Skip to main content

EIA ขัดขวางความเจริญ ? 

หัวไม้ story คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็นหัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ, ชลธิชา ดีแจ่ม

นานๆ ทีจะเห็นคนระดับนายกรัฐมนตรีออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และระดับคุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะพูดอะไรมักต้องเป็นที่ฮือฮาป่าแตกเสมอ ดังเช่นการวิจารณ์ว่า อีไอเอ' หรือ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม' ที่เจ้าของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องศึกษาแล้วส่งให้ สผ.พิจารณานั้นคล้ายๆ จะขัดขวางความเจริญ ทำให้การลงทุนล่าช้า สะดุด หยุดชะงัก....ทำนักลงทุนเดือนร้อน ใครรับผิดชอบ ฮึ !

---------------------------------------------

การตั้งโจทย์แบบนี้ออกจะพาสังคมไทยถอยหลังไปไกลสมัยที่ยังมีแนวการพัฒนาที่มุ่งแต่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งมักทำให้มีคำถามชนิดที่ให้เลือกเอาระหว่างสิ่งแวดล้อมและการลงทุนอยู่เสมอ ขณะที่ทุกวันนี้ การพัฒนา' และสิ่งแวดล้อม (และชุมชน และสุขภาพ และ....) ถูกผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิด การพัฒนาที่ยั่งยืน'

นอกเหนือจากถ้อยคำสวยหรู ในทางปฏิบัติ เรายังต้องเผชิญกับการหาจุดสมดุลของทั้งสองสิ่งเสมอ และไม่ต้องตีความให้เมื่อยตุ้ม เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจนว่าเลือกเอาสิ่งแวดล้อม..ทิ้งไป ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีในยุคที่ชาวบ้านชักแข็งข้อกับรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีเครื่องมือที่พัฒนาไปพอควร เช่น รัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิต่างๆ ของพวกเขา ดูเอาแค่การต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ หรือดูคดีที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาฟ้องร้องภาครัฐ ก็จะเห็นเค้ารางความน่าปวดหัวอันไม่จบสิ้น

แทนที่จะโยนอีไอเอทิ้งไปแล้วบังคับขืนใจพวกต่อต้าน การคงอีไอเอไว้ และใช้มันอย่างที่ควรใช้ ให้มันเป็นอีไอเอจริงๆ ไม่ใช่ ตรายาง' ต่างหาก จึงจะเป็นทางออกที่จะทำให้การพัฒนาเดินต่อไปได้

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คงต้องหันกลับมาทบทวนกันซักนิดว่าสิ่งที่คุณสมัครพูด จริงเท็จแค่ไหน อีไอเอมีน้ำยาถึงขนาดไปขัดขวางการพัฒนาเชียวหรือ ?

เช็คสภาพ อีไอเอ'

ทุกวันนี้อีไอเอถูกทำให้กลายเป็นพิธีกรรมส่วนหนึ่งที่โครงการขนาดใหญ่ต้องทำการศึกษา เพื่อจะดูว่าโครงการนั้นก่อผลกระทบด้านใดบ้าง และจะลดผลกระทบอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่อีไอเอของโครงการต่างๆ จะไม่ผ่าน ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมาย ผิดกฎระเบียบจริงๆ เช่น โครงการที่ทำในพื้นที่อนุรักษ์

คำถามเหล่านี้อาจทำให้เห็นภาพอีไอเอชัดเจนขึ้น

 

ทุกโครงการต้องทำอีไอเอ ?

กระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ต้องทำอีไอเอไว้ 22 ประเภท ถ้าอยู่นอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่ต้องทำ ที่ผ่านมามีการหลบเลี่ยงกันพอสมควร เช่นการปรับขนาดโครงการให้รอดหวุดหวิดไม่ต้องทำอีไอเอ

อีไอเอติดขัด ใช้เวลาพิจารณานาน ?

ที่ว่า โครงการนู้นโครงการนี้ติดปัญหาอีไอเอ จริงๆ ไม่ใช่เพราะภาครัฐพิจารณานาน เพราะมีข้อกำหนดไว้ว่า คณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องพิจารณาอีไอเอที่บริษัทที่ปรึกษาส่งมาภายใน 45 วัน หากมีคำถามก็ต้องตีกลับให้ทำรายงานเพิ่มและนำเสนอใหม่ ซึ่งรอบต่อๆ มานั้น คชก.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ถ้าไม่คอมเมนท์อะไรภายในเวลาที่กำหนดจะถือว่าผ่าน ดังนั้น เรื่องระยะเวลา ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่ปรึกษาจะส่งกลับมาให้ คชก.พิจารณาเมื่อไร

พิจารณาอีไอเอ ละเอียด เข้มงวด เกินไป ?

การกำหนดประเด็นว่าจะศึกษาอะไร หรือไม่ศึกษาอะไร บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้กำหนดเอง โดยเลือกเอาจากรายการที่ สผ.กำหนดไว้เป็นร้อยๆ รายการ การเลือกเองนี้ทำให้ข้อห่วงกังวลจริงๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ถูกศึกษาประเมิน ท้ายที่สุดโครงการจึงตอบคำถามของชาวบ้านได้ไม่ชัดเจน หรือไม่ถูกจุด เช่น บางโครงการที่ทำในเมืองประเมินแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบเรื่องสัตว์ป่าสงวน

นอกจากนี้ระบบในประเทศไทยยังพิเศษมาก หากภาครัฐยังไม่ได้กำหนดค่ามาตรฐานสารเคมี หรือมลพิษตัวใด ก็เท่ากับไม่ต้องทำการศึกษาเรื่องนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาอย่างมากในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพราะมีปัญหาเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ไม่มีการศึกษากันเรื่องนี้เพราะประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน VOCs

ใครจัดทำอีไอเอ ?

บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้ศึกษาอีไอเอ โดยรับจ้างกับเจ้าของโครงการโดยตรง บริษัทที่ว่าต้องได้รับใบอนุญาตจาก สผ. ซึ่งก็มีกันอยู่ไม่กี่บริษัท และการจ่ายค่าตอบแทนนั้น โดยส่วนใหญ่ เงินก้อนใหญ่ที่สุดจะจ่ายเมื่ออีไอเอผ่านแล้ว

เปิดเผยข้อมูลได้แค่ไหน ?

เกือบร้อยทั้งร้อย อีไอเอ จะเปิดเผยให้ชาวบ้านหรือผู้ต้องการมีส่วนร่วมเข้าถึง ต่อเมื่อมันผ่านการพิจารณาแล้วเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่มีกฎหมายระบุชัดเจนให้เปิดเผยตัวรายงานระหว่างที่ทำการศึกษา และยังเป็นที่รู้กันว่าการขอดูอีไอเอตอนที่ยังไม่ผ่านนั้นเป็นเรื่องลำบากยากเข็ญ สผ.จะบอกให้ไปขอที่เจ้าของโครงการ และเจ้าของโครงการจะบอกให้ไปขอที่ สผ.

ชาวบ้านมีส่วนร่วมตอนไหน ?

สิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน คือ ต้องมีการเวทีรับฟังความเห็นจากชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบรายงาน แต่ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น เวทีรับฟังจัดอย่างกระชั้นชิด ให้ข้อมูลด้านเดียว และข้อคิดเห็นของชาวบ้านไม่มีการตอบสนอง นำไปสรุป พิจารณาอย่างแท้จริง

ผ่านแล้วไง ?

ผ่านแล้วก็แล้วกัน เพราะระบบตรวจสอบยังมีช่องโหว่ ในอีไอเอเองจะมีการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งจะต้องนำส่วนนี้ไปแนบกับการยื่นขอใบอนุญาต แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นที่เปิดเผย นอกจากนี้หน่วยงานตรวจสอบ เช่น กรมโรงงาน ก็มักจะอ้างถึงปัญหาไม่มีมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบที่ครอบคลุมถึงมาตรการทั้งหมด ซึ่งมีหลากหลายด้านในหลากหลายโครงการ

 

ข้อเสนอ ยกเครื่อง' อีไอเอ เพื่อหนุนการพัฒนา

 

ทะเล แม่น้ำ ภูเขา สัตว์ป่า ฯลฯ คงไม่ได้เย้วๆ ขัดขวางโครงการโดยตรง แต่สิ่งที่พูดได้ ชุมนุมได้ ฟ้องศาลปกครองได้ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพจากโครงการ และในการต่อสู้ของพวกเขาก็มักใช้อีไอเอเป็นเครื่องมือสำคัญ แม้จะเป็นเครื่องมือที่ชำรุดทรุดโทรมเหลือทนก็ตามที

การตัดกระบวนการอีไอเอทิ้ง หรือการทำให้มันรวบรัดตัดตอนยิ่งขึ้น ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ เพราะมันจะยิ่งสร้างความไม่เป็นธรรม ผลักภาระต่างๆ ให้กับคนเล็กคนน้อย อีกทั้งอีไอเอยังแทบจะเป็นช่องทางเดียวในขณะนี้ที่จะสร้างพื้นที่ในการคุยกันอย่างมีเหตุมีผลในรายละเอียดต่างๆ หากแก้ไขความบิดเบี้ยวของมันได้ ทำให้อีไอเอเป็นกระบวนการ' ที่เปิดให้ทุกฝ่ายมาหารือข้อห่วงกังวล และทางออกที่เป็นที่ยอมรับ

ข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น การปรับปรุงกระบวนการให้ แฟร์'

การเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วม ควรทำตั้งแต่ยังไม่ทำการศึกษา เพื่อจะได้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดูร่วมกันว่าควรจะประเมินเรื่องอะไรบ้าง เรื่องความลับทางการค้าเป็นข้ออ้างที่สามารถจัดการนำส่วนนั้นแยกออกไปได้ แต่ไม่ใช่ปิดข้อมูลทั้งหมด ขณะที่ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นควรเปิดเผยข้อมูลระยะเวลาหนึ่งที่ให้เวลาส่วนต่างๆ ได้ศึกษาข้อมูลนานพอ และการสรุปเวทีก็ควรนำความเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงของชาวบ้านไปพิจารณาจริงๆ

การมีส่วนร่วมยังควรคลอบคลุมไปถึงการติดตามตรวจสอบ เมื่ออีไอเอผ่านแล้ว ชาวบ้านก็ควรร่วมติดตามร่วมกับราชการด้วย ทาง สผ.เองเคยเสนอว่าควรทำฐานข้อมูล EIA เพื่อให้มาตรการลดผลกระทบของโครงการต่างๆ เป็นที่เปิดเผย

องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม' ก็ถูกพูดถึงมากในระยะหลัง โดยเฉพาะเมื่อมันบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 ด้วย เพราะองค์กรดังกล่าวจะทำหน้าที่เสริมสร้างความสามารถของประชาชน หนุนเสริมระบบที่มีปัญหา เช่น การเป็นตัวกลางประสานการศึกษาอีไอเอ เจ้าของโครงการทำหน้าที่เพียงเป็นคนจ่ายเงิน ให้ข้อมูล แล้วให้องค์การอิสระฯ เป็นคนดีลกับบริษัทที่ทำการศึกษา กรณีของเนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมี EIA Commissioner เป็นตัวกลางประสาน และควบคุมแต่ละโครงการ

นอกจากนี้องค์การอิสระฯ ยังมีประโยชน์ในแง่ที่จะมีบทบาทในการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม รวมทั้งให้ความคิดเห็นต่ออีไอเอโครงการต่างๆ ประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรับผิดชอบด้วย

ความพยายามอุดช่องโหว่ทั้งหมดนี้กำลังถูกรวบรวมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ของภาคประชาชน รวมไปถึงเรื่องการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์นโยบาย หรือ SEA ซึ่งจะทำให้การตอบปัญหาทำได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะอีไอเอเป็นการตอบคำถามระดับโครงการว่า โครงการนี้มีผลกระทบอย่างไร จะลดผลกระทบได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็น SEA มันจะถามว่าทางเลือกที่ดีกว่ามีไหม คืออะไร และว่ากันระดับนโยบาย

ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชนนี้กำลังอยู่ระหว่างการระดมสมองในการแก้ไขร่างสุดท้าย และเตรียมจะล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อไปพิจารณาแข่งกับร่างของกระทรวงทรัพฯ เอง ที่มีการปรับแก้กันในรัฐบาลชุดที่แล้ว หัวเรือใหญ่คือ อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ ซึ่งได้รับการวิพากษ์มากพอสมควรว่า ยังปรับไม่ถูกจุด ไม่โดนใจ เพราะเน้นการตอบโจทย์หน่วยงานภาครัฐให้ทำงานสะดวกมากขึ้นมากกว่า

