Skip to main content

12 กันยายน 2550

และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท

รถบรรทุกขนาดสิบล้อสองคันจอดรอท่าอยู่ข้างทางเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านและ อส. กว่าสิบนายต่างร่วมแรงแบกยกบ้านที่พังพาบเป็นกองไม้รอท่า ขึ้นรถบรรทุกรอบแล้วรอบเล่า ผู้หญิงและเด็กๆ หอบหิ้วของใช้ครัวเรือนตามกำลังแรงของตัวเอง มุ่งสู่ท้ายรถบรรทุก

picture1
บ้านที่ต้องย้าย

เมื่อคืนก่อนการย้ายฉันตัดสินใจเรียกประชุมชาวบ้านเป็นครั้งสุดท้าย ณ หมู่บ้านเดิม ทุกคนพกสีหน้าแล้วความกังวลใจไว้เต็มเปี่ยม ฉันค่อยๆชี้แจงในสิ่งที่รู้จากการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการซึ่งแม้จะไม่เป็นทางการแต่ชาวบ้านก็ควรจะรับรู้ไว้

“ก่อนอื่นฉันอยากถามความสมัครใจของทุกคนก่อนว่า ยังมีความตั้งใจเดิมที่จะย้ายไปหมู่บ้านใหม่ไหม”

เสียงอื้ออึงจากการแสดงความคิดเห็นเป็นภาษากระยัน สอบถามกันและกันเพื่อแน่ใจว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวที่จะตัดสินใจเลือกทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันจึงตัดบท

“เอาอย่างนี้แล้วกัน เราอยากให้ทุกคนสามัคคีกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคีจะนำพาพวกเราให้อยู่รอดในหมู่บ้านใหม่ที่จะไม่มีใครคอยมาดูแลพวกเราเหมือนเช่นเคย ถ้าทุกคนทำได้ การย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร”

มะหล่อ หญิงกะยันผู้สามารถพูดได้ถึงสี่ภาษา ทั้งภาษาไทย, อังกฤษ, พม่า และภาษาของตัวเอง เริ่มทำการแปลคำพูดฉัน เสียงของทุกคนเริ่มเงียบลงและต่างก็พยักหน้ารับว่าจะย้ายกันทั้งหมดที่เคยตัดสินใจตั้งแต่แรก

“เอาล่ะที้นี้ถ้าหากตัดสินใจได้แล้ว ฉันก็อยากจะย้ำคำพูดของทางปลัดฯ ซึ่งมีความเป็นห่วงพวกเรา จึงไม่อยากให้ย้ายกันไปหมด เพราะหมู่บ้านใหม่ในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องลำบาก พวกเราที่เคยมี่เงินเดือน มีข้าวสารแจกทุกเดือน อาจจะต้องใช้ทุนรอนเดิมของตัวเองที่สะสมมาก่อนที่หน่วยงานราชการ หรือเอ็นจีโอจะเข้ามาช่วย เพราะหากจะหวังให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทันทีเหมือนที่เดิมก็คงไม่ได้ พวกเราคิดกันอย่างไร”

“ผมรู้ว่าต้องลำบากแน่ๆ แต่ผมขอแค่เรื่องเดียวคือทุกคนในที่นี้ต้องสัญญาว่าจะสามัคคีกันนะ มีอะไรก็ต้องแบ่งกัน ไม่อยากให้เป็นเหมือนตอนที่อยู่หมู่บ้านเดิมที่เอาแต่อิจฉากัน”
หล่าโบ๊ พี่ชายของสามีซึ่งตัดสินใจหอบลูกสาวสี่คนย้ายไปหมู่บ้านใหม่ ออกความเห็นคนแรก

“แล้วเรื่องถนนล่ะว่าอย่างไร หากไม่ตัดถนนให้พวกเรา นักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึงพวกเราได้อย่างไร เพราะถนนเดิมต้องอ้อมไกลและ เส้นทางยังขรุขระเป็นหลุมบ่อ อีกอย่างพวกเราก็ไม่มีเรือกันสักคน เวลาข้ามฟากก็ต้องคอยเป็นครึ่งค่อนวัน”

“อันนี้ฉันสอบถามจากปลัดแล้ว เรื่องถนนเขาก็จะเขียนงบประมาณขึ้นไปมันต้องใช้เวลาในการตัดสินใจว่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนใหนให้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภายในปีนี้หรือปีหน้าหรืออาจจะหลายปี เขาก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้”

เสียงเซ็งแซ่จากที่ประชุมดังขึ้นเมื่อสิ้นสุดเสียงบอกเล่าคำพูดฉันจากล่าม ฉันจึงรีบตัดบทอีกครั้ง
“นี่แหละที่ปลัดฯเขาเป็นห่วง คำว่าลำบาก ก็คืออาจจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะปรับปรุงหมู่บ้านเส้นทาง หรือสะพาน ก่อนที่จะสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ แต่ในระหว่างนั้น ก็จะมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูแลพวกเรา ในเรื่องข้าวสารอาหารแห้ง มาสอนพวกเราในเรื่องการเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ หรืออาชีพเสริมต่างๆ ตามเป้าหมายโครงการคืออยากให้เราอยู่กันตามวิถีชีวิตดั้งเดิม พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งต่างจากที่เราเคยอยู่หมู่บ้านเดิม ที่เราต้องพึ่งพาแต่นายทุนเราจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า รอรับนักท่องเที่ยวอยู่หน้าร้านขายของๆตัวเอง”

ฉันไม่รู้ว่าสิ่งที่ฉันอธิบายพวกเขานั้นพวกเขาจะเข้าใจลึกซึ้งหรือไม่ว่า การเปลี่ยนตัวเองจากHuman Zoos อันถูกกระทำโดยน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ไปสู่การมีวิถีชีวิตเช่นคนชนเผ่าอื่นๆ มีศักดิ์ศรีและอิสระภาพที่จะดำเนินชีวิตตามแบบแผนวัฒนธรรมของตัวเอง มันต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากเพราะเขาต้องต่อสู้กับความเคยชินที่มีมานานกว่า 12 ปี

หลังจากประชุมแล้วก่อนจะหลับไป ฉันนอนคุยกับสามีว่า เมื่อยามเช้ามาถึง ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป หากพวกเขามีความสามัคคีกันมากพอ อุปสรรคร้ายๆทุกอย่างก็จะสามารถร่วมกันฟันฝ่าไปได้ ดังล้อเกวียนที่ติดหล่มหากร่วมแรงกันเข็นขึ้นมาอย่างสุดความสามารถ ล้อนั้นก็จะหลุดขึ้นมาจากหลุมได้

หลายคนในคืนนี้อาจจะนอนไม่หลับ เพราะกังวลใจในสิ่งที่เขาเลือกแต่อีกหลายคนมั่นใจว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นมันถูกต้องและได้รอคอยมาทั้งชีวิต เพราะความเข้าใจเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน

picture2
ข้าราชการมาช่วยย้าย

แต่เช้านี้ล้อรถบรรทุกสิบล้อได้หมุนแล้ว และพวกเขาก็หลุดพ้นจากจุดเดิมเคลื่อนไปสู่จุดใหม่ที่ได้เลือกด้วยตัวของพวกเขาเอง แม้เส้นทางข้างหน้าของรถบรรทุกจะขรุขระเป็นหลุมบ่อและมีสิ่งกีดขวางทางไว้มากมายสักเพียงใด

การเลือกและการตัดสินใจ
เปลี่ยนแปลงชีวิต
ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว