รางวัลที่พ่อแม่เกาหลีใต้มักมอบให้ลูกในโอกาสสอบติดมหาวิทยาลัยคือออกเงินค่าศัลยกรรมตกแต่งพลาสติค เช่น เสริมดั้งจมูก, ผ่าตาเป็นสองชั้น, ผ่าตัดโหนกแก้ม, ขากรรไกร ฯลฯ เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ลูกเมื่อเข้าไปพบคนใหม่ ๆ ช่องทางใหม่ ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย
แรงบันดาลใจได้มาจากบรรดานักร้องดารา K-Pop ซึ่งสวยหมดจดเป๊ะเนี๊ยบเหมือน “ตุ๊กตา”
หน้าตาเซเลปเหล่านี้คือมาตรฐานความงามใหม่ที่ทำให้หนุ่มสาวเกาหลีรู้สึกว่าตัวเอง “อัปลักษณ์” และอยากเอาอย่างดวงตาของเซเลปคนนี้ จมูกของเซเลปคนนั้น คางของเซเลปคนโน้น ฯลฯ โดยลงทุน อาทิ ผ่าตัดตาสองชั้นราคา ๒,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ใช้เวลา ๔๐ นาที ผ่าเสร็จรอ ๗ วัน แล้วมาดึงไหมออก ก็จะได้ตาสองชั้นเรียบร้อย
แต่ถ้าไม่มีตังค์ ก็อาจใช้ สติ๊คเกอร์ตา ๒ ชั้นราคาย่อมเยาแทนแก้ขัดชั่วคราวได้.....
ไม่เฉพาะสาว ๆ หนุ่ม ๆ ก็เป็น
พ่อหนุ่มคิมฮวนรายนี้ อายุ ๒๑ ปี แต่ผ่าตัดตกแต่งใบหน้ามาแล้ว ๑๗ ครั้ง (ไม่นับที่ฉีดโบท็อกซ์หรืออัดสารเคมีเข้าไปอีกมากมายหลายรอบ) ความที่แกเกลียดใบหน้าตัวเองเหลือทน ขาดความมั่นใจ เวลาพบปะพูดจากับใครต้องเอามือป้องปาก หรือใส่หน้ากาก มาบัดนี้หน้าตาดูเป๊ะขึ้น มั่นใจขึ้น กล้าออกหน้าเข้าหาพบปะสนทนากับผู้คน
ย่านกังนัม เขตคนชั้นกลางหรูเลิศในโซล เป็น beauty belt หรือย่านความงามที่มีคลีนิคศัลยกรรมตกแต่งพลาสติคหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บนถนนสายเดียว มีคลีนิคแบบนี้กว่า ๓๐๐ แห่ง ในทุกอาคาร มีคลีนิคอยู่ ๓ - ๔ แห่ง
ปรากฏการณ์หมกมุ่นกับรูปโฉมภายนอกเหล่านี้บันดาลใจให้ศิลปินอุนจงเปิดนิทรรศการงานศิลปะของเธอชื่อ “โรงงานร่างกาย” สะท้อนการที่ผู้คนสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำกับร่างกายตัวเองเหมือนมันเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง และสูญเสียความหมายว่าตัวเองเป็นใครไป