Skip to main content

...ในทุก trust มี risk แฝงฝังอยู่อย่างมิอาจปัดป่ายบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ ก็เพราะ trust มันทำงานอย่างนี้ คือไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายครอบงำกำกับ มันหลวม ๆ สบตาเอ่ยปากขอรู้ไจวางใจกัน และความหลวมนี่แหละทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างสะดวกราบรื่น ด้วยความไว้วางใจที่มีต่อกัน และฉะนั้นมันจึงเปิดช่องให้ trust ถูก abused ได้..

Kasian Tejapira(28/2/56)
 

การแถลงข่าวของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ กรณีเงินฝากจากสมาชิกครอบครัวของอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม (อ.สมบัติ แจงรับฝากเงินภรรยาพล.อ.เสถียร18ล้านบาทจริง ) คงมีประเด็นชวนคิดคาใจอยู่บ้างตามสมควร เช่น จำนวนเงินมากมายเป็นสิบ ๆ ล้านขนาดนั้น อาจารย์ไม่เอะใจบ้างหรือไร? โดยเฉพาะเมื่อถึงขั้นยืมชื่ออาจารย์ไปเป็นหุ้นส่วนทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินและรับเช็คอันเป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย? และน้ำหนัก/ความหนักแน่นแห่งคำอธิบายอย่างเปิดเผยซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาของอาจารย์ถึงที่สุดแล้วก็วางอยู่บนคำให้การของสมาชิกครอบครัวอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมว่าจะสอดรับกันหรือไม่อย่างไร? ฯลฯ

คงเหนือวิสัยบุคคลภายนอกอย่างผมที่จะแสวงหาคำตอบอันกระจ่างแจ้งต่อคำถามเหล่านี้ได้หมด อย่างไรก็ตาม ผมลองถามตัวเองดูว่าเรื่องทำนองเดียวกันนี้ จะเกิดขึ้นกับผมได้หรือไม่? คิดไปคิดมา ผมพบว่าเป็นไปได้ อย่างนี้ครับ

ถามว่าในโลกนี้จะมีใครสักคนไหมที่ถ้าผมหรือภรรยาไปหาเขาพร้อมเงินสดหรือเช็คสัก ๕ - ๑๐ ล้านบาท (ตามอัตภาพ สมมุติว่าผมถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ สองใบซ้อนอะไรทำนองนั้น) ขอร้องให้รับฝากไว้และเอาเข้าบัญชีธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ฯที่ไหนสักแห่งให้ทีเพื่อแก้ปัญหายุ่งยากเดือดร้อนที่ไม่ผิดกฎหมาย แล้วเขาผู้นั้นจะไว้วางใจทำให้ ค่าที่เชื่อถือเชื่อมั่นโดยสนิทใจจากความที่รู้จักมักคุ้นกันมาว่าผมหรือภรรยาจะไม่มาร้ายหรือหลอกใช้เขาไปในทางเสียหายผิดกฎหมายแน่นอน?

ผมคิดสะระตะดูแล้ว มีครับ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ไง ผมว่าถ้าผมหรือภรรยาไปขอให้ทำอะไรแบบนี้ แกคนหนึ่งล่ะที่น่าจะวางใจและทำให้ได้

มันอธิบายยากแต่ในโลกที่เราอยู่นี้ มีคนบางคนที่เขารู้จักกับเรามากพอดีพอนานพอที่จะไว้ใจเราและเราก็ไว้ใจเขา นี่เป็นประสบการณ์ร่วมที่ค่อนข้างกว้างขวางและเป็นไปได้ว่าท่านผู้อ่านก็คงมี เรามีคนไว้ใจเหล่านี้ไว้ช่วยในยามลำบากยุ่งยากอึดอัด ทำให้เรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ ง่ายเข้าหรือเป็นไปได้ เพราะความไว้ใจ เราไม่ได้คิดจะดึงเขาไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือสร้างความเดือดร้อนให้เขา แต่มันก็มักเป็นอะไรบางอย่างที่คนทั่วไปถ้าไม่รู้จักไว้ใจกันดี ๆ เขาก็ไม่ขอร้องกันหรือขอร้องก็มักไม่ทำให้กันเพราะมันอาจจะเสี่ยงบ้างหรือยุ่งยากบ้าง คนแบบนี้ที่เราไว้ใจนี่แหละที่ทำให้โลกอยู่ง่ายขึ้น พออยู่ได้ขึ้น น่าอยู่ขึ้น และชีวิตในโลกที่บัดซบและพลการใบนี้พอจะรับมือได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป

อย่างตอนผมแต่งงานกับแฟน จริง ๆ ผมลาราชการไปเรียนต่อที่อเมริกาล่วงหน้าก่อนปีหนึ่งโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกันอย่างเป็นพิธีกรรมทางการ แล้วเธอค่อยตามไปสมทบ พอครบปี ก่อนที่เธอจะตามไปอยู่กับผม เราตกลงกันว่าต้องจัดพิธีสู่ขอแต่งงานกับทางคุณพ่อคุณแม่ของเธอเป็นทางการให้เรียบร้อย เพื่อความสบายใจของผู้ใหญ่ซะก่อน ตอนนั้นผู้ใหญ่ทางบ้านผม แตกกระจัดพลัดกระจาย มาดำเนินการให้ไม่ได้ ผมเองพูดตรง ๆ ก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อพอชักหน้าถึงหลังปริ่ม ๆ ไม่มีเงินค่าเดินทางจะบินกลับมา ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเอ่ยปากขอให้อ.ชัยวัฒน์สู่ขอแทนให้ ไม่เพียงแค่นั้นยังขอให้ท่านทำหน้าที่เป็น “สแตนด์อิน” เจ้าบ่าวตัวจริงที่ in absentia อยู่อเมริกาให้ด้วย ของประหลาด ๆ พรรค์นี้ ถ้าไม่ใช่คนไว้ใจเราก็ไม่กล้าขอ และถ้าไม่ใช่คนไว้ใจขอ คนทั่วไปเขาก็ไม่ยุ่งยากลำบากมาทำให้ แต่ตอนนั้น อาจารย์ชัยวัฒน์ก็กรุณาดำเนินการให้ (ทั้งที่เป็นมุสลิม) ท่านยังอุตส่าห์ออกหน้าไปติดต่อขอให้ญาติผู้ใหญ่่ของท่านที่มีฐานะชื่อเสียงในสังคมและท่านรู้จักเคารพนับถือ (เป็นคนจีนและชาวพุทธ) มาช่วยเป็นผู้ใหญ่เอ่ยปากสู่ขอในพิธีให้อีกด้วย จนทุกอย่างเรียบร้อยด้วยดี และภรรยาผมเดินทางตามไปสมทบกับผมที่อเมริกาต่อมา

เพราะ Trust ชีวิตของคนเราในสังคมที่พลิกผันยอกย้อนเต็มไปด้วยสิ่งคาดไม่ถึงจึงพอดำเนินมาได้ด้วยดีตามสมควรและโลกจึงน่าอยู่ขึ้น

ถามว่าใน trust นี้มี risk ไหม? มีความเสี่ยงไหมว่าความไว้วางใจที่เรามีให้กับคนอื่นอาจถูกฉ้อฉล เราอาจถูกตบตาหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบไป? มีแน่นอน และผมก็เชื่อเหมือนกันว่าในประสบการณ์ของผมและของท่านผู้อ่านก็ย่อมเจอเหตุการณ์ที่เราไว้ใจเขา แต่เขาหลอกลวงเล่นงานเราบ้างไม่มากก็น้อยเหมือนกัน พูดอีกอย่างก็คือในทุก trust มี risk แฝงฝังอยู่อย่างมิอาจปัดป่ายบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ ก็เพราะ trust มันทำงานอย่างนี้ คือไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายครอบงำกำกับ มันหลวม ๆ สบตาเอ่ยปากขอรู้ไจวางใจกัน และความหลวมนี่แหละทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างสะดวกราบรื่น (เช่น สินสอดทองหมั้นในงานสู่ขอของผม.... แหะ ๆ ก็ trust ทั้งนั้นแหละครับ) ด้วยความไว้วางใจที่มีต่อกัน และฉะนั้นมันจึงเปิดช่องให้ trust ถูก abused ได้

แต่ trust โดน abused แล้ว เก็บรับบทเรียนอันเจ็บปวดแล้ว ถามว่าต่อไปจะไม่ trust ใครในโลกอีกไหม? มันก็คงระวังเนื้อระวังตัวขึ้น รอบคอบรัดกุมขึ้น แต่ถ้า ๑) จะอยู่อย่างไม่ trust ใครเลยในโลก กับ ๒) อยู่อย่าง trust คนบางคน (อีกนั่นแหละ) และยอม take risk ใน trust นั้นบ้างเท่าที่พอเหมาะพอสมตามสมควร เพราะไว้วางใจเขา เห็นแก่เขา ต้องการช่วยเหลือเขา โดยตระหนักรู้ว่า เฮ้ย trust ของมึงอาจถูก abused ได้อีกนะโว้ย ไม่กลัวหรือ จะเสี่ยงหรือ?