ในส่วนของ สผ.เองมีการประชุมระดมความเห็นกันหลายครั้งเพื่อจะปรับกฎหมาย ระบบอีไอเอให้รองรับกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่รับรองสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ม.67 ที่ระบุให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม แว่วมาว่า สผ.กำลังพยายามจะปรับให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ เอชไอเอ ผนวกเข้าไปกับอีไอเอด้วย และจะปรับปรุงการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่กรมกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็กำลังจัดระดมความเห็นว่า ด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องยกร่างกฎหมายภายในหนึ่งปีตามรัฐธรรมนูญกำหนด

นี่จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าจะใช้อีไอเอ' ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้อย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้โครงการเดินไปช้าในช่วงแรกที่ต้องใช้ความรอบคอบ และจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ แต่ก็อาจจะเป็นการ "go slow to go fast" อย่างที่หลายคนว่า เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านแบบที่ไม่มีทางออก และทำให้สังคมไทยพ้นไปจากปลักโคลนของโจทย์เดิมๆ ว่าจะเอา สิ่งแวดล้อม-ชุมชน หรือ อุตสาหกรรม-การพัฒนา...

 

ความเห็นชาวบ้านผู้คลุกคลีกับ อีไอเอ'

สุทธิ อัฌชาสัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

"การทำรายงานอีไอเอต้องรายงานให้ สผ.ทราบทุกปี แต่ว่ากระบวนการรายงานบริษัทก็ไปจ้างบริษัทเอกชนมาอีกที เค้าทำของเค้าเอง ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะไม่ผิดหรือเกินค่ามาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น งานอีไอเอเค้าทำถูกต้องตามขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น แต่ว่าในความเป็นจริงรายงานนั้นเค้าเป็นคนทำเอง ทำให้ความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบไม่มีจริง ในขณะเดียวกันการเอาจริงของหน่วยงานที่ให้อนุญาตก็ไม่มีจริงด้วยเช่นกัน"

"อีไอเอเป็นแค่ใบประทับตราว่าโรงงานไหนสะอาด เพราะไม่เคยมีโรงงงานไหนถูกสั่งเพิกถอนอีไอเอ พอได้ไปแล้วถึงจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีการเพิกถอด แล้วแนวทางการพัฒนาอีไอเอก็ยังมีรูปแบบเดิมๆ ที่เจ้าของกิจการเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการ แต่ถึงอย่างไรในความคิดผม อีไอเอยังมีความจำเป็น แต่ต้องปรับปรุงหรือสังคายนารูปแบบการทำอีไอเอให้มีความรอบครอบมากกว่าเดิม โดยขบวนการจัดทำควรให้นักวิชาการที่มีความเป็นกลางเชื่อถือได้ หรือให้มีองค์กรอิสระที่มีความเป็นธรรมเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำอีไอเอ ไม่ควรให้บริษัทเจ้าของโครงการหรือรัฐเป็นผู้จัดทำอีไอเอเอง และต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถ่องแท้และแท้จริง เพื่อจะนำไปสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยน และนำไปสู่การตัดสินใจอย่างเข้าใจของพี่น้องชาวบ้านด้วย"

"การทำอีไอเอไม่ได้ขวางความเจริญ แต่จะทำให้การพัฒนาประเทศมีมาตรฐานมากขึ้น ถ้าเรายังหวังว่าเราอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเราก็ต้องตั้งมาตรฐานที่ดี ไม่เช่นนั้นพอเราผลิตสินค้าอะไรไปพอการจัดการไม่ได้มาตรฐาน ก็จะถูกกีดกันทางการค้า เกิดความเสียหายอยู่ดี เพราะฉะนั้นประเทศชาติต้องมีความเจริญท่ามกลางมาตรฐาน ทั้งนี้อีไอเอไม่ได้ขวางความเจริญ แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองคนคนนั้นว่ามองเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบไหน ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าเราก็มองว่าขวาง ถ้ามองว่ามีคุณค่าสำคัญกว่าการพัฒนาที่อยู่อย่างไม่ยังยืน ก็จะเห็นว่าการทำอีไอเอที่ก้าวหน้าและรอบคอบสำคัญกว่า"

 

สุพจน์ ส่งเสียง กลุ่มอนุรักษ์ฯ แม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

"ในความรู้สึกชาวบ้าน อีไอเอจะต้องเป็นตัวสำคัญที่สุดในการที่จะกลั่นกรองในการที่จะมีโครงการนี่ตรงนี้หรือไม่ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมันคุ้มกับสิ่งที่ลงทุนไปหรือไม่ในระยะยาว แต่พอเรามาลงลึกเรื่องอีไอเอแล้วเนี่ย มันไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่เดิม กลับกลายว่าอีไอเอเหมือนเป็นการพยายามหาหนทางเพื่อให้บรรลุการทำโครงการได้ โดยวิธีการบิดเบือนต่างๆ คล้ายว่ามันลืมบทบาทหน้าที่ของอีไอเอไป เป็นการโกหกตัวเองเพื่อให้โครงการเกิด ผมว่าแนวความคิดที่เริ่มต้นของอีไอเอมันดี แต่ขบวนการ ขั้นตอนในการจัดทำอีไอเอมันยังไม่สมบูรณ์"

"พอประชาชนหรือชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบเกิดเท่าทันข้อมูล มันก็เลยต้องเข้าไปขัดขวาง และกลายเป็นปัญหาขัดขวางการพัฒนาประเทศไป ซึ่งมันโทษไม่ได้ เมื่อในตอนแรกคุณสร้างปัญหาให้อีไอเอมันมีขั้นตอนมากมาย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมึนงงว่าอีไอเอคืออะไร มีเพื่ออะไร และก่อนหน้านี้อาจจะมองว่าไม่มีปัญหาเรื่องอีไอเอเลย แต่พอยุคหนึ่งเมื่อชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการศึกษาเท่าทันข้อมูล รัฐก็บอกว่า อีไอเอเป็นตัวปัญหา แต่จริงๆ อีไอเอไม่ใช่ตัวปัญหา อีไอเอ ดีแล้ว แต่ทุนกับรัฐคือตัวปัญหา ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่คนไม่ใช่ที่ระบบ"

"ขบวนการมีส่วนร่วมในอีไอเอในระดับชาวบ้านเรียกได้ว่าบอดสนิท คือเราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการทำอีไอเอได้ เริ่มต้นตั้งแต่การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบของบริษัทที่ชาวบ้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม บริษัทเข้ามาเหมือนแอบทำ คณะกรรมการที่เข้ามาทำอีไอเอแต่ต้นเราไม่ได้รับรู้ เมื่อมาเป็นรูปเล่มของอีไอเอแล้ว ทาง สผ. ก็บอกว่าไม่สามารถให้ดูได้เพราะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทไม่สามารถให้รู้รายละเอียดได้ ซึ่งเราจะรู้ได้ก็เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วเราจะไปรู้ทำไม่ หากเราตรวจสอบภายหลังแล้วว่ามันไม่ตรง หรือเราจับเท็จได้ แต่ในฐานะประชาชนเราก็ยกเลิกไม่ได้"

"อีไอเอที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ รัฐและทุนก็แฮปปี้มาตลอด แต่มามีปัญหาชัดเจนก็กรณีโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน ซึ่งในส่วนตรงนี้ชาวบ้านเองพยายามจะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มันไม่เหมาะสม ไม่ใช่จะไปหาเรื่องในอีไอเอ และความไม่เหมาะสมตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเอง ทั้งที่เป็นแหล่งวางไข่ปลาทู หรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่มีการปิดอ่าวมาตั้งแต่ปี 2500 และไม่ใช่ว่าเรามานั่งกินอย่างเดียว หรือให้ไม่กินก็ได้ แต่มันคืออาหารของประเทศและอาชีพของชาวประมง"

"ถ้าจะพูดว่าการให้แก้อีไอเอมันคือชัยชนะก็เป็นเพียงในระดับหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่น่าวิตกมากกว่า คือถ้าเรารู้ไม่เท่าทันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าภาครัฐ และเอกชนที่เป็นนายทุนเองล้วนแล้วแต่พยายามจะทำในสิ่งที่มองประชาชนเป็นคนโง่ ยกตัวอย่างอีไอเอของโรงถลุงเหล็กล่าสุด ที่พอเรื่องราวมันดังขึ้นมาแล้ว และชาวบ้านร้องเรียนมาตลอด จากการศึกษาพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 35 โครงการเหล่านี้ต้องรอให้มีรายงาน อีไอเอ ผ่านความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ แต่เรื่องนี้เราร้องเรียนกับ สผ.มาเป็นปี แต่เมื่อมีการดำเนินการขุดถมดินของบริษัทในพื้นที่ก่อสร้างโรงถลุงเหล็กเค้าก็ไม่ได้สั่งการให้ยุติ โครงการจึงเดินหน้าต่อ เกิดเป็นฉนวนเหตุให้มีความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตขึ้น"

 

 

 

*ขอขอบคุณข้อมูลการให้สัมภาษณ์จาก บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
 ทีมข่าวการเมืองข่าวเรื่องนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ถูกแบน ในประเทศไทย ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเอพี และเสตรทไทม์ ขณะที่ในเมืองไทย [1] ข่าวดังกล่าวไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก และเพิ่งมาปรากฏขึ้นในลักษณะของการตอบโต้จากทางการไทย ผ่าน.นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบรรณาธิการนิตรสาร ดิ อิโคโนมิสต์  ระบุว่า....            "รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งลงบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ไปตามการคาดเดา…
หัวไม้ story
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นฝีมือของพวกฉวยโอกาส หากพันธมิตรฯจะทำก็ต้องเป็นตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี เพราะสามารถสร้างความเสียหายมากกว่า ได้ผลมากกว่า และสะใจมากกว่า ไม่อย่างนั้นจะเก็บไว้อย่างดีทำไม” สุริยะใส กตะศิลา, 5 ธ.ค. 2551  ทีมข่าวการเมือง   ภาพในตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลหลังการชุมนุมยุติที่มาของภาพ: คุณ Me.....O กระดานข่าวพันทิพ ห้องราชดำเนินhttp://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P7288033/P7288033.html  
หัวไม้ story
"ถ้างวดนี้ มีการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง พี่น้องครับ พี่น้อง พ่อแม่พี่น้องทั่วประเทศไทย ต้องลุกฮือขึ้นมาแล้วให้เลือดนองแผ่นดิน"  ... "ผมจะบอกให้พวกสัตว์นรกรู้ ว่างวดนี้ถ้าประชาชนเขามา เขามาพร้อม ‘ของ' กันหมด" - สนธิ ลิ้มทองกุล 20 พ.ย. 2551 ทีมข่าวการเมืองประชาไท สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการอารักขาโดย ‘นักรบศรีวิชัย’ เมื่อ 26 ส.ค. 51 ที่มาของภาพ adaptorplug (CC)  
หัวไม้ story
  วันที่ 15 พฤศจิกายน คือวันประชุมสุดยอดผู้นำโลก 20 ชาติว่าด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการทางการเงินของโลกอีกครั้งหลังจากมันเคยเกิดขึ้นแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจโลกพังพาบลง จนนำมาสู้ระบบแลกเปลี่ยนเงินที่ชื่อว่า Bretton Woods SystemG20: "we must rethink we must rethink the financial system from scratch, as at Bretton Woods."นิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสเป็นผู้เอ่ยประโยคนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา และนำมาสู่การกำหนดการประชุมสุดยอดผู้นำโลกที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. นี้
หัวไม้ story
โอบามากับสงครามสีผิวที่กำลังจะเปิดฉาก? ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งจบลงไปด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของบารัก โอบามา ผู้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นคนผิวสี คนแรกที่เดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดี โอบามา เป็นลูกผสมระหว่างแม่ซึ่งเป็นคนผิวขาว กับพ่อเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งไม่ได้ย่างเท้าลงบนแผ่นดินอเมริกาในฐานะทาส แต่เป็นนักศึกษา แม้จะไม่ใช่คนผิวดำ หรือลูกหลานแอฟริกันขนานแท้ ที่เติบโตขึ้นจากครอบครัวที่มีบรรพบุรุษเป็นทาส แต่บารัก โอบามา ก็ถูกจำจดในฐานะเป็นตัวแทนของคนผิวสีที่ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์ร่วมกับคนแอฟริกัน-อเมริกัน…
หัวไม้ story
แม้ว่าคนจนในประเทศไทย จะเลือกตาย ด้วยหวังให้การตายส่งเสียงได้มากกว่ายามที่พวกมีชีวิตอยู่ ทว่า ไม่ช้าไม่นาน ความทรงจำของสังคมก็เลือนรางลงไป แต่คนจนอย่างนวมทอง ไพรวัลย์ เลือกวิธีตาย และเลือกใช้การตายของเขาส่งเสียงดังและอยู่ยาวนาน อย่างน้อยก็ใน 2 ปีต่อมา เขายังไม่ถูกลืมเลือน
หัวไม้ story
ประชาไทขอนำเสนอคลิปวิดิโอ 'หลังทักษิณ' มุมมอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากคนใกล้ตัวที่บ้านเกิด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และบทวิเคราะห์การเมืองไทยหลังทักษิณ โดย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
หัวไม้ story
  ทีมข่าวภาคใต้มายาภาพของการต่อสู้ทางการเมืองไทยในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวว่าอ้างว่าเป็นสงครมมระหว่างภูมิภาค คือ ภาคใต้ กับภาคเหนือและภาคอิสาน แต่หากมองลึกลงไปในกระบวนการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคพลังประชาชน อาจพบว่าแท้จริงแล้วการพื้นที่ทางการเมืองระดับนำก็ยังคงเป็นของคนใต้อยู่เช่นเดิม
หัวไม้ story
จับตาการเดินทัพของพันธมิตรฯ จากคำปราศรัยของแกนนำชื่อ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ หลังประกาศทบทวนแนวทางสันติวิธี ระบุแกนนำทั้งหลายไม่กลัวตาย “แต่ถ้าพวกเราบางคนจะต้องตาย พี่น้องสัญญาอย่าง ต้องให้แผ่นดินนี้ ลุกขึ้นเป็นไฟให้ได้”
หัวไม้ story
  เมื่อพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองก็ไม่แคล้วตามมาด้วย การแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง นับเป็นสิ่งที่สังคมไทยถนัดในการแก้ปัญหาการเมืองโดยการเขียนอะไรบางอย่างขึ้นมาบังคับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร กระทั่งแม้แต่นักกฎหมายมหาชนเองก็ยังแซวผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตัวเองได้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญที่สุดในโลกนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 กล่าวในรายการตอบโจทย์  ทางสถานีไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ว่าที่สุดแล้ววิกฤตของการเมืองไทยวันนี้มันก็เริ่มมาจากการแก้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอนั่นเองย้อนเหตุการณ์ให้ฟังอีกครั้งว่า…
หัวไม้ story
  พิณผกา งามสม   ในระหว่างที่การต่อสู้ทางการเมืองไทยยังคงถกเถียงกันเรื่องโมเดลการเมืองใหม่ การเมืองใหม่กว่า รวมถึงระบบโควตาและระดับความชอบธรรมของ ‘เสียง' การเมืองเพื่อนบ้านของไทยก็กำลังเข้มข้นอยู่บนหนทางเดิมๆ ตามระบอบรัฐสภาเมื่อนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียประกาศว่าจะเขย่ารัฐบาลมาเลย์ให้ล่มเพื่อเปิดโอกาสในการจัดสรรที่นั่งในสภากันใหม่ โดยยึดเอาวันที่ 16 กันยายนเป็นวันดีเดย์ แรกทีเดียว หลายฝ่ายอาจคิดว่าเป็นเพียงการสร้างสีสันให้การรณรงค์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอย่างที่เคยทำมาอย่าแข็งขัน เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า…
หัวไม้ story
  วิทยากร  บุญเรืองขณะที่ Frank Lampard ดาวเตะแข้งทองของทีม Chelsea พึ่งบรรลุข้อตกลงสัญญา 5 ปีที่มีมูลค่าสูงถึง 39.2 ล้านปอนด์ โดย Lampard จะได้รับค่า 151,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 3,775 ปอนด์ต่อชั่วโมง! แต่จากการสำรวจของ The Fair Pay Network และ Institute of Public Policy Research (IPPR) พบว่าพนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว และแรงงานตัวเล็กๆ ทั้งหลาย ของสโมสรอย่าง Chelsea, Spurs, Arsenal, West Ham และ Fulham กลับได้รับค่าเหนื่อยจากสัญญาจ้างค่าแรงขั้นต่ำแค่ 5.52 ปอนด์ต่อชั่วโมงเท่านั้น