Skip to main content

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2558 ที่กระแสของความตื่นตัวเรื่องอาเซียนกำลังได้รับความสนใจจากสังคมไทย การจะหาหนังสือภาษาไทยที่จะสามารถอธิบายประเด็นทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม บริบททางการเมืองระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศของอาเซียน รวมไปถึงการมีบทวิเคราะห์ประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ที่อาเซียนต้องเผชิญในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต ให้ครอบคลุมทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะยากที่จะหาผู้เขียนที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ผนวกกับการมีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาของอาเซียนในอนาคตและสามารถถ่ายทอดมาสู่ปลายปากกาเป็นหนังสือที่อ่านไม่ยากจนเกินไปนัก หากหนังสือเรื่อง “อาเซียน สิ่งมหัศจรรย์ ผู้สร้างสรรค์สันติภาพ” ออกมาในช่วงที่สังคมไทยตื่นตัวเรื่องอาเซียน คงคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าหนังสือเล่มนี้จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

หนังสือนี้แปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษที่มีชื่อว่า “The ASEAN Miracle: A Catalyst for Peace” ซึ่งเขียนโดย Kishore Mahbubani และ Jeffery Sng และถูกตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. 2560 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิลีแห่งชาติสิงคโปร์ให้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น มาลายู อินโดนีเซีย พม่า เขมร ลาว ตากาล็อก ไทย และเวียดนาม เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนไปยังผู้คนในประเทศต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นภาษาไทยนั้นมี ธีระ นุชเปี่ยม และประพิน นุชเปี่ยม เป็นผู้แปล โดยสถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ตีพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2561

สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ผู้เขียน เพราะ Kishore เป็นคณบดีของสถาบันนโยบายสาธารณะลีกวนยู ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เขาผลงานเขียนที่โด่งดังอย่าง “Can Asian Think?: Understanding the Divide between East and West” (ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2544) หรือ “The New Asia Hemisphere: The Irresistible Shift of Global Power to the East” (ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2551) เป็นต้น ในขณะที่ Jeffery Sng เป็นนักเขียนและเคยเป็นอดีตทูต และเคยมีผลงานทางวิชาการเรื่อง “A History of The Thai-Chinese” (ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2558) ซึ่งเขียนร่วมกับพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร

มุมมองของ Kishore ที่มีประสบการณ์งานเขียนและการทำงานเป็นทูตให้กับสิงคโปร์ และการเป็นนักวิชาการ ทำให้บทวิเคราะห์ของเขามีทั้งมิติวิชาการและผู้ที่เคยอยู่ในสายปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ผู้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือนี้ ต่างล้วนเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงหรือบทบาทสำคัญในอาเซียนหรือการเมืองโลก เช่น โคฟี อันนัน, ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน, โก๊ะ จ๊ก ตง หรือ อานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 6 บทหลักด้วยกัน บทที่ 1 เล่าให้ผู้อ่านเห็นภาพปฏิสัมพันธ์ที่อาเซียนมีกับอารยธรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่อาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งวัฒนธรรมอินเดีย จีน อิสลาม และตะวันตก

บทที่ 2 อธิบายถึงปัจจัยและเงื่อนไขแวดล้อมที่มีผลต่อการก่อตัวของอาเซียน ในบทนี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์โดยใช้มิติต่าง ๆ เข้ามาประกอบ ไม่ว่าจะเป็น (1) บริบททางด้านการเมืองระหว่างประเทศที่สภาพแวดล้อมของโลกต้องเผชิญกับคอมมิวนิสต์ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่ของโลก (2) การที่ผู้นำของประเทศสมาชิกมีความเข้มแข็ง (3) ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาเซียนอยู่ในฝ่ายที่ชนะหรือได้เปรียบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในระดับโลก (4) นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดที่เติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่อาเซียนกำลังก่อตัวขึ้นมาถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของอาเซียน อาเซียนได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ และประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เรียนรู้ประสบการณ์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง

บทที่ 3 ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ อเมริกา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย และญี่ปุ่น ผู้เขียนอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีกับอาเซียนเพื่อให้เห็นภาพพัฒนาการของความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจกับอาเซียน ทั้งในมุมมองประวัติศาสตร์และการเมือง ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียนนั้นน่าสนใจ ผู้เขียนเลือกที่จะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียนด้วยการเสนอว่า สหภาพยุโรปจะสามารถเรียนรู้อะไรได้จากอาเซียน แทนที่จะเป็นการบอกว่าอาเซียนจะเรียนรู้อะไรจากสหภาพยุโรป ซึ่งมักเป็นแนวทางหรือข้อเสนอที่เจอในงานวิชาการที่จำนวนมาก

ต่อมาในบทที่ 4 ผู้เขียนย้อนกลับมาเล่าประวัติศาสตร์โดยย่อของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผู้เขียนให้ภาพกว้างของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียนในแง่การเมืองและสังคม

บทที่ 5 และ 6 เป็นสองบทที่สำคัญที่สุดของหนังสือ เพราะผู้เขียนมีข้อวิเคราะห์และข้อเสนอของผู้เขียนอยู่ในสองบทนี้อย่างชัดเจน ในบทที่ 5 ผู้เขียนใช้กรอบ SWOT ในการวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม

ในบทที่ 5 ผู้เขียนเสนอว่าจุดแข็งที่สำคัญที่สุดของอาเซียนก็คือความรู้สึกร่วมของประชาคมอาเซียนที่ผู้นำของประเทศต่าง ๆ พยายามทำให้อาเซียนต้องอยู่เป็นองค์กรของภูมิภาคให้ได้ อีกทั้งอาเซียนเองก็ไม่ได้มีสงครามครามใหญ่ระหว่างกันมานานแล้ว (นอกเหนือไปจากความบาดหมางทางด้านดินแดนของบางประเทศ เช่น ไทยกับกัมพูชา และอินโดนีเซียกับมาเลเซีย เป็นต้น) จุดแข็งประการที่สองก็คือการที่อาเซียนได้พัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบันซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้คนในอาเซียนเห็นพัฒนาการของสถาบันและมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของอาเซียนมากยิ่งขึ้น จุดแข็งประการที่สามคือการที่ประเทศมหาอำนาจพยายามทำให้อาเซียนดำรงอยู่ได้

ผู้เขียนเสนอต่อไปว่าจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของอาเซียนคือการที่อาเซียนขาดผู้นำระดับภูมิภาค ซึ่งแตกต่างไปจากสหภาพยุโรปที่มีผู้นำอย่างชาร์ลส์ เดอ โกล, คอนราด อาเดนาวร์, ฟร็องซัว มีแตร็อง (ในเล่มที่แปลเป็นไทยตกการใส่ชื่อมีแตร็องลงไป แต่ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในต้นฉบับภาษาอังกฤษ) หรือเฮลมุต โคห์ล ในกรณีของอาเซียนนั้น ประเทศที่ดูจะมีศักยภาพมากที่สุดในการเป็นผู้นำอาเซียนคืออินโดนีเซีย

ผู้เขียนกล่าวอย่างชัดเจนว่าอินโดนีเซียจะเป็นเงื่อนไขหลักของความสำเร็จของอาเซียน เพราะด้วยจำนวนประชากรของอินโดนีเซีย และการมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ทำให้อาเซียนต้องอาศัยอินโดนีเซีย มิเช่นนั้นแล้วหากฝ่ายขวาของอินโดนีเซียผลักดันให้อินโดนีเซียถอนตัวออกจากอาเซียนแล้วก็จะทำให้อาเซียนต้องเผชิญปัญหาอย่างมาก

ดังนั้น หากไม่ใช่อินโดนีเซียแล้ว คำถามก็คือ ประเทศใดเล่าที่จะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เขียนเสนอว่าน่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือไทย เพราะภูมิศาสตร์ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาค และมีความสามารถทางการเมืองในการที่จะเป็นผู้นำภูมิภาคได้ จุดอ่อนประการที่สองคือการที่อาเซียนขาดสถาบันที่จะมีอำนาจในการบังคับใช้กฎของภูมิภาค การตรวจสอบ สอดส่องการใช้กฎต่าง ๆ จุดอ่อนประการที่สามคือการที่ประชากรของอาเซียนขาดความรู้สึกร่วมของการเป็นประชากรของภูมิภาค และขาดความรู้สึกความเป็นเจ้าของอาเซียน

ประเด็นเรื่องภัยคุกคามนั้น ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าภัยคุกคามที่ชัดเจนที่สุดคือการแข่งขันกันทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯและจีน ภัยคุกคามประการที่สองก็คือการที่ผู้นำของอาเซียนมุ่งแต่ให้ความสนใจกับประเด็นความท้าทายภายในประเทศแทนที่จะให้ความสนใจกับประเด็นความท้าทายระดับภูมิภาค ภัยคุกคามที่สามก็คือการที่อาเซียนขาดกลไกที่จะมาดูแลแก้ไขปัญหาสองประการแรก ซึ่งยิ่งอาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งของอาเซียนยิ่งลงลึก แตกร้าวมากยิ่งขึ้น

Kishore วิเคราะห์โอกาสที่อาเซียนอาจใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีทั้งระดับภาครัฐและภาคประชาชนที่เริ่มเติบโตขึ้นและมีบทบาทอย่างมากทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โอกาสที่สองคือการที่อาเซียนอาจใช้การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคให้เป็นประโยชน์ต่ออาเซียนเอง เพราะเมื่อประเทศมหาอำนาจแข่งขันกันเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ อาเซียนอาจใช้การแข่งขันเหล่านั้นให้อาเซียนได้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุน

บทที่ 6 เป็นข้อเสนอใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้เสนอ คือ อาเซียนสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เฉกเช่นเดียวกับครั้นเมื่อสหภาพยุโรปได้รับรางวัลนี้มาก่อน ด้วยเหตุผลสามประการ คือ

หนึ่ง อาเซียนได้นำสันติภาพมาสู่อาเซียนกว่า 50 ปีแล้ว เหตุผลนี้ควรทำให้อาเซียนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาหลายปีแล้ว แต่สาเหตุที่อาเซียนไม่ได้รับรางวัลก็เพราะอาเซียนไม่ได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ สอง อาเซียนได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคกว่า 600 ล้านคน เราเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2508 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของสิงคโปร์มีมูลค่าเท่ากับของประเทศกานา แต่ในปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของสิงคโปร์มีมูลค่ากว่า 38,088 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ของกานาอยู่ที่ 763 เหรียญสหรัฐต่อหัว เป็นต้น สาม อาเซียน “ให้ความศิวิไลซ์” แก่มหาอำนาจที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน ในประเด็นนี้ผู้เขียนค่อนข้างคลุมเครือในการบอกว่า “ให้ความศิวิไลซ์” (ซึ่งผู้เขียนใช้ภาษาอังกฤษว่า “to civilize” และผู้แปลก็แปลออกมาตรงตัว) นั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่ เพราะผู้เขียนขยายความต่อไปว่าประเทศมหาอำนาจได้พยายามเข้ามา “ติดต่อกับอาเซียนพร้อมกับผลประโยชน์ที่จะหยิบยื่นให้” (หน้า 404) และผู้เขียนเปรียบเทียบต่อไปอีกว่า การเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะนี้ไม่ปรากฏอยู่ในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลกนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้เขียนจะบอกว่าอาเซียนประสบความสำเร็จในมิติต่าง ๆ แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนยังไม่ได้อธิบายลงลึกก็คือปัญหาโรฮิงญาในฐานะที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญต่อการร่วมกันมือกันระดับภูมิภาค หรือแม้แต่การมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจ! และ/หรือประเด็นนี้เองก็อาจจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่สะท้อนความล้มเหลวของอาเซียนจนทำให้อาเซียนไม่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตามที่ผู้เขียนได้เสนอไว้ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังไม่ได้อธิบายประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญนอกเหนือไปจากการบอกว่าอาเซียนประสบความสำเร็จจากการทำให้อาเซียนไม่มีสงครามระหว่างกัน แม้ว่าประเด็นเรื่องความท้าทายใหม่ ๆ เช่น ความมั่นคงในโลกไซเบอร์ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เป็นต้น ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงโดยละเอียด ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาความมั่นคงเหล่านี้เป็นความท้าทายใหม่ที่สร้างปัญหากับอาเซียนอย่างมาก เพราะประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับประเด็นที่ทำให้เกิดความสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว การมองโลกในแง่ดีของผู้เขียนจะท้าทายมุมมองและความเห็นทางวิชาการของผู้อ่านที่มีต่อพัฒนาการและความสำเร็จของอาเซียน เพราะการที่ผู้เขียนเสนอให้อาเซียนเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่สมควรได้รับรางวัลโนเบลมานานแล้ว ทำให้ผู้อ่านต้องหันกลับมาทำความเข้าใจจุดยืนว่าเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ โดยเฉพาะข้อถกเถียงและหลักฐานที่ผู้เขียนนำเสนอเอาไว้ตลอดทั้งเล่ม เช่น บทที่ 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นที่กล่าวว่าญี่ปุ่นล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอาเซียน ไม่เหมือนจีนที่มีความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จมากกว่า หรือบทที่ 6 ที่ว่าอาเซียนควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นต้น

หนังสือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนเมื่ออ่านด้วยมุมมองการหาสาระจากหนังสือที่แตกต่างเป้าหมายกัน หากอ่านเอาเกร็ดสาระ ผู้อ่านที่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนในแง่ประวัติศาสตร์อยู่แล้วอาจพบว่าหนังสือเล่มนี้มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อยในแวดวงทางการทูตที่อาจจะไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารวิชาการอื่น ๆ เช่นการเล่าเรื่องการเล่นกอล์ฟในฐานะที่เป็นกีฬาที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำอาเซียน และสร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้นำ เป็นต้น

อีกทั้ง นอกเหนือไปจากการอ่านหนังสือต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการเขียนหนังสือนี้ ผู้เขียนยังใช้บทสัมภาษณ์ การพูดคุย หรือการเขียนอีเมล์กับนักวิชาการ ทูต นักการเมือง หรือประธานาธิบดี ซึ่งทำให้หนังสือนี้บรรจุไว้ซึ่งข้อมูล มุมมอง ประสบการณ์ หรือความเห็นของผู้ที่อยู่ในหน้าที่ตัดสินใจ หรือทำงานวิชาการเชิงลึกในประเด็นอาเซียน หากผู้อ่านเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หนังสือเล่มนี้ก็จะเหมาะกับการอ่านทำความเข้าใจภาพใหญ่ของอาเซียน พัฒนาการที่มีมาตั้งแต่การก่อตั้ง รวมไปถึงการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ อีกทั้งผู้เขียนยังเล่ากระบวนการทำงาน การตัดสินใจ หรือการร่างกฎบัตรอาเซียนคร่าว ๆ (เช่นในบทที่ 5) ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการอ่านเพื่อทำความเข้าใจอาเซียนในภาพรวมก่อนจะไปอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ต่อไป หรือเป็นการอ่านเพื่อตั้งโจทย์ว่า “ท่านเห็นด้วยกับหนังสือเล่มนี้หรือไม่”

แม้ว่าหลังจากอ่านหนังสือแล้ว ผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามต่อข้อเสนอและมุมมองของผู้เขียน แต่หนังสือนี้ก็ยังคงถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนที่ควรค่าจะอ่าน ทั้งการสะท้อนมุมมองของผู้เขียนที่เคยเป็นทูตก่อนจะเปลี่ยนตนเองมาเป็นนักวิชาการในปัจจุบัน และการได้อ่านข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่พัฒนาผ่านประสบการณ์ทางการทูตและวิชาการมายาวนาน

เกี่ยวกับหนังสือ

กิชอร์ มาห์บูบานี และ เจฟฟรี ซ่ง. (2561). อาเซียนสิ่งมหัศจรรย์ ผู้สร้างสันติภาพ. ธีระ นุชเปี่ยม และ ประพิน นุชเปี่ยม (แปล). กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี

นรุตม์ เจริญศรี
อัตลักษณ์ทางการแข่งขันของประเทศเอสโตเนีย ระหว่าง ค.ศ.1991-2011 โดย สมพงค์ พรมสะอาด
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรีคณะรัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่
นรุตม์ เจริญศรี
เวลาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ บ่อยครั้ง หน้าด้านซ้ายถัดจาก
นรุตม์ เจริญศรี
ผมเริ่มต้นเขียน blog นี้ด้วยความสนใจต่อประเด็นองค์ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิภาคนิยม และภูมิภาคศึกษา จึงอยากเริ่มเขียนและสนทนากับผู้สนใจในประเด็นที่คล้ายๆกัน ผมใช้เวลาคิดอยู่หลายวันว่าจะเริ่มต้นเขียนหัวข้ออะไรเป็นหัวข้อเปิด ซึ่งจะได้เชื่อมโยงต่อไปยัง