Skip to main content

12 กันยายน 2550

และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท

รถบรรทุกขนาดสิบล้อสองคันจอดรอท่าอยู่ข้างทางเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านและ อส. กว่าสิบนายต่างร่วมแรงแบกยกบ้านที่พังพาบเป็นกองไม้รอท่า ขึ้นรถบรรทุกรอบแล้วรอบเล่า ผู้หญิงและเด็กๆ หอบหิ้วของใช้ครัวเรือนตามกำลังแรงของตัวเอง มุ่งสู่ท้ายรถบรรทุก

picture1
บ้านที่ต้องย้าย

เมื่อคืนก่อนการย้ายฉันตัดสินใจเรียกประชุมชาวบ้านเป็นครั้งสุดท้าย ณ หมู่บ้านเดิม ทุกคนพกสีหน้าแล้วความกังวลใจไว้เต็มเปี่ยม ฉันค่อยๆชี้แจงในสิ่งที่รู้จากการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการซึ่งแม้จะไม่เป็นทางการแต่ชาวบ้านก็ควรจะรับรู้ไว้

“ก่อนอื่นฉันอยากถามความสมัครใจของทุกคนก่อนว่า ยังมีความตั้งใจเดิมที่จะย้ายไปหมู่บ้านใหม่ไหม”

เสียงอื้ออึงจากการแสดงความคิดเห็นเป็นภาษากระยัน สอบถามกันและกันเพื่อแน่ใจว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวที่จะตัดสินใจเลือกทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันจึงตัดบท

“เอาอย่างนี้แล้วกัน เราอยากให้ทุกคนสามัคคีกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคีจะนำพาพวกเราให้อยู่รอดในหมู่บ้านใหม่ที่จะไม่มีใครคอยมาดูแลพวกเราเหมือนเช่นเคย ถ้าทุกคนทำได้ การย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร”

มะหล่อ หญิงกะยันผู้สามารถพูดได้ถึงสี่ภาษา ทั้งภาษาไทย, อังกฤษ, พม่า และภาษาของตัวเอง เริ่มทำการแปลคำพูดฉัน เสียงของทุกคนเริ่มเงียบลงและต่างก็พยักหน้ารับว่าจะย้ายกันทั้งหมดที่เคยตัดสินใจตั้งแต่แรก

“เอาล่ะที้นี้ถ้าหากตัดสินใจได้แล้ว ฉันก็อยากจะย้ำคำพูดของทางปลัดฯ ซึ่งมีความเป็นห่วงพวกเรา จึงไม่อยากให้ย้ายกันไปหมด เพราะหมู่บ้านใหม่ในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องลำบาก พวกเราที่เคยมี่เงินเดือน มีข้าวสารแจกทุกเดือน อาจจะต้องใช้ทุนรอนเดิมของตัวเองที่สะสมมาก่อนที่หน่วยงานราชการ หรือเอ็นจีโอจะเข้ามาช่วย เพราะหากจะหวังให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทันทีเหมือนที่เดิมก็คงไม่ได้ พวกเราคิดกันอย่างไร”

“ผมรู้ว่าต้องลำบากแน่ๆ แต่ผมขอแค่เรื่องเดียวคือทุกคนในที่นี้ต้องสัญญาว่าจะสามัคคีกันนะ มีอะไรก็ต้องแบ่งกัน ไม่อยากให้เป็นเหมือนตอนที่อยู่หมู่บ้านเดิมที่เอาแต่อิจฉากัน”
หล่าโบ๊ พี่ชายของสามีซึ่งตัดสินใจหอบลูกสาวสี่คนย้ายไปหมู่บ้านใหม่ ออกความเห็นคนแรก

“แล้วเรื่องถนนล่ะว่าอย่างไร หากไม่ตัดถนนให้พวกเรา นักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึงพวกเราได้อย่างไร เพราะถนนเดิมต้องอ้อมไกลและ เส้นทางยังขรุขระเป็นหลุมบ่อ อีกอย่างพวกเราก็ไม่มีเรือกันสักคน เวลาข้ามฟากก็ต้องคอยเป็นครึ่งค่อนวัน”

“อันนี้ฉันสอบถามจากปลัดแล้ว เรื่องถนนเขาก็จะเขียนงบประมาณขึ้นไปมันต้องใช้เวลาในการตัดสินใจว่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนใหนให้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภายในปีนี้หรือปีหน้าหรืออาจจะหลายปี เขาก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้”

เสียงเซ็งแซ่จากที่ประชุมดังขึ้นเมื่อสิ้นสุดเสียงบอกเล่าคำพูดฉันจากล่าม ฉันจึงรีบตัดบทอีกครั้ง
“นี่แหละที่ปลัดฯเขาเป็นห่วง คำว่าลำบาก ก็คืออาจจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะปรับปรุงหมู่บ้านเส้นทาง หรือสะพาน ก่อนที่จะสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ แต่ในระหว่างนั้น ก็จะมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูแลพวกเรา ในเรื่องข้าวสารอาหารแห้ง มาสอนพวกเราในเรื่องการเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ หรืออาชีพเสริมต่างๆ ตามเป้าหมายโครงการคืออยากให้เราอยู่กันตามวิถีชีวิตดั้งเดิม พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งต่างจากที่เราเคยอยู่หมู่บ้านเดิม ที่เราต้องพึ่งพาแต่นายทุนเราจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า รอรับนักท่องเที่ยวอยู่หน้าร้านขายของๆตัวเอง”

ฉันไม่รู้ว่าสิ่งที่ฉันอธิบายพวกเขานั้นพวกเขาจะเข้าใจลึกซึ้งหรือไม่ว่า การเปลี่ยนตัวเองจากHuman Zoos อันถูกกระทำโดยน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ไปสู่การมีวิถีชีวิตเช่นคนชนเผ่าอื่นๆ มีศักดิ์ศรีและอิสระภาพที่จะดำเนินชีวิตตามแบบแผนวัฒนธรรมของตัวเอง มันต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากเพราะเขาต้องต่อสู้กับความเคยชินที่มีมานานกว่า 12 ปี

หลังจากประชุมแล้วก่อนจะหลับไป ฉันนอนคุยกับสามีว่า เมื่อยามเช้ามาถึง ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป หากพวกเขามีความสามัคคีกันมากพอ อุปสรรคร้ายๆทุกอย่างก็จะสามารถร่วมกันฟันฝ่าไปได้ ดังล้อเกวียนที่ติดหล่มหากร่วมแรงกันเข็นขึ้นมาอย่างสุดความสามารถ ล้อนั้นก็จะหลุดขึ้นมาจากหลุมได้

หลายคนในคืนนี้อาจจะนอนไม่หลับ เพราะกังวลใจในสิ่งที่เขาเลือกแต่อีกหลายคนมั่นใจว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นมันถูกต้องและได้รอคอยมาทั้งชีวิต เพราะความเข้าใจเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน

picture2
ข้าราชการมาช่วยย้าย

แต่เช้านี้ล้อรถบรรทุกสิบล้อได้หมุนแล้ว และพวกเขาก็หลุดพ้นจากจุดเดิมเคลื่อนไปสู่จุดใหม่ที่ได้เลือกด้วยตัวของพวกเขาเอง แม้เส้นทางข้างหน้าของรถบรรทุกจะขรุขระเป็นหลุมบ่อและมีสิ่งกีดขวางทางไว้มากมายสักเพียงใด

การเลือกและการตัดสินใจ
เปลี่ยนแปลงชีวิต
ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…