Skip to main content

12 กันยายน 2550

และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท

รถบรรทุกขนาดสิบล้อสองคันจอดรอท่าอยู่ข้างทางเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านและ อส. กว่าสิบนายต่างร่วมแรงแบกยกบ้านที่พังพาบเป็นกองไม้รอท่า ขึ้นรถบรรทุกรอบแล้วรอบเล่า ผู้หญิงและเด็กๆ หอบหิ้วของใช้ครัวเรือนตามกำลังแรงของตัวเอง มุ่งสู่ท้ายรถบรรทุก

picture1
บ้านที่ต้องย้าย

เมื่อคืนก่อนการย้ายฉันตัดสินใจเรียกประชุมชาวบ้านเป็นครั้งสุดท้าย ณ หมู่บ้านเดิม ทุกคนพกสีหน้าแล้วความกังวลใจไว้เต็มเปี่ยม ฉันค่อยๆชี้แจงในสิ่งที่รู้จากการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการซึ่งแม้จะไม่เป็นทางการแต่ชาวบ้านก็ควรจะรับรู้ไว้

“ก่อนอื่นฉันอยากถามความสมัครใจของทุกคนก่อนว่า ยังมีความตั้งใจเดิมที่จะย้ายไปหมู่บ้านใหม่ไหม”

เสียงอื้ออึงจากการแสดงความคิดเห็นเป็นภาษากระยัน สอบถามกันและกันเพื่อแน่ใจว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวที่จะตัดสินใจเลือกทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันจึงตัดบท

“เอาอย่างนี้แล้วกัน เราอยากให้ทุกคนสามัคคีกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคีจะนำพาพวกเราให้อยู่รอดในหมู่บ้านใหม่ที่จะไม่มีใครคอยมาดูแลพวกเราเหมือนเช่นเคย ถ้าทุกคนทำได้ การย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร”

มะหล่อ หญิงกะยันผู้สามารถพูดได้ถึงสี่ภาษา ทั้งภาษาไทย, อังกฤษ, พม่า และภาษาของตัวเอง เริ่มทำการแปลคำพูดฉัน เสียงของทุกคนเริ่มเงียบลงและต่างก็พยักหน้ารับว่าจะย้ายกันทั้งหมดที่เคยตัดสินใจตั้งแต่แรก

“เอาล่ะที้นี้ถ้าหากตัดสินใจได้แล้ว ฉันก็อยากจะย้ำคำพูดของทางปลัดฯ ซึ่งมีความเป็นห่วงพวกเรา จึงไม่อยากให้ย้ายกันไปหมด เพราะหมู่บ้านใหม่ในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องลำบาก พวกเราที่เคยมี่เงินเดือน มีข้าวสารแจกทุกเดือน อาจจะต้องใช้ทุนรอนเดิมของตัวเองที่สะสมมาก่อนที่หน่วยงานราชการ หรือเอ็นจีโอจะเข้ามาช่วย เพราะหากจะหวังให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทันทีเหมือนที่เดิมก็คงไม่ได้ พวกเราคิดกันอย่างไร”

“ผมรู้ว่าต้องลำบากแน่ๆ แต่ผมขอแค่เรื่องเดียวคือทุกคนในที่นี้ต้องสัญญาว่าจะสามัคคีกันนะ มีอะไรก็ต้องแบ่งกัน ไม่อยากให้เป็นเหมือนตอนที่อยู่หมู่บ้านเดิมที่เอาแต่อิจฉากัน”
หล่าโบ๊ พี่ชายของสามีซึ่งตัดสินใจหอบลูกสาวสี่คนย้ายไปหมู่บ้านใหม่ ออกความเห็นคนแรก

“แล้วเรื่องถนนล่ะว่าอย่างไร หากไม่ตัดถนนให้พวกเรา นักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึงพวกเราได้อย่างไร เพราะถนนเดิมต้องอ้อมไกลและ เส้นทางยังขรุขระเป็นหลุมบ่อ อีกอย่างพวกเราก็ไม่มีเรือกันสักคน เวลาข้ามฟากก็ต้องคอยเป็นครึ่งค่อนวัน”

“อันนี้ฉันสอบถามจากปลัดแล้ว เรื่องถนนเขาก็จะเขียนงบประมาณขึ้นไปมันต้องใช้เวลาในการตัดสินใจว่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนใหนให้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภายในปีนี้หรือปีหน้าหรืออาจจะหลายปี เขาก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้”

เสียงเซ็งแซ่จากที่ประชุมดังขึ้นเมื่อสิ้นสุดเสียงบอกเล่าคำพูดฉันจากล่าม ฉันจึงรีบตัดบทอีกครั้ง
“นี่แหละที่ปลัดฯเขาเป็นห่วง คำว่าลำบาก ก็คืออาจจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะปรับปรุงหมู่บ้านเส้นทาง หรือสะพาน ก่อนที่จะสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ แต่ในระหว่างนั้น ก็จะมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูแลพวกเรา ในเรื่องข้าวสารอาหารแห้ง มาสอนพวกเราในเรื่องการเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ หรืออาชีพเสริมต่างๆ ตามเป้าหมายโครงการคืออยากให้เราอยู่กันตามวิถีชีวิตดั้งเดิม พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งต่างจากที่เราเคยอยู่หมู่บ้านเดิม ที่เราต้องพึ่งพาแต่นายทุนเราจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า รอรับนักท่องเที่ยวอยู่หน้าร้านขายของๆตัวเอง”

ฉันไม่รู้ว่าสิ่งที่ฉันอธิบายพวกเขานั้นพวกเขาจะเข้าใจลึกซึ้งหรือไม่ว่า การเปลี่ยนตัวเองจากHuman Zoos อันถูกกระทำโดยน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ไปสู่การมีวิถีชีวิตเช่นคนชนเผ่าอื่นๆ มีศักดิ์ศรีและอิสระภาพที่จะดำเนินชีวิตตามแบบแผนวัฒนธรรมของตัวเอง มันต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากเพราะเขาต้องต่อสู้กับความเคยชินที่มีมานานกว่า 12 ปี

หลังจากประชุมแล้วก่อนจะหลับไป ฉันนอนคุยกับสามีว่า เมื่อยามเช้ามาถึง ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป หากพวกเขามีความสามัคคีกันมากพอ อุปสรรคร้ายๆทุกอย่างก็จะสามารถร่วมกันฟันฝ่าไปได้ ดังล้อเกวียนที่ติดหล่มหากร่วมแรงกันเข็นขึ้นมาอย่างสุดความสามารถ ล้อนั้นก็จะหลุดขึ้นมาจากหลุมได้

หลายคนในคืนนี้อาจจะนอนไม่หลับ เพราะกังวลใจในสิ่งที่เขาเลือกแต่อีกหลายคนมั่นใจว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นมันถูกต้องและได้รอคอยมาทั้งชีวิต เพราะความเข้าใจเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน

picture2
ข้าราชการมาช่วยย้าย

แต่เช้านี้ล้อรถบรรทุกสิบล้อได้หมุนแล้ว และพวกเขาก็หลุดพ้นจากจุดเดิมเคลื่อนไปสู่จุดใหม่ที่ได้เลือกด้วยตัวของพวกเขาเอง แม้เส้นทางข้างหน้าของรถบรรทุกจะขรุขระเป็นหลุมบ่อและมีสิ่งกีดขวางทางไว้มากมายสักเพียงใด

การเลือกและการตัดสินใจ
เปลี่ยนแปลงชีวิต
ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…