าเป็นเรื่องสำคัญๆ ต้องลอง double-check ให้ดีก่อน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอ เป็น "หัวข่าว" (คือชูเป็นประเด็นใหญ่) ต้องลองเช็คให้ดีๆสมศักดิ์ทิ้งท้าย

 

2.
นักข่าวพลเมืองทลายการปิดกั้นจากสื่อหลัก

 


ผู้ชุมนุมเสื้อแดงเป็นจำนวนมากชุมนุมอย่างสงบภายนอกห้องประชุมที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะปาฐกถา โดยไม่ได้มีจำนวน
2 คน อย่างที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยรายงานแต่อย่างใด (ที่มาของภาพ: Thaienews)

 


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้บริหาร
Oxford (ที่มาของภาพ: Thaienews)

 


ใจ อึ๊งภากรณ์ ขอตั้งคำถามและอภิปรายนายอภิสิทธิ์ (ที่มาของภาพ
: Thaienews

 


คนเสื้อแดงถ่ายทอดสดการชุมนุมของตนทางอินเตอร์เน็ตด้วยกล้องที่ติดกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุค
(ที่มาของภาพ
: Thaienews)

 

 

ไม่ได้มีแค่เรื่อง ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไรที่คลาดเคลื่อนไป แต่ยังมีเรื่องจำนวน ผู้คัดค้าน ในการปาฐกถานั้นด้วย

โดยการรายงานในช่วง ข่าวภาคค่ำ [5] ในวันที่ 14 มี.ค. ของสำนักข่าวไทย สุปวีณ์ ปฏิภาณวัฒน์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวไทย โทรศัพท์รายงานมาจากประเทศอังกฤษถึงบรรยากาศการปาฐกถาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและการประท้วงหน้าสถานที่ปาฐกถา

โดยสุปวีณ์รายงานว่า มีใจ อึ๊งภากรณ์และคนเพียง 2 คนยืนแจกใบปลิว "ก็มีคนสวมเสื้อโค๊ดสีแดง ไม่แน่ใจว่าเป็นกลุ่มเสื้อแดงหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่าช่วงนี้ประเทศอังกฤษกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ สีสันก็เลยออกมา เขาก็ไม่ได้ทำอะไรก็ยืนเฉยๆ 2 คน แล้วก็อาจารย์ใจก็เข้ามาในห้องประชุมที่มีการปาฐกถาพิเศษ" นอกจากนี้ยังบอกว่าคนในห้องประชุมไม่ให้ความสนใจกับอาจารย์ใจ และช่วยกันพูดให้อาจารย์ใจเข้าสู่คำถามในช่วงอภิปราย

หากเหตุการณ์นั้นมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทยเป็นผู้รายงานเพียงผู้เดียว นอกจากผู้ที่อยู่ในการปาฐกถานั้นแล้ว ก็คงไม่มีวันทราบว่าที่นั่นเกิดอะไรขึ้นบ้างกันแน่

แต่จากการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวพลเมืองผ่านบล็อก Thaienews [6] ทำให้พบว่านอกจากการคัดค้านอภิสิทธิ์โดยใจแล้ว ภายนอกยังมีผู้ชุมนุมเสื้อแดงจำนวนมากถือป้ายรณรงค์และแจกใบปลิวคัดค้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ไม่ได้มีจำนวน 2 คนอย่างที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยรายงาน และในห้องประชุมดังกล่าวก็มีผู้ร่วมประชุมสวมเสื้อแดงหลายราย นอกจากนี้เครือข่ายคนเสื้อแดงในอังกฤษยังทำการถ่ายทอดสดการชุมนุมของตนผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วย

 

สถานทูตปรามเสื้อแดงอย่าทำให้เสียชื่อ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าจำนวนคนที่อยู่ในห้องประชุมเพื่อฟังปาฐกถาของอภิสิทธิ์นั้นครึ่งหนึ่งเป็นคนที่ถูกเกณฑ์มาจากสถานทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ และคณะผู้ติดตามมาประเทศอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยยังโทรศัพท์ถึงแกนนำผู้ชุมนุมเสื้อแดงในอังกฤษว่าอย่าทำให้ประเทศไทยเสียชื่อ

พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่สถานทูตดังกล่าวสอดคล้องกับที่ กิตติ วะสีนนท์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ที่ออกอากาศในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทย ออกอากาศทาง NBT [7] ช่วงเช้าวันที่ 15 มี.ค. ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ โดยกิตติกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของคนไทยในประเทศอังกฤษว่า

ในความเห็นของผมเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิในทางประชาธิปไตย แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ภายในประเทศจะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่ใจผมเนี่ย ก็อยากที่จะให้คนไทยนึกถึงหน้าประเทศชาติเหมือนกันว่าเวลาอย่างการเยือนของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นการเยือนในนามของรัฐบาลไทย ท่านมาทำหน้าที่ให้กับประเทศไทย

 

3.
เรื่องของใจ

 

 

สำหรับ ใจ อึ๊งภากรณ์” “บุคคลต้องห้าม ในทัศนะฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย หลังการออกนอกประเทศพร้อมร่อนแถลงการณ์ สยามแดงนั้น

ภายหลังจากที่การเข้าฟังปาฐกถาของอภิสิทธิ์ เมื่อ 14 มี.ค. เขาได้ออกจดหมายเปิดผนึกหัวข้อ อภิสิทธิ์พูดที่ Oxford: คำโกหก คำแก้ตัว และการบิดเบือนความจริง เผยแพร่ทางอีเมล์ทันที

โดยใจความของจดหมายเปิดผนึก [8] โดยสรุป ระบุว่า คำพูดของอภิสิทธิ์เต็มไปด้วยคำโกหกหลอกลวงและคำแก้ตัว แต่ทั้งๆ ที่เขามั่นใจคิดว่าคนทั่วโลกโง่ คนไทยส่วนใหญ่และคนต่างประเทศที่เข้าใจการเมืองไทยไม่มีวันเชื่ออะไรที่ออกมาจากปากเขา ใจ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือทางรัฐบาลไทยกลัวประชาชนมาก มีการกีดกันคนไทยธรรมดาที่อยากเข้าไปตั้งคำถามจำนวนมาก

 

อภิปราย มาร์คนอกห้อง แนะหลังเป็นนายกฯ ให้ไปเล่นตลก

ในจดหมายดังกล่าว กล่าวถึงเนื้อหาปาฐกถาของอภิสิทธิ์ว่า อภิสิทธิ์โกหกว่าเขาได้รับการ เลือกตั้งมาเป็นนายกและอวดว่าตนเองเป็น ผู้ปกป้องประชาธิปไตยไทยแต่กระนั้นเขายังยืนยันว่าต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศและมองว่าใจควรถูกลงโทษจากการเขียนหนังสือวิจารณ์รัฐประหาร 19 กันยา เพราะไปดูหมิ่นกษัตริย์เมื่อถูกถามว่าหมิ่นตรงไหนในหนังสือ อภิสิทธิ์บอกว่าจำไม่ได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เลยแก้ตัวว่ามีคนเล่าให้ฟังว่าหมิ่น นอกจากนี้อภิสิทธิ์พูดว่าคดีคุณโชติศักดิ์ได้ยกเลิกไปแล้ว และการจับกุมผู้บริหารประชาไทเป็น ความผิดพลาดของตำรวจซึ่งเขาได้ เคลียร์เรื่องนี้โดยการโทรศัพท์ไปหาผู้บริหารประชาไทแล้ว

หลังจากนั้นอภิสิทธิ์อ้างว่าแกนนำพันธมิตรที่ยึดสนามบินจะโดนคดีแน่ๆ และนายพลที่มีส่วนในการฆ่าคนที่ตากใบจะถูกลงโทษอีกด้วย

หลังจากที่เราเอาเขาออกจากตำแหน่ง อภิสิทธิ์ควรหากินเป็นนักแสดงตลกมั้ง?” ใจ ตั้งคำถาม

ทั้งๆ ที่อภิสิทธิ์ขี้ขลาดไม่ยอมรับคำท้าของผมเพื่อโต้วาทีสดในรายการโทรทัศน์ไทย เขาหน้าด้านกล่าวหาผมว่าหนีคดีที่เมืองไทย โดยเสนอว่าศาลมีความยุติธรรม เขาพูดต่อว่า อย่าดึงกษัตริย์มาในเรื่องการเมืองแต่คงไม่กล้าพูดอย่างนี้กับเจ้านายของเขาในกองทัพหรือในพันธมิตรฯ ผมจึงแสดงความเห็นว่าทั้งอภิสิทธิ์ (เซ็นเซอร์) อ่อนแอและไร้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ในขณะที่เจ้านายแท้ของสังคมคือทหาร

แถลงการณ์จากใจ ระบุในช่วงท้ายว่า ช่วงบ่ายมีการประชุมกลุ่มเสื้อแดงที่ออกซ์ฟอร์ดในช่วงบ่าย คนเสื้อแดงในอังกฤษยืนยันจุดยืนเพื่อประชาธิปไตยและตกลงกันว่าจะประชุมเป็นประจำทุกเดือน เราตกลงกันว่าเราจะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศก่อนสิ้นปีภายใต้ กติกาของรัฐธรรมนูญปี 40 โดยที่ประชุมเสื้อแดงที่ออคซ์ฟอร์ด ยังให้ความเห็นในเรื่องการปฏิรูปการเมืองว่าประชาชนไทยต้องเป็นผู้ทำ ไม่ใช่ปล่อยให้สถาบันพระปกเกล้าที่ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยเป็นผู้เสนอการปฏิรูป

 

ใจยืนยันเสรีภาพทางการเมืองในอังกฤษ ตั้งคำถามคณะมาร์คมามากเหมือน ช็อปปิ้งทริปส์

ใจยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สาเหตุที่การรณรงค์ของเขาและคนเสื้อแดงในอังกฤษไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนของรัฐบาลอภิสิทธิ์จับ เพราะในอังกฤษ ไม่มีการจับผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมือง เพราะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนอภิสิทธิ์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิจับเขาและคนเสื้อแดงเช่นกัน

นักวิชาการผู้นี้ยังแนะนำนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศแถบยุโรปว่า ไม่ควรอ้างว่าที่ยุโรปมีคนติดคุกเพราะวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เพราะเป็นเรื่องไม่จริง นอกจากนี้ใจยังฝากถามนายอภิสิทธิ์ด้วยว่าทำไมนายอภิสิทธิ์จึงพาคณะผู้ติดตามมาจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากเหมือน ช็อปปิ้งทริปส์

 

เผยคลิป ใจไม่หนี แถมท้าดีเบต มาร์คโอเคแต่ต้องที่เมืองไทย

ส่วนที่มีสื่อมวลชนไทยรายงานข่าวว่าอภิสิทธิ์กล่าวตอบโต้กับ ใจ ว่า ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร นั้น จากคลิปที่การโพสต์ไว้ใน youtube.com โดยคุณ 1434278 [9] ซึ่งเป็นช่วงที่อภิสิทธิ์ตอบคำถามกับ ใจ โดยช่วงหนึ่งเขากล่าวในเชิงปกป้องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (นาที่ 1.56) โดยอภิสิทธิ์บอกว่ามีกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ในประเทศยุโรปบางประเทศ ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคนถูกจำคุกในประเทศยุโรปประเทศหนึ่งด้วยกฎหมายที่คล้ายกันนี้ ดังนั้นกฎหมายโดยตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าหากคุณไปพูดแบบนี้ หรือกล่าวหาคนทั่วไปแบบนี้ คุณก็จะถูกฟ้องศาลเช่นกัน สิ่งที่กฎหมายทำก็คือการคุ้มครองราชวงศ์ในแบบเดียวกับที่กฎหมายหมิ่นประมาท คุ้มครองคนทั่วไป

อภิสิทธิ์ กล่าวว่ามีข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกฎหมายหมิ่นประมาทคนทั่วไป เนื่องจากราชวงศ์ไทยนั้นเป็นสถาบันที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และอยู่เหนือความขัดแย้ง และเป็นสถาบันที่ได้รับความเคารพศรัทธาโดยประชาชนไทย และเป็นเสาหลักของความมั่นคงแห่งชาติ ดังนั้นกฎหมายจึงไม่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ต้องมาฟ้องร้องคดีต่อประชาชน

อภิสิทธิ์กล่าวว่า นี่จึงเป็นสาเหตุที่มีคนหลายคนถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกำลังต่อสู้คดีอยู่ หลายกรณีก็ได้รับการยกฟ้อง เขายังกล่าวว่ามีคนหลายคนต่อสู้คดีนี้อยู่ในประเทศ เพราะเชื่อว่าพวกเขาบริสุทธิ์ โดยไม่หลบหนีข้อกล่าวหา

ซึ่งตรงนี้ใจกล่าวสวนว่า ผมไม่ได้หลบหนีข้อกล่าวหา และอภิสิทธิ์กล่าวว่า ผมก็ไม่ได้พูดว่าคุณหนีนี่จากคำตอบของอภิสิทธิ์ทำให้มีผู้ชมส่วนหนึ่งปรบมือ

จากนั้นใจเอ่ยถามว่าอภิสิทธิ์จะโต้วาทีทางโทรทัศน์กับเขาหรือไม่ อภิสิทธิ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร ซึ่งมีผู้ชมบางคนปรบมือให้ใจเช่นกัน โดยอภิสิทธิ์กล่าวว่าผมไม่โต้วาทีด้วย และว่าถ้าคุณไม่ชอบคำถามของผม แต่คุณเรียนรู้กับคนที่มีความเห็นที่ต่าง คุณถึงจะเป็นผู้นิยมประชาธิปไตยแท้จริง

ช่วงนี้เองที่ผู้ดำเนินรายการบนเวที พยายามตัดบทใจ และบอกว่าคำถามสุดท้ายแล้ว คนอื่นอาจจะมีคำถามอื่น แต่อภิสิทธิ์ปฏิเสธ โดยกล่าวว่าไม่มีปัญหา ผมยังมีประเด็นอีกมากกับเขา และกล่าวว่าเขาจะโต้วาทีกับใจในเมืองไทยเท่านั้น เพราะใจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนไทยคนอื่น

 

4.
เก็บตกจากปาฐกถา
: สมชาย ตากใบ โชติศักดิ์ จีรนุช และพันธมิตรฯ

 

นอกจากนี้ จากคลิปที่โพสต์ไว้ใน youtube.com โดยคุณ 1434278 ดังกล่่าว อภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงคดีของโชติศักดิ์ อ่อนสูง (ผู้ต้องหาคดี ม.112 เนื่องจากไม่ยืนระหว่างการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี) ว่ามีการถอนฟ้องแล้ว (1.30) อย่างไรก็ตามโชติศักดิ์ยืนยันว่าคดีของเขายังอยู่ในชั้นอัยการ โดยโชติศักดิ์และเพื่อนจะต้องไปฟังคำสั่งอัยการว่าเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 30 มี.ค.

อภิสิทธิ์ยังบอกว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เชิญกลุ่ม เน็ทติเซ่น (Netizen) มาพบสองครั้งแล้ว เพื่อที่จะหารือป้องกันการแสดงข้อความที่ผิดกฎหมายทางเว็บไซท์ต่างๆ (5.40) และยังโทรศัพท์เป็นการส่วนตัวกับผู้ที่ถูกจับล่าสุดเพราะความเข้าใจผิดของตำรวจ (หมายถึงกรณีตำรวจกองปราบจับจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 6 มี.ค.) (5.50)

 

มาร์คโทหา ด้าน ผอ.ประชาไท ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยเรื่องนี้ จีรนุช ได้ชี้แจงผ่านประชาำไทเว็บบอร์ด [10] หัวข้อลำดับที่ 784710 เมื่อ 16 มี.ค. ว่า อภิสิทธิ์โทรมาจริง ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Netizen) ไปพบอภิสิทธิ์ตามคำเชิญที่ห้องทำงานที่รัฐสภา ก่อนที่อภิสิทธิ์จะเดินทางไปอังกฤษ

ส่วนจีรนุช ตัดสินใจไม่ไปเข้าพบพร้อมกับคณะตัวแทนของเครือข่ายพลเมืองเน็ต เพราะไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องการผลประโยชน์ต่อคดี เพราะโดยส่วนตัวอยากให้เครือข่ายพลเมืองเน็ตผลักดันกรณีปัญหาของข้อกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายในภาพรวม

อย่างไรก็ตามเมื่อมีโทรศัพท์มาว่านายอภิสิทธิ์อยากคุยด้วย จึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ถูกจับกุมดังกล่าว และอภิสิทธิ์สอบถามเพิ่มเติมว่าทางตำรวจให้เหตุผลเรื่องการออกเป็นหมายจับว่าอย่างไร จึงตอบไปตามที่ได้คำตอบจากตำรวจในวันนั้น ซึ่งตำรวจให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นคดีที่มีฐานความผิดเกินกว่า 3 ปี และเป็นวินิจฉัยของศาล ซึ่งก็สอบถามต่อไปว่า ตามที่เข้าใจส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่การตั้งเรื่องจากตำรวจไปที่ศาลไม่ใช่ หรือ และอันที่จริงตำรวจก็สามารถที่จะออกหมายเรียกได้เองโดยไม่จำเป็นต้องขอหมายศาลด้วยซ้ำ ซึ่งคำถามนี้ก็ไม่ได้รับคำตอบจากตำรวจ โดยจีรนุช พูดถึงเท่านี้สายโทรศัพท์ก็ตัดไป

 

คดีพันธมิตรฯ ประเด็นที่ต้องติดตามจากอภิสิทธิ์

นอกจากการตั้งคำถามของใจต่ออภิสิทธิ์ และตามมาด้วยการอภิปรายโต้ของอภิสิทธิ์นั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่อภิสิทธิ์ตอบคำถามของผู้เข้าฟังปาฐกถา [11] โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่าตั้งใจที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในการรื้อฟื้นการสอบสวนในคดีอื่นๆ อาทิเช่น กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมไปถึงการตั้งข้อกล่าวหากับผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ตากใบ

เขายังตอบคำถามผู้หญิงไทยคนหนึ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ตอนนี้พวกตำรวจกำลังเตรียมออกหมายจับในกรณีการยึดทำเนียบรัฐบาล ผมได้รับรายงานจากตำรวจอยู่สม่ำเสมอ และผมก็ได้รายงานต่อรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีปิดสนามบิน ครั้งล่าสุดที่ตำรวจรายงานสองสัปดาห์ก่อน รายงานได้เสร็จสิ้นไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว คาดว่าจะมีการดำเนินคดีในเร็วๆ นี้

และเมื่อผู้หญิงคนนี้ถามย้ำอีกว่าให้บอกชัดๆ ได้หรือไม่ว่าเมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตำรวจบอกว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักสองสามสัปดาห์

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่อง ที่ยังไม่ได้รับรายงาน หลังการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์และคณะ หลายเรื่องเป็นประเด็นที่รออภิสิทธิ์จัดการ โดยเฉพาะการรับปากว่าจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ และการดำเนินคดีพันธมิตรฯ

และอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะวาทะ ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ก็ถูกทำให้เป็นที่กระจ่างแล้ว

อาจจะเหลือก็แค่ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยังแผ่นเสียงตกร่อง ใช้ข้อมูลที่ยังบิดเบือน ปราศรัยขับกล่อมมวลชนที่เวทีพันธมิตรฯ ที่หน้าบ้านเจ้าพระยาเมื่อคืนวันที่ 21 มี.ค. [12]

ใจ อึ๊งภากรณ์ บอกว่าไม่หนี ไม่หนี ไม่หนี พูดที่อังกฤษนะ นายกรัฐมนตรีเลยตอบว่า ไม่หนีแล้วคุณมาอยู่นี่ได้ยังไง คุณมาอยู่นี่ได้ยังไง คุณพูดในประเทศไทย คุณเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ คุณเป็นบุคคลสาธารณะ คุณตั้งพรรคการเมืองกระจอกๆ พรรคหนึ่งแล้วไม่มีใครไปเป็นสมาชิกมากมายอะไรเลย วันนี้คุณไม่หนีแต่คุณไปอยู่อังกฤษ คุณไปอยู่ใกล้ๆ ใครบางคนใช่ไหม เมื่อก่อน คุณไปอยู่แถวนั้นใช่ไหม ที่นั่นคือผู้ลี้ภัยของอาชญากรแผ่นดิน ใช่ไหมครับพี่น้อง

 

อ้างอิง

[1] อภิสิทธิ์ยืนยันประชาธิปไตยไทยจะไม่ถอยหลัง, สำนักข่าวไทย, 14/3/2552

[2] มาร์กลั่นไม่ยอมให้เสียงข้างมากหักล้างความโปร่งใส ถาม ใจไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร, (ที่มา: สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์), ประชาไท, 14/3/2552

[3] การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ็อกซ์ฟอร์ดและการโต้คารมกับนายใจ รายงานจากผู้ฟังทั้งในและนอกห้อง, ประชาไท, 18/3/2552

[4] "คุณภาพ" ของสื่อไทย กรณี อภิสิทธิ์ ที่ Oxford, กระดานข่าวฟ้าเดียวกัน, 19/3/2552

[5] Abhisit & Giles at St. Johns College OXFORD, (คัดลอกจากสำนักข่าวไทย), meng438, http://www.youtube.com/watch?v=ZvlsNOkjL7g

[6] http://thaienews.blogspot.com/2009/03/blog-post_5310.html

[7] การปาฐกถาที่ Oxford, (รายการเชื่อมั่นประเทศไทย, NBT, 15/3/2552), AbhisitOrg http://www.youtube.com/watch?v=qBlQljSpQAg&feature=related

[8] http://thaienews.blogspot.com/2009/03/blog-post_15.html

[9] นายกฯ อภิสิทธิ์ตอบใจ PM Abhisit answered JI, 1434278 http://www.youtube.com/watch?v=V-fsOdpVFsw

[10] กระดานข่าวประชาไท ที่ 784710, http://www.prachataiwebboard.com/webboard/wbtopic.php?id=784710

[11] การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ็อกซ์ฟอร์ดและการโต้คารมกับนายใจ รายงานจากผู้ฟังทั้งในและนอกห้อง, ประชาไท, 18/3/2552

[12] สมเกียรติสวนไข่แม้วบอร์ดการท่าฯ 11 ธ.ค.ตำหนิ เสรีรัตน์สิ่งปิดสนามบิน, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 มีนาคม 2552, ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาร์กลั่นไม่ยอมให้เสียงข้างมากหักล้างความโปร่งใส ถาม ใจไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร, (ที่มา: สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์), ประชาไท, 14/3/2552

นักเรียนอังกฤษ ยื่นข้อเสนอ มาร์กเรียกร้องปฏิรูป รธน.- กฎหมายหมิ่นฯ ตามด้วยยุบสภา, ประชาไท, 15/3/2552

โชติศักดิ์เผยคดีไม่ยืนฯ อยู่ชั้นอัยการ ยังไม่ยุติอย่างที่นายกฯ บอก, ประชาไท, 17/3/2552

การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ็อกซ์ฟอร์ดและการโต้คารมกับนายใจ รายงานจากผู้ฟังทั้งในและนอกห้อง, ประชาไท, 18/3/2552

 

บทความ

คุณภาพของสื่อไทยกรณีอภิสิทธิ์ที่ Oxford, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 20/3/2552

แน่ใจหรือว่า ประชาธิปไตยแบบ อภิสิทธิ์หมายถึง ประชาธิปไตยจริงๆ, ประชาไท, 19/3/2552

ผมไม่ได้หนี, ประชาไท, 19/3/2552

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ระหว่างรอผลว่า ท้ายที่สุดอดีตนายกรัฐมนตรีไทยและภรรยาจะได้อยู่ในประเทศอังกฤษในฐานะผู้ลี้ภัย หรือจะกลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่ต้องประสานให้ส่งมอบตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย ลองดูซิว่าทำเนียบรุ่นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศอังกฤษอ้าแขนรับที่ผ่านมา มีใครบ้าง.... 
หัวไม้ story
วันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 เป็นวันแห่งการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และการปราบปรามนั้นได้ดำเนินไปหลายวันในย่างกุ้ง หัวไม้สัปดาห์นี้ ขอเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการต่อสู้ของเพื่อนมิตรชาวพม่าในครั้งนั้น ด้วยบทเพลงพม่าที่เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น คือเพลง วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 และ เพลงไม่มีวันลืม (Kabar Ma Kyay Bu Heyt!) ทั้งสองเพลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ทุกรอบปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามที่เกิดขึ้นเราหวังว่าสักวันหนึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตยจะปรากฏขึ้นในขอบฟ้าฟากตะวันตก เพลง วันที่ 8…
หัวไม้ story
< พิณผกา งามสม > ถ้าผู้หญิงคืออีกซีกหนึ่งของฟากฟ้า อย่างที่จอน เลนนอน ไอดอลแห่งยุคบุปผาชนเคยกล่าวไว้  ภาพข่าว ดร. วันอาซีซาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กับสามีได้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในรัฐสภาที่ว่างลงในฐานะอีกครึ่งชีวิตทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ก็คงเป็นตัวอย่างจริงของความเป็นอีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า แต่จะเป็นท้องฟ้าของวันใหม่ดังที่นายอันวาร์ย้ำมาตลอดหรือไม่ เป็นเรื่องของการเมืองที่ยากจะคาดการณ์ ดร. วันอาซีซาร์ ได้ชื่อว่าเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของนายอันวาร์ จากอาชีพจักษุแพทย์…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง ประชาไท บันทึกปฏิกิริยาฝ่าย ‘ขวาใหม่' ภายใต้ฉายา ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' หลังจากการปราศรัยที่สนามหลวงของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด' เมื่อวันที่ 18 กรกฎคมที่ผ่านมาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้หยิบประเด็นการปราศรัยของ ‘ดา ตอร์ปิโด' มาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายคืนนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นต้นมา กระทั่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ขอให้ศาลอาญากรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับเลขที่ 2209/51 ให้จับกุม น.ส.ดารณีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ทำให้ น.ส.ดารณี…
หัวไม้ story
นับแต่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง การฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการเมือง และการฟ้องร้องอันมีผลทางการเมืองก็ดาหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย และองค์กรอิสระ เสมือนเป็นโหมโรงสำหรับ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ก็ไม่ปาน เพื่อเป็นหมุดหยุดพักสำหรับความสับสนในคดีที่เยอะแยะ อีรุงตุงนังกันอยู่ขณะนี้  "ประชาไท" รวบรวมคดีที่มีการฟ้องร้องกัน ภายใต้เงื่อนเวลาเริ่มต้นคือรัฐบาลชุดนี้ ให้ดูกันว่ายุคนี้ ศาลนั้น "งานเข้า" ขนาดไหน  
หัวไม้ story
จังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรกๆ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2524 จากขนาด 4,100 ไร่ ขยายจนเป็น 15,745 ไร่ นิคมฯ มาบตาพุดยังประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น 134 โรง (รวมโรงไฟฟ้า 8 โรง (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2550)) แยกเป็น 1.กลุ่มปิโตรเคมี  2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย 3.กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 4.กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 6.กลุ่มเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น โรงกำจัดกากของเสีย 7.กลุ่มเขตท่าเรือ…
หัวไม้ story
หลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2007 ได้รับอนุมัติไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2550  ก็เป็นอันชัดเจนว่า นับจากนี้ไป 15 ปี ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 กว่าโรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง (2,800 เมกกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (4,000 เมกกะวัตต์) มีทั้งที่ กฟผ.สร้างเองและการเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า (IPP)ยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมากด้วย  แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นตัวหลัก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน…
หัวไม้ story
ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่ของไทย ผ่านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง การเข้าถึงอำนาจ หลายครั้ง หลายรูปแบบ ที่มีสำเร็จและล้มเหลวคละเคล้ากันไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน โดยวิธีนอกระบบกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ยอมรับ เกี่ยวพันโดยตรงกับผลลัพธ์ของปฏิบัติการ ถ้าสำเร็จ คณะผู้ก่อการก็สามารถบัญญัติคำหรือภาษาสวยงามลงไปอ้างอิงการกระทำของกลุ่มตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะปฏิวัติ  คณะปฏิรูป  เป็นต้น แต่หากล้มเหลวมีเพียงโทษสถานเดียวคือการเป็นศัตรูของสังคมในฐานะ “กบฏ” หัวไม้สัปดาห์นี้จะพาย้อนไปดูการปฎิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ…
หัวไม้ story
  < พิณผกา งามสม > เมื่อชาวนาอยากจะพูดให้คุณเข้าใจปี 2545 ชาวบ้านปากมูลเลือกที่จะเดินทางทั่วอิสานเพื่อสื่อสารทางตรงไปยังบรรดาเพื่อนระดับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต้านเขื่อนเพราะพวกเขาไม่ได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักที่มักนำเสนอข่าวแบบจุดพลุ แล้วก็เลือนหายไป นั่นจึงทำให้พวกเขาออกเดิน เดินเพื่อสื่อสารทางตรง ไม่ต้องผ่านสื่ออีกต่อไป แน่นอนว่าชาวบ้านปากมูลต้องเดินทางวันละกว่า 10 กิโลเมตร ค่อยๆ เดินไปเพื่อแสดงนิทรรศการ และพูด แบบปากต่อปาก พวกเขาไม่ได้เดินมาที่ทำเนียบรัฐบาลหลังจากได้บทเรียนยาวนานจาก 99 วันหน้าทำเนียบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า…
หัวไม้ story
สัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์13 มิถุนายน 2551 “...ในวาระนี้นอกจากจะรู้สึกถึงวันเกิดของคณะ(รัฐศาสตร์) แล้ว ก็อยากจะอวยพรท่านนายกฯ ในสังคมมุสลิมนั้นมีวิธีขอพรให้ผู้นำ และเขาบอกว่าวิธีขอพรให้ผู้นำนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องขอพรให้ต้อง ขอให้พระเป็นเจ้าเอื้ออำนวยให้ผู้ปกครองมีสติ สามารถดำเนินการปกครองของตัวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประโยชน์ของคนทั้งหลายทั้งปวง มีปัญญาเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง ผมว่าอันนี้เป็นพรที่เราอยากจะให้กับท่านนายกรัฐมนตรีในวันเกิดของท่าน เสียดายที่นักข่าวโทรทัศน์ไปหมดแล้ว...”…
หัวไม้ story
ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไทยขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการคือ รัฐจะใช้ความรุนแรงกับผู้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกประการคือ การรัฐประหารซึ่งสื่อกระแสหลักยังคงต้องเกาะติด ‘น้ำเสียง' และ ‘ท่าที' ของนายทหารระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อย้อนดูสถิติการรัฐประหารของไทยจะพบว่า ความถี่ในการรัฐประหารของไทยคือ ประมาณ 7 ปีต่อการรัฐประหาร 1 ครั้ง การรัฐประหารที่เว้นช่วงสั้นที่สุดคือการรัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 ( 1 ปีกับอีก 15 วัน)ช่วงที่เว้นระยะนานที่สุดคือ 23 ก.พ. 2534 - 19 กันยายน 2549 เว้นช่วงนาน 15 ปี 6 เดือน กับอีก 28 วัน…
หัวไม้ story
หลังจากทำงานขับรถบรรทุกส่งแก๊สกับบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) มาได้ร่วมปี “สุรชัย” ถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่ หวังใจว่าจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากถูกต่ออายุทดลองงานมาเกือบปี แต่เมื่อไปถึงสำนักงานใหญ่ เขากลับได้รับการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทอเดคโก้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัททีไอจีอ้างว่า เป็นบริษัทจัดหางานระดับโลก ที่มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก ทีละคน ทีละคน... เขาและเพื่อนๆ ทยอยเซ็นสัญญาที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกว่าจะกรอกรายละเอียดให้ เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานหรือสัญญาเลย ทั้งยังไม่มีเวลาอ่าน…