“เร็วเข้า ๆ เดี๋ยวก็ไปไม่ทันโลกหรอก!”: ทฤษฎีว่าด้วยระบอบเวลาที่เร่งเร็วขึ้นของฮาร์ตมุท โรซ่า

26 March, 2013 - 16:03 -- kasian

Hartmut Rosa (ค.ศ. ๑๙๖๕ - ปัจจุบัน) ศาสตราจารย์สังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Friedrich Schiller ในเมืองเจนา เยอรมนี เชื่อว่ามันมี “ระบอบเวลา” ดำรงอยู่ (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่อย่างใด) เบื้องหลังมโนทัศน์เรื่องเวลาของพวกเราแต่ละคนที่ถือว่าเวลาเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไร หรือคิดว่าเวลาเป็นตัวแทนความพลิกผันเปลี่ยนแปลงในการดำรงอยู่ของแต่ละบุคคล

Hartmut Rosa


โรซ่าชี้ว่ามีระบอบเวลาที่เร่งเร็วขึ้น ๓ ชนิดทำงานผสมผสานกันอยู่ในระยะอันใกล้นี้ ได้แก่:
-การเร่งเร็วทางเทคนิค (อินเทอร์เน็ต, รถไฟความเร็วสูง, เตาไมโครเวฟ)
-การเร่งเร็วทางสังคม (ผู้คนเปลี่ยนการงานอาชีพและคู่ครองบ่อยขึ้น, ใช้ข้าวของแล้วทิ้งเปลี่ยนใหม่ถี่ขึ้น)
-จังหวะดำเนินชีวิตกระชั้นขึ้น (เรานอนน้อยลง, พูดเร็วขึ้น, สื่อสารกับคนรอบข้างน้อยลง, ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันไป)

อันที่จริงโดยตรรกะแล้ว การเร่งเร็วทางเทคนิคน่าจะช่วยให้ชีวิตเราเครียดน้อยลง แต่เอาเข้าจริง แม้ว่ากระบวนการแต่ละอย่างจะกินเวลาน้อยลง การณ์กลับกลายเป็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลับเพิ่มจำนวนกระบวนการที่เราต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวดูแลจัดการมันเป็นทวีตรีคูณ เช่น พิมพ์อีเมล์ย่อมเร็วกว่าเขียนจดหมายก็จริง แต่เราก็พิมพ์อีเมล์วันละมากมายหลายฉบับกว่าที่เราเคยเขียนจดหมาย, ขับรถทำให้เดินทางเร็วขึ้นก็จริง แต่วัน ๆ เราก็เดินทางไปโน่นมานี่มากมายหลายที่หลายเที่ยวขึ้นจนลงเอยเป็นว่าเราก็หมดเวลาไปกับการเดินทางในแต่ละวันเท่าเก่านั่นแหละ นอกจากนี้ร้อยเรื่องสารพัดสารพันที่เข้ามาพัวพันอีนุงตุงนังกับเรา ดึงดูดความสนใจของเรามากกว่าเก่าหลายเท่าตัวนั้นมันต่างก็ยั่วยุเชื้อเชิญเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เราลองบริโภคอย่างนี้ ผ่อนคลายหรือทำงานอดิเรกอย่างนั้น ดูทีวีเรื่องนี้ ท่องเน็ตเว็บนั้น ไปทานอาหารร้านนี้ ไปเที่ยวหย่อนใจที่นั่น ฯลฯ ทำให้วัน ๆ เราก็เสียเวลาไปกับการชั่งวัดตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ไม่น้อยเลย



โรซ่าเชื่อว่าปรากฏการณ์เวลาเร่งเร็วในทางประวัติศาสตร์ที่ยกมานี้แรกเริ่มเดิมทีถูกขับเคลื่อนไปโดยสังคมตะวันตก ด้วยคำมั่นสัญญาว่ามันจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าและอิสระเสรีที่ปรารถนามานมนาน ทว่ามาบัดนี้การเร่งเร็วกลับลัดวงจรบรรดาสถาบันและโครงสร้างการเมืองทั้หลายแล้วกลายเป็น “พลังเบ็ดเสร็จในสังคมสมัยใหม่” หรือนัยหนึ่งเป็นหลักการนามธรรมที่กำกับบงการทุกแห่งหนชนิดที่ไม่มีใครหนีมันพ้นได้ ผู้คนพากันรู้สึกว่าทั้งหมดที่พอทำไหวตอนนี้คือ “ทำให้ทัน” เท่านั้นเอง (ถ้ายังทันนะ) โดยไม่มีปัญญาจะมานั่งพินิจพิจารณาจากมุมมองที่แยกห่างเยือกเย็นเลยว่าที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้นั้นมันเป็นอย่างไร มันคืออะไร หรือเพื่ออะไร, ชุมชนการเมืองระดับต่าง ๆ ทั้งหลายก็สูญเสียอำนาจควบคุมเหนือชะตากรรมของตนไป ความรีบร้อนเร่งเร็วนี้มาพร้อมกับความรู้สึกเฉื่อยเนือยและปล่อยวางปลงใจว่ามันเป็นเรื่องของชะตาฟ้าลิขิตที่ใครก็กำหนดควบคุมไม่ได้

เป็นอย่างงี้ใช่ไหมล่ะครับ?

ดาวดินเกรดไม่ดี

6 July, 2015 - 15:49 -- kasian

ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา

สรุปรายงาน Freedom in the World 2015 โดยภาพรวม

1 February, 2015 - 13:21 -- kasian

รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้

เนื้อแท้ของร่างพรบ.คอมพิวเตอร์ใหม่ในมุมมองหลักนิติธรรม

17 January, 2015 - 17:13 -- kasian

"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law)