ผมเลือกแบบ ๒) นะ มันเป็นโลกที่เสี่ยงน่ะแหละ แต่ผมก็คิดว่ายังน่าอยู่กว่า ขณะที่โลกแบบ ๑) นั้น ไม่มีอะไรให้ต้องเสี่ยง เพราะไม่ไว้ใจใครเลย และดังนั้น ในความรู้สึกผม ก็ไม่น่าอยู่เอาเลย

 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
เหนืออำนาจรัฐ ยังมีอำนาจทุน: อองซานซูจี วีรสตรีผู้ยืนหยัดต้านอำนาจรัฐเผด็จการทหารพม่า อ่อนข้อให้อำนาจทุนจีน
เกษียร เตชะพีระ
...ในทุก trust มี risk แฝงฝังอยู่อย่างมิอาจปัดป่ายบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ ก็เพราะ trust มันทำงานอย่างนี้ คือไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายครอบงำกำกับ มันหลวม ๆ สบตาเอ่ยปากขอรู้ไจวางใจกัน และความหลวมนี่แหละทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างสะดวกราบรื่น ด้วยความไว้วางใจที่มีต่อกัน และฉะนั้นมันจึงเปิดช่องให้ trust ถูก abused ได้..
เกษียร เตชะพีระ
ความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ กองทัพแก้ไม่ได้ เพราะโดยเนื้อแท้มันไม่ใช่ปัญหาการทหาร แต่เป็นปัญหาการเมือง ในที่สุดการแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนภาคใต้นี้ต้องทำโดยรัฐบาล
เกษียร เตชะพีระ
...ก้าวต่อไปที่น่าจะเป็นของงานการเมืองฝ่ายรัฐบาลคือการรุกด้วยข้อเสนอรูปธรรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้สิทธิอำนาจตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการบริหารท้องถิ่นตนเองมากขึ้น ข้อเสนอนี้จะเป็นตัวช่วงชิงชนะใจมวลชน และกดดันปีกการทหารของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบให้ยอมรับทางออกทางการเมืองในที่สุด... 
เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
ฝ่ายซ้ายมองสฤษดิ์เห็นเป็น "นัสเซอร์" ส่วนฝ่ายขวามองสฤษดิ์เห็นเป็น "เดอโกล" ส่วนสฤษดิ์นั้นเอาเข้าจริงเห็นตัวเองเป็น "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" กวาดล้างขุดรากถอนโคนมรดกการปฏิวัติ 2475 ทั้งทางสัญลักษณ์และโครงสร้างกฎหมาย เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตยแบบไทย " โดยอิงอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์
เกษียร เตชะพีระ
เรื่องให้ฝ่ายรัฐควักเงินหลวงมาจ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นไปไม่ได้ ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ไม่มีเยี่ยงอย่างที่ไหนในโลกทำกันครับ
เกษียร เตชะพีระ
มาตรา ๑๗๑ วรรคสี่ ของ รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันคนอย่างทักษิณ สะท้อนความหวาดระแวง - ไม่ไว้วางใจที่คณะผู้ร่าง รธน.ที่มีต่อตัวอดีตนายกฯทักษิณ และ เสียงข้างมากในสภาและเสียงสนับสนุนของประชาชนอีกชั้นหนึ่งเช่นกัน
เกษียร เตชะพีระ
ถึงปี ๒๐๓๐ สหรัฐฯจะไม่ได้เป็นอภิมหาอำนาจแบบที่เห็นอยู่ปัจจุบันอีกต่อไป, เศรษฐกิจจีนจะใหญ่ที่สุดในโลกและจะเติบโตไปแบบนั้นได้ต้องแก้ปัญหาใหญ่ ๒ อย่างใหญ่ ๆ จีนพึ่งพาทรัพยากรเข้มข้นในการเติบโต และทรัพยากรที่ว่ากำลังร่อยหรอ สังคมจีนกำลังชราภาพลงโดยเฉลี่ยอย่างรวดเร็ว, บทบาทของสหรัฐฯจะปรับเปลี่ยนเพราะโลกและนานาชาติคาดหวังให้สหรัฐฯทำตัวเป็นผู้บริหารจัดการจัดตั้งไกล่เกลี่ยหาทางออกข้อตกลงยุติความขัดแย้งรุนแรง
เกษียร เตชะพีระ
ความยุติธรรมที่ผู้มาทีหลังควรได้ร่วมบริโภคและยกระดับมาตรฐานการครองชีพดีขึ้นอย่างเท่าเทียม, กโลบายกระตุ้นเศรษฐกิจและอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์, ขีดจำกัดทางสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและชีวิตเมืองของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล