Skip to main content

EIA ขัดขวางความเจริญ ? 

หัวไม้ story คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็นหัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ, ชลธิชา ดีแจ่ม

นานๆ ทีจะเห็นคนระดับนายกรัฐมนตรีออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และระดับคุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะพูดอะไรมักต้องเป็นที่ฮือฮาป่าแตกเสมอ ดังเช่นการวิจารณ์ว่า อีไอเอ' หรือ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม' ที่เจ้าของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องศึกษาแล้วส่งให้ สผ.พิจารณานั้นคล้ายๆ จะขัดขวางความเจริญ ทำให้การลงทุนล่าช้า สะดุด หยุดชะงัก....ทำนักลงทุนเดือนร้อน ใครรับผิดชอบ ฮึ !

---------------------------------------------

การตั้งโจทย์แบบนี้ออกจะพาสังคมไทยถอยหลังไปไกลสมัยที่ยังมีแนวการพัฒนาที่มุ่งแต่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งมักทำให้มีคำถามชนิดที่ให้เลือกเอาระหว่างสิ่งแวดล้อมและการลงทุนอยู่เสมอ ขณะที่ทุกวันนี้ การพัฒนา' และสิ่งแวดล้อม (และชุมชน และสุขภาพ และ....) ถูกผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิด การพัฒนาที่ยั่งยืน'

นอกเหนือจากถ้อยคำสวยหรู ในทางปฏิบัติ เรายังต้องเผชิญกับการหาจุดสมดุลของทั้งสองสิ่งเสมอ และไม่ต้องตีความให้เมื่อยตุ้ม เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจนว่าเลือกเอาสิ่งแวดล้อม..ทิ้งไป ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีในยุคที่ชาวบ้านชักแข็งข้อกับรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีเครื่องมือที่พัฒนาไปพอควร เช่น รัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิต่างๆ ของพวกเขา ดูเอาแค่การต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ หรือดูคดีที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาฟ้องร้องภาครัฐ ก็จะเห็นเค้ารางความน่าปวดหัวอันไม่จบสิ้น

แทนที่จะโยนอีไอเอทิ้งไปแล้วบังคับขืนใจพวกต่อต้าน การคงอีไอเอไว้ และใช้มันอย่างที่ควรใช้ ให้มันเป็นอีไอเอจริงๆ ไม่ใช่ ตรายาง' ต่างหาก จึงจะเป็นทางออกที่จะทำให้การพัฒนาเดินต่อไปได้

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คงต้องหันกลับมาทบทวนกันซักนิดว่าสิ่งที่คุณสมัครพูด จริงเท็จแค่ไหน อีไอเอมีน้ำยาถึงขนาดไปขัดขวางการพัฒนาเชียวหรือ ?

เช็คสภาพ อีไอเอ'

ทุกวันนี้อีไอเอถูกทำให้กลายเป็นพิธีกรรมส่วนหนึ่งที่โครงการขนาดใหญ่ต้องทำการศึกษา เพื่อจะดูว่าโครงการนั้นก่อผลกระทบด้านใดบ้าง และจะลดผลกระทบอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่อีไอเอของโครงการต่างๆ จะไม่ผ่าน ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมาย ผิดกฎระเบียบจริงๆ เช่น โครงการที่ทำในพื้นที่อนุรักษ์

คำถามเหล่านี้อาจทำให้เห็นภาพอีไอเอชัดเจนขึ้น

 

ทุกโครงการต้องทำอีไอเอ ?

กระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ต้องทำอีไอเอไว้ 22 ประเภท ถ้าอยู่นอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่ต้องทำ ที่ผ่านมามีการหลบเลี่ยงกันพอสมควร เช่นการปรับขนาดโครงการให้รอดหวุดหวิดไม่ต้องทำอีไอเอ

อีไอเอติดขัด ใช้เวลาพิจารณานาน ?

ที่ว่า โครงการนู้นโครงการนี้ติดปัญหาอีไอเอ จริงๆ ไม่ใช่เพราะภาครัฐพิจารณานาน เพราะมีข้อกำหนดไว้ว่า คณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องพิจารณาอีไอเอที่บริษัทที่ปรึกษาส่งมาภายใน 45 วัน หากมีคำถามก็ต้องตีกลับให้ทำรายงานเพิ่มและนำเสนอใหม่ ซึ่งรอบต่อๆ มานั้น คชก.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ถ้าไม่คอมเมนท์อะไรภายในเวลาที่กำหนดจะถือว่าผ่าน ดังนั้น เรื่องระยะเวลา ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่ปรึกษาจะส่งกลับมาให้ คชก.พิจารณาเมื่อไร

พิจารณาอีไอเอ ละเอียด เข้มงวด เกินไป ?

การกำหนดประเด็นว่าจะศึกษาอะไร หรือไม่ศึกษาอะไร บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้กำหนดเอง โดยเลือกเอาจากรายการที่ สผ.กำหนดไว้เป็นร้อยๆ รายการ การเลือกเองนี้ทำให้ข้อห่วงกังวลจริงๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ถูกศึกษาประเมิน ท้ายที่สุดโครงการจึงตอบคำถามของชาวบ้านได้ไม่ชัดเจน หรือไม่ถูกจุด เช่น บางโครงการที่ทำในเมืองประเมินแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบเรื่องสัตว์ป่าสงวน

นอกจากนี้ระบบในประเทศไทยยังพิเศษมาก หากภาครัฐยังไม่ได้กำหนดค่ามาตรฐานสารเคมี หรือมลพิษตัวใด ก็เท่ากับไม่ต้องทำการศึกษาเรื่องนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาอย่างมากในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพราะมีปัญหาเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ไม่มีการศึกษากันเรื่องนี้เพราะประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน VOCs

ใครจัดทำอีไอเอ ?

บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้ศึกษาอีไอเอ โดยรับจ้างกับเจ้าของโครงการโดยตรง บริษัทที่ว่าต้องได้รับใบอนุญาตจาก สผ. ซึ่งก็มีกันอยู่ไม่กี่บริษัท และการจ่ายค่าตอบแทนนั้น โดยส่วนใหญ่ เงินก้อนใหญ่ที่สุดจะจ่ายเมื่ออีไอเอผ่านแล้ว

เปิดเผยข้อมูลได้แค่ไหน ?

เกือบร้อยทั้งร้อย อีไอเอ จะเปิดเผยให้ชาวบ้านหรือผู้ต้องการมีส่วนร่วมเข้าถึง ต่อเมื่อมันผ่านการพิจารณาแล้วเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่มีกฎหมายระบุชัดเจนให้เปิดเผยตัวรายงานระหว่างที่ทำการศึกษา และยังเป็นที่รู้กันว่าการขอดูอีไอเอตอนที่ยังไม่ผ่านนั้นเป็นเรื่องลำบากยากเข็ญ สผ.จะบอกให้ไปขอที่เจ้าของโครงการ และเจ้าของโครงการจะบอกให้ไปขอที่ สผ.

ชาวบ้านมีส่วนร่วมตอนไหน ?

สิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน คือ ต้องมีการเวทีรับฟังความเห็นจากชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบรายงาน แต่ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น เวทีรับฟังจัดอย่างกระชั้นชิด ให้ข้อมูลด้านเดียว และข้อคิดเห็นของชาวบ้านไม่มีการตอบสนอง นำไปสรุป พิจารณาอย่างแท้จริง

ผ่านแล้วไง ?

ผ่านแล้วก็แล้วกัน เพราะระบบตรวจสอบยังมีช่องโหว่ ในอีไอเอเองจะมีการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งจะต้องนำส่วนนี้ไปแนบกับการยื่นขอใบอนุญาต แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นที่เปิดเผย นอกจากนี้หน่วยงานตรวจสอบ เช่น กรมโรงงาน ก็มักจะอ้างถึงปัญหาไม่มีมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบที่ครอบคลุมถึงมาตรการทั้งหมด ซึ่งมีหลากหลายด้านในหลากหลายโครงการ

 

ข้อเสนอ ยกเครื่อง' อีไอเอ เพื่อหนุนการพัฒนา

 

ทะเล แม่น้ำ ภูเขา สัตว์ป่า ฯลฯ คงไม่ได้เย้วๆ ขัดขวางโครงการโดยตรง แต่สิ่งที่พูดได้ ชุมนุมได้ ฟ้องศาลปกครองได้ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพจากโครงการ และในการต่อสู้ของพวกเขาก็มักใช้อีไอเอเป็นเครื่องมือสำคัญ แม้จะเป็นเครื่องมือที่ชำรุดทรุดโทรมเหลือทนก็ตามที

การตัดกระบวนการอีไอเอทิ้ง หรือการทำให้มันรวบรัดตัดตอนยิ่งขึ้น ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ เพราะมันจะยิ่งสร้างความไม่เป็นธรรม ผลักภาระต่างๆ ให้กับคนเล็กคนน้อย อีกทั้งอีไอเอยังแทบจะเป็นช่องทางเดียวในขณะนี้ที่จะสร้างพื้นที่ในการคุยกันอย่างมีเหตุมีผลในรายละเอียดต่างๆ หากแก้ไขความบิดเบี้ยวของมันได้ ทำให้อีไอเอเป็นกระบวนการ' ที่เปิดให้ทุกฝ่ายมาหารือข้อห่วงกังวล และทางออกที่เป็นที่ยอมรับ

ข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น การปรับปรุงกระบวนการให้ แฟร์'

การเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วม ควรทำตั้งแต่ยังไม่ทำการศึกษา เพื่อจะได้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดูร่วมกันว่าควรจะประเมินเรื่องอะไรบ้าง เรื่องความลับทางการค้าเป็นข้ออ้างที่สามารถจัดการนำส่วนนั้นแยกออกไปได้ แต่ไม่ใช่ปิดข้อมูลทั้งหมด ขณะที่ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นควรเปิดเผยข้อมูลระยะเวลาหนึ่งที่ให้เวลาส่วนต่างๆ ได้ศึกษาข้อมูลนานพอ และการสรุปเวทีก็ควรนำความเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงของชาวบ้านไปพิจารณาจริงๆ

การมีส่วนร่วมยังควรคลอบคลุมไปถึงการติดตามตรวจสอบ เมื่ออีไอเอผ่านแล้ว ชาวบ้านก็ควรร่วมติดตามร่วมกับราชการด้วย ทาง สผ.เองเคยเสนอว่าควรทำฐานข้อมูล EIA เพื่อให้มาตรการลดผลกระทบของโครงการต่างๆ เป็นที่เปิดเผย

องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม' ก็ถูกพูดถึงมากในระยะหลัง โดยเฉพาะเมื่อมันบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 ด้วย เพราะองค์กรดังกล่าวจะทำหน้าที่เสริมสร้างความสามารถของประชาชน หนุนเสริมระบบที่มีปัญหา เช่น การเป็นตัวกลางประสานการศึกษาอีไอเอ เจ้าของโครงการทำหน้าที่เพียงเป็นคนจ่ายเงิน ให้ข้อมูล แล้วให้องค์การอิสระฯ เป็นคนดีลกับบริษัทที่ทำการศึกษา กรณีของเนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมี EIA Commissioner เป็นตัวกลางประสาน และควบคุมแต่ละโครงการ

นอกจากนี้องค์การอิสระฯ ยังมีประโยชน์ในแง่ที่จะมีบทบาทในการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม รวมทั้งให้ความคิดเห็นต่ออีไอเอโครงการต่างๆ ประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรับผิดชอบด้วย

ความพยายามอุดช่องโหว่ทั้งหมดนี้กำลังถูกรวบรวมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ของภาคประชาชน รวมไปถึงเรื่องการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์นโยบาย หรือ SEA ซึ่งจะทำให้การตอบปัญหาทำได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะอีไอเอเป็นการตอบคำถามระดับโครงการว่า โครงการนี้มีผลกระทบอย่างไร จะลดผลกระทบได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็น SEA มันจะถามว่าทางเลือกที่ดีกว่ามีไหม คืออะไร และว่ากันระดับนโยบาย

ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชนนี้กำลังอยู่ระหว่างการระดมสมองในการแก้ไขร่างสุดท้าย และเตรียมจะล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อไปพิจารณาแข่งกับร่างของกระทรวงทรัพฯ เอง ที่มีการปรับแก้กันในรัฐบาลชุดที่แล้ว หัวเรือใหญ่คือ อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ ซึ่งได้รับการวิพากษ์มากพอสมควรว่า ยังปรับไม่ถูกจุด ไม่โดนใจ เพราะเน้นการตอบโจทย์หน่วยงานภาครัฐให้ทำงานสะดวกมากขึ้นมากกว่า

ในส่วนของ สผ.เองมีการประชุมระดมความเห็นกันหลายครั้งเพื่อจะปรับกฎหมาย ระบบอีไอเอให้รองรับกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่รับรองสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ม.67 ที่ระบุให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม แว่วมาว่า สผ.กำลังพยายามจะปรับให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ เอชไอเอ ผนวกเข้าไปกับอีไอเอด้วย และจะปรับปรุงการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่กรมกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็กำลังจัดระดมความเห็นว่า ด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องยกร่างกฎหมายภายในหนึ่งปีตามรัฐธรรมนูญกำหนด

นี่จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าจะใช้อีไอเอ' ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้อย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้โครงการเดินไปช้าในช่วงแรกที่ต้องใช้ความรอบคอบ และจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ แต่ก็อาจจะเป็นการ "go slow to go fast" อย่างที่หลายคนว่า เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านแบบที่ไม่มีทางออก และทำให้สังคมไทยพ้นไปจากปลักโคลนของโจทย์เดิมๆ ว่าจะเอา สิ่งแวดล้อม-ชุมชน หรือ อุตสาหกรรม-การพัฒนา...

 

ความเห็นชาวบ้านผู้คลุกคลีกับ อีไอเอ'

สุทธิ อัฌชาสัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

"การทำรายงานอีไอเอต้องรายงานให้ สผ.ทราบทุกปี แต่ว่ากระบวนการรายงานบริษัทก็ไปจ้างบริษัทเอกชนมาอีกที เค้าทำของเค้าเอง ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะไม่ผิดหรือเกินค่ามาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น งานอีไอเอเค้าทำถูกต้องตามขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น แต่ว่าในความเป็นจริงรายงานนั้นเค้าเป็นคนทำเอง ทำให้ความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบไม่มีจริง ในขณะเดียวกันการเอาจริงของหน่วยงานที่ให้อนุญาตก็ไม่มีจริงด้วยเช่นกัน"

"อีไอเอเป็นแค่ใบประทับตราว่าโรงงานไหนสะอาด เพราะไม่เคยมีโรงงงานไหนถูกสั่งเพิกถอนอีไอเอ พอได้ไปแล้วถึงจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีการเพิกถอด แล้วแนวทางการพัฒนาอีไอเอก็ยังมีรูปแบบเดิมๆ ที่เจ้าของกิจการเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการ แต่ถึงอย่างไรในความคิดผม อีไอเอยังมีความจำเป็น แต่ต้องปรับปรุงหรือสังคายนารูปแบบการทำอีไอเอให้มีความรอบครอบมากกว่าเดิม โดยขบวนการจัดทำควรให้นักวิชาการที่มีความเป็นกลางเชื่อถือได้ หรือให้มีองค์กรอิสระที่มีความเป็นธรรมเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำอีไอเอ ไม่ควรให้บริษัทเจ้าของโครงการหรือรัฐเป็นผู้จัดทำอีไอเอเอง และต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถ่องแท้และแท้จริง เพื่อจะนำไปสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยน และนำไปสู่การตัดสินใจอย่างเข้าใจของพี่น้องชาวบ้านด้วย"

"การทำอีไอเอไม่ได้ขวางความเจริญ แต่จะทำให้การพัฒนาประเทศมีมาตรฐานมากขึ้น ถ้าเรายังหวังว่าเราอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเราก็ต้องตั้งมาตรฐานที่ดี ไม่เช่นนั้นพอเราผลิตสินค้าอะไรไปพอการจัดการไม่ได้มาตรฐาน ก็จะถูกกีดกันทางการค้า เกิดความเสียหายอยู่ดี เพราะฉะนั้นประเทศชาติต้องมีความเจริญท่ามกลางมาตรฐาน ทั้งนี้อีไอเอไม่ได้ขวางความเจริญ แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองคนคนนั้นว่ามองเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบไหน ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าเราก็มองว่าขวาง ถ้ามองว่ามีคุณค่าสำคัญกว่าการพัฒนาที่อยู่อย่างไม่ยังยืน ก็จะเห็นว่าการทำอีไอเอที่ก้าวหน้าและรอบคอบสำคัญกว่า"

 

สุพจน์ ส่งเสียง กลุ่มอนุรักษ์ฯ แม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

"ในความรู้สึกชาวบ้าน อีไอเอจะต้องเป็นตัวสำคัญที่สุดในการที่จะกลั่นกรองในการที่จะมีโครงการนี่ตรงนี้หรือไม่ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมันคุ้มกับสิ่งที่ลงทุนไปหรือไม่ในระยะยาว แต่พอเรามาลงลึกเรื่องอีไอเอแล้วเนี่ย มันไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่เดิม กลับกลายว่าอีไอเอเหมือนเป็นการพยายามหาหนทางเพื่อให้บรรลุการทำโครงการได้ โดยวิธีการบิดเบือนต่างๆ คล้ายว่ามันลืมบทบาทหน้าที่ของอีไอเอไป เป็นการโกหกตัวเองเพื่อให้โครงการเกิด ผมว่าแนวความคิดที่เริ่มต้นของอีไอเอมันดี แต่ขบวนการ ขั้นตอนในการจัดทำอีไอเอมันยังไม่สมบูรณ์"

"พอประชาชนหรือชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบเกิดเท่าทันข้อมูล มันก็เลยต้องเข้าไปขัดขวาง และกลายเป็นปัญหาขัดขวางการพัฒนาประเทศไป ซึ่งมันโทษไม่ได้ เมื่อในตอนแรกคุณสร้างปัญหาให้อีไอเอมันมีขั้นตอนมากมาย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมึนงงว่าอีไอเอคืออะไร มีเพื่ออะไร และก่อนหน้านี้อาจจะมองว่าไม่มีปัญหาเรื่องอีไอเอเลย แต่พอยุคหนึ่งเมื่อชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการศึกษาเท่าทันข้อมูล รัฐก็บอกว่า อีไอเอเป็นตัวปัญหา แต่จริงๆ อีไอเอไม่ใช่ตัวปัญหา อีไอเอ ดีแล้ว แต่ทุนกับรัฐคือตัวปัญหา ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่คนไม่ใช่ที่ระบบ"

"ขบวนการมีส่วนร่วมในอีไอเอในระดับชาวบ้านเรียกได้ว่าบอดสนิท คือเราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการทำอีไอเอได้ เริ่มต้นตั้งแต่การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบของบริษัทที่ชาวบ้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม บริษัทเข้ามาเหมือนแอบทำ คณะกรรมการที่เข้ามาทำอีไอเอแต่ต้นเราไม่ได้รับรู้ เมื่อมาเป็นรูปเล่มของอีไอเอแล้ว ทาง สผ. ก็บอกว่าไม่สามารถให้ดูได้เพราะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทไม่สามารถให้รู้รายละเอียดได้ ซึ่งเราจะรู้ได้ก็เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วเราจะไปรู้ทำไม่ หากเราตรวจสอบภายหลังแล้วว่ามันไม่ตรง หรือเราจับเท็จได้ แต่ในฐานะประชาชนเราก็ยกเลิกไม่ได้"

"อีไอเอที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ รัฐและทุนก็แฮปปี้มาตลอด แต่มามีปัญหาชัดเจนก็กรณีโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน ซึ่งในส่วนตรงนี้ชาวบ้านเองพยายามจะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มันไม่เหมาะสม ไม่ใช่จะไปหาเรื่องในอีไอเอ และความไม่เหมาะสมตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเอง ทั้งที่เป็นแหล่งวางไข่ปลาทู หรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่มีการปิดอ่าวมาตั้งแต่ปี 2500 และไม่ใช่ว่าเรามานั่งกินอย่างเดียว หรือให้ไม่กินก็ได้ แต่มันคืออาหารของประเทศและอาชีพของชาวประมง"

"ถ้าจะพูดว่าการให้แก้อีไอเอมันคือชัยชนะก็เป็นเพียงในระดับหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่น่าวิตกมากกว่า คือถ้าเรารู้ไม่เท่าทันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าภาครัฐ และเอกชนที่เป็นนายทุนเองล้วนแล้วแต่พยายามจะทำในสิ่งที่มองประชาชนเป็นคนโง่ ยกตัวอย่างอีไอเอของโรงถลุงเหล็กล่าสุด ที่พอเรื่องราวมันดังขึ้นมาแล้ว และชาวบ้านร้องเรียนมาตลอด จากการศึกษาพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 35 โครงการเหล่านี้ต้องรอให้มีรายงาน อีไอเอ ผ่านความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ แต่เรื่องนี้เราร้องเรียนกับ สผ.มาเป็นปี แต่เมื่อมีการดำเนินการขุดถมดินของบริษัทในพื้นที่ก่อสร้างโรงถลุงเหล็กเค้าก็ไม่ได้สั่งการให้ยุติ โครงการจึงเดินหน้าต่อ เกิดเป็นฉนวนเหตุให้มีความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตขึ้น"

 

 

 

*ขอขอบคุณข้อมูลการให้สัมภาษณ์จาก บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อาจจะฮือฮามาสักพักแล้วกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ นำโดย หล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ ตามมาด้วยสาทิตย์ วงษ์หนองเตย  แต่ก็ยังอาจจะยังไม่เห็นประสิทธิผลมากนักสำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ในสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการใช้สำหรับแคมเปญหาเสียง หรือแคมเปญกิจกรรมอะไรพิเศษ แต่แล้ว เมื่อเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ thaksinlive เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวไซเบอร์เพียงไม่กี่วัน ก็กลับฮือฮาเป็นกระแสพ้นพรมแดนโลกไซเบอร์ออกมาเหมือนปีศาจที่ตามหลอกหลอนไปทุกพรมแดนความรับรู้ของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม
หัวไม้ story
ในฐานะที่กระแสรางวัลซีไรต์ปีนี้ช่างแผ่วเบา เราจึงขอกระตุ้น ยั่วยวน ให้หันมองด้วยงานวิจารณ์ของ “นายยืนยง” ซึ่งยืนยันกับการชื่นชม “วิญญาณที่ถูกเนรเทศ” เล่มหนึ่งที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ว่าใครจะครหาอย่างไรก็ตาม         ชื่อหนังสือ         :           วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ผู้เขียน              :           วิมล ไทรนิ่มนวล จัดพิมพ์โดย       :   …
หัวไม้ story
โดย ทีมข่าวการเมือง 5 แกนนำพันธมิตร ขึ้นปราศรัย ระหว่างงานรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 25 พ.ค. 52 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี (ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 พ.ค. 52)
หัวไม้ story
หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงจบลงไปในวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยการชุมนุมครั้งนั้นเกิดความรุนแรงขึ้นในหลายจุด ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธ ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ผู้ชุมนุม และกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ช่วงเวลา 2-3 วันให้หลัง ประชาไทพยายามติดตามหาพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทว่าพยานบุคคลหลายคนเลือกที่จะเป็นเสียงเงียบ และหลายคนเลือกการเดินทางกลับต่างจังหวัด บรรยากาศภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดูเหมือนเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบและหวาดระแวงสำหรับผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง นั่นทำให้เราเริ่มคิดถึงคนเสื้อแดงที่ต่างจังหวัด…
หัวไม้ story
สัมภาษณ์ เสรี สาระนันท์ ส.ส. หลายสมัยจากอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ถึงเหตุผลที่ ส.ส. ยังคงต้องอยู่กับเสื้อแดงและทักษิณ และกระบวนการจัดการเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียง และเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงให้เขาประเมินอนาคตของทั้งตนเองและขั้วอำนาจฝ่ายสีแดง การสัมภาษณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงพลังของ "ปีศาจ" อย่างทักษิณ ที่จะยังครอบงำจิตใจชาวบ้านและหลอกหลอนการเมืองขั้วตรงข้ามต่อไปอย่างยากจะเปลี่ยนแปลง
หัวไม้ story
เสียง ภาพ ชาวบ้านเสื้อแดง ตำบลหนองไผ่ จังหวัดอุดรธานี บอกเล่าความรู้สึกและความเห็นทางการเมือง ว่าด้วยประชาธิปไตย และทักษิณ หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ยุติลงในช่วงบ่ายของวันที่ 14 เม.ย. อนึ่ง ชาวบ้านบางส่วน ได้เข้ามาร่วมการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่อีกบางส่วนไม่ได้เข้าร่วม แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ที่บ้าน ผ่านสถานีดีสเตชั่น และวิทยุชุมชนคนรักอุดร ประชาไทบันทึกคลิปวีดีโอ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง [การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม อาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก “ผมเชียร์” … เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งชุดทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ] ]   000 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำ นปช. ขณะเข้ามอบตัวเมื่อ 27 เม.ย. 52 (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
หัวไม้ story
[ ทีมข่าวการเมือง ]   ทุกๆ เช้าของวันจันทร์-ศุกร์ ถ้าไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ภารกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเตรียมเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งเอเชีย (Asia Satellite Television) หรือ เอเอสทีวี ถ.พระอาทิตย์ เพื่อดำเนินรายการ “Good Morning Thailand” รายการเล่าข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเขาจัดเป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-7.00 น. แต่วันนี้ 17 เมษายน เขาไม่ได้จัดรายการ “Good Morning Thailand” เหมือนเคย เพราะถูกลอบยิงเมื่อเวลาราว 5.40 น. ก่อนที่รถของเขาจะมาถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี   000   ที่มา:…
หัวไม้ story
(ทีมข่าวการเมือง)ทีมข่าวการเมือง สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา โดยถามพวกเขาว่า “ออกมาชุมนุมทำไม?” ต่อไปนี้คือคำตอบของพวกเขา 
หัวไม้ story
ห้องพิจารณาคดี 904 หลังสิ้นเสียงคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี...
หัวไม้ story
[ทีมข่าวการเมือง]"พี่สนธิก็เคยคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่าคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำ มีโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการนโยบายของพรรคที่อาจจะไม่ได้มามีตำแหน่งบริหาร ไม่ได้มามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าคุมยุทธศาสตร์ คุมทิศทางพรรค ซึ่งอันนี้น่าสนใจ และคงต้องดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เรายังมีเวลาศึกษาพรรคการเมืองจากหลายประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน และต้องดูบริบทสังคมไทยด้วย แบบไหนมันเข้ากับสังคมไทย"สุริยะใส กตะศิลา, สัมภาษณ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876, 13 มีนาคม 2552  000 แกนนำพันธมิตรฯ บน “เวทีคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 4” ของพันธมิตรฯ ที่เกาะสมุย เมื่อ 4 มีนาคม 2552…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. มีหลายประเด็นจากการเยือนดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง หลายเรื่องถูกบิดเบือน และผลิตซ้ำ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม “ประชาไท” ขอนำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีการรายงาน เรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง และเรื่องที่บิดเบือนดังกล่าว ในระหว่างการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  1.เปิดต้นทางข่าว “ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”   สื่อมวลชนไทยทุกฉบับพร้อมใจรายงานภารกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ…