หัวไม้ story - คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต ‘สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็น ‘หัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ ‘หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)
|
เพียงไม่นานหลังจากที่ นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช พูดออกอากาศในรายการ ‘สนทนาประสาสมัคร' ณ วันที่ 2 มีนาคม 2551 ว่า อยากให้มี ‘บ่อนการพนันถูกกฎหมาย' เกิดขึ้นในประเทศ วิวาทะระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านแนวคิดดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย
เมื่อปล่อยให้สังคมตื่นตัวและถกเถียงเรื่องแนวคิด ‘บ่อนถูกกฎหมาย' ได้สักพัก รัฐบาล ‘หมัก 1' ก็กลับลำแก้เกี้ยวได้ทันเวลา โดยอ้างว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐ แต่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของ นายกฯ สมัคร เท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าการ ‘โยนหินถามทาง' ในครั้งนี้จะได้รับคำตอบเรียบร้อยแล้ว โดย ‘ผู้คัดค้าน' เสียงดังกว่า ‘ผู้สนับสนุน' เกือบเท่าตัว
ถึงกระนั้นก็ตาม นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกที่ตัวแทนรัฐบาลพูดถึงการนำเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ โดยคาดหวังว่าผลประโยชน์จากเศรษฐกิจใต้ดินจะช่วยให้คนในสังคมส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็ยังยืนกรานด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่า การคำนึงถึงศีลธรรม, คุณธรรม และจริยธรรม คือสิ่งที่จำเป็นกว่า เพราะเงินที่ได้มาจากอบายมุขหรือวิธีการที่ ‘ไม่สะอาด' ย่อมไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนและปกติสุข
ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง การเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละฝ่ายว่าจริง-ไม่จริงอย่างไร จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะ ‘เอา' หรือ ‘ไม่เอา' ธุรกิจใต้ดินทั้งหลาย
เปรียบเทียบ ‘ใครได้-ใครเสีย' ในอุตสาหกรรมการพนัน ในความเป็นจริง ‘เศรษฐกิจนอกระบบ' ครอบคลุมตั้งแต่ ยาเสพย์ติด, การค้าอาวุธสงคราม, น้ำมันเถื่อน, การขายบริการทางเพศ, แรงงานเถื่อน และสุดท้ายคือ ‘การพนัน' ซึ่งนายกฯ สมัคร ได้เน้นเป็นพิเศษ โดยระบุว่า อุตสาหกรรมการพนันใต้ดิน เป็นแหล่งทำเงินมหาศาล และเงินจำนวนนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนในสังคมอย่างเ็ต็มเม็ดเต็มหน่วย ตบท้ายด้วยการชูประเด็น ‘บ่อนการพนันถูกกฎหมาย' ขึ้นมา ฝ่ายสนับสนุนบ่อนถูกกฎหมาย อ้างถึงรายได้จาก ‘เศรษฐกิจนอกระบบ' จำนวนมหาศาลที่จะถูกส่งผ่านมาถึงมือรัฐ ซึ่งหมายถึงเงินจากกิจกรรมนอกกฏหมายทั้งหลาย และเป็นกิจการที่รัฐไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแลตั้งแต่ต้น เงินดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้หมุนเวียนกับเศรษฐกิจในระบบ และไม่ได้รวมอยู่ในบัญชีประชาชาติ การผลักดันให้เกิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย จะช่วยให้รัฐเข้าไปควบคุมตรวจสอบความเป็นไปของเศรษฐกิจนอกระบบหรือเศรษฐกิจใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ยาเสพย์ติด, การค้าอาวุธ, น้ำมันเถื่อน, การขายบริการ และแรงงานเถื่อน ดูเหมือนว่า ‘การพนัน' จะเป็นธุรกิจนอกระบบที่ ‘น่ารังเกียจ' น้อยที่สุด และสามารถเรียกแบบอนุโลมได้ว่า เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่ง ประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นว่า การพนันกับคนไทย เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ เห็นได้จากการเก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ฝ่ายสนับสนุนฯ จึงเชื่อมั่นว่า การเปิดบ่อนถูกกฎหมายจะเป็นประโยชน์กับสังคมได้ หากมีระบบจัดการที่ดี ช่วยลดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการกู้เงินนอกระบบ การทวงหนี้โดยผู้มีอิทธิพล การขายประเวณีเพื่อชำระหนี้ รวมถึงปัญหายาเสพติดด้วย ฝ่ายคัดค้านบ่อนถูกกฎหมาย ไม่เห็นด้วยว่า การเปิดบ่อนพนันถูกกฎหมายจะช่วยลดสถิติการเกิดอาชญากรรมได้จริง และผลกระทบที่ตามมาจากการเปิดบ่อนถูกกฎหมายก็ไม่คุ้มค่า เพราะสังคมต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอบายมุข-ประชาชนถูกมอมเมา-ครอบครัวแตกแยก ซึ่งไม่เหมาะกับ ‘สังคมพุทธ' แบบไทยๆ ซึ่งคาดหวังแต่สิ่งดีงาม ด้วยประการทั้งปวง และปัจจุบัน การเปิดบ่อนถูกกฎหมายถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพิ่มขึ้นมาอีกกรณีหนึ่ง เพราะ รธน.ปี 50 มาตรา 78 (1) ระบุข้อจำกัดเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ มาตรา 83 ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ...โดยใช้ความระมัดระวังในการกระทำใดอันอาจทำให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน" สิ่งที่ต้องถามต่อก็คือ เหตุผลที่แต่ละฝ่ายถกเถียงกันมีความจริงเท็จแค่ไหน? อุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้มหาศาล? จากการวิจัยของ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์, ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นวลน้อย ตรีรัตน์ เรื่อง "เศรษฐกิจการพนัน: ทางเลือกเชิงนโยบายศูนย์ศึกษา" เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2543) เป็นการศึกษาภาพรวมของเศรษฐกิจนอกกฎหมาย ในปี พ.ศ.2536-2538 พบว่ากิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ (1) ยาเสพย์ติดผ่านประเทศไทย (2) การค้าอาวุธสงคราม (3) น้ำมันเถื่อน (4) ค่าบริการโสเภณี (5) ค่าบริการนายหน้าค้าแรงงานพม่าเข้าไทย และการค้าหญิงไทยไปต่างประเทศ และ (6) การพนัน มีมูลค่าเพิ่ม (value added) เกิดขึ้นระหว่าง 286,000-457,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจนอกกฎหมายเท่ากับร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 13 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) การศึกษาเรื่องการพนัน ครอบคลุมเรื่องหวยใต้ดิน พนันฟุตบอล และบ่อนการพนัน พบว่ามีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นระหว่าง 134,000-227,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจการพนันที่ผิดกฎหมายในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 คิดเป็นร้อยละระหว่าง 3.7-7.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ในปี พ.ศ.2544 ผู้วิจัยกลุ่มเดิมได้ขยายขอบเขตการศึกษากิจกรรมของเศรษฐกิจการพนันอีก 8 ประเภท คือ (1) หวยใต้ดิน (2) การพนันฟุตบอล (3) บ่อนการพนันในประเทศ (4) บ่อนชายแดนและบ่อนต่างประเทศ (5) หวยหุ้น (6) หวยออมสิน (7) หวยรายวัน (8) หวย ธ.ก.ส. พบว่า มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจการพนันในปี 2544 สูงกว่าของปี 2536-2538 ระหว่างร้อยละ 2.5-4.1 เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประชาชนใช้จ่ายเงินในการซื้อหวยใต้ดินสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อ พ.ศ.2536-2538 วงเงินที่ประชาชนซื้อหวยใต้ดินอยู่ที่ 320,000 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ.2544 วงเงินหวยใต้ดินสูงถึง 542,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 222,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินหวยใต้ดินในปี พ.ศ.2536-2538 ซึ่งสังศิตประมาณการว่า ในปี พ.ศ.2544 ผลกำไรของเจ้ามือหวยใต้ดินขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 30 ของยอดเงินที่ลูกค้าแทง หรือเท่ากับ 162,600 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายของประชาชนในบ่อนการพนันในประเทศสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับกิจกรรมการซื้อหวยใต้ดิน กล่าวคือ ในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 วงเงินที่เกี่ยวข้องกับการพนันในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 224,000-816,000 ล้านบาทต่อปี กลายเป็น 541,000-826,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2544 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 317,000 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 จึงอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจการพนันนอกระบบมีเม็ดเงินแพร่สะพัดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เปิดบ่อนถูกกฎหมายช่วยลดอาชญากรรม, ช่วยแก้ปัญหาบ่อนเถื่อน และปัญหาผู้มีอิทธิพล? ผลสรุปของคณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 สนับสนุนรัฐบาล (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ให้จัดการธุรกิจหวยใต้ดินเข้าสู่ระบบถูกกฎหมาย แต่คัดค้านการจัดตั้งบ่อนและโต๊ะพนันบอล เนื่องจากในขณะนั้น รัฐบาลได้ทำหนังสือขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการจัดการพนัน 3 ประเภทให้ถูกกฎหมาย คือ การจัดตั้งบ่อนการพนัน หวยใต้ดิน และการพนันฟุตบอล คณะทำงานฯ คัดค้านการจัดตั้งบ่อนถูกกฎหมาย โดยอ้างถึงผลการศึกษาของตน ซึ่งระบุว่า บ่อนถูกกฎหมายไม่ได้ทำให้บ่อนการพนันเถื่อนหมดไป เนื่องจากคนเล่นในบ่อนถูกกฎหมาย อาจเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับบ่อนเถื่อน หากรัฐบาลกำหนดคุณสมบัติด้านรายได้ของผู้ที่จะเข้าเล่นการพนันในบ่อนถูกกฎหมาย ประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ไม่สามารถเล่นการพนันในบ่อนถูกกฎหมายได้อยู่ดี และประชาชนเหล่านั้นก็จะไปลงเอยที่บ่อนเถื่อน ซึ่งพยายามแข่งขันกับบ่อนถูกกฎหมาย และปรับตัวเพื่อรักษาลูกค้าของตนไว้ หรือดึงดูดผู้เล่นใหม่ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ส่งผลทำให้คนเล่นการพนันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้มาตรการปราบปรามบ่อนพนันเถื่อนของรัฐบาลได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากการที่รัฐบาลจะปราบปรามได้จริงต้องมีเงื่อนไขการผูกขาดเชิงอำนาจค่อนข้างสูง และดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถทำลายเครือข่ายการพนันเถื่อนได้ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในการพนันเถื่อนค่อนข้างมาก ทำให้การปราบปรามบ่อนเถื่อนไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร ในขณะที่ต้นทุนในการจับกุมคดีการพนันค่อนข้างสูง เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของผู้เล่น และบ่อนต่างๆ มีระบบป้องกันการจับกุมค่อนข้างรัดกุม รวมทั้งการห้ามคนไม่ให้เล่นพนันทำได้ยาก เพราะเป็นความต้องการของผู้เล่นและเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลายาวนาน การเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายภายในประเทศจะช่วยลดปัญหาเงินไหลออกนอกประเทศ? จำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันที่สังศิต และคณะ (2543) ประมาณการว่ามีอยู่ในระดับหลายหมื่นคนในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 ในปี พ.ศ.2544 สังศิตและคณะสำรวจพบว่าจำนวนผู้เล่นในบ่อนการพนันในประเทศมี 4.19 ล้าน และจำนวนนักการพนันที่ไปเล่นที่บ่อนชายแดนมีไม่น้อยกว่า 2.98 ล้านคนต่อปี ดังนั้นจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันในปี พ.ศ.2544 อยู่ระหว่าง 4.19-7.17 ล้านคน นอกจากนี้ในการศึกษาปี พ.ศ.2544 ผู้วิจัยได้ประมาณการเงินที่ลูกค้าคนไทยนำไปเล่นที่บ่อนการพนันที่คาสิโนชายแดน 34 แห่ง และคาสิโนต่างประเทศ เช่น ที่ออสเตรเลีย ลาสเวกัส มาเก๊า นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ว่าอยู่ในราว 71,000-84,000 ล้านบาทต่อปี และนักวิจัยประมาณการว่าลูกค้าคนไทยขาดทุนในราวร้อยละ 20 หรือราว 14,000-17,000 ล้านบาทต่อปี ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เหตุผลของผู้สนับสนุนให้เปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายมีน้ำหนักมากขึ้น หากรัฐสามารถดึงเงินหมุนเวียนเหล่านี้กลับมาอยู่ในระบบได้ ก็จะหมายถึงเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในสังคมไทยด้วย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของคณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2546 พบว่า ถ้าประเทศไทยจะหารายได้จากคาสิโนอาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก เพราะถือเป็นการเบียดเบียนประชาชน เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของบ่อนการพนันมาจากเงินของคนจน หรือคนที่มีรายได้ สภาพของการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่เข้มแข็ง ทำให้ไม่มีหลักประกันว่า เปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายแล้วจะสามารถควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่การพนันถูกกฎหมายแก้ปัญหาเงินทุนไหลออกไม่ได้อย่างสมบูรณ์ และปัญหาเงินทุนไหลออกอันเนื่องจากการพนันอาจจะไม่เป็นปัญหาใหญ่ดังที่คิด เพราะเงินรายได้ของบ่อนการพนันตามชายแดนจะไหลกลับเข้ามาในประเทศอยู่ดี เนื่องจากเจ้าของบ่อนชายแดนส่วนใหญ่เป็นคนไทย
|
กรณีศึกษา ‘หวยใต้ดิน' สู่ ‘หวยบนดิน'
ในระหว่างที่สังคมไทยถกเถียงเรื่อง ‘เอา-ไม่เอา บ่อนถูกกฎหมาย' กันอย่างเคร่งเครียด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ก็ออกมาให้ข่าวว่า การพูดออกอากาศของนายกฯ สมัคร ไม่มีอะไรเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐ และดูเหมือนว่าประเด็นบ่อนถูกกฎหมายกำลังจะตกไปจากจอรับรู้ของสังคมไทย
ขณะเดียวกันนั้นเอง การรื้อฟื้นโครงการหวยออนไลน์และการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ก็ได้รับสัญญาณไฟเขียวผ่านฉลุยอีกครั้ง หลังจากที่ ‘โครงการหวยบนดิน' ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งระงับการจำหน่ายหวยบนดินตั้งแต่งวดประจำวันที่ 1 ธ.ค.2549 เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.2547 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ศึกษาเรื่อง "ยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจนอกระบบ" โดยระบุว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์ที่จะจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ โดยเฉพาะเรื่อง ‘หวยใต้ดิน'
รัฐบาลได้นำหวยใต้ดินเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบด้วยการทำให้เป็นการพนันที่ ‘ถูกกฎหมาย' และใช้วิธีออกสลาก 3 ตัว 2 ตัว ก่อนจะเรียกสลากประเภทนี้ว่า ‘หวยบนดิน' แต่จากการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการออกสลากแบบนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออกสลาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าการออกสลากยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนในประเทศเล่นการพนันกันมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม
ในขณะที่ประชาชนบางส่วนคิดว่ารัฐบาลอาจมีส่วนในการล็อคเลขรางวัลที่ออก แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการออกสลาก โดยให้เหตุผลว่า การเล่นหวยบนดินจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับรัฐ เพื่อนำเงินที่ได้ไปพัฒนาประเทศ การปราบปรามอิทธิพลของเจ้ามือหวย และปกป้องผู้เล่นไม่ให้ถูกเจ้ามือโกง โดยรัฐบาลเริ่มออกสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ในงวดแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546
จากรายงานเรื่อง ‘หวยบนดิน' ของ หนึ่งฤทัย ชัยวงศ์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2550) พบว่า รัฐบาลได้รับรายได้จาการซื้อสลากของประชาชนในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก และได้กำไรจากการออกสลากเป็นจำนวน 5,400,000,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จากการอ้างอิงของหนึ่งฤทัย ระบุว่า เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว สังคม ศาสนา ได้ศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของหวยบนดินที่มีต่อเด็กและเยาวชน และพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนในปี 2549 คือ
"วัยรุ่นในระดับมัธยมและอุดมศึกษามีการเล่นหวยบนดินสูงถึงร้อยละ 20 คิดเป็นเยาวชน 1.5 ล้านคน โดยมีการเล่นหวยบนดินเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท คิดเป็นเม็ดเงินถึง 3,600 ล้านบาทต่อปี เมื่อแบ่งระดับการศึกษาพบว่าเด็กประถมเล่นหวย 6% มัธยมศึกษาตอนต้น 12% มัธยมศึกษาตอนปลาย 17% อาชีวศึกษา 25% และระดับอุดมศึกษา 27% ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมีหวยบนดินมีเยาวชนเล่นหวยประมาณร้อยละ 5 เมื่อมีหวยบนดิน เป็นการกระตุ้นให้เด็กติดการพนันเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าหรือเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน การที่มีเด็กติดการพนันเพิ่มเพราะราคาหวยบนดินนั้นถูกมาก ใช้เงินเพียง 20 บาทก็สามารถซื้อได้ และยังมีรางวัลล่อใจที่สูงเย้ายวนใจเกินกว่าที่เยาวชนจะหักห้ามใจได้"
น่าสังเกตว่าการนำหวยบนดินกลับมาครั้งนี้ ไม่มีเสียงต่อต้านจากประชาชนเลย สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากกระแสหนุนและต้านบ่อนถูกกฎหมายนั้นแรงกว่ามาก จนทำให้ความสนใจของประชาชนที่มีต่อประเด็นหวยบนดินถูกกลืนหายไป จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ใครหลายคนอาจคิดว่า นี่เป็นเพียงกลยุทธ์ ‘สับขาหลอก' ในเกมการเมืองเรื่อง ‘การพนัน' ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่า ผลการตัดสินในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
บรรณานุกรม
สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นวลน้อย ตรีรัตน์, เศรษฐกิจการพนัน: ทางเลือกเชิงนโยบายศูนย์ศึกษา, เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
คณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผลสรุปของการศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2546
ผาสุก พงษ์ไพจิตร สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ นวลน้อย ตรีรัตน์, หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับนโยบายสาธารณะในประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง, 2543