Skip to main content

ปกหนังสือ "ข้า ค่า ฆ่า: อัตลักษณ์ คุณค่า ความรุนแรง"

Kasian Tejapira (28/5/56)

ในหนังสือรวมงานในการประชุมวิชาการชื่อกิ๊บเก๋ว่า ข้า ค่า ฆ่า: อัตลักษณ์ คุณค่า ความรุนแรง (สกว.&จุฬาฯ, ๒๕๕๕ http://trf2.trf.or.th/website_7_001/detail.asp?pid=804) มีบันทึกการสนทนาน่าสนใจระหว่างอาจารย์หญิงนักพุทธปรัชญาชั้นแนวหน้าแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - รศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ กับ คุรุเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง TDRI - ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา (น. ๕๕๓ - ๖๗) ในจำนวนหน้าสั้น ๆ ๑๕ หน้านี้ มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นน่าคิดสำหรับสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันมากมายหลายเรื่องบรรจุอัดไว้ ยังไม่ต้องพูดถึงความน่าสนใจของคู่สนทนาเอง

รศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา

ประเด็นหัวใจของการสนทนาคือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยอกย้อนระหว่าง คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural values) กับ มูลค่า/ราคาทางเศรษฐกิจ (economic value/price) ขณะผู้ถามซักไซ้ไล่เลียงจากมุมมองและคำถามเชิงแนวคิดปรัชญาและสังคม ผู้ตอบอธิบายจากจุดยืนของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ(ทรัพยากรมีจำกัด สังคมต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด), ความรู้เท่าทันต่อกรอบ/ขีดจำกัด/และพลังของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์, การดำรงอยู่ของเงื่อนไขทางสังคม/การเมืองที่ล้อมกำกับเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์, และชะตาจำต้องเลือกของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรจากจุดยืนเศรษฐศาสตร์

ภาษา สนทนาเรียบง่ายและดูตื้นกว่าประเด็นเนื้อหาที่เอาเข้าจริงลึกและไปไกลกว่า มาก และคงดีไม่น้อยในการอ่านตามทำความเข้าใจ หากผู้อ่านได้รู้จักบทตอนที่เกี่ยวกับ “ประโยชน์นคร” (Utilitaria) ใน การิทัตผจญภัย: นิยายปรัชญาการเมือง โดย สตีเว่น ลุคส์ (๒๕๑๔, ๒๕๕๔) หรือ บทที่ ๒ หลักความสุขสูงสุด/อรรถประโยชน์นิยม ในหนังสือ ความยุติธรรม ของไมเคิล แซนเดล (สฤณี อาชวานันทกุล แปล ๒๕๕๔) ก่อน

- ของต่าง ๆ ในโลกอาจมีทั้งคุณค่าที่สังคมวัฒนธรรมมอบให้ กับ มูลค่า/ราคาที่แลกเปลี่ยนกันทางเศรษฐกิจ ยกเว้นสังคมตกลงตัดสินใจกำหนดเป็นกฎเกณฑ์กติกาขึ้นว่าไม่ยอมให้ของนั้น ๆ เอาไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน คือกีดกันหวงห้ามมันไว้ให้อยู่นอกตลาด นอกปริมณฑลแห่งการแลกเปลี่ยน เช่น คนเรา (นับแต่เลิกทาสเป็นต้นมา), หรืออวัยวะ (สำหรับปลูกถ่าย ในเมืองไทยไม่ให้ซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ใช้บริจาคโดยสมัครใจแทน)

- ปกติแล้ว ของที่สังคมวัฒนธรรมกันไว้นอกตลาด ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน มักมีลักษณะเด่นบางประการ เช่น ศักดิ์สิทธิ์, โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์, หาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้, one of a kind, เป็นเรื่องสิทธิที่ทุกคนพึงมีพึงได้ เป็นต้น

- ทว่าของที่ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน มีคุณค่า แต่ห้ามมีราคา ซึ่งเรามักให้เปล่าแก่กัน (แจกฟรี) เหล่านี้ ไม่ควรเข้าใจผิดไขว้เขวว่ามันถูกหรือย่อมเยา หรือไม่เสียต้นทุนในการผลิตขึ้นมา ตรงกันข้าม มันล้วนมีต้นทุนในการผลิต (cost) และอาจแพงมากด้วย (เพียงแต่ห้ามขาย) ดังนั้นบางทีก็ควรใคร่ครวญไตร่ตรองให้ดีว่า ของแบบนี้ (เช่นหนังสือพิมพ์แจกฟรี) ควรแจกฟรีหรือควรขายกันแน่ เพราะแจกฟรี ทำให้หายาก มีให้เฉพาะเจาะจงแก่บางคน คนอื่นหาไม่ได้, แต่ถ้าขาย มันก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนมือไปถึงใครก็ได้ตามอำนาจซื้ออย่างเป็นสากลทั่วไป

- ปัญหาลึกที่สุดของการตั้งมูลค่า/ราคาแก่สิ่งหนึ่ง ๆ คือมันละเลยกระโดดข้าม conflict of values หรือความขัดแย้งอันมีขึ้นได้เกี่ยวกับคุณค่าพื้นฐานของสังคมที่ย่อมเข้าไปพัวพันแฝงอยู่ในการตัดสินใจหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างกรณีปัญหาโรงเรียนเล็ก นักเรียน/ครูน้อย ด้อยคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ไม่คุ้มทุนค่าใช้จ่าย, ในสภาพที่งบประมาณการศึกษามีจำกัด ก็จำต้องใช้ให้คุ้มทุนคุ้มค่าก่อประสิทธิภาพสูงสุด และจัดลำดับก่อนหลังของการใช้จ่ายงบประมาณตามความคุ้มทุนและคุณภาพ/ประสิทธิภาพที่จะได้มานั้น ๆ จากจุดนี้ ก็เพียงแต่นำโรงเรียนใหญ่เล็กมาประเมินวัดด้วยเกณฑ์คุ้มทุน/ประสิทธิภาพ/คุณภาพ (ประโยชน์สาธารณะหรือ public utility) ออกมาเป็นตัวเลข แล้วชั่งวัด โรงเรียนไหนคุ้มกว่า ก็อยู่ต่อได้งบฯไป โรงเรียนไหนไม่คุ้ม ก็ตัดงบฯหรือยุบทิ้งเสีย จบ

- สิ่งที่เกิดขึ้นในย่อหน้าข้างบนคือ การลดทอนคุณค่าพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ลงจนหมดเหลือแค่ประโยชน์สาธารณะอันเป็นคุณค่าหนึ่งเดียว (reductionism --> public utility) จากนั้นก็ใส่ตัวเลขสะท้อน public utility ที่ต่างกันเข้าไป แล้วชั่งวัดตัดสินใจตามตัวเลขนั้น ด้วยความมั่นใจสิ้นสงสัย ก็เพราะมันชัดเจนแดงแจ๋เป็นตัวเลขไง ๑ ย่อมน้อยกว่า ๓ ซึ่งต้องมากกว่า ๒ หรือใครจะเถียง?

- นี่คือ false certainty หรือความหลงมั่นใจ ที่เกิดจากความแน่ชัดตายตัวของปริมาณตัวเลขที่ใช้เป็นฐานในการตัดสินใจ เป็นตัวเลขที่ได้มาหลังลดทอนคุณค่าอื่นทิ้งหมดแล้ว เหลือแค่ public utility เท่านั้น

- แต่จริงหรือว่ามันมีคุณค่าเดียวที่สำคัญในเรื่องนี้? แล้ว สิทธิของเด็กที่จะได้การศึกษาล่ะ? หรือ การมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตครอบครัวของเขาล่ะ? คุณค่าอื่น ๆ นอกเหนือจาก public utility เหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหน? ถูกกันออกไปได้อย่างไร? มันมีที่ทางไหมในการคำนวณที่ยึดมูลค่า/ราคาบนฐานประโยชน์สาธารณะ เป็นเกณฑ์?

- การตัดสินใจเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกันนี้บนฐานคิด utilitarianism/public utility มิติเดียว ทำให้มันคิดง่าย คำนวณง่าย เชื่อมั่นว่าถูกแน่ และเหมาะแก่วิธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์, มันทำให้เรื่องยุ่งใจ (ต้องเลือกและให้น้ำหนักระหว่างคุณค่าพื้นฐานต่าง ๆ หลายคุณค่า) กลายเป็นแค่ยุ่งยาก (ในการคิดตัวเลขคำนวณเท่านั้นเอง) และมีแนวโน้มจะจับทุกอย่างมาให้ตัวเลขปริมาณ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ควรเอามาให้ตัวเลขปริมาณเลย อย่างสิทธิ, อำนาจมีส่วนร่วม เป็นต้น

- เพราะในที่สุดแล้วของสูงค่าที่สุดในชีวิตเราคืออะไรหรือ?............ แล้วมันเป็นของที่นับได้หรือนับไม่ได้ล่ะ? ถ้าเราบอกว่าของสำคัญคือของที่นับได้ งั้นของที่นับไม่ได้ ก็ไม่สำคัญล่ะสิ อย่างความรัก, ความกตัญญูรู้คุณ ฯลฯ

- ขณะที่การหยิบเอาจริยธรรมมาตบหัวข่มขู่กันเป็นเรื่องเหลวไหล แต่นี่มิได้หมายความว่านักเศรษฐศาสตร์ต้องไม่ใส่ใจจริยธรรม ตรงกันข้ามทีเดียว ตราบเท่าที่พฤติกรรมของคนในสังคม (รวมทั้งพฤติกรรมผลิตซื้อขายแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ) ถูกกำกับด้วยหลักหรือกรอบจริยธรรม นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องสนใจสังเกตเรียนรู้กรอบจริยธรรมของสังคมดังกล่าว เพื่อเข้าใจและคาดหมาย พฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในสังคม (รวมทั้งพฤติกรรมเศรษฐกิจของพวกเขา) ได้ดีขึ้น, ส่วนตัวนักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนจะมีจริยธรรมหรือไม่ หรือเป็น “มนุษย์เลือดเย็นที่มีหัวใจอ่อนโยน” อันนั้นไม่เกี่ยว เป็นวิสัยสันดานของแต่ละบุคคล

- อัมมารเห็นด้วยกับสุวรรณาว่า: “ถ้ามนุษย์ไม่เก็บคุณค่าบางอย่างของชีวิตไว้นอกขอบข่ายข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจ ชีวิตมนุษย์จะกลายเป็น nihilist” (nihilist ในความหมายที่ว่าหมดคุณค่าและหมดความหมายในตัวเองเพราะว่าคุณค่าหรือความหมายถูกตีราคาและนำไปแลกเปลี่ยน.....มันถูกแลกเปลี่ยนกลายเป็นอะไรก็ได้ กลายเป็นตัวเลขที่ทำงานด้วยเงินหรือกลไกตลาด - น.๕๖๓ - ๔)

- แต่อัมมารก็เตือนในฐานะผู้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่วมคิดวางนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณการแพทย์และสาธารณสุข (๓๐ บาทรักษาทุกโรค) ว่า “ในบางครั้ง เราต้องประเมินด้วยความจำเป็น และอาจด้วยความขมขื่นด้วย เพราะเหตุสภาพแวดล้อมอะไรบางอย่าง...” ในสภาพที่งบประมาณมีจำกัด ทรัพยากรการแพทย์มีจำกัด การพิจารณาตัดสินใจว่าจะใช้มันรักษาดำรงชีวิตสุขภาพของใคร อย่างไร เท่าไหร่ นานเพียงใด เป็นสิ่งขมขื่นที่ต้องทำ และในกรณีนั้น ๆ “การแลกเปลี่ยน มันหลีกหนีไม่พ้น” (น. ๕๖๗) คำว่า “แลกเปลี่ยน” ในประโยคนี้ หมายถึง trade-off คือ “ได้อย่างเสียอย่าง” นี่ยังคงเป็นความเป็นจริงที่ขมขื่นแต่จริงทางเศรษฐกิจที่โลกเราเผชิญอยู่

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
๓ ขั้นตอน ของ ลัทธิช็อก ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต, ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา และ ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า 
เกษียร เตชะพีระ
โดรน (Drone) หรือเครื่องบินไร้คนขับเพื่อสอดแนมและสังหาร นักฆ่าหน้าจอตัดสินใจด้วยเกณฑ์ใดว่าจะกดปุ่มให้โดรนสังหารยิงถล่มคุณหรือไม่? อนุสนธิจากข่าว “โดรนโจมตีในเยเมน เสียชีวิต ๑๒ ราย” 
เกษียร เตชะพีระ
ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
เกษียร เตชะพีระ
ปัญหาชนชั้นกับการปฏิวัติกระฎุมพี, ลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพี ๔ ประการ, เงื่อนไขและลักษณะของการปฏิวัติกระฎุมพีที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์, การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะนิติราษฎร์มีลักษณะเด่นน่าสังเกตบางประการ และคำถามทิ้งท้าย
เกษียร เตชะพีระ
บทวิเคราะห์เรื่องนี้ของผมถึงเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นหลักเมื่อเทียบกรณีอียิปต์ปัจจุบันกับไทยหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ..มีความต่างที่น่าสนใจนำมาเปรียบเทียบบางประการในความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องรัฐประหารโดยกองทัพ ระหว่างเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ กับอียิปต์ในปีปัจจุบัน ๒๕๕๖
เกษียร เตชะพีระ
ผมทำกราฟฟิคขึ้นไว้เพื่อประมวลสรุปความเข้าใจของตัวเองและใช้ประกอบการสอนนักศึกษา แต่สังเกตว่ามีเพื่อนชาว Facebook สนใจพอควร จึงคิดว่าควรเขียนคำอธิบายประกอบถึงที่มาที่ไปและเนื้อหาของมันโดยสังเขป
เกษียร เตชะพีระ
ฝันสลายของคนชั้นกลางอเมริกัน = ฝันสลายของตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทย = ฝันสลายของตัวแบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEM - East Asian Economic Model) รวมทั้งไทยด้วย
เกษียร เตชะพีระ
๕ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย, ๔ concepts หลักที่ Chatterjee ประยุกต์มายึดกุมทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชนบทเอเชีย การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ, พิเคราะห์ชาวนาเอเชีย ชนิดของทุนและที่ตั้งทางเศรษฐกิจใหม่ของชาวนายุคโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อุปถัมภ์, ไม่ใช่กบฎชาวนา, ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน, และไม่ใช่ประชาสังคม
เกษียร เตชะพีระ
 รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้ากับการขูดรีดทางชนชั้นหรือรัฐโดยตรง เปลี่ยนอาชีพเพราะมองเห็นโอกาสยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยากเลิกเป็นชาวนา ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย 
เกษียร เตชะพีระ
กองทัพอียิปต์เป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองที่น่าสนใจมาก แปลงสีได้ตามสภาพแวดล้อมเหมือนกิ้งก่า, ไม่ซื่อกับใครเหมือนงูในอ้อมอกชาวนา, และแว้งกัดทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนด้วย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